พล.อ. โอภาส โพธิแพทย์
ชื่อเรื่องในวันนี้ คือ นามพระพุทธรูปที่เรียกกันทั่วไป ส่วนนามจริงของพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระนามพระราชทานนั้น คือ "พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา" มีความหมายว่า "พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาที่รุ่งเรืองสว่างประเสริฐดุจดังมหาวชิร"
ความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ว่าสร้างขึ้นในโอกาสใด เมื่อใด และที่ไหน คงจะพอลำดับความเป็นมาได้ดังนี้
เนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีในปี พ.ศ.๒๕๓๙ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลัก (ลักษณะพระฉาย) ขนาดใหญ่ซึ่งไม่เคยมีการจัดสร้างมาก่อนในประเทศไทย และหากดูวิธีการสร้างแล้ว ผมว่าเป็นองค์แรกด้วยที่ใช้แสงเลเซอร์ ยิงไปที่หินหน้าผา ค่าก่อสร้างนั้นประมาณไว้ ๑๕๐ ล้านบาท ซึ่งจะได้รับจากการบริจาค และจากการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งจัดสร้างเป็นเหรียญสวยงามมาก โดยด้านหนึ่งคือ พระพุทธรูป ซึ่งมีคำจารึกใต้ฐานว่า "พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เขาชีจรรย์ วัดญาณสังวราราม พ.ศ. ๒๕๓๘" มีหลายแบบและหลายราคา ซึ่งยังพอหาเช่าได้หากไปนมัสการพระพุทธรูปองค์นี้ จะมีหญิงสาว เข้าใจว่ามาทำเป็นการกุศล และเข้าใจว่า (อีกที) จะเป็นภริยาทหารเรือหมุนเวียนกันมาด้วยซ้ำ จะนั่งกั้นร่มมีโต๊ะเล็กๆวางเหรียญไว้จำหน่าย ใครไปอย่าลืมเช่าบูชากลับมาให้ได้ หาไม่ได้อีกแล้ว อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเหรียญนี้ต้องย้ำอีกทีว่า สร้างสวยมาก สวยเหมือนธนบัตร กาญจนาภิเษกใบละ ๕๐ บาทนั่นแหละ
ในการก่อสร้างครั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงเป็นองค์ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์รองประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ได้แก่
คณะอนุกรรมการฝ่ายดำเนินการและควบคุมการจัดสร้าง
คณะอนุกรรมการฝ่ายหาทุนและการเงิน
คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์
คณะอนุกรรมการฝ่ายพิธีการ
เหรียญที่ระลึกนี้ นอกจากมีจำหน่ายที่ลานหน้าองค์พระแล้ว อาจจะติดต่อไปที่กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (๒๗๓-๙๓๙๔) เพราะกำหนดจองจริงๆนั้นหมดไปตั้งแต่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ และได้มีการนำเหรียญเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่เรียกว่า "พิธีพุทธมหามังคลาภิเษก เหรียญฯ" ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผู้ที่มีเหรียญนี้ไว้นอกจากเกิดความเป็นมงคลแก่ตัวเองแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีบำเพ็ญกุศลถวายในมหามงคลวโรกาสอันประเสริฐยิ่งนี้ด้วย ส่วนตัวของผมได้จองไว้ตั้งแต่แรก แต่ไปคราวนี้เห็นเข้าก้อดไม่ได้ เช่าบูชามาอีก เพราะสวยจริงๆ และเป็นเหรียญศักดิ์สิทธิ์ด้วย
