++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

รู้ทันเจ้าตัวร้าย พระไพศาล วิสาโล

คนไทยเราคุ้นกับกิเลส ๓ ตัว คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เพราะได้ยินบ่อย ที่จริงยังมีกิเลสอีกชุดหนึ่ง ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่กิเลสชุดนี้คนไทยรู้จักน้อยกว่า โดยเฉพาะคำว่ามานะ คนไทยเรามักเข้าใจว่าเป็นของดีจนถึงกับตั้งชื่อลูกว่ามานะ บางคนก็เปลี่ยนชื่อตัวเองจากที่พ่อแม่ตั้งให้เป็นมานะ เพราะเราเข้าใจว่ามานะคือ “พยายาม” ที่จริงแล้วมานะไม่ได้แปลว่าพยายาม แต่มานะอาจทำให้เกิดพยายามได้ เพราะว่าคนเราโดยเฉพาะคนไทยนั้นจะพากเพียรพยายามได้ก็เพราะกลัวเสียหน้าหรือไม่อยากแพ้คนอื่น เห็นคนอื่นเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ มีคำว่าขัตติยะมานะ ซึ่งหมายถึง มานะของกษัตริย์ จะแพ้ใครไม่ได้ เสียเกียรติยศไม่ได้ หรือจะให้ใครมาหยามน้ำหน้าไม่ได้ แต่ไม่ใช่กษัตริย์เท่านั้นที่มีมานะ ปุถุชนทั่วไปก็มีกันทั้งนั้น แม้แต่พระอริยะเจ้าระดับต้น ๆ ก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเบาบางมาก

มานะแปลว่าความถือตัว ความสำคัญตัวว่าสูง หรือความอยากใหญ่ อยากเด่น อยากดัง เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ส่วนตัณหาคือความอยากมีอยากได้ เช่น อยากรวย แต่ถ้าอยากใหญ่ อยากดัง อยากเด่น หรือสำคัญว่าฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า อันนี้เราเรียกว่ามานะ ส่วนทิฐิหมายถึงความยึดติดถือมั่นในความคิด เราคงเคยได้ยินคำว่า “ตัวกูของกู” ความยึดติดว่า “ของกู” หรืออยากได้มาเป็น “ของกู” นี้คือตัณหา ส่วนความยึดติดว่ามี “ตัวกู” หรือหลงยึดมั่นว่า กายและใจนี้คือ “ตัวกู” อันนี้คือทิฏฐิ ถ้าพูดให้เต็มก็คือ สักกายทิฏฐิ แต่มีอีกตัวหนึ่งซึ่งท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์บัญญัติขึ้นมาให้ล้อกับคำว่า ตัวกูของกูก็คือ “นี่กูนะ” อันหลังนี้แหละคือมานะ

นี่กูนะ แสดงอาการหลายอย่างเช่น พูดใส่หน้าคนอื่นว่า รู้ไหมว่ากูเป็นใคร รู้ไหมว่ากูเป็นลูกใคร อันนี้มาจากกิเลสตัวที่ชื่อว่ามานะ เพราะฉะนั้นถ้าพูดตามหลักแล้ว มีกิเลส ๓ ตัว คือ ตัวกู ของกู และนี่กูนะ หรือ ทิฏฐิ ตัณหา และมานะ บางทีก็เรียกว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย

การแสดงออกของมานะ
มานะนั้นแสดงอาการได้หลายอย่าง อย่างหยาบๆ ก็คือ เย่อหยิ่ง จองหอง ถือตัว ดูถูกคนอื่น รวมทั้ง อวดเก่ง อวดเบ่ง อวดดี อวดฉลาด ขี้โม้ อวดรวย อวดสวย อวดหล่อ อาการอวดเหล่านี้ใช่มานะทั้งนั้น ลักษณะที่เราอวดรวยเช่น ใช้นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือขับรถเบนซ์ หรือรถสปอร์ตราคาแพง ใช้กระเป๋าหลุยส์วิตตอง เป็นต้น คำว่าอวดแทบทุกตัวมันมาจากกิเลสคือมานะ มีทั้งการแสดงออกแบบดิบๆ โฉ่งฉ่าง หรือเนียนๆ ถ้าแบบเนียนๆ ก็เช่น นักปฏิบัติธรรมบางคนชอบสร้างภาพว่าฉันสงบ สมถะ เรียบร้อย อันนี้เน้นเรื่องการสร้างภาพ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าฉันเหนือกว่าเธอ ฉันดีกว่าเธอ เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าฉันไม่อวดเบ่งแล้วฉันปลอดภัยจากกรงเล็บของมานะ นั่นไม่ใช่

