วิถีแห่งเซน ' ของสตีฟ จอบส์ ซีอีโอแสนล้านค่าย Apple ยักษ์ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์
แม้จะเป็นนักธุรกิจร่ำรวยระดับแสนล้าน แต่ไม่ว่าจะปรากฏกาย ณ ที่แห่งใด หรือแม้แต่ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Apple คนทั่วไปมักชินตากับภาพ สตีฟ จอบส์ ในชุดแต่งกายเรียบง่าย สวมเสื้อยืดคอเต่าแขนยาวสีดำ ยี่ห้อ St. Croix กางเกงยีนส์ลีวายส์ รุ่น 501 และสวมรองเท้ากีฬายี่ห้อ New Balance รุ่น 992 เป็นประจำ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเขา
สตีฟ จอบส์ หรือ สตีเฟน พอล จอบส์ (Steven Paul Jobs) เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน ซีอีโอใหญ่แห่งค่าย Apple Inc. ยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลก รวมทั้งเป็น ผู้บริหารระดับสูงของค่ายพิกซาร์ แอนิเมชัน สตูดิโอ ( Pixar Animation Studios) ด้วย
กว่าจะถึงวันนี้ ชีวิตของซีอีโอใหญ่ได้เผชิญปัญหามานับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วยหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนานิกายเซน ที่เขาได้ศึกษาเรียนรู้ ช่วยให้เขาก้าวผ่านอุปสรรคทั้งปวงมาได้
• ชีวิตช่วงแรก ไม่ได้ปริญญา แต่ได้วิชา
เริ่มสนใจศึกษาพุทธศาสนา
สตีเฟน พอล จอบส์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1955 ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรนอกสมรสของนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัย กับศาตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ มารดาแท้ๆ ยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ครอบครัว “ จอบส์ ” ซึ่งมีหัวหน้าครอบครัวเป็นช่างเครื่อง โดยขอสัญญาว่า บุตรชายของเธอจะต้องได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
เมื่อโตขึ้นจอบส์เข้าศึกษาต่อที่ Reed College ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ได้เพียง 6 เดือน ก็ลาพักเรียน เพราะไม่เห็นความน่าสนใจของสิ่งที่เขาเรียนอยู่ แต่เขาก็กลับเข้าศึกษาใหม่อีก 1 ปีครึ่ง โดยลงเรียนเฉพาะ คอร์สที่เขาสนใจ เช่น การประดิษฐ์ตัวอักษร ( ซึ่งภายหลังเขาได้นำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบตัวพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ Macintosh) หลังจากนั้น เขาหยุดเรียนถาวรและไม่ได้ศึกษาจนจบมหาวิทยาลัยตามที่มารดาแท้ๆ ของเขาหวังไว้
ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยนี้เองที่จอบส์เริ่มหันมา ศึกษาพุทธศาสนานิกาย เซน เขาสนใจอ่านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาหลายเล่ม และหนังสือที่มีอิทธิพล สูงสุดกับเขาคือ Zen Mind, Beginner’s Mind ซึ่งเขียนโดยชุนริว ซูซุกิ กล่าวกันว่า หลังการศึกษาหลักธรรมของเซน จอบส์เริ่มมีความเชื่อว่า การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณนั้น ก่อให้เกิดปัญญา เขาจึงเริ่มฝึกสมาธิในห้องนอนแคบๆ ที่แชร์ร่วมกับ “ แดเนียล คอตคี ” เพื่อนสนิท ท่ามกลางกลิ่นธูป
• ออกแสวงหาตัวตนที่แท้จริง
ในปี 1974 จอบส์ ในวัย 19 ปี ได้ขอลาพักงานประจำ ที่เขาทำอยู่ในบริษัทเครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ Atari เพื่อเดินทางไปอินเดีย เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมกับเพื่อนรัก “ แดเนียล คอตคี ” เพื่อแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับการรู้แจ้งเห็นจริงด้านจิตวิญญาณ และเมื่อเดินทางกลับสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เขาได้กลายเป็นพุทธศาสนิกชน สวมเสื้อผ้าแบบอินเดียโบราณและโกนศีรษะ
หลังจากนั้น เขาได้แวะเวียนไปที่ศูนย์เซน ลอส อัลทอส ในเมืองลอส อัลทอส รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นประจำ ที่นี่เขาเริ่มฝึกการบำบัดแบบกรีดร้องดังๆ และรับประทานผลไม้เป็นอาหาร และผลไม้ที่เขาโปรดปรานเป็นพิเศษก็คือ แอปเปิ้ล นั่นเอง
ในปี 1976 ขณะอายุ 21 ปี จอบส์ได้เข้าทำงานกับบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด และเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนอย่างจริงจังกับ “ โกบุน ชิโนะ โอโตโกวะ ” พระอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ที่ศูนย์เซน ลอส อัลทอส (ซึ่งภายหลัง เมื่อจอบส์เข้าพิธีแต่งงานแบบเซน กับ “ ลอรีน เพาเวล ” ในวันที่ 18 มีนาคม 1991 พระอจารย์โอโตโกวะได้มาเป็นประธานในพิธี)
• เริ่มก่อตั้งบริษัท Apple
ดีไซน์สินค้าด้วยแนวคิดเซน
ในปี 1976 จอบส์และเพื่อนสมัยเรียนที่ชื่อ “ สตีฟ วอซเนียก ” ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Apple Computer ขึ้นที่โรงรถในบ้านของจอบส์ เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่จอบส์กับวอซเนียกได้นำเสนอออกสู่สายตา ได้แก่เครื่อง Apple I และเพียง 10 ปีให้หลัง Apple ก็เติบโตจากคนเพียง 2 คนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตที่มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ และพนักงานมากกว่า 4,000 คน!!