เมื่อ เดือนมกราคม ๒๕๒๙ ผมเขียนเรื่องวัดสมเด็จฯ ลงในหนังสือต่วยตูน ซึ่งในตอนนั้น หาคนรู้จักวัดสมเด็จสร้างมีน้อยเต็มที หากเป็นเดี๋ยวนี้บอกว่าวัดสมเด็จฯ ก็เดากันออกว่าคือ วัดญาณสังวราราม ซึ่งอยู่ที่บางละมุง ชลบุรี ผมเขียนแล้วก็บวกร้านเป็ดย่างเม้งกี่เข้าไปด้วย เพื่อให้สมบูรณ์ในแบบเที่ยวไป-กินไปของผม
๑๑ ปีผ่านไป วัดญาณสังวราราม ซึ่งไม่เคยหยุดการพัฒนาวัด ยังก่อสร้างเรื่อยไปสวยงามยิ่งนัก พระประธานในโบสถ์ คือ สมเด็จพระญาณนเรศร์ ซึ่งผมเคยเขียนเล่าความเป็นมาไปแล้ว "ญาณ" ย่อมหมายถึงสมเด็จพระญาณสังวร และ "นเรศร์" หมายถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งรายละเอียดต้องอ่านจากประวัติของวัด ของพระพุทธรูปองค์นี้ซึ่งยาวทีเดียว พุทธลักษณะขององค์พระประธานฯ สวยนัก ผมไปบ่อยๆ ยิ่งสมัยที่บ้านพักแถวๆหาดจอมเทียนราคายังถูกๆอยู่ผมก็จัดการซื้อเข้าให้ ๑ หลัง เมื่อซื้อแล้วก็จะต้องไปพักตากอากาศกันเป็นประจำ ไปกันทุกสัปดาห์ ไปบ่อยเข้าชักไม่ไหว เพราะผมมีงานที่ต้องเดินทางตลอดปีอยู่แล้ว ขืนไม่เดินก็ไม่มีอะไรมาเขียนเที่ยวไป-กินไปนะซี ค่าบำรุงรักษาก็สูง ฐานะขนาดนี้ไม่สมควรเก็บเอาไว้ อยากไปทะเลเมื่อไรก็ไปเช่าเขานอนสบายกว่า ก็เลยขาย แถมยังได้กำไรอีกด้วย และตอนนั้นขโมยชุมด้วย จะต้องถามว่า "เชื่อหรือไม่" เพราะที่บ้านพักอยู่แถวจอมเทียนนั้น เขาก็มียามเฝ้าเป็นส่วนรวม ผมก็ต้องเป็นสมาชิกของเขา และได้เอารูปแต่งเครื่องแบบชุดขาวที่ถ่ายเมื่อวันรับพระราชทานสัญญาบัตรยศเป็นพลตรี หน้าออกจะดุเอาเรื่อง ก็เอารูปนี้ขนาด ๒๔ นิ้วไปติดไว้ที่บ้านพักจอมเทียน มาวันหนึ่ง ขโมยปีนข้ามกำแพงเข้ามาในเขต ขึ้นขโมยของตามบ้านพักทีเดียว ๔หลังติดๆกันรวมทั้งบ้านของผมด้วย แต่สำหรับบ้านผมนั้นขโมยเพียงแต่รวมของมีค่า เช่น วิทยุ ที.วี. พัดลม จิปาถะที่จะส่งข้ามกำแพงรั้วออกไปได้ เอาไปวางรวมไว้ที่โต๊ะกินข้าว ซึ่งอยู่ติดประตู หากเปิดประตูออกไป ก็เป็นชานหลังติดกับกำแพงรั้วที่ขโมยจะส่งของจากอีก ๓ บ้านลงไปทางนั้น แต่ของบ้านผมเขาเว้น คือ เอาแค่ขนมากองไว้บนโต๊ะกินข้าวตัวโต แล้วไม่เอาอะไรไปเลย
ยามมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า อ้ายพวกหัวขโมยเหล่านั้นไปคุยกันว่า ต้องเว้นบ้านอีตานายพล ๑ บ้านเพราะแกเอารูปเจ้าคุณปู่ของแกแขวนไว้ (ความจริงรูปผมแต่มันคงจะแก่) พอจะเอาของออกจากบ้าน เจ้าคุณปู่เดินถือกระบี่ออกมาจากรูป "ใครจะไปมัวขนของอยู่ล่ะ" ขโมยจึงวิ่งกันป่าราบไปเท่านั้นเอง และของกองอยู่อย่างนั้น บ้านก็เปิด ยามแค่มางับประตูให้และไม่ได้โทรมาบอกผมที่กรุงเทพฯ อีก ๔ วันผมจึงไปถึงทราบเรื่องว่า ขโมยขึ้นบ้าน แต่ไม่ได้เอาของไป และอีกวันยามจึงมาเล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณปู่ของผมเดินออกมาจากรูปมาไล่ขโมย ปู่ผมเป็นทหารกับเขาเสียเมื่อไหร่ ท่านอยู่คุ้งเผาถ่าน บางขุนเทียน เป็นแพทย์แผนโบราณและชาวสวน
