++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ทุนนิยม...เน้นเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

ทุนนิยม...เน้นเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเสรีภาพในการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภคและการซื้อขาย รวมถึงเสรีภาพในทรัพย์สินส่วนบุคคล โดยถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของเสรีภาพมนุษย์

พุทธศาสนาเห็นต่างจากทุนนิยม เพราะเชื่อว่าเสรีภาพที่แท้จริงเป็นเสรีภาพภายใน เป็นเสรีภาพในทางจิตใจมากกว่า ถ้าไร้เสรีภาพในทางจิตใจแล้วเราก็กลายเป็นทาสของเงิน และเป็นทุกข์เพราะวัตถุได้อย่างง่ายดาย

พุทธศาสนายอมรับความสุขจากการใช้ทรัพย์ รวมทั้งความสุขจากการไม่มีหนี้ แต่พุทธศาสนาเห็นว่ายังมีความสุขที่ลึกไปกว่านั้น เป็นความสุขที่นอกเหนือจากการมีทรัพย์หรืออาสมิส ได้แก่ "นิรามิสสุข" คือ สุขที่ไปพ้นจากวัตถุสิ่งเสพ

พุทธศาสานามองว่าความเจริญไม่ว่าของบุคคลและของประเทศมี ๔ มิติ ได้แก่ความเจริญทางกายหรือทางวัตถุ ความเจริญในเรื่องของความสัมพันธ์หรือความประพฤติ ความเจริญในทางจิต และความเจริญในทางปัญญา...

ทุนนิยมนั้นเหมือนกับเงิน คือเป็นข้ารับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว ทุกวันนี้เราปล่อยให้ทุนนิยมขยายใหญ่โตจนกระทั่งมีอิทธิพลครอบงำทุกด้านของชีวิตและสังคม ไม่เว้นแม้แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัว กับเพื่อนฝูง หรือกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรายึดถือ สิ่งที่เราต้องคิดกันก็คือทำอย่างไรถึงจะควบคุมทุนนิยมไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยควบคุมทุนนิยมไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปจนเห็นคนเป็นสินค้า หรือเกิดการเอารัดเอาเปรียบจนเกิดช่องว่างอย่างมากมายก็คือ การทำให้สังคมมีความเข้มแข็งจนสามารถทัดทานไม่ให้อำนาจทุนทำอะไรตามใจชอบได้ มีหลายวิธีที่ทำให้สังคมควบคุมทุนได้ เช่น การส่งเสริมคุณค่าทางสังคมให้สำคัญกว่าคุณค่าทางเศรษฐกิจ

คนสมัยนี้เวลาจะซื้ออะไร ก็จะสนใจแค่ว่ามันราคาเท่าไร ถูกหรือแพง นี่เป็นการคิดโดยคำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ไม่ได้ถามต่อไปว่ามันทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผู้ผลิตเอาเปรียบคนงานหรือเอาเปรียบแรงงานเด็กหรือไม่

หากเราจะทัดทานทุนนิยม ก็ต้องไม่เอามูลค่าหรือคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เอาคุณค่าทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก คือถึงแม้ราคาจะแพง แต่ถ้าเป็นสินค้าซึ่งส่งเสริมชุมชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี ไม่ใช้วิธีโฆษณาที่ดูถูกผู้หญิงหรือกระตุ้นให้คนเห็นแก่ตัว เราควรสนับสนุนสินค้าอย่างนั้น เป็นต้น ถ้าทุกคนมีเกณฑ์แบบนี้ ทุนนิยมจะไม่เลวร้ายเท่าปัจจุบัน

นอกจากการให้คุณค่าทางสังคมเป็นใหญ่เหนือคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ควรสนับสนุนเครือข่ายชุมชนหรือประชาสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อมีกำลังในการทัดทานอำนาจทุน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือโครงการใหญ่ ๆ ตามใจชอบ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบต่อสังคมและชุมชนอย่างไร

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พุทธศาสนาจะต้องเป็นอิสระจากทุนนิยมให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคำตอบทางจิตวิญญาณเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้คนสามารถเป็นอิสระจากบริโภคนิยมได้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนปัจจุบันเข้าหาบริโภคนิยม ไม่ใช่เพราะมันให้ความสะดวกสบายทางกายหรือความสนุกสนานเท่านั้น แต่เพราะมันตอบสนองความต้องการทางจิตใจ เช่นให้ความหมายแก่ชีวิต ทำให้ชีวิตไม่ว่างเปล่า

คนสมัยก่อนรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าหากได้ทำความดี เสียสละเพื่อศาสนาหรือประเทศชาติ แต่สมัยนี้ชีวิตจะมีคุณค่าหากได้สะพายกระเป๋าหลุยส์วิตตอง หรือสวมรองเท้าไนกี้ ในอเมริกาวัยรุ่นถึงกับฆ่าคนตายเพื่อจะได้ขโมยรองเท้าไนกี้ของเขามาใส่ จะเห็นได้ว่าชีวิตของผู้คนเดี๋ยวนี้ฝากไว้กับสินค้ามียี่ห้อพวกนี้ คำถามก็คือพุทธศาสนาจะช่วยให้ชีวิตเขามีคุณค่าได้หรือไม่ ถ้าพุทธศาสนาไม่สามารถทำได้ ผู้คนก็ต้องแห่ไปหาบริโภคนิยม นี้เป็นเรื่องท้าทายศาสนามาก

ต้องไม่ลืมว่าบริโภคนิยมตอนนี้เป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะไปขั้วโลกเหนือ ไปป่าอเมซอน อยู่บนยอดเขาหิมาลัย บริโภคนิยมไปถึงหมดโดยผ่านดาวเทียม ทุกหนแห่งมีโค้กไปถึงหมด ไม่เว้นแม้แต่เชิงเขาเอเวอเรสต์ ขณะที่ศาสนาหลายศาสนายังไปไม่ถึง นี้คือสิ่งท้าทายพุทธศาสนา และควรที่ชาวพุทธทั้งหลายจะต้องช่วยกันนำพาพุทธศาสนาให้เป็นอิสระทางทุนนิยมแล้ว รวมทั้งสามารถเป็นทางเลือกให้แก่ผู้คนเพื่อออกจากบริโภคนิยมได้อย่างแท้จริง

พระไพศาล วิสาโล

อ่านบทความเต็มที่
http://www.visalo.org/article/budToonniyom.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น