++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีคลายกามฉันทะ

ตามหลักปฏิบัติ

นอกเหนือจากวิธีการแก้ไขตามคัมภีร์แล้ว เรายังสามารถใช้วิธีการต่อไปนี้ช่วย เพื่อให้คลายกามฉันทะลงไปได้ คือ

1. ใช้การพิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือ ให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้นๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหา เพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
แม้ว่ากามจะก่อให้เกิดความสุข ความพอใจ ต่อเมื่อเราได้รับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เราปรารถนาและพอใจ แต่เมื่อว่าโดยโทษของกามนั้นมีมากมายหลายประการ ในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึงโทษของกามไว้ใน มหาทุกขักขันธสูตรว่า
1. เมื่อบุคคลทำงานเลี้ยงชีพด้วยความขยัน ด้วยศิลปะต่างๆ ผู้ทำงานต้องได้รับทุกข์นานาชนิด เช่น ทุกข์จากการตรากตรำทำงาน ทุกข์จากความหนาว ความร้อน ลม แดด จากถูกสัตว์ เช่น เหลือบ ยุง ขบกัด จากความหิว กระหาย
2. เมื่อผู้นั้นขยัน พากเพียรทำงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นทุกข์ ผู้ทำงานจนได้รับผลก็เป็นทุกข์ในการรักษาผลงานนั้นมิให้ถูกภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย อุทกภัย ภัยจากลูกหลานที่คอยล้างผลาญ เขาย่อมประสบความทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ เห็นว่า สิ่งใดที่เคยเป็นของเรา สิ่งนั้นก็ไม่ได้เป็นของเรา
3. กามทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดโทษต่างๆ เช่น เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในวงการต่างๆ เช่น พระราชาทะเลาะกับพระราชา ผู้นำประเทศทะเลาะกับผู้นำประเทศ เศรษฐีทะเลาะกับเศรษฐี ตลอดจนการทะเลาะวิวาทในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ทะเลาะกันและกัน การทะเลาะวิวาทเป็นเหตุให้ต้องประหัตประหารกัน ฆ่าฟันกันด้วยศัตราวุธต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิต และยังเป็นเหตุให้มีการทำทุจริตหลายประการทั้งกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต นี้ก็เป็นเพราะโทษแห่งกาม

นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกยังชี้ให้เห็นโทษของกามโดยยกอุปมาขึ้นแสดงให้เห็นโทษอีกว่า มีสุขเพียงเล็กน้อย แต่มีโทษมากคือ
1. เปรียบเหมือนสุนัขที่มีความเพลียเพราะความหิว เข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโค พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้ว เปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข สุนัขนั้นก็แทะร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมด เนื้อ เปื้อนแต่เลือด ย่อมไม่สามารถบำบัดความเพลียเพราะความหิวได้ กามทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
2. เปรียบเหมือนแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยว พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย นกตะกรุมทั้งหลายหรือเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ถ้าแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยวตัวนั้น ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันจะถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้นเป็นเหตุ กามทั้งหลายก็เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
3. เปรียบเหมือนบุรุษถือคบเพลิงหญ้าที่ติดไฟ เดินทวนลมไป ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบเพลิงหญ้านั้นเสีย คบเพลิงหญ้านั้น ก็จะไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นจะถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้นเป็นเหตุ กามทั้งหลายก็เปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
4. เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิตไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง บุรุษนั้นย่อมไม่อยากเข้าไป เพราะรู้ว่าจะตกไปในหลุมถ่านเพลิงตาย หรือเป็นทุกข์ปางตาย กามทั้งหลายก็มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
5. เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร กามทั้งหลายก็เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
6. เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ คือ แก้วมณี และตุ้มหูอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ ดังนี้ พวกเจ้าของ พึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนำเอาของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด กามทั้งหลายก็เปรียบเหมือนของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
7. เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ ในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่ม และห่อพกไว้ ลำดับนั้น บุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวาน อันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดกแต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอเราพึงตัดต้นไม้นี้แต่โคนต้น แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแต่โคนต้น บุรุษคนซึ่งขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น ถ้าเขาไม่รีบลง ต้นไม้นั้นจะพึงล้มลง หักมือหักเท้า หรือหักอวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นล้มเป็นเหตุ ฉันใด กามทั้งหลายก็เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์ มีความคับแค้นมาก

2. พิจารณาถึงความที่สิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้

3. พิจารณาถึงคุณของการออกจากกาม หรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใด เป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการแก้ไขกามฉันทะให้หมดออกไปจากใจ แม้เพียงชั่วขณะ แต่ถ้าหากเราได้หมั่นพิจารณา หมั่นสอนตัวเองบ่อยๆ อุปสรรคข้อนี้ก็จะไม่คอยมาขัดวางใจของเราได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น