จอบส์เคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired ของอเมริกาว่า “ มีคำคำหนึ่งในศาสนาพุทธ คือ จิตของผู้เริ่มต้น มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่ทุกคนควรจะมีจิตของผู้เริ่มต้น ” ซึ่งเขาอธิบายต่อไปว่า มันเป็นจิตที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆทำให้เราตระหนักถึงแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น จิตของผู้เริ่มต้น ก็คือการนำหลักการของเซนมาปฏิบัติจริง เป็นจิตบริสุทธิ์ที่ปราศจากอคติ การคาดหวัง การตัดสิน ความลำเอียงให้คิดว่า จิตของผู้เริ่มต้น เป็นเหมือนจิตของเด็กน้อย ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย และความ ประหลาดใจ
ด้วยความเชื่อดังกล่าว สตีฟ จอบส์ จึงนำแนวคิดแบบเซนมาใช้กับบริษัท Apple Inc ของเขา ในการออกแบบรูปลักษณ์และการใช้งานของสินค้าให้มีแนวทางบริสุทธิ์ ครบถ้วนสมบูรณ์ และง่ายต่อการใช้งาน
• พบมรสุมชีวิต แต่พิชิตด้วยความรักในงาน
เมื่อจอบส์อายุ 30 ปี หลังจากเพิ่งเปิดตัว Macintosh เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดของตัวเองได้ปีเดียว เขาถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง หลังจากทะเลาะกับผู้บริหาร และกรรมการบริษัทก็เข้าข้างผู้บริหารคนนั้น
เรื่องนี้เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา จอบส์กล่าวว่า เขาได้สูญเสียสิ่งที่ได้ทำมาตลอดชีวิตไปในพริบตา ถึงกับคิดจะออกจากวงการคอมพิวเตอร์ไปชั่วชีวิต เขาไม่ได้ทำอะไรหลังจากนั้นอีกหลายเดือน
แต่แล้วความรู้สึกอย่างหนึ่งก็สว่าง ขึ้นข้างในตัวของจอบส์ ซึ่งเขาค้นพบว่า ตัวเองยังคงรักในสิ่งที่ทำมาแล้ว ความล้มเหลวที่ Apple ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความรักที่เขามีต่อสิ่งที่ได้ทำมาแล้วได้ ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเขาได้พบว่า การที่เขาถูกไล่ออกจาก Apple ได้กลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะภาระอันหนักจากการประสบความสำเร็จในอดีตที่เขาแบกไว้นั้น ได้ถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายในการเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งช่วยปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ นั่นก็คือเขาได้ปล่อยวางความสำเร็จเก่านั้นลง และเริ่มต้นใหม่ด้วยใจที่เบาสบาย เบิกบาน เป็นจิตของผู้เริ่มต้นอย่างที่เขาเคยบอกไว้นั่นเอง
จอบส์กล่าวว่า ความล้มเหลวเป็นยาขม แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ เมื่อชีวิตเล่นตลกกับคุณ จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรัก ดังนั้นคุณจะต้องหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้คุณเกิดความพึงพอใจอย่างแท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่จะทำให้คุณสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ก็คือ คุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำ และถ้าหากคุณยังหามันไม่พบ อย่าหยุดหาจนกว่าจะพบ และคุณจะรู้ได้เองเมื่อคุณได้ค้นพบสิ่งที่คุณรักแล้ว
หลังจากนั้น เขาได้เริ่มตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NeXT และ Pixar ( ซึ่งขณะนี้เป็นสตูดิโอผลิตการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก) ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องแรกของโลกนั่นคือ Toy Story
ส่วน Apple ซึ่งไร้เงาของจอบส์นั้น ไม่ได้เฟื่องฟูขึ้นเลย ดังนั้นบริษัทฯจึงได้หันมาซื้อบริษัท NeXT เพื่อทำให้จอบส์ได้กลับคืนสู่ Apple อีกครั้ง รวมทั้งเทคโนโลยีที่เขาคิดค้นขึ้นที่ NeXT ก็ได้กลายเป็นหัวใจในยุคฟื้นฟูของ Apple