นอกจากความเย่อหยิ่ง จองหอง ดูถูก อวดเก่ง สร้างภาพแล้ว มานะยังแสดงอาการอย่างอื่นได้อีกเช่น ความภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในตัวเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ฉันแน่ ฉันเก่ง ฉันวิเศษ จนถึงขั้นหลงตัวลืมตน ที่จริงความภาคภูมิใจก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่มีโทษอย่างเดียว เช่น ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าไร้ค่า แต่มันก็ยังเป็นกิเสลอยู่นั่นเอง

นอกจากนี้มานะยังทำให้เราไม่อยากฟังคำแนะนำจากใคร ไม่ชอบเวลามีใครตักเตือนหรือวิจารณ์ อาการแบบนี้ใกล้เคียงกับกิเลสที่ชื่อทิฏฐิ ทิฏฐิคือความใจแคบ ความยึดมั่นว่าความคิดของฉันนั้นถูก ความคิดของฉันนั้นดี ดังนั้นคนไทยจึงมักเรียก ทิฏฐิมานะ คู่กัน ก็เพราะว่าทั้งทิฏฐิและมานะ ทำให้เราดื้อดึง ไม่ฟังใคร อย่างไรก็ตาม ทิฏฐิกับมานะต่างกัน ตรงที่ทิฏฐิเป็นความยึดมั่นในความเชื่อของตน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง ส่วนมานะนั้นเป็นความยึดมั่นในอัตตาตัวตน คือยึดมั่นว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันถูก ก็เลยไม่ยอมฟังคำวิจารณ์

ความรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นเขาดีกว่า เก่งกว่า สวยกว่า เคร่งกว่า ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเรา อันนี้ก็มาจากตัวมานะ เพราะมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่า ฉันต่ำกว่าเขาไม่ได้ แม้เสมอเขายังไม่ได้เลย ฉันต้องสูงกว่าเขา คำว่าสูงนั้น แต่ละคนให้ความหมายไม่เหมือนกัน บางคนหมายความถึงการมีอำนาจ ความรู้ ความสวย ความเด่นดังมากกว่า หรือมีสถานภาพสูงกว่า ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันต้องสูงกว่า ฉันด้อยกว่าไม่ได้ อันนี้เกิดจากกิเลสที่ชื่อมานะ

มานะยังหมายถึงการกลัวเสียหน้า เวลาโต้แย้งกับใคร หรือว่าทำอะไรผิด ทั้ง ๆ ที่ก็รู้นะว่าเราผิดพลาดไป แต่เราก็ไม่กล้ายอมรับผิด หรือไม่กล้าขอโทษ โดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายนั้นมีสถานะต่ำกว่าเรา เช่น เราคิดว่าลูกโกหก ก็เลยต่อว่าลูก ภายหลังมารู้ว่าลูกไม่ได้โกหก เราเข้าใจผิดไปเอง แต่เราดุลูกไปแล้ว เราเคยมีความรู้สึกอยากจะขอโทษไหม แล้วขอโทษหรือเปล่า หรือบางครั้งเราต่อว่าลูกน้องอย่างรุนแรง ภายหลังรู้ว่าเราด่าผิดคน เรารู้สึกผิด อยากจะขอโทษ แล้วเรากล้าขอโทษเขาหรือเปล่า บางครั้งเรารู้ว่าผิดแต่ไม่กล้าขอโทษ ความไม่กล้านั้นก็มาจากความกลัวเสียหน้า จริงอยู่เราอาจมีเหตุผลว่า ถ้าเราขอโทษแล้วลูกน้องจะเหลิง ได้ใจ ทำให้เราปกครองลูกน้องได้ยาก ก็เลยคิดว่าอย่าขอโทษเลย แต่นั่นเป็นเหตุผลลวง เหตุผลที่แท้จริงคือเรากลัวเสียหน้า

