++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มาตรฐานแห่งความดีความชั่ว

ท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ


อะไรคือความดี? อะไรคือความชั่ว?
เป็น ปัญหาทางจริยศาสตร์
ซึ่งนักปราชญ์ทางนี้ได้ถกเถียงกันเป็นอันมากและตกลงกันไม่ค่อยได้
เพราะมีขอบเขตกว้างขวางมาก
อะไรคือคุณธรรม? ก็เป็นปัญหาที่ตอบยากเช่นเดียวกัน
นักปราชญ์ทั้งหลาย แม้เป็นถึงศาสดาผู้ตั้งศาสนาที่มีคนนับถือทั่วโลก
ก็ยังบัญญัติคุณธรรมไว้ไม่ตรงกัน ยิ่งหย่อน กว้างแคบกว่ากัน
ความชั่วกับความผิด เป็นอันเดียวกันหรือไม่
ความดีกับความถูกต้อง เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน
หมายความว่า ความถูกต้องอาจไม่เป็น ความดีเสมอไปหรืออย่างไร?
นี่ก็เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์เช่นเดียวกัน
คนส่วนมากมักถือเอาความสุข
ความสมปรารถนาในชีวิตปัจจุบันเป็นมาตรฐานวัดความดี
คือความดีต้องมีผลออกมาเป็นความสุข ความสมปรารถนา
เป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ส่วนความชั่วต้องมีผลตรงกันข้าม
แต่ในความ เป็นจริงแล้วไม่แน่เสมอไป
ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยผลภายในผลภายนอกที่ว่านี้
หมายถึงผลของกรรมนั้นโดยตรง


ในแง่ของพระพุทธเจ้าทรงให้แนวคิดไว้ว่า
“กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง กรรมนั้นดี
บุคคลทำกรรมใดแล้ว เดือดร้อนภายหลังกรรมนั้นไม่ดี”


ตามแง่นี้ เราจะมองเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า
คนทำชั่วบางคนได้รับความสุข เพราะการทำชั่วนั้นในเบื้องต้น
ถ้าเขาเพลิดเพลินในการทำชั่วนั้นต่อไป ไม่รีบเลิกเสีย
เขาจะต้องได้รับความทุกข์ในตอนปลาย
ส่วนคนทำความดีบางคน ได้รับความทุกข์ในเบื้องต้น
แต่ถ้าเขามั่นอยู่ในความดีนั้นต่อไป ไม่ยอมเลิกทำความดี
เขาย่อมต้องได้รับความสุขในเบื้องปลาย

ตรงกับข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“เมื่อกรรมชั่วยังไม่ให้ผล คนชั่วอาจ เห็นกรรมชั่วเป็นกรรมดี
แต่เมื่อกรรมชั่วให้ผล เขาย่อมเห็นกรรมชั่วว่าเป็นกรรมชั่ว
ส่วนคนดี อาจเห็นกรรมดีเป็นกรรมชั่ว เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดกรรมดีให้ผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีเป็นกรรมดี”



โดยนัยดังกล่าวนี้ ถ้ามองกรรมและผลของกรรมในสายสั้น
อาจทำความไขว้เขวบ้างในบางเรื่อง
แต่ถ้ามองในสายยาว จะเห็นถูกต้องทุกเรื่องไป
ความเป็นไปในชีวิตคน เป็นปฏิกิริยาแห่งกรรมของเขาทั้งสิ้น
ถ้ามองในสายสั้นก็จะยังไม่เห็น แต่ถ้าเรามองเหตุผลสายยาวก็จะเห็น
ทฤษฎีเรื่องการเกิดใหม่ (อันเป็นเหตุผลของกรรมในสายยาว)
จึงต้องควบคู่กันไปกับเรื่องกฎแห่งกรรม แยกจากกันไม่ได้
เพราะถ้าแยกจากกันเมื่อไร
บุคคลก็จะมองเห็นเหตุผลในเรื่องกรรมเพียงสายสั้นเท่านั้น
สมมติว่า วันหนึ่งเป็นชาติหนึ่ง เหตุการณ์ในวันนี้
อาจเกี่ยวโยงไปถึงเหตุการณ์ในอีกร้อยวันข้างหน้า
เหตุการณ์เมื่อร้อยวันก่อน อาจเกี่ยวโยงมาถึงเหตุการณ์ในวันนี้
ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์เมื่อพันชาติมาแล้ว
อาจมาเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ในชาตินี้
คนสามัญอาจงง แต่ท่านผู้ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณเห็นเป็นเรื่องธรรมดา
เหมือนกับเรารู้ว่า เมื่อ ๒๐ ปี ก่อน
เราเรียนหนังสือมาอย่างไร เราจึงมามีความรู้อยู่อย่างวันนี้