• ใช้การเจริญมรณสติทุกวัน
เป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจในชีวิต
เมื่ออายุ 17 ปี จอบส์ประทับใจข้อความหน่งที่เขาได้อ่านจากหนังสือ ซึ่งสอนให้ทุกคนมีชีวิตอยู่โดยคิดว่า วันนี้ เป็นวันสุดท้ายของชีวิต และตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาจะถามตัวเองในกระจกทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของเขา เขาจะยังคงต้องการทำสิ่งที่กำลังจะทำในวันนี้หรือไม่ ถ้าหากคำตอบเป็น “ ไม่ ” ติดๆ กันหลายวัน เขาก็รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเปลี่ยนแปลง
จอบส์เล่าว่า วิธีคิดว่าคนเราอาจจะตายวัน ตายพรุ่ง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่เขาเคยรู้จักมา ซึ่งได้ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตได้ เพราะเมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมายและความสำคัญที่แท้จริงเท่า นั้น
“ วิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้คุณไม่ตกลงไปในกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เพราะความจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีแต่ตัวเปล่าๆ ด้วยกันทั้งนั้น ”
จอบส์พูดถึงความตายว่า กลางปี 2004 เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดรุนแรงและไม่มีทางรักษา เขาจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 3-6 เดือน แพทย์ที่รักษาแนะนำให้เขากลับบ้านและจัดการสะสางภารกิจที่มีอยู่ให้เรียบ ร้อย ซึ่งความหมายก็คือให้ “ เตรียมตัวตาย ”
แต่แล้วในเย็นนั้นเมื่อแพทย์ได้ตัดชิ้นเนื้อที่ตับอ่อน ไปตรวจอย่างละเอียด ผลปรากฏว่า เขาเป็นมะเร็งตับอ่อน ชนิดที่พบเพียงแค่ 1 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วย ซึ่งรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ในปี 2009 จอบส์เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี่ และกลับไปทำงานที่ Apple อีกครั้ง หลังลาหยุดเป็นเวลา 6 เดือน
ซีอีโอใหญ่ของ Apple กล่าวว่า นี่เป็นประสบการณ์เฉียดตายที่สุดของเขา ซึ่งทำให้เขาสามารถพูดได้เต็มปากยิ่งกว่าเมื่อตอนที่ใช้ความตายมาเตือนตัว เองเป็นมรณานุสติ และเมื่อผ่านห้วงเวลานั้นมาได้ เขาบอกว่าความตายคือประดิษฐกรรมที่ดีที่สุดของ “ ชีวิต ” ความตายคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต เขาได้พูดถึงความตายไว้ว่า
“ ไม่ มีใครอยากตาย แม้ว่าคนที่อยากขึ้นสวรรค์ ก็ไม่อยากตายเพื่อจะได้ไปที่นั่น แต่เราทุกคนต้องตาย ไม่มีใครรอดพ้นไปได้ ดังนั้นความตายก็คือตัวเปลี่ยนแปลงชีวิต มันจะกำจัดคนเก่าออกไป(ตาย) เพื่อเปิดทางให้คนใหม่ได้เข้ามา(เกิด) ตอนนี้คนใหม่ก็คือพวกคุณ แต่ในไม่ช้า พวกคุณก็จะค่อยๆแก่ และถูกกำจัดออกไป(ตาย) นี่คือหลักความจริง ”
จอบส์ได้เตือนว่า “ เวลาของคุณจึงมีจำกัด และอย่ายอมเสียเวลามีชีวิตอยู่ในชีวิตของคนอื่น จงอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยผลจากความคิดของคนอื่น และอย่ายอมให้เสียงของคนอื่นๆ มากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องมีความกล้าที่จะก้าวไปตามที่หัวใจคุณปรารถนาและสัญชาตญาณของคุณจะ พาไป เพราะหัวใจและสัญชาตญาณของคุณรู้ดีว่ คุณต้องการจะเป็นอะไร ”
ทุกวันนี้ จอบส์ในวัย 55 ปียังคงถือปฏิบัติตามแบบเซน ที่มีวิถีแห่งความเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก และเขามักอ้างคำพูดของอาจารย์เซนหลายๆท่าน และหลักปรัชญาเซน ในระหว่างการแสดงสุนทรพจน์ในที่ต่างๆ
9 บทเรียนทองของสตีฟ จอบส์
9 คำพูดที่ดีที่สุดที่คัดเลือกมานี้ จะช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จตามสไตล์ซีอีโอแสนล้าน
1. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้ตาม ”
นวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ เป็นสิ่งไร้ขีดจำกัด มีเพียงจินตนาการเท่านั้นที่มีขอบเขต ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเริ่มคิดนอกกรอบ ถ้าคุณทำงานในภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต ต้องรู้จักคิดหาทางทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และอยากจะทำธุรกรรมด้วย แต่ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจท่กำลังหดตัว ต้องรีบออกมาจากธุรกิจนั้นโดยเร็ว และเปลี่ยนแปลงก่อนที่คุณจะกลายเป็นคนตกยุค ตกงาน หรือธุรกิจล่มสลาย และต้องจำไว้เสมอว่า คุณจะผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้
2. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ จงเป็นคนที่มีคุณภาพสูง คนบางคนไม่เคยชินกับการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คาดหวังความเป็นเลิศ ”
ไม่มีหนทางลัดสู่ความเป็นเลิศ คุณจะต้องตั้งใจและให้ความสำคัญ ใช้ความสามารถ ทักษะ และพรสวรรค์ที่มี พยายามทำให้มากกว่าคนอื่น มีมาตรฐานสูงกว่า และใส่ใจในรายละเอียดที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ความเป็นเลิศไม่ใช่เรื่องยาก แต่คุณต้องลงมือทำทันที แล้วคุณจะประหลาดใจในสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในชีวิต
3. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ วิธีเดียวที่จะทำงานให้ได้ผลดีเยี่ยม คือ คุณต้องรักในสิ่งที่ทำ ถ้าคุณยังไม่เจอสิ่งที่รักในตอนนี้ จงมองหาไปเรื่อยๆ อย่าด่วนสรุป เพราะมันเป็นเรื่องของหัวใจ คุณจะรู้ได้เอง เมื่อเจอสิ่งที่รัก ”
จงทำในสิ่งที่รัก มองหาอาชีพการงานที่ทำให้คุณมีจุดประสงค์ ทิศทาง และความพึงพอใจในชีวิต เมื่อคุณมีเป้าหมายและพยายามไปให้ถึง มันจะทำให้ชีวิตของคุณมีความหมาย ทิศทาง และความพอใจ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีและอายุยืนยาว แต่ยังจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญอุปสรรค
4. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ คุณก็รู้ว่า อาหารส่วนใหญ่ที่เรากิน เราไม่ได้ผลิตด้วยตัวเราเอง เราสวมใส่เสื้อผ้าที่คนอื่นผลิต เราพูดภาษาที่คนอื่นพัฒนาขึ้น เราใช้คณิตศาสตร์ที่คนอื่นค่อยๆปรับปรุงมาเรื่อยๆ ผมหมายถึงว่า เราเป็นฝ่ายรับอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น คงเป็นความรู้สึกที่น่าปลาบปลื้มอย่างยิ่งที่เราสามารถสร้างสรรค์บางสิ่ง บางอย่าง ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ”
จงใช้ชีวิตตามหลักศีลธรรม พยายามทำให้เกิดความแตกต่างบนโลกใบนี้และมีส่วนร่วมให้เกิดสิ่งที่ดีงามยิ่ง ขึ้น คุณจะพบว่า มันจะทำให้ชีวิตของคุณมีความหมายมากยิ่งขึ้น แถมยังเป็นยาแก้ความเบื่อหน่ายที่ได้ผลดีอีกด้วย ลองมองไปรอบๆตัว แล้วคุณจะพบว่า มีสิ่งต่างๆให้คุณทำอยู่เสมอ และจงพูดคุยกับผู้อื่นถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ แต่อย่าพร่ำสอน หรือคิดว่าตัวเองถูกต้อง หรือหลงตัวเอง เพราะจะทำให้คนอื่นไม่อยากคุยด้วย ขณะเดียวกัน คุณต้องไม่กลัวที่จะทำตนเป็นตัวอย่าง และใช้โอกาสที่มี บอกเล่าถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ
5. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ มีคำพูดในพุทธศาสนาว่า จิตของผู้เริ่มต้น มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่ทุกคนควรจะมีจิตของผู้เริ่มต้น ” ซึ่งเขาอธิบายต่อไปว่า
