++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

อานิสงส์ของการกล่าว คำว่า " สาธุ "

 อานิสงส์ของการกล่าว คำว่า " สาธุ "

"กลิ่นปากของพระมหาเถระหอมฟุ้งไปทั่วพระราชวัง ดังกลิ่นการบูรและพิมเสนผสมกฤษณา หอมยิ่งกว่าดอกบัวนิลุบล ปรากฏการณ์นี้ปรากฏแก่ชนทั้งหลายในพระราชวัง"

การที่ชาวพุทธฟังธรรมจากพระภิกษุ แล้วกล่าวสาธุการเมื่อพระเทศน์จบ หรือการถวายทาน หรือเมื่อพระให้ศีล ญาติโยมสาธุชนจะใช้คำว่า "สาธุ" นั้นมีประวัติความเป็นมาดังมีเรื่องย่อว่า

...มีชายคนหนึ่ง อยู่ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ได้ฟังพระแสดงธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในการครองเรือนมีความปรารถนาจะขอบวชเพื่อแสวงหาความสงบในสมณธรรม จึงลาจากภรรยาไปบวช ได้ตั้งใจพากเพียรในสมณธรรมตามที่ปรารถนาไว้ตลอดมา

ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงพบหญิงผู้เป็นภรรยาของชายคนนั้น และเมื่อทรงได้ทราบเหตุความเป็นมาทั้งหมดจึงเกิดสมเพชในนางผู้เป็นภรรยา รับสั่งให้นำหญิงนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ตั้งเป็นท้าวนางกำนัล

อยู่มาวันหนึ่ง ราชบุรุษนำดอกนิลุบลบัวเขียวมาถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลกำมือหนึ่ง พระองค์จึงประทานแก่ท้าวนางคนละดอก ฝ่ายสตรีที่เป็นภรรยาของชายที่ไปบวชนั้น เมื่อไปรับพระราชทานก็ยิ้มแสดงความยินดีดุจนางอื่น ๆ แต่พอดมกลิ่นนิลุบลแล้ว นางกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่จึงร้องไห้ พระเจ้าปเสนทิโกศลสงสัยพระทัย จึงตรัสถามว่า เหตุใดนางจึงยิ้มแล้วร้องไห้ นางจึงกราบทูลว่า ที่นางยิ้มเพราะดีใจที่ทรงพระกรุณาประทานดอกบัวให้ แต่พอดมดอกบัวแล้วหอมเหมือนกลิ่นปากสามีที่ไปบวช นางคิดถึงความหลังจึงร้องไห้

พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องการพิสูจน์วาจาของนาง จึงโปรดให้ประดับวังด้วยของหอมทั้งปวงเว้นแต่บัวนิลุบล แล้วอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าภิกษุสงฆ์ให้มาฉันภัตตาหารในพระราชฐาน แล้วมีพระราชดำรัสถามหญิงนั้นว่า พระมหาเถระองค์ไหนที่นางอ้างว่าเป็นสามี หญิงนั้นก็ชี้ไปที่พระมหาเถระ เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลอารธนาให้พระพุทธเจ้า และภิกษุองค์อื่น ๆ กลับวัดไปก่อน เว้นพระมหาเถระขอให้อยู่เพื่อกล่าวอนุโมทนา เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไปแล้ว พระมหาเถระจึงกล่าวอนุโมทนาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะและมีกลิ่นหอมฟุ้งออกจากปากพระเถระรูปนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ กลบเสียซึ่งกลิ่นดอกไม้ของหอมทั้งปวง กลิ่นปากของพระมหาเถระหอมฟุ้งไปทั่วพระราชวัง ดังกลิ่นการบูรและพิมเสนผสมกฤษณา หอมยิ่งกว่าดอกบัวนิลุบล ปรากฏการณ์นี้ปรากฏแก่ชนทั้งหลายในพระราชวัง ส่วนองค์มหากษัตริย์เมื่อเห็นจริงดังหญิงนั้นกราบทูล ก็ทรงโสมนัสน้อมนมัสการ ฝ่ายพระมหาเถระเสร็จสิ้นการอนุโมทนาแล้ว ก็กลับไปสู่วิหาร

ครั้นพอรุ่งเช้าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จไปสู่พระวิหาร ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลถามว่า

"เหตุใดปากของพระมหาเถระจึงหอมนักหนาท่านได้สร้างกุศลใดมา"

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า

"เพราะบุพพชาติปางก่อน ภิกษุรูปนี้ได้ฟังพระสัทธรรมไพเราะจับใจ เต็มตื้นด้วยปีติยินดี จึงออกวาจาว่า "สาธุ" เท่านั้น อานิสงส์แห่งการฟังพระสัทธรรมให้ผลจึงได้มีกลิ่นปากหอมดังนี้"

ปัจจุบันนี้ทั้งผู้ฟังธรรม และผู้รับศีลออกจะละเลยคำว่า "สาธุ" ต่างพากันนั่งเฉย ๆ ทั่วไป หน้าที่ผู้เป็นชาวพุทธ และครูบาอาจารย์จะได้แนะนำความเป็นมาเรื่อง "สาธุ" ไปเล่าสู่ลูกศิษย์และบุตรหลานของตนเพื่อนำวัฒนธรรมอังดีงามดั้งเดิมของเรากลับคืนมา

คำว่า "สาธุ" ในภาษาไทยก็แปลว่า ดีแล้ว เห็นชอบแล้ว เท่ากับเป็นการทำบุญข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ มีอยู่ข้อหนึ่งในจำนวน ๑๐ ข้อคือ ปัตตานุโมทนามัย แปลว่าบุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น