กลับมานมัสการพระพุทธรูปับผมใหม่ การไปวัดญาณสังวรารามนั้น คงไปตามถนนสุขุมวิท หรือบางนา-ตราด ซึ่งเดี๋ยวนี้จากบางนาไปบางปะกง ก็สร้างกันวุ่นไปหมด ผมเคยเขียนไว้ในต่วยตูนอีกนั่นแหละว่า ถนนสายนี้แค่ ๔ เลนไม่พอ (ตอนนั้น ๔ เลนแล้ว) ที่ว่างระหว่างถนน คือ ตรงกลางว่างมาก น่าจะได้รีบสร้างทางด่วนยกระดับเสีย โดยเร็วแล้วเก็ยสตางค์ ๕๐ บาท เขาก็ทูนหัวให้ คนจะไปเที่ยวขับรถอยู่ชั่วโมงกว่ายังไม่ถึงบางพลีเลย ไม่ช้าเขาก็สร้าง แสดงว่าผมไปออกความคิดเห็นตรงกับที่เขาคิดกันโดยผู้ชำนาญการ (แต่ก็ยังช้าไป ตอนนี้ก่อสร้างกันมั่วไปหมด) หากใครใกล้หรือหาทางมาออกรามอินทราได้ละก็มาออกมีนบุรี ไปแปดริ้วแล้วมาออกบางปะกง น่าจะเร็วกว่ามาตามสายบางนา เรียกว่ามาเร็วๆ พอลงทางด่วนก็กลายเป็นทางด้วน คือ ชักจะไม่วิ่งเอาแล้ว ยิ่งขาออกเย็นวันศุกร์ ขากลับเย็นวันอาทิตย์เอาข้าวใส่ปิ่นโตไปกินด้วยแหละดี และขอแนะไว้ว่าถนนจากชลบุรีไปยันพัทยาใต้นั้นเป็นทาง ๔ เลน หมดแล้ว หากจะให้รถวิ่งทำเวลาได้ ไม่ต้องไปใช้าทางลัดซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ลัดแล้ว ให้รีบสร้างสะพานข้ามสี่แยกต่างๆเสียทุกสี่แยกในเมืองชลบุรีที่ถนนสุขุมวิทผ่าน แล้วไปยกสะพานข้ามสี่แยก เข้าบางแสน ยกข้ามหนองมนยาวไปเลยเพราะรถจอดซื้อข้าวหลามแยะ ยกสะพานข้ามให้หมดทั้งศรีราชา บางพระ พัทยาเหนือ-กลาง-ใต้ รถจะวิ่งเร็วขึ้น ดูแต่สะพานยกข้ามทางแยก สายเอเชียรถวิ่งน้อยกว่าจุดแยกเหล่านี้ ยังสร้างไว้อย่างดี เช่น แยกเข้าอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เป็นต้น ตอนนี้ก็เห็นกำลังสร้างแยกเข้า อ.บางปะหันอีก เทียบกันแล้วรถวิ่งตัดข้ามถนนสายสุขุมวิทมากกว่า ส่วนที่ว่าทางลัดคือ จากบายพาสชลบุรีจะมาเชื่อมกับถนนสุขุมวิท พอปลายทางที่สะพานยกพาออกซ้ายเข้าถนนสายบายพาสไปเชื่อมกับสายที่มาจากสุขุมวิทเพื่อไประยอง เส้นนี้มี ๒ เลน รถบรรทุกมากแซงกันยาก ต้องวิ่งช้ามาพัทยามาวัดญาณฯ มาตามถนนสายสุขุมวิทเร็วกว่า แต่ต้องอย่าผ่านเมืองชลฯ ออกมาทางบายพาสเสียจะเร็ว พอวิ่งมาถึง กม.160.5 ก็มีทางแยกซ้ายเพื่อเข้าวัดญาณฯ ๕ กม. แต่พอวิ่งไป ๔ กม. ให้เลี้ยวขวาวิ่งเลาะอ่างเก็บน้ำไปเรื่อยๆ จะไปผ่านวิหารสามเซียน ผ่านเลยไปจะไปเชื่อมกับถนนที่แยกซ้ายมาจาก ถ.สุขุมวิท โดยแยกที่หลัก กม. 161.5 ตรงป้ายชี้ทางเข้าบ้านหนองจับเต่า กรมทางฯ ยังไม่ตั้งป้ายชี้เข้าเขาชีจรรย์ (ตรงข้ามกับเขาชีโอน)