มันเป็นจิตที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆทำให้เราตระหนักถึงแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น จิตของผู้เริ่มต้น ก็คือการนำหลักการของเซนมาปฏิบัติจริง เป็นจิตบริสุทธิ์ที่ปราศจากอคติ การคาดหวัง การตัดสิน ความลำเอียง ให้คิดว่า จิตของผู้เริ่มต้น เป็นเหมือนจิตของเด็กน้อย ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย และความประหลาดใจ
6. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ เราคิดว่า โดยทั่วไปแล้ว คุณดูโทรทัศน์เพื่อพักสมอง และคุณใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อต้องการให้สมองทำงาน ”
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการศึกษาจำนวนมากที่ยืนยันหนักแน่นว่า การดูทีวีส่งผลเสียด้านจิตใจและมีอิทธิพลด้านศีลธรรม และคนที่ติดทีวีส่วนมาก แม้จะรู้ว่า มันทำให้ชินชาและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยม ดังนั้น จงปิดทีวีซะ เพื่อถนอมเซลล์สมอง แต่ต้องระวัง เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ก็อาจเป็นการพักสมองได้เช่นกัน ลองเปลี่ยนมาเล่นเกมที่พัฒนาสติปัญญาดีกว่า
7. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ ผมสูญเงินไป 250 ล้านดอลลาร์ภายใน 1 ปี มันทำให้ผมรู้จักตนเองดีขึ้น ”
อย่ามองว่า การทำผิดกับความผิดเป็นเรื่องเท่าเทียมกัน เพราะคนที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่เคยล้มเหลวหรือทำผิดเลยนั้น ไม่มีหรอก มีแต่คนที่ประสบความสำเร็จ เคยทำผิดพลาดและรู้จักเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อทำให้ถูกต้องในครั้งต่อไป พวกเขามองความผิดพลาดเป็นเครื่องเตือนสติ มากกว่าความสิ้นหวัง การไม่เคยทำผิดเลย แสดงว่า คนนั้นไม่เคยใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
8. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ ในโลกนี้ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด เราเกิดมาบนโลกใบนี้แล้วก็ได้ทำสิ่งผิดพลาดเช่นกัน ไม่งั้นแล้ว เราจะเกิดมาทำไม ”
คุณรู้หรือไม่ว่า มีเรื่องใหญ่ๆหลายเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จในชีวิต และรู้หรือไม่ว่า เรื่องสำคัญเหล่านั้นจะถูกฝุ่นจับ เมื่อคุณใช้เวลามัวแต่นั่งคิดมากกว่าลงมือทำ เราทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมของขวัญชิ้นหนึ่งที่จะมอบให้กับชีวิตของเราเอง ของขวัญที่เต็มไปด้วยความปรารถนา ความสนใจ ความหลงใหล และความอยากรู้อยากเห็น ของขวัญชิ้นนี้ แท้จริงแล้ว มันคือเป้าหมายของเรานั่นเอง และคุณตั้งเป้าหมายของคุณได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน ครู พ่อแม่ นักบวช หรือเจ้าหน้าที่ ก็ไม่อาจเลือกเป้าหมายให้คุณได้ คุณต้องหาจุดมุ่งหมายด้วยตัวคุณเอง
9. สตีฟ จอบส์ พูดว่า “ เวลาของ คุณมีจำกัด จงอย่าเสียเวลาใช้ชีวิตตามแบบคนอื่น อย่าติดอยู่ในหลักความเชื่อ ซึ่งทำให้คุณใช้ชีวิตตามผลความคิดของผู้อื่น อย่ายอมให้เสียงความคิดของคนอื่น มากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และทีสำคัญที่สุด คือ คุณต้องมีความกล้า ที่จะทำตามหัวใจปรารถนาและสัญชาติญาณ เพราะมันรู้ดีว่า จริงๆแล้ว คุณต้องการเป็นอะไร เรื่องอื่นๆกลายเป็นเรื่องรองไปโดยสิ้นเชิง ”
คุณเบื่อหรือเปล่าต่อการใช้ชีวิตตามความฝันของคนอื่น ไม่ต้องสงสัยเลย ก็มันเป็นชีวิตของคุณเอง คุณมีสิทธิใช้ชีวิตในแบบที่คุณต้องการ โดยไม่ต้องมีใครมาคอยขัดขวาง ลองให้โอกาสตัวเองฝึกความคิดริเริ่มในบรรยากาศที่ปราศจากความกลัวและแรงกด ดัน จงใช้ชีวิตตามแบบที่คุณเลือก และเป็นเจ้านายตัวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น