ชาวมอญ มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนามาอย่างแนบแน่น รวมถึงมีประเพณีที่จูงใจให้ผู้คนใกล้ชิดกับศาสนามาหลายชั่วอายุคน และคนไทยเชื่อสายมอญต่างก็ร่วมใจกันสืบสานประเพณีของบรรพบุรุษอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ประเพณีตักบาตรทางน้ำ อรุณรุ่งออกพรรษา ท่าน้ำปากเกร็ด .. การทำบุญปวาณาออกพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถือว่าเป็นการทำบุญที่สำคัญรองลงมาจากการทำบุญสงกรานต์
โดยชาวมอญเชื่อว่า วันนี้เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงน์ลงมายังโลกมนุษย์ นอกเหนือจากการทำบุญทั่วไป ชาวมอญจะมีการตักบาตรที่ริมน้ำหน้าวัดสำคัญของชาวมอญ เรียกว่า “ตักบาตรพระร้อย” หรือ “ตักบาตรทางเรือ” เนื่องจากวันนี้จะมีพระสงฆ์จากวัดต่างๆจำนวนนับร้อยมารับบาตรโดยทางเรือ และจะมีการละเล่นรื่นเริงต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำบุญด้วย เช่น การแข่งเรือ การเล่นเพลงพื้นบ้าน
หลังจากพิธีตักบาตรทางเรือสิ้นสุดลง ชาวบ้านจะมีการถวายอาหารเพลให้กับพระสงฆ์ ซึ่งเมื่อพระสงฆ์ฉันท์อาหารเพลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนำดอกไม้ ธูป เทียน จัดใส่พานมานั่งคอยถวายพระ
การนำดอกไม้ ธูป เทียนมาถวายนี้ เป็นประเพณีที่กระทำกันมาแต่โบราณ เรียกว่า “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” อันมีคติความเชื่อมาจากพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากพุทธมารดาบนเทวโลก พระมหากษัตริย์และประชาชนจึงพากันนำดอกไม้และเครื่องสักการะบูชาต่างๆมาเฝ้าถวายการต้อนรับ เมื่อพระสงฆ์รับดอกไม้ ธูป เทียน และเดินเข้าสู่อุโบสถแล้ว พระสงฆ์จะทำพิธีปวารณาออกพรรษา ซึ่งถือเป็นกิจของสงฆ์ต่อไป
ชาวมอญทำบุญออกพรรษา 3 วัน ในวันขึ้น 14 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ นอกจากจัดอาหารถวายพระแล้ว ชาวบ้านยังมีพิธี “ส่งสำรับ” ไปให้ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือในวันพระขึ้น 15 ค่ำ ดือน 11
ชุมชนชาวมอญเกาะเกร็ด ยังคงรักษาประเพณีออกพรรษาตามแบบฉบับของชาวรามัญอย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้แต่ละบ้านตระเตรียมขนมกนะยาสารท แป้งสำหรับทำขนมจีน ทำความสะอาดวัด และตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสะอ้านสวยงามกว่าปกติ การทำบุญจะคึกคักมากที่วัดปรมัยยิกาวาส พระอารามหลวงชั้นโท
วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อ “วัดปากอ่า” หรือที่ชาวมอญเรียกว่า “เพี๊ยะมู่ฮะเติ้ง” สร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2317 วัดปรมัยยิกาวาส เป็นวัดเดียวที่ยังคงรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ ถือเป็นวัดศูนย์กลางของชุมชนชาวมอญ
ชาวมอญปากเกร็ดทำบุญในเทศกาลออกพรรษาโดยการทำบุญกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวมอญปากเกร็ด
งานประเพณีตักบาตรทางน้ำในเทศกาลออกพรรษา ชาวรามัญจะตกแต่งเรือให้พระภิกษุ และลูกศิษย์พายเรือไปรับบิณฑบาตรจากชาวบ้านที่รอเตรียมใส่บาตรอยู่ทั้งสองฝากฝั่งแม่น้ำและฝั่งคลอง เริ่มตั้งแต่เช้าเป็นต้นไป
เรือแต่ละลำจะมีเหล่าฝีพาย จะร้องลำทำเพลงสนุกสนานครึกครื้น ทำให้การตักบาตรทางน้ำมีสีสัน สนุกสนาน มีการให้จังหวะประกอบในการกำกับจังหวะการพายเรือตามแบบมอญดั้งเดิม โดยต้นเสียงจะขึ้น “เยอว ป๊ะ เยอว” เหล่าลูกเรือและฝีพายจะรับกันว่า “เย้อว” พร้อมกับจังหวะพาย
วันนี้เสียง “เยอว ป๊ะ เยอว” จะดังยาวไปทั้งสายน้ำ ทำให้ชาวบ้านเกาะเกร็ดเรียกวันออกพรรษาว่า เป็นวัน “เยอว ป๊ะ เยอว” ส่วนพลงที่ร้องประกอบเป็นเพลง “โหยน โหย่ว” ซึ่งเป็นเพลงภาษามอญ ภายหลังจึงมีการผูกคำร้องเป็นภาษาไทย
บนลานใต้สะพานพระรามสี่ข้ามแม่น้ะเจ้าพระยา ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับชุมชนปากเกร็ด
การแสดงศิลปวัฒนธรรมมอญ เช่น การเล่นสะบ้า ฯ
การแสดงศิลปวัฒนธรรมหลายภาค และอาหารมอญต่างๆ
ภายหลังจากทำบัญตักบาตรทางน้ำ และการถวายภัตตาหารเพล พระสงฆ์ทำพิธีปวารณาออกพรรษาแล้ว พระสงฒ์จะไปรวมตัวกันที่วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของชาวมอญเกาะเกร็ดทางวัดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระไตรปิฏกภาษามอญมาประดิษฐานบนศาลาการเปรียญ โดยมีผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำหน้าขบวนพระสงฆ์ไป ชาวบ้านที่มาทำบุญจะนั่งเรียงรายสองข้างทางที่พระสงฆ์ดินผ่าน ต่างถือูป เมื่อขบวนผ่านก็ถถวายูป ซึ่งภาษามอญเรียกว่า “ซอนธูป” เพื่อบูชาอย่างนอบน้อม
*** ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น