เราเห็นกิเลสตัวนี้ไหม หลายคนไม่เห็นเพราะถูกบดบังด้วยเหตุผลที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อทำให้เรารู้สึกว่า การขอโทษนั้นไม่ดี ทำให้เราเป็นผู้นำที่อ่อนแอ เป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเล่นงานเรา แต่ที่จริงแล้วมันมาจากกิเลสส่วนลึก นั่นคือมานะ คือความกลัวเสียหน้า อย่าว่าแต่คนรับใช้หรือลูกน้องเลย แม้กระทั่งกับพ่อแม่ บางทีเราก็กลัวเสียหน้า ไม่กล้าขอโทษเมื่อทำผิดกับท่าน อาตมาเคยทะเลาะกับพ่อตอนที่เป็นฆราวาส ต่อมารู้สึกว่าตัวเองผิด แต่ไม่กล้าขอโทษ อันนี้เกิดจากมานะ ต้องรวบรวมความกล้าอยู่นาน จึงจะกล้าไปขอโทษพ่อได้ จะเห็นว่ามานะนั้นแทรกซึมอยู่ในพฤติกรรมทั่วๆ ไป แสดงอาการออกมาหลายรูปแบบ ทั้งแบบดิบ แบบเนียน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการปูพื้นเพื่อให้เข้าใจว่า มานะหรือ “นี่กูนะ” มันเป็นกิเลสที่แสดงอาการออกมาอย่างไรบ้าง ทีนี้จะพูดถึงโทษของมัน ถ้าเราไม่รู้ว่ามันมีโทษอย่างไร เราก็จะไม่รู้ว่าจะไปลดมันเพื่ออะไร หรือไปจัดการกับมันอย่างไร เหมือนกับที่ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า Greed is good แปลว่า ความโลภนี้ดี ถ้ามันดีแล้วจะไปลดหรือจัดการมันทำไม ควรแต่จะเพิ่มพูนให้มากขึ้น ฝรั่งเขาเชื่อว่าความโลภนี้ดี เพราะทำให้เกิดการผลักดัน เกิดความขยัน เกิดความอุตสาหะ

มานะก็เช่นเดียวกัน บางคนเห็นว่าดีเพราะทำให้เราเกิดความพยายาม จึงมีสำนวนว่า “มานะพยายาม” บางคนมองว่ามันทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ เคยได้ยินไหมที่บอกว่า ศิลปินต้องมีอีโก้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นจะผลักดันผลงานไม่ได้ เขาต้องสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพยายามสร้างหรือบ่มเพาะตัวนี้ตั้งแต่แรก หรือบางครั้งพ่อแม่ก็จะสอนว่า อย่าไปยอมแพ้เขานะลูก ถ้าลูกแพ้ ก็จะถูกพ่อแม่ต่อว่าแกแพ้เขาได้อย่างไร แกก็มีมือมีเท้าเหมือนเขา นั่นเป็นการสร้างมานะให้แก่ลูก

มีเรื่องขำขันเรื่องหนึ่งเล่าว่า เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว พ่อคนหนึ่งเฝ้าสอนลูกว่าแพ้ไม่ได้ แล้ววันหนึ่งแม่ป่วย พ่อให้ลูกไปเอายาจากหมอ ลูกไปตั้งแต่เช้า บ่ายลูกก็ยังไม่มาทั้งๆ ที่แม่มีอาการหนักแล้ว พ่อแปลกใจว่าลูกหายไปไหน รู้สึกไม่พอใจขึ้นมา จึงไปตามหาลูก ปรากฏว่าไปเจอลูกอยู่บนสะพานแคบๆ ยืนประจันหน้ากับผู้ชายคนหนึ่ง ไม่ขยับเขยื้อนเลย พ่อจึงถามลูกว่า ทำไมไม่รีบไปเอายา ลูกตอบว่าไปเอาไม่ได้เพราะผู้ชายคนนี้ขวางเอาไว้ เขาจะให้ผมหลีกทางก่อนแต่ผมไม่ยอม ส่วนเขาก็ไม่ยอมหลีกทางให้ผม ก็เลยยืนประจันหน้ากันอยู่บนสะพาน ๓ ชั่วโมงแล้ว พอพ่อได้ยินเช่นนี้ ก็บอกว่า ดีแล้ว ลูกรีบไปเอายาเร็ว ส่วนพ่อจะยืนตรงนี้แทนลูกเอง

