++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทานยาคลายเครียดบ่อยไหม



ยาคลายเครียดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนที่ควบคุมความเครียดทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้เกิดการนอนหลับ ช่วยลดความวิตกกังวล สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง สามารถใช้ยาคลายเครียดช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ ดังนั้นยาคลายเครียดจึงมีผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับท่านที่ไปพบจิตแพทย์ แพทย์จะให้ยาวันละครั้ง หรือวันละหลายครั้งแตกต่างกันออกไป ซึ่งการรับประทานยาคลายเครียดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นความเครียดทั่ว ๆ ไปแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยา โดยจะใช้ยาเมื่อจำเป็น หรือเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 เดือน หรือเฉพาะในเวลาที่มีอาการวิตกกังวล ส่วนใหญ่แพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องของเทคนิคการคลายเครียด สอนวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกในเรื่องของการปรับตัว และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ มากกว่าการให้ยารับประทาน

ผลของการใช้ยาคลายเครียด
เนื่องจากยาคลายเครียดเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ารับประทานเป็นระยะเวลานานติดต่อกันจะก่อให้เกิดผลต่อร่างกาย เช่น ฤทธิ์ของยาทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ต้องกินยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น หรือจะเกิดความผิดปกติในเวลาที่ไม่ได้กินยา

วิธีการผ่อนคลายความเครียด
ควรออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำ สำหรับผู้ที่มีภาระงานประจำมาก ควรให้เวลากับตัวเองบ้าง จัดเวลาให้เหมาะสม หาที่ปรึกษาหรือเพื่อนเพื่อรับฟังหรือช่วยตัดสินใจในบางเรื่อง รวมทั้งยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นต้น

วิธีการคลายเครียด
ทางด้านจิตวิทยาถือว่าความเครียดก็เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้เรามีการตื่นตัวอยู่เสมอ มีการป้องกันตัวเอง และปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีความเครียดเลยก็จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดความเครียดคงจะเป็นไปไม่ได้ จึงควรแบ่งเวลา หาเวลาให้กับตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออาจใช้วิธีการทางศาสนาช่วยโดยการนั่งสมาธิ

วิธีการขจัดความเครียดที่เหมาะสม การขจัดความเครียดให้ได้ผล 100% นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในกรณีที่มาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำวิธีการผ่อนคลาย การหายใจเข้า-ออกลึก ๆ จะช่วยลดความเครียดลงได้

วิธีการขจัดความเครียดที่เกิดขึ้นพิจารณาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่
1.ทางด้านร่างกาย คือ การกำจัดสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาสุขภาพร่างกาย
2.ทางด้านจิตใจ คือ การปรับสภาพจิตใจของตัวเราเอง รู้จักปรับเข้ากับปัญหา ยอมรับในสิ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้
3.ทางด้านสิ่งแวดล้อม คือ ถ้ามีภาระงานมากจนรับไม่ไหว ควรทำงานให้น้อยลง รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและแบ่งเวลาให้กับตัวเอง

ขอบคุณ รศ.พญ.สุดสบาย จุลกทัพพะ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น