ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยศที่ "มกุฎราชกุมาร" แห่งรัสเซีย ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระสหายสนิทในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ระหว่างวันที่ 20 - 24 มีนาคม พุทธศักราช 2434 รวมเวลาทั้งสิ้น 5 วัน ในการนี้ รัชกาลที่5ได้โปรดเกล้าให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่สมกับพระเกียรติและสมกับที่ทรงเป็นพระกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน
ในการนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้มีพระราชดำริว่า สยามและรัสเซียนั้นแม้อยู่ห่างไกล แต่พระราชวงศ์ได้ดำเนินพระราชไมตรีด้วยดีเสมอมา เสมือนหนึ่งแผ่นดินเดียวกันก็ว่าได้ ในการที่มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเสด็จฯจากแดนไกลมาถึงเพียงนี้ มีพระหฤทัยประสงค์จำนงใดในราชอาณาจักรนี้ก็จะทรงจัดหาให้ไม่ขัดข้อง
ด้วยเหตุนี้ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่กรุงรัสเซีย เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงนิ่งและทรงอึ้งอยู่ชั่วครู่ เพื่อดำรงพระเกียรติยศและพระเกียรติศักดิ์ในพระราชฐานะพระมหากษัตริย์แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ จึงทรงยึดถือคติที่ว่า "กษัตริย์ ตรัสแล้วไม่คืนคำ" ดังนี้เอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสตอบตกลงพระราชทานพระแก้วมรกตแก่กรุงรัสเซียผ่านทางมกุฎราชกุมาร
ในการนี้ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียก็ทรงตกพระทัยไม่น้อย เพราะทรงทราบดีว่าพระแก้วมรตกเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพระราชวงศ์และอาณาประชาราษฎร์ทุกคน จึงทรงมีพระดำรัสตรัสขอบพระทัยอย่างสุดซึ้งและขอให้ฝ่ายสยามได้ขอสิ่งใดจากรัสเซียเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสตอบกลับโดยทันที ทั้งนี้ทรงขอพระแก้วมรกตกลับคืนสู่ราชอาณาจักรไทยเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวของปวงชนทั้งราชอาณาจักรเช่นเดิม
มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียได้ทรงสดับดังนั้น ทรงเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอย่างมาก และทรงถวายพระแก้วมรกตคืน
เนื่องจากพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เสมือนหนึ่งกฎหมายและมีผลบังคับในทันที ดังนั้นช่วงเวลาไม่กี่นาทีดังกล่าว ถือได้ว่าพระแก้วมรกตได้เป็นของรัสเซียแล้ว แม้มิได้อัญเชิญออกจากที่หรือเคลื่อนย้ายใดๆแม้แต่น้อย
หากวันนั้น มกุฎราชกุมารรัสเซียไม่ได้ทรงขอพระแก้วมรกต ราชอาณาจักรสยามอาจจะต้องเสียดินแดนไปมากกว่านี้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม .. พระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นของพระราชวงศ์ทั้งสองนี้ ก็ได้คานอำนาจของประเทศมหาอำนาจในยุโรปอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้สยามดำรงเอกราชเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคจวบจนกระทั่งทุกวันนี้
ปล บางตำรากล่าวว่าฝ่ายรัสเซียได้หยอดคำหวานขอก่อน โดยที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมิได้ทรงเสนอข้อแลกเปลี่ยนใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นกุศโลบายของฝ่ายรัสเซีย เพื่อที่จะทดลองน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อความเป็นดังว่านั้น ฝ่ายรัสเซียจึงตระหนักดีว่าฝ่ายสยามไม่ได้มีความโลภที่จะอยากได้ทรัพย์สมบัติจากรัสเซีย นอกเสียจากน้ำใจไมตรีที่แท้จริง
ปล หลังจากที่ มกุฎราชกุมารได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงรัสเซียแล้ว ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าซาร์ นิโกลัสที่ 2 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จฯเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นการตอบแทนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2440 ในโอกาสเสด็จฯเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งต่อมาได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ไทย - รัสเซีย
ภาพประกอบ: พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยศที่ "มกุฎราชกุมาร" แห่งรัสเซีย ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนราชอาณาจักรสยาม
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ชมรมประวัติศาสตร์สยาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น