++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556


ปุจฉา-วิสัชนา....โดย....คุณพศิน อินทรวงค์

-:-ข้อคิดสำหรับผู้ต้องการบรรลุธรรมในชาตินี้
แต่มีความจำเป็นยังต้องใช้ชีวิตฆราวาส-:-

ถาม...

สวัสดีครับพี่พศินผมอยากยึดสายอาชีพภาวนาผมควรพัฒนาตนเองอย่างไรครับแนะนำให้หน่อยครับ

ตอบ...

1. แยกหน้าที่ออกเป็นสองส่วน
คือ หน้าที่ภายนอก กับหน้าที่ภายใน

1.1หน้าที่ภายนอกคือ การงาน ครอบครัว สังคม สิ่งที่เรารับผิดชอบ สถานภาพทางสังคมที่เรามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้ทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ

1.2 หน้าที่ภายใน ตรงนี้เป็นเรื่องการขัดเกลาจิตใจของเรา ให้สามารถเป็นอิสระจากทุกสิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกับการปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นทุกสิ่งทั้งปวง หน้าที่ตรงนี้ให้ทำด้วยวิธีการบริจาคทาน ถือศีล ทำสมาธิ วิปัสสนา

2. ให้รู้ว่ามีหน้าที่สองส่วนแต่ถึงเวลาปฏิบัติให้จับมารวมกัน

2.1 จำไว้ว่า สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้หน้าที่ภายในของเราเสียหาย เราจะไม่ทำ แม้จะเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่ภายนอก แต่ถ้าภายในของเราเสีย เราจะไม่ทำ เช่นทำแล้วรวยแต่ผิดคุณธรรม เราจะไม่ทำ ทำแล้วรวย แต่จิตใจตกต่ำเกิดความโลภ เราจะไม่ทำ หน้าที่การงานใดๆ ที่เราจะเลือกทำ จะต้องมีส่วนกระบวนการที่ส่งเสริมให้จิตใจของเราพัฒนาได้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ผนึกงานของเราให้กลายเป็นการทำบุญไปด้วยในตัว ตรงนี้ผู้ต้องการพัฒนาจิตอย่างถึงที่สุด ควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกงานของตนด้วย

2.2 เราต้องไม่หลงประเด็น ต้องรู้ชัดว่า เมื่อเราทำหน้าที่ภายในเต็มที่แล้ว หน้าที่ภายนอกก็จะดีไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะคนเราใช้จิตใจ ใช้ตัวเองไปทำทุกอย่าง ถ้าจิตใจของเราดี เบิกบาน มีความสุข มีปัญญา จะเอาไปทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น อย่าหลงประเด็นไปคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกันเด็ดขาด อย่าไปมีความคิดผิดๆ ว่าการพัฒนาจิตใจเป็นการเสียเวลาที่ทำให้ประสบความสำเร็จช้า เพราะมันไม่จริง เราเป็นผู้ปฏิบัติ เราต้องมั่นในในวิถีทางของเราว่า การพัฒนาจิตนี่เองเป็นการเพิ่มขุมพลังชีวิตที่ดีที่สุด เป็นทางตรง ที่ลัดสั้นที่สุดอันนำไปสู่ชีวิตที่ประเสริฐเลิศทั้งปวง

2.3 เราต้องเข้าใจว่า ผู้พัฒนาจิตไม่จำเป็นต้องจน ไม่จำเป็นต้องวิ่งหนีเงิน เราสามารถมีเงินได้ ร่ำรวยได้เต็มที และเราจะมีชีวิตน่าภาคภูมิใจอย่างที่สุดแน่นอน แต่เราจะต้องไม่ยึดติดเงินทอง อย่าปล่อยให้เงินทองวัตถุมามีอำนาจเหนือเรา เพราะถ้าแม้แต่เงินทองเรายังเอาชนะไม่ได้ ก็เป็นอันว่า กิเลสทั้งหลายก็ยังเหยียบหัวเราอยู่ร่ำไป เราต้องวางตัวเป็นนาย ไม่ใช่ทาส ปล่อยวางได้ทุกเมื่อ มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่ใช่ มีปัญญาพอที่จะหามา มีปัญญาพอที่จะสละออกไปโดยไม่อาลัยอาวรณ์

2.4 การช่วยเหลือผู้อื่น คือหน้าที่ของเรา ถ้าเราคิดว่า เราต้องการพัฒนาจิตจนถึงที่สุด การเสียสละ มีน้ำใจ แบ่งปัน ไม่ใช่สิ่งที่ว่างๆ ค่อยทำ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตใจของเราในระดับที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป

3. คุณธรรมที่ต้องมี

3.1 ขอให้เราจัดการหน้าที่ภายนอกด้วยหลักอิทธิบาทสี่ รักในงาน ให้เวลา หาความรู้ และทบทวนประเมิณผล ขอให้ทำอย่างดีที่สุด แล้วปล่อยวางกับผลที่จะเกิด อย่าขับเคลื่อนการทำงานด้วยความโลภ ด้วยเงิน แต่จงขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งปัจจุบันขณะ เพราะพลังแห่งปัจจุบันขณะมีความแข็งแกร่งกว่าพลังแห่งความทะเยอทะยาน อีกทั้งไม่มีผลเสียตกค้างที่ก่อให้เกิดความผิดหวัง และความโลภ จงทำงานด้วยจิตว่าง แรกๆ จะทำเช่นนี้ไม่ได้ แต่ถ้าฝึกทำไปเรื่อยๆ ก็จะทำได้แน่นอน เมื่อทำได้แล้วการงานที่รับผิดชอบอยู่ จะถูกขับเคลื่อนด้วยศักยภาพสูงสุดที่คุณมี

3.2 ควบคุมคำพูดของคุณให้มาก โดยเฉพาะการวิพากวิจารณ์ เมื่อคุณคิดว่าต้องการพัฒนาจิตจนถึงที่สุด คุณต้องรู้ลิมิตของตนเองที่จะพูด พูดได้แค่ไหนที่ไม่ไปตีกิเลสของตัวเองให้ฟุ้งกระจาย คุณต้องรู้จักมีระยะห่าง อย่าไปเล่นกับอะไรที่มันจะเข้ามาทำให้จิตของคุณตกต่ำ เมื่อต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งใดๆ คุณควรเข้าไปได้ใกล้แค่ไหนกิเลสของคุณจึงไม่ตีตลบหลัง ความสมดุลตรงนี้คุณต้องรู้จักรักษาให้ดี อย่างที่บอกไว้แต่แรก อย่าทำหน้าที่ภายนอก จนหน้าที่ภายในเสียหาย ถ้าคุณเลือกแล้วที่จะพัฒนาจิตจนถึงที่สุด คุณก็ต้องเตือนตนไว้เสมอว่าเป้าหมายของชีวิตคุณคืออะไร แล้วอย่าเอาอะไรไปแลกเด็ดขาด

3.3 แสดงออกทางการกระทำด้วยศีล อะไรที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองเดือดร้อน อย่าไปทำเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้ชีวิตของคุณร้อน ไม่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาจิต การพัฒนาจิตจะเกิดได้ดี ก็ต่อเมื่อชีวิตสงบเย็นตามสมควร

3.4 อัดฉีดความเมตตาเข้าไปในจิตใจของคุณ คุณธรรมเกี่ยวกับความเมตตานี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่คุณต้องฝังจิตใจของคุณลงไปในนั้นให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น คุณต้องไม่ลืมที่จะวางอุเบกขาเมื่อถึงเวลาที่ควรวาง จงเมตตา แต่อย่าได้ทุกข์ร้อนไปกับความเมตตาของตนเอง คุณต้องพยายามฝึกจิตใจของคุณให้ข้ามพรมแดนของความเป็นเรา เขา ครอบครัว คนรัก ต้องพยายามฝึกให้ใจของคุณเห็นผู้อื่นสำคัญพอๆ กับตนเอง

3.5 การภาวนา เมื่อคุณคิดจะพัฒนาจิตจนถึงที่สุดแล้ว การภาวนาของคุณจะแยกจากชีวิตประจำวันไม่ได้เด็ดขาด คุณต้องมีกรรมวิธีในการหาอุบาย อย่าให้การภาวนาของคุณแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ คุณต้องรู้จักหนักเบาของตนเอง อะไรคือจุดดีจุดแข็ง จุดเปราะบางที่กิเลสมันจะแทรกตัวเข้ามาได้ง่าย คุณต้องเป็นนักบูรณาการสามารถผูกโยงทุกประสบการณ์ไว้กับหลักธรรมความจริง เมื่อเกิดอะไรขึ้น ขอให้นำมาพิจารณาเกี่ยวกับไตรลักษณ์ให้หมด ทั้งความรัก ความชอบ ดีใจ เสียใจ ความรู้สึกและสิ่งทั้งปวงทั้งรูปและนามทุกสิ่งจงน้อมกำหนดลงสูงไตรลักษณ์ให้สิ้นซาก จงมีกำลังใจอยู่เสมอ เรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกใบนี้แบบผู้อาศัย ทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ ว่าเราจะเข้าไปยึดไม่ได้ ทั้งทางสมอง สัญญาหมายจำ รวมไปถึงความเข้าใจระดับจิตอันเกิดจากการทำสมาธิ และวิปัสสนา

