++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประกันภัยยามป่วย และหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลกันตวจระมวล อ.ปราสาท จ.สุรินทร์

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            ออกจากตัวเมืองสุรินทร์ 48 กิโลเมตร  มาทาง อ.ปราสาท จึงเข้าสู่องค์การบริหารส่วนตำบลกันตวจระมวล (ชื่อที่ต้องอ่านออกเสียงในสำเนียงเขมร) ด้วยลักษณะพื้นที่ราบสูงและมีแม่น้ำ 2 สายที่สำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำห้วยจะแกซีเปรี๊ยดและห้วยระกา คนส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงได้อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำละผืนดินทำนาปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์
            องค์การบริหารส่วนตำบลกันตวจระมวล  เป็นอีกพื้นที่ของหน่วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ขนาดเล็กกะทัดรัด หากมีผู้นำ อย่างเช่น นายกองคืการบริหารส่วนตำบล นางสุวรรณี โชติสิรินันท์ ที่มีแนวคิดในการทำงานที่เน้นสร้างคุณภาพชีวิตของคน ที่ว่า " ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ สิทธิของประชาชนคนไทยทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานอย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน"  โดยมีภาระด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการจะไม่เป็นอุปสรรคที่ประชาชนจะได้รับสิทธินั้น เป็นระบบที่สร้างความอบอุ่นใจแก่ประชาชน และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพต่อเนื่อง

            จากการทำประชาคม คนในตำบลกันตวจระมวลมีความเห็นว่า โครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จะเป็นโครงการที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดีขึ้น "โครงการชดเชยรายได้พักกายในโรงพยาบาลและโครงการระบบบริการ การแพทย์ฉุกเฉิน" เป็น 2 โครงการเด่นใน 10 โครงการ ที่ อบต.กันตวจระมวลได้ดำเนินงานในโครงการกองทุนฯ
            อบต. กันตวจระมวล ได้ใช้เวทีประชาคมเป็นเครื่องมือในการพัฒนากิจกรรม เน้นแนวทางกิจกรรมที่เป็นส่วนเสริมในส่วนที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถดูแลได้หรือเสริมบริการด้านอื่นต่อจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การรับ-ส่งผู้ป่วยให้ถึงโรงพยาบาลโดยรวดเร็ว เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และการชดเชยรายได้ให้กับประชาชน เมื่อมีความจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

            เนื่องจากการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทำให้ชาวบ้านสูญเสียรายได้  โครงการชดเชยรายได้พักกายในโรงพยาบาล จึงเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการชดเชยรายได้ประจำของสมาชิกเวลาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล  โดยแต่ละรายจะต้องจ่ายเงินและร่วมบริหารกองทุนฯ
            โดยกำหนดว่า สมาชิกจะจ่ายเงินเข้ากองทุนคนละ 60 บาท/คน/ปี หรือ 5 บาท /คน / เดือน (ประชาชนจ่ายเอง 3 บาท กองทุนหมู่บ้าน (ละล้าน) จ่ายให้ 1 บาท และกองทุนหลักประกันสุขภาพจ่ายให้ 1 บาท)
            สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ คือ เงินทดแทน กรณีเจ็บป่วยและต้องนอนพักรักษาตัวที่ รพ. คืนละ 100 บาท ติดต่อกันไม่เกิน 5 คืน หรือ ไม่เกิน 4 ครั้ง/ปี หรือไม่เกิน 2,000 บาท/คน
            กรณีสมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายค่าทำศพๆละ 2,000 บาท

            สมาชิกอายุ 35-60 ปี จะได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี
            ปี 2550 โครงการกองทุนเงินชดเชยฯ มีสมาชิก 2,638 คน คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่  และมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 83,180 บาท
            ส่วนโครงการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้จัดรถและพัฒนาบุคลากร สร้างหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่ ให้ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและถุกต้องตามหลักสากล โดยคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ รวดเร็ว ถุกต้อง ปลอดภัยและช่วยได้มาก
            ทั้งนี้ อบต.กันตวจระมวล ประสานงานอาสาสมัครเข้ารับการอบรม  (EMT)  ที่โรงพยาบาลสุรินทร์และจัดหาอุปกรณ์หน่วยกู้ชีพและให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลกันตวจระมวลและตำบลใกล้เคียง ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรม 21 คน และมีรถสำหรับบริการจำนวน 2 คัน อัตราการให้บริการเฉลี่ย 40 ราย/ เดือน

            ปัจจัยของความสำเร็จ เกิดจากวิสัยทัศน์ของ นายก อบต.ที่ตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ในแง่ของการดำเนินงาน มีความน่าสนใจมากอย่างยิ่งว่า ได้เกิดการประสานงานอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอก
            การประสานงานภายนอกชุมชน นายก อบต.และคณะกรรมการชุมชน ไปศึกษาดูงานนอกพื้นที่แล้วนำมาประยุกต์ใช้ โดยไปศึกษากิจกรรมดูแลสุขภาพชุมชนที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์  จ.สงขลา และ จ.ตราด แล้วนำความรู้กลับมาประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพของชุมชน

            การประสานงานภายในชุมชน คณะทำงานได้สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมมือกันในการคิดแผนโครงการโดย อบต. กันตวจระมวล เชิญตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้านไปร่วมศึกษาดูงาน การดำเนินงานกิจกรรมการดูแลสุขภาพประชาชน ก่อนจะกลับมาจัดทำประชาคมเพื่อเฟ้นหาสภาพปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วน
        แต่กระนั้น สิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นกุญแจที่เปิดประตูแห่งความสำเร็จของโครงการ คือ .. การเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
เอื้อจิต สุขพูล

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น