++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำถามสำคัญที่สุดในชีวิต?

คุณมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตบ้างหรือเปล่า?
คนเรามักจะเอาคำตอบจากใครต่อใครมาตั้งแต่ยังเล็ก
ว่ากันว่าช่วงแรกเกิดถ้าไม่เป็นเด็กช่างถาม
ก็ยากที่จะอยากรู้อยากเห็น
และเมื่อไม่อยากรู้อยากเห็น
โตขึ้นก็ใช้ชีวิตในโลกแบบยินยอม
ชีวิตบังคับให้หาข้าวกินเองก็หาข้าวกินเอง
ชีวิตบังคับให้เรียนหนังสือก็เรียนหนังสือ
ชีวิตบังคับให้ทำงานก็ทำงาน
ชีวิตบังคับให้หาคู่ครองก็หาคู่ครอง
ชีวิตบังคับให้แก่ก็ยอมแก่
ชีวิตบังคับให้ตายก็ยอมตาย
ไม่มีการอิดเอื้อนสักแอะ
โจทย์ข้อเดียวคือทำอย่างไร
จึงจะผ่านข้อบังคับของชีวิตแต่ละข้อไปได้เท่านั้น

ถ้าจะมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตอยู่บ้าง
แต่ละคนมักมีคำถามในเชิงไม่เข้าใจ
ว่าทำไมตัวเองต้องมาเป็นอย่างนี้
คนจนจะถามว่าทำไมตัวเองไม่รวยแบบเสี่ย
คนโง่จะถามว่าทำไมตัวเองไม่ฉลาดแบบคนอื่น
คนขี้เหร่จะถามว่าทำไมตัวเองไม่สวยไม่หล่อแบบดารา
คนโชคร้ายบ่อยจะถามว่าทำไมตัวเองไม่โชคดีแบบบางคน

ส่วนคนที่รวย ฉลาด สวยหล่อ และโชคดีเป็นประจำนั้น
คำถามเกี่ยวกับชีวิตมักออกแนวทำไมฉันไม่เจอคู่เหมาะๆซะที

สรุปว่าคำถามเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน
มักเกิดจากการถูกชีวิตบังคับให้คิดถึงสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี
ไม่ใช่เกิดจากการฉลาดตั้งคำถามให้เข้าใจชีวิต
และเมื่อไม่เข้าใจชีวิต
ชีวิตจึงปรากฏเป็นกรงขังที่น่าอยู่ น่าหวงแหน และน่าเอาใหม่

ผู้ใหญ่มักเห็นความสงสัยบางข้อของเด็กๆเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ
ไร้สาระ ไร้ความน่าใส่ใจ ไร้ประโยชน์ที่จะตอบ
ทั้งที่จริงถ้าเด็กถามอะไรอย่างนั้นได้
ก็ถือเป็นโอกาสทองของชีวิตเขาทีเดียวถ้ามีคำตอบให้

คำถามนั้นคือ เขาเกิดมาทำไม?

เด็กจะต้องมีบุญเก่ามาดีมากทีเดียว
ถ้าได้พ่อแม่ที่มีความรู้ในพุทธศาสนาพอจะช่วยตั้งคำถามให้ใหม่ว่า
"ลูกไม่ได้เกิดมาทำไม แต่ทำไมลูกถึงเกิดมาต่างหาก"

จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่จะมีศรัทธาและความเข้าใจ
ในเรื่องของกรรมวิบากอันจัดสรรให้มาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ตลอดจนเรื่องของหนทางอันควรใช้ชีวิต
ไปสู่ความเป็นบรมสุขอันเป็นที่สุดได้อย่างไร

คำตอบของคุณที่มีให้กับลูก
ถือเป็นเครื่องชี้ว่าลูกหอบบุญเก่ามาขนาดไหน
และคุณทำบุญใหม่กับอีกชีวิตหนึ่งได้ปานใด

แต่หากคุณเห็นเป็นคำถามเหลวไหลและไม่ให้ลูกถามอีก
เขาก็จะเป็นเหมือนเด็กส่วนใหญ่ในโลก
ที่โตขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างเหลวไหล
หรือไม่ก็เหลวแหลกไปเลย
เหมือนอย่างที่เรากำลังเห็นประจักษ์กันทุกวันนี้แหละ!

ดังตฤณ
มีนาคม ๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น