ในเหตุผลสายสั้น คนขโมยเงินย่อมได้เงิน
เงินมันไม่ได้ทักท้วงใครว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว
ถ้ามองกันเพียงวันเดียว อาจเห็นการขโมยเป็นทางดี
เพราะได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยหาความสุขสำราญได้
แต่ผลที่ตามมาอีกชั้นหนึ่ง คือความเดือดร้อนใจของผู้ขโมยนั่นเอง
ซึ่งจะต้องมีอยู่อย่างแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย
และถ้าเจ้าทรัพย์หรือตำรวจจับได้ เขาต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
อาจติดคุกหรือถูกประหารชีวิต บางทีในขณะที่เขาได้รับโทษนั้น
เขากำลังประกอบกรรมดีบางอย่างอยู่
ระยะเวลาห่างจากวันที่เขา ขโมยถึง ๒๕๐-๓๐๐ วัน หรือ ๒-๓ ปีก็ได้
๙-๑๐ ปีก็ได้ นี่คือตัวอย่าง ที่พอมองเห็นกันได้


อนึ่ง ความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลในทางดีหรือไม่ดี
ทางเกื้อหนุนหรือเบียดเบียน ตัวเขาเองนั่นแหละเป็นคนรู้
เพราะความเกี่ยวข้องเหล่านั้นถูกเก็บรวบรวมไว้ในวิญญาณ
อันท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏตราบเท่าที่กิเลสยังมีอยู่
เมื่อเจอกันเข้าในชาติใดชาติหนึ่ง
ความรู้สึกของวิญญาณย่อมบอกให้เรารู้ว่าเคยเป็นมิตรเป็นศัตรูกันมาอย่างไร


มาตรฐานเครื่องตัดสินกรรมดีกรรมชั่วอีกอย่างหนึ่งตามแง่ของพระพุทธเจ้า
คือ กรรมใด ทำแล้ว ทำให้กิเลสพอกพูนขึ้น กรรมนั้นเป็นกรรมชั่ว
ส่วนกรรมใดทำแล้วเป็นไป เพื่อความขัดเกลากิเลส
ทำให้กิเลสเบาบางลง กรรมนั้นเป็นกรรมดี
กล่าวให้ชัด อีกหน่อยหนึ่งว่า ทำอย่างใดพูดอย่างใด และคิดอย่างใด
ทำให้ โลภ โกรธ หลง เพิ่มพูนขึ้นในสันดานหรือในจิต อันนั้นเป็นกรรมชั่ว
ส่วน กรรมดีก็ตรงกันข้าม


มาตรฐานนี้ค่อนข้างสูงหน่อย พ้นจากสำนึกของคนสามัญ
กล่าวคือ คนทั่วไปไม่ค่อยนึกในแง่นี้
เมื่อเอาลักษณะ ตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการมาพิจารณาก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า
มาตรฐานแห่งความ ดีของพระพุทธองค์นั้นอยู่ที่การลดโลภ โกรธ หลง
ยิ่งลดได้มากเท่าใด ยิ่งดี มากเท่านั้น ลดได้หมดเกลี้ยงก็ดีถึงที่สุด
ทรงแสดงลักษณะตัดสิน ธรรมวินัย ๘ ประการ แก่พระนางมหาปชาบดีภิกษุณีไว้ดังนี้

๑ ธรรม ใดเป็นไปเพื่อ :-
๑. ความกำหนัด (สราคะ)
๒. การประกอบตนอยู่ในทุกข์ (สังโยคะ)
๓. สะสมกิเลส (อาจยะ)
๔. ความมักใหญ่ อยากใหญ่ (มหิจฉตา)
๕. ความไม่สันโดษ (อสันตุฏฐิตา)
๖. ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (สังคณิกา)
๗. ความเกียจคร้าน (โกสัชชะ)
๘. ความเลี้ยงยาก (ทุพภรตา)
ทั้ง ๘ นี้ พึงทราบเถิดว่า ไม่ใช่ ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา

ส่วนธรรมใด เป็นไปเพื่อ :-
๑. ความคลายกำหนัด (วิราคะ)
๒. การไม่ประกอบตนไว้ในกองกิเลส (วิสังโยคะ)
๓. การไม่สะสมกองกิเลส (อปจยะ)
๔. ความปรารถนาน้อย (อัปปิจฉตา)
๕. ความสันโดษ (สันตุฏฐิตา)
๖. การไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ (อสังคณิกา)
๗. ความไม่เกียจคร้าน คือความเพียรติดต่อสม่ำเสมอ (วิริยารัมภะ )
๘. ความเลี้ยงง่าย (สุภรตา)
พึงทราบเถิดว่า ทั้ง ๘ นี้เป็น ธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา


เมื่อเอาลักษณะ ทั้ง ๘ ประการนี้มาตัดสินว่า อะไรดี อะไรชั่ว
อะไรควรเว้น อะไรควรทำ
แล้วจะเห็นว่ามาตรฐานแห่งกรรมดีของพระพุทธองค์นั้นอยู่ในระดับสูง
และเป็นการแน่นอนว่า ความดีเช่นนี้ย่อมมีจุดจบในตัวเอง
คือไม่ใช่ความดีเพื่อ ลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น
แต่เป็นความดีเพื่อความดี ความดีเพื่อพ้นจากความวนเวียนในสังสารวัฏ
เพราะถือว่าการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น แม้จะเกิดดีเพียงไร
ก็ยังเจืออยู่ด้วยทุกข์ ต่างกัน แต่เพียงรูปแบบของความทุกข์เท่านั้น
แต่ในเนื้อหาแล้วเป็นความทุกข์เหมือนกัน เช่นชาวนาก็ทุกข์อย่างชาวนา
พ่อค้า ข้าราชการ พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ ล้วนแต่ต้องทุกข์ในรูปแบบของตนๆ


ในความหมายอย่างสูง ที่ว่า “ความดีเพื่อความดี” นี้
ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นซึ่งพระพุทธ ภาษิตที่ว่า
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาป กํ”


การทำดี คือการกระทำที่ประกอบด้วย คุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา
ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อฯ
สิ่งที่เขาจะได้รับอย่างแน่นอน คือ คุณธรรมที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เขาทำ
นั่นคือ การได้ดี ใจของเขาย่อมสูงขึ้น
สะอาด สว่างขึ้นตามสัดส่วนแห่งคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น


เสียงสรรเสริญ ก็ไม่ใช่เครื่องวัดความดีที่แน่นอนเสมอไป
ในหมู่โจรย่อมสรรเสริญโจรที่เก่งกล้า อันธพาลที่สามารถคุม
อันธพาลด้วยกันได้ย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากกลุ่มอันธพาลด้วยกัน
บัณฑิต ย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากหมู่บัณฑิต แต่ได้รับเสียงติเตียนจากหมู่คนพาล


ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้รับสรรเสริญ จึงต้องพิจารณาดูก่อนว่าใครเป็นผู้สรรเสริญ
ถ้าบัณฑิตสรรเสริญก็เชื่อได้ว่าเสียงสรรเสริญนั้นมาจากคุณธรรมหรือ การทำความดี


การทำชั่ว คือ การกระทำที่ไร้คุณธรรม ที่ว่าได้ ชั่วก็เพราะมีนิสัยชั่วเกิดขึ้นในจิต
ถ้าทำบ่อยๆ นิสัยชั่วก็พอกพูนขึ้น เรื่อยๆ
จนเกาะแน่นเป็นลักษณะนิสัยของผู้นั้นยากที่จะแก้ไขได้
เหมือนดินพอกหางหมู ความชั่วหรือนิสัยชั่วที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ นั้น
ย่อมชักนำเขาไปใน ทางที่ชั่ว
ในที่สุดเขาก็จะพบกับหายนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
เพราะ วิบากชั่วซึ่งแฝงอยู่ในจิตของเขานั่นเองจะคอยกระซิบ
กระตุ้นเตือนให้บุคคล ผู้นั้นคิด พูด กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลร้าย
คือทำให้เขาตัดสิน ใจผิด ก้าวผิด เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล
เพราะวิบากแก่กล้าสุกรอบแล้วนั้น
แม้คนมีปัญญาก็อับปัญญา ซึ่งท่านเปรียบว่า
นกแร้งมีสายตาไกลสามารถมองเห็นซากศพได้เป็นร้อยๆโยชน์
แต่พอถึงคราวเคราะห์ (ถึงคราวกรรมจะ ให้ผล) บ่วงอยู่ใกล้ก็มองไม่เห็น
เดินเข้าไปติดบ่วงจนได้ ตรงกันข้าม ถ้าถึงคราวกรรมดีจะให้ผล
วิบากแห่งกรรมซึ่งสั่งสมอยู่ในจิต
ย่อมบันดาลให้เขาทำ พูด คิดไปในทางที่ถูกอันจะนำไปสู่ผลดีอันนั้น


พิจารณาในแง่นี้แล้ว ควรเว้นกรรมชั่ว สั่งสมแต่กรรมดี
เพื่อจะได้ มีวิบากอันดี อยู่ในจิต นี่คือ การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ย้ำอีกทีว่า คนประพฤติกระทำ อย่างใดย่อมได้ความเป็นอย่างนั้นขึ้นในตน
เช่น หัดเป็นโจรเป็นนักเลง ย่อม ได้ความเป็นโจรเป็นนักเลงขึ้นในตน
หัดเป็นคนดีในทางไหน ย่อมได้ความเป็นคนดี ในทางนั้นขึ้นในตน


ด้วยเหตุนี้ คนที่มีความปรารถนาจะเป็นอย่างใด
แล้วเริ่มหัดประพฤติกระทำอยู่เสมอๆ เขาย่อมได้เป็นอย่างนั้นแน่นอน
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เร็วหรือช้าสุดแล้วแต่คุณสมบัตินั้น
จะสุกรอบหรือ ก่กล้า (Maturation) เมื่อใด
นี่คือคำอธิบายพระพุทธภาษิตที่ว่า
บุคคลทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ย่อมต้องรับมรดกแห่งกรรมนั้น


ที่มา...หนังสือ หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด (ท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น