++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"สร้างความสุขด้วยการมองโลกในแง่ดี" วิธีฝึกมองโลกในแง่ดีได้แก่

"สร้างความสุขด้วยการมองโลกในแง่ดี"
วิธีฝึกมองโลกในแง่ดีได้แก่
๑. มองตัวเราว่า สุขทุกข์ขึ้นกับการ "คิด-พูด-ทำ" ของเรา, เราเป็นต้นเหตุ (causes) ของความสุขทุกข์ในชีวิต, ไม่ใช่เป็นผล (effect) ที่คนอื่นหรือโลกนี้ทำกับเรา
๒. แสวงหาความสุขเฉพาะที่ได้มาโดยชอบธรรม เช่น ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบคนอื่น ฯลฯ เพราะความสุขที่ได้มาโดยชอบธรรมแม้จะได้มาช้าหน่อย แต่จะนำมาสู่ความสุขใจในระยะยาว
เรื่องที่ควรฝึกไปพร้อมๆ กัน คือ ฝึกไม่ยินดีในความสุขที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม เช่น ค้ายาเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสพยาเสพติด ฯลฯ เพราะความสุขแบบนี้สั้นคล้ายกับน้ำค้าง... เมื่อวันเวลาผ่านไปก็ไม่ยั่งยืนอะไร คล้ายน้ำค้างต้องแสงแดดย่อมเหือดแห้ง หายไปเร็ว
๓. ฝึกคิดว่า ชีวิตนี้สั้นนัก... สั้นเกินไปที่จะสะสม บ่มเพาะความทุกข์ แต่ยาวพอที่จะมีความสุขได้ในวันนี้
๔. แสวงหาความสุขที่ไม่พึ่งพิงวัตถุให้มากขึ้น เช่น ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ นอนให้พอ ปลูกต้นไม้ เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ฯลฯ ให้มากขึ้น
การออกแรง-ออกกำลังแบบตะวันออก เช่น ไทชิ(ชี่กง), มวยจีน โยคะ รำกระบองชีวจิต ฯลฯ ทำให้คนเรามีความสุขง่ายๆ ได้ด้วยต้นทุนไม่แพง (เช่น ลงทุนซื้อ VCD กับหนังสือมาฝึก หรือเข้าชั้นเรียน ฯลฯ)
๕. นอนให้พอ การนอนไม่พอเพิ่มเสี่ยงโรคเครียด ซึมเศร้า และการมองโลกในแง่ร้าย
๖. ออกแรงออกกำลังเป็นประจำ อะไรที่ใช้แรงแทนเครื่องผ่อนแรงได้ควรทำ เช่น ขึ้นลงบันไดแทนใช้ลิฟต์ เดินให้มากขึ้นและเร็วขึ้น
พระอาจารย์รูปหนึ่งกล่าวไว้นานแล้วว่า "เหงื่อออกมาก-น้ำตาออกน้อย, เหงื่อออกน้อย-น้ำตาออกมาก" ถ้าอยากมองโลกในแง่ดีควรออกกำลังให้เหงื่อซึมออกมาเป็นประจำ
๗. ฝึกหายใจช้าๆ ไม่เกิน 10 รอบ(เข้า-ออก)ต่อนาที และฝึกหายใจให้ช้าลง กำหนดหรือตามลมหายใจทันทีที่รู้สึกเครียดบ่อยๆ
๘. บันทึกการทำดีที่ประทับใจเรามากที่สุดในชีวิตให้ได้อย่างน้อย 3 เรื่อง อ่านเรื่องนี้ซ้ำ หรือคิดถึงการทำดีที่ประทับใจของเราก่อนนอนทุกวัน
การระลึกถึงการทำดีของเราเป็นประจำทำให้เราได้ซาบซึ้งกับคุณค่าของตัวเราในแง่ดี หรือฝึกมองตัวเองในแง่ดี
ในทางกลับกัน... การระลึกถึงการทำดีของคนอื่นเป็นประจำจะทำให้เราซาบซึ้งกับคุณค่าของคนอื่น ซึ่งการฝึกมองโลกในแง่ดีควรฝึกทั้งการเห็นคุณค่าของตัวเรา และคนอื่น โดยเฉพาะคนรอบข้าง หรือคนใกล้ชิด
๙. ฝึกกล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" ให้ได้ทุกวัน เริ่มจากวันละ 1 ครั้ง แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 3 ครั้งหลังอาหาร
คนที่พูดคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ" ใคร(คนอื่น)ไม่เป็น มักจะขาดความกตัญญู ไม่รู้คุณใคร ทำให้ขาดความสุขจากความกตัญญู
คนที่พูดคำ "ขอโทษ" ใคร(คนอื่น)ไม่เป็น
๑๐. เมื่อฝึกกล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" คนอื่นเป็นแล้ว, ให้หัดกล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" กับตัวเราให้เป็น คนที่พูดคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ" กับตัวเองไม่เป็น มักจะเป็นคนที่มองตัวเองในแง่ร้าย ทำให้ขาดความสุขจากการระลึกถึงการทำดีของตัวเอง คนที่พูดคำ "ขอโทษ" กับตัวเองไม่เป็น มักจะเป็นคนที่ไม่รู้จักให้อภัยตัวเอง ทำให้ขาดความสุขจากการให้อภัยตัวเอง
๑๑. อย่าเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น การเป็นหนี้ หรือไปค้ำประกันหนี้คนอื่นจะทำให้ชีวิตเราว้าวุ่นโดยไม่จำเป็น ผู้เขียนมีประสบการณ์เห็นคนที่เป็นหนี้เรื้อรังเครียดเรื้อรัง กลายเป็นโรคตระหนกตกใจง่าย หรือโรคขี้ตกใจ (panic disorder) มาหลายท่าน
คนที่เป็นหนี้และถูกทวงหนี้บ่อยๆ หลายคนมีความดันเลือดขึ้นๆลงๆ หัวใจเสื่อมสภาพ หลอดเลือดสมองแตกตาย (ไม่สามารถยกชื่อมาเป็นตัวอย่างได้)
การใช้ชีวิตแบบเรียบ ง่าย ประหยัด ออมทรัพย์ และไม่เป็นหนี้ เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนเรามีความสุขจากภายใน และมองโลกในแง่ดี
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ตกต่ำ ถดถอย คือ คนใช้ชีวิตเกินฐานะ ชอบแท่งหนี้(ผ่อนบ้าน)ใหญ่ ชอบล้อหนี้(ผ่อนรถ)ใหญ่ๆ ชอบใช้เงินผ่อน ชอบกู้ ชอบแผ่นหนี้พกพา(บัตรเครดิต) ซึ่งพอเป็นหนี้เกินตัวแล้ว ก็อดที่จะมองโลกในแง่ร้ายไม่ได้ (อีกต่อไป)
๑๒. ทำแบบทดสอบซึมเศร้า เพื่อหาว่า เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่... โรคนี้ทำให้สารเคมีในสมองไม่สมดุล และข่าวดี คือ เรื่องนี้ปรึกษาหารือกับหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ เนื่องจากสมัยนี้มียาที่ช่วยปรับสมดุลให้ดีขึ้นได้

*ที่มา*
-นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 12 มกราคม 2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น