พ่อแทนที่จะต่อว่าลูกว่าไปยืนตรงนั้นทำไมตั้ง ๓ ชั่วโมง กลับดีใจที่ลูกไม่ยอมแพ้ใคร ทั้ง ๆ ที่แม่กำลังจะแย่อยู่แล้ว แถมยังยอมเสียเวลายืนแทนลูกให้ เพื่อจะได้ไม่เป็นฝ่ายยอมเขาก่อน นี้คือฤทธิ์ของมานะที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนโง่ขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว

มานะมีข้อดีตรงที่ทำให้ใจเราฟูขึ้น ถ้าไปไหนเราสะพายกระเป๋าหลุยส์วิตตอง ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ขับรถเบนซ์เราก็ยืดอกได้ เราจะไม่กลัวตำรวจ แต่ข้อเสียของมันก็คือ เมื่อฟูแล้วก็เหมือนกับลูกโป่งที่ยิ่งพองโตเท่าไหร่ ก็ยิ่งแตกง่ายเท่านั้น ลูกโป่งนี้กลัวแม้กระทั่งฟางเส้นเล็กๆ แค่ถูกฟางทิ่มเอาก็แตกแล้ว คนที่มีมานะ อัตตาใหญ่แค่ถูกกระทบนิดหน่อยก็ระเบิดแล้ว เช่น เป็นนายพลไปรับประทานอาหารที่ร้านแล้วเขาเสิร์ฟช้าก็ทุกข์แล้ว เป็นดาราเวลาไปที่ไหนไม่มีใครทักก็เป็นทุกข์แล้ว หรือคนสวยเวลาเดินไปไหนแต่ไม่มีใครมอง ก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจ คนที่เป็นดาราจะหวั่นไหวกับเรตติ้งมาก ถ้าเรตติ้งลดลงก็จะทุกข์มากเลย

โทษของการมีมานะนั่นคือโกรธง่าย ทุกข์ง่าย ไม่ยอมแพ้ และความไม่ยอมแพ้บางทีก็สร้างปัญหาให้กับเรา เช่นเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะยอมไม่ได้ที่ถูกขับรถปาดหน้า เมื่อมีรถปาดหน้าแล้วต้องปาดหน้ากลับ บางรายถึงกับเสียชีวิตเพราะถูกอีกฝ่ายลงจากรถลงมายิงด้วยความแค้น

เมื่อสองสามปีก่อน ที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งชานกรุงเทพฯ ตอนเย็นจะมีรถของผู้ปกครองมารับนักเรียน ปัญหาคือโรงเรียนมีที่จอดรถน้อยมาก รถจึงติดยาวเป็นแพ จึงมีการออกกฎให้ขับรถทางเดียว มีผู้ชายคนหนึ่งรีบไปรับลูกจึงแหกกฎเข้าทางประตูออก และได้ที่จอดรถซึ่งเหลือเพียงที่เดียว คนที่ขับรถตามกฎแต่ถูกตัดหน้าไปจึงไม่พอใจ ลงจากรถมาต่อว่าชายผู้นั้นโดยไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นนายพล นายพลคนนั้นไม่พอใจ ลงจากรถแล้วถามว่า “รู้ไหมว่าผมเป็นใคร” เขาตอบว่า “ผมไม่สนหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำผิดกฎ ทำอย่างนี้ไม่ถูก” พูดแล้วก็เดินกลับไปที่รถ นายพลคนนั้นโกรธมากเดินกลับไปที่รถ คว้าปืนแล้วเดินตามชายคนนั้น หมายจะยิงให้หายแค้น ลองนึกภาพต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะมีคนถูกยิงตาย ส่วนคนที่ยิงติดคุก ถ้าไม่ติดคุกเพราะใช้เส้นสายจนหลุดได้แต่ก็คงเดือดร้อน ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง นี่คือโทษของมานะทำให้คนเราโกรธเพราะเสียหน้าจนลืมตัว มันทำให้เราไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับคำวิจารณ์ แตะต้องไม่ได้และบางทีทำให้เรากลายเป็นคนสร้างภาพโดยไม่รู้ตัว

