พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าในสมัยที่พระองค์ยังทำความเพียรเพื่อการพ้นทุกข์ พระองค์มีความกลัวมากเมื่ออยู่ป่า กลัวจนขนลุกชูชัน ท่านทำอย่างไรเพื่อระงับความกลัว ท่านพบว่าถ้ากลัวตรงไหนให้ไปตรงนั้น กลัวในอิริยาบถไหนก็ให้อยู่ในอิริยาบถนั้น เช่น กลัวเวลานั่ง ก็ให้นั่ง กลัวเวลายืน ก็ให้ยืน ถ้ากลัวขณะที่เดิน ก็ให้เดิน กลัวตรงไหนไปตรงนั้น เรียกว่าเผชิญหน้ากับมัน พระองค์พบว่านี่เป็นวิธีจัดการกับความกลัวได้ดีที่สุด
พอไปอยู่ตรงที่ที่เรากลัว ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เมื่อกลัวเวลานั่ง ก็ลองนั่งดู ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัว ความกลัวนั้นเกิดจากใจที่ปรุงแต่งไปเอง แต่พอเจอของจริงเข้า ก็พบว่ามันไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่นึก ความกลัวก็หายไปเพราะมีปัญญาเห็นความจริงว่ามันไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัว
เรื่องนี้ตรงกับที่มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ที่มีชื่อเสียงและเก่งมาก ได้รับรางวัลโนเบลถึง ๒ ครั้ง เธอบอกว่า “ในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ” คือพอเข้าใจแล้วก็จะหายกลัว ความเข้าใจนั้นไม่ได้เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการได้สัมผัสหรือประสบด้วยตัวเอง จึงจะรู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัว
มีบางคนเป็นนักธุรกิจ แต่กลัวที่จะทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวล้มเหลว ก็เลยไปลงทุนเฉพาะกิจการที่มีความมั่นคง ซึ่งเขาไม่ได้รู้สึกสนุกแต่อย่างใด เพียงแต่แน่ใจว่าจะไม่ขาดทุน แต่จะมีธุรกิจไหนที่มีความมั่นคง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีหรอก ปรากฏว่าในที่สุดก็เจอดี ธุรกิจที่ตัวเองคิดว่ามั่นคงที่สุดก็ยังล้มเหลว ขาดทุน แทบจะต้องล้มเลิกกิจการไปเลย สิ่งที่เขากลัวว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นจริง แต่พบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตนเคยคิด โลกไม่ได้ถล่ม ฟ้าไม่ได้ทะลาย
พอได้สัมผัสกับความล้มเหลวและรู้ว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เขาก็ไม่กลัวความล้มเหลวอีกต่อไป ตอนหลังเขาจึงกล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ กล้าลงทุนในกิจการที่ยังไม่มีใครทำ กลายเป็นว่าการทำธุรกิจกลายเป็นเรื่องสนุก มีชีวิตชีวา และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
เพราะฉะนั้นหัวใจของการจัดการกับความกลัว ก็คือต้องกล้าเผชิญหรือทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เรากลัว
พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
www.visalo.org/article/dhammamata8_1.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น