4. ปรับสมดุลชีวิต

4.1 เพื่อนฝูง คุณต้องรู้จักคบคน ต้องคบแต่คนดี ที่ไม่พาไปในทางเสื่อม หลีกเลี่ยงคนไม่ดี หลีกเลี่ยงสังคมไม่ดี เลือกคบแต่บุคคลที่จะพาคุณไปในทางสร้างสรรค์ คบแต่กัลยาณมิตร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณคิดจะพัฒนาจิตจนถึงที่สุด คุณจำเป็นต้องมีผู้รู้ที่จะแก้ไขปัญหาการปฏิบัติทางจิตในขั้นลึกให้คุณได้ ถึงจุดหนึ่งคุณไม่สามารถอาศัยตำราได้ตลอดไป เพราะสภาวธรรมบางอย่างนั้น อยู่เหนือขอบเขตของตำราไปมาก ขอให้คุณใช้ปัญญาตรึกตรองดูให้มาก ก่อนจะยกใครเป็นครูบาอาจารย์ และอย่าฝากความหวังไว้กับอาจารย์ของคุณจนเกินไป แต่ให้ยึดที่ตัวธรรมะเป็นหลักโดยใช้ครูบาอาจารย์เป็นทางผ่าน ให้หลักโยนิโสมนสิการให้มาก เพื่อที่คุณจะไม่เลือกคนผิด และพึ่งพาบุคคลให้น้อยที่สุด แต่พึ่งพาหลักธรรมให้มากที่สุด

4.2 การงานของคุณ คุณต้องเลือกในการงานที่ทำให้จิตของคุณไม่ฟุ้งกระจาย ไม่เลือกงานประเภทที่ไปปั่นให้ใจของคุณขึ้นๆ ลงๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่คุณต้องใช้ปัญญาของคุณเองในการพิจารณา เพราะแต่ละคนก็มีสัดส่วนของกิเลสในใจต่างกัน มีจริตต่างกัน แต่เมื่อคุณคิดจะเอาดีทางด้านนี้จนถึงที่สุด คุณก็ต้องยอมแลกกับความสบาย ความง่ายบางอย่างในช่วงแรกๆ แต่เมื่อคุณผ่านมันมาได้ ชีวิตของคุณจะอยู่ในจุดที่แปดเปื้อนไปด้วยกิเลสน้อยกว่าคนทั่วๆไป

5. ยอมรับความจริง เพื่อเตรียมตัวตั้งรับ

5.1 งานพัฒนาจิตนั้น เป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะคุณกำลังสู้อยู่กับกิเลสซึ่งมันชนะคุณมาเนิ่นนาน ดังนั้นคุณต้องไม่ประมาท และต้องรู้จักหล่อเลี้ยงกำลังใจของคุณเอาไว้เสมอ อย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ คุณจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและหาอุบายให้ตนเองสามารถทำมันได้อย่างมีความสุข อย่าตามใจตัวเองจนเกินไป เพราะการตามใจตัวเองของเราส่วนใหญ่เป็นไปด้วยอำนาจกิเลสแทบทั้งสิ้น

5.2 ทางเส้นนี้เป็นเรื่องของการทวนกระแสโลก คุณต้องยอมรับว่า มันไม่ง่ายที่จะให้คนรอบข้างของคุณเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไร มันไม่ง่ายที่คุณจะทนทานต่อกระแสสังคมที่พัดคุณเข้าไปสู่วังวน คุณต้องต่อสู้กับตัวเองภายใน ต่อสู้กับความอยากของตน ต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อที่ประโคมใส่หูของคุณทุกวัน ต่อสู้กับเสียงของพี่น้องเพื่อนพ้องร่วมโลก ที่จะมากระซิบข้างๆ หูของคุณบ่อยๆ ว่า "นั่นเธอทำอะไร มันผิดทางแล้ว มาตามฉันทางนี้ดีกว่า เธออย่าทำแบบนั้นเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันเกินไป มาทางนี้เถอะนะ ใครๆเขาก็มาทางนี้กันทั้งนั้น"

ตลอดชีวิตของคุณ จะมีเสียงเหล่านี้มากระซิบข้างหูของคุณเป็นระยะๆ คุณต้องตั้งมั่นในเป้าหมาย อย่าได้หวั่นไหวเด็ดขาด

6. จงรู้ตัวว่าคุณคือผู้โชคดี เป็นความจริงอย่างถึงที่สุดที่ว่า ในโลกนี้มีคนคิดแบบคุณน้อยมาก และคุณตัดสินใจถูกแล้วที่ต้องการเดินในเส้นทางนี้ ถ้าทำได้และมีความเพียรพยายามพอ คุณจะรอดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมาทุกข์ทนอยู่ในสังสารวัฏซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาและความทุกข์ทั้งปวง อันจะเป็นการตอกย้ำว่าคุณคือยอดคนผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถึงจิตถึงใจ เป็นศิษย์ที่ดีที่สุดของพระตถาคตอย่างเต็มภาคภูมิ

7. ขออนุโมทนากับความคิดที่ถูกต้องตรงธรรมในครั้งนี้
และขอให้คุณมีปัญญาสามารถฟันฝ่าทุกอุปสรรค์ไปได้อย่างดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น