ที่ประเทศจีน เมื่อหลายร้อยปีก่อนมีสำนักแห่งหนึ่ง ขณะที่อาจารย์กำลังนั่งกินอาหารอยู่ก็เกิดแผ่นดินไหว ลูกศิษย์ตื่นตกใจ วิ่งโกลาหล แต่ว่าอาจารย์นั่งนิ่งดูสงบ หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเรียบร้อยโดยไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น ตอนค่ำก็มีการแสดงธรรม อาจารย์พูดเรื่องสติ ลูกศิษย์ถามว่า “สติคืออะไรครับ” อาจารย์บอกว่า “สติคือการที่จิตสามารถอยู่นิ่งเป็นปกติได้ แม้แต่เวลาเกิดเหตุร้าย ก็ไม่ตื่นตระหนก อย่างอาจารย์เมื่อตอนกลางวันนี้ พวกเธอเห็นไหม ขณะที่พวกเธอวิ่งแตกตื่นกันหมด แต่อาจารย์กลับนั่งนิ่ง จิบน้ำชา” พูดจบก็มีเสียงแทรกขึ้นมาว่า “ไม่ใช่ครับ.... ที่อาจารย์ดื่มนั้นไม่ใช่น้ำชาครับ แต่เป็นซีอิ๊วครับ”

อาจารย์ก็ไม่รู้ตัวว่าดื่มน้ำซีอิ๊ว ยังคิดว่าดื่มชา แสดงว่าจริงๆ แล้วอาจารย์ก็กลัวเหมือนกันแต่กำลังสร้างภาพว่า เราเป็นอาจารย์ ต้องสงบ อยู่นิ่ง ๆ จะทำให้คนอื่นเห็นว่าเรากลัวหรือตื่นตกใจไม่ได้ นี่คืออาการของมานะเช่นกัน เป็นการสร้างภาพให้ดูดี ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน ก็จะถูกมันหลอกได้โดยไม่รู้ตัว

คนดีหรือนักปฏิบัติธรรมถ้าไม่รู้ตัว ก็โดนมานะเล่นงานได้ เช่นเห็นคนอื่นทำความดีมากกว่าเรา ปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้ากว่าเรา รักษาศีลได้มากกว่าเรา ก็ไม่พอใจ รู้สึกเขม่นเขาขึ้นมา คนดีถ้ายึดติดกับภาพลักษณ์ตัวเอง อยากให้ตัวเองดูดี คนอื่นชื่นชมสรรเสริญ ก็จะมีปัญหาแบบนี้ คือเขม่นคนที่ดีกว่า นักปฏิบัติธรรมเป็นอย่างนี้ไม่น้อย เช่น สำคัญตนว่าฉันดีกว่าเธอเพราะฉันถือศีลแปดเธอ เธอถือศีลห้า ฉะนั้นเธออย่ามาเถียงฉัน นี่เป็นมานะแบบหนึ่ง แทนที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกันด้วยเหตุผล ก็เอาความดีมาข่ม พอเหตุผลของเราสู้เขาไม่ได้ก็เอาเรื่องศีลมาข่มด้วยความรู้สึกว่าฉันดีกว่า ฉันสูงกว่า เธออย่ามาเถียงฉัน กิเลสตัวนี้ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็จะกลายเป็นคนน่าระอา บางทีคนดีที่เคร่งศีลหรือติดดีก็น่าระอาเพราะความถือตัวนี่แหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น