ผมถึงแนะว่า กลัวงงก็เข้าทาง 160.5 ตรงป้ายชี้เข้าวัดญาณฯ แล้วแวะวัดญาณฯ เสียก่อน ไปกราบนมัสการพระประธานในโบสถ์ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หากใครมีทุกข์มากๆ ให้ไปเวลาสักตี ๔ พระสงฆ์จะลงทำวัตรเช้าให้เข้าไปนั่งสมาธิร่วมด้วย แล้วมีทุกข์มีโศกอย่างใด จะขออะไรทำจิตให้มั่นอธิษฐานขอท่านดูจะสำเร็จ ผมเองยังไม่เคยไปนั่งภาวนาตอนตีสี่ แต่ทุกครั้งที่ไปพอกราบนมัสการแล้วนั่งมององค์พระประธานท่านนิ่งๆ ก็เหมือนท่านแผ่เมตตาลงมาช่วยทุกข์ทุกครั้งไป ความรู้สึกนี้ผมมีกับพระพุทธรูปเพียง ๒ องค์ คือ พระพุทธชินราช และพระญาณเรศร์ ส่วนหลวงพ่อโสธรฯ นั้น คนไปนมัสการท่านเต็มโบสถ์จนที่ยืนแทบจะไม่มี ได้แต่เข้าไปรีบกราบนมัสการแล้วก็ต้องรีบออกมา เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเขา จะไปนั่งสมาธิก็หาสมาธิไม่ได้แน่ แต่หากอยู่ที่บ้านผมนั่งมองท่านได้นานๆ
บริเวณหน้าผา เวลานี้สร้างสวนเอาไว้สวย มีลานจอดรถกว้างขวาง มีน้ำพุน้ำตก แต่ไม่ได้เปิดตลอดเวลา นายทหารเรือที่อยู่ประจำ ยศนาวาเอก เล่าให้ฟังเพิ่มเติมโดยไม่รู้ว่าผมเป็นใคร คงเห็นผมสนใจและถามกันเอง เรียกว่า รำพึงมากกว่า ท่าน น.อ.ผู้นี้เลยมาบอกเพิ่มเติมให้ เช่นบอกว่า เวลานี้การก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ที่มองเห็นที่อกพระพุทธรูปยังเป็นโพรงอยู่นั้น รอว่าเมื่อใดจึงจะมีหมายว่าในหลวงจะเสด็จมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในตอนก่อสร้างมีการยิงแสงเลเซอร์ทุกคืน เมื่อยิงแล้วจึงเอาแผ่นโมเสกที่บรรจุทองคำเข้าไปปิดจนดูรูปองค์พระเหมือนลอยหรือฉายออกมาจากหน้าผา ทุกวัน ๙ ค่ำ จะนิมนต์พระเกจิอาจารย์ ๙ รูป มาสวดพระพุทธมนต์ เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์บรรจุลงในองค์พระ ตกค่ำจะเปิดไฟสปอตไลท์ เวลาที่เหมาะแก่การเข้าชมซึ่งจะเป็นเวลาที่ สวยที่สุด คือ กลางวัน ตอน ๑๐.๐๐ น. และตอนค่ำหลังจากเปิดไฟสปอตไลท์แล้ว ส่วนน้ำตกนั้นไม่ค่อยเปิด เพราะค่าไฟฟ้าแพง คือยังไม่มีการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษานั่นเอง เพราะหากให้เป็นภาระของวัดญาณฯ คงจะหนักเอาเรื่อง เอากันแค่ค่าไฟฟ้าก็ตายแล้ว ส่วนการดูแลรักษาในด้านรักษาความปลอดภัยต่อไปนั้น ผมว่าวควรมอบให้ฐานทัพเรือสัตหีบรับไป เพราะอยู่ใกล้และอยู่ในแนวของความคิดยุทธศาสตร์พัฒนา คือ เข้าหลักการพัฒนาคนในด้านจิตใจ และทางทหารบก หรือ ตชด. ก็รับดูแลแล้วหลายแห่ง เช่น บนพระตำหนักดอยตุง หรือเขาค้อเป็นต้น
จึงขอเชิญชวนบรรดาแฟนเที่ยวไป-กินไป ทั้งหลายรีบไปกราบนมัสการพระพุทธรูปแกะสลักที่หน้าผาเขาชีจรรย์เสียโดยเร็ว ไปแล้วแวะไปกินเป็ดย่างรายการของผมได้เลย และที่ผมชื่นชมอย่างยิ่งนอกเหนือไปจากความสวยงามของพื้นที่ การก่อสร้างในบริเวณสวน ร้านค้าเป็นระเบียบ ลานจอดรถกว้างขวางและเป็นระเบียบ ผู้วางแบบแปลนยังคำนึงถึงทุกข์ของคนไปเที่ยว และคนเฒ่าไว้ด้วย นั่นคือ สร้างสุขาชั้นเยี่ยมมีคนดูแลทำความสะอาด สร้างเป็นสากล เก็ยสตางค์คนละ ๓ บาท เห็นแล้วรีบจ่ายให้ทันที ที่ตุรกี ๕ บาท สะดวกแบบเดียวกันนี้ ยังจ่ายโดยเร็ว นี่เมืองไทย ๓ บาท เท่านั้น ข้อสำคัญเป็นแบบสากล ที่ต้องย้ำอีกทีด้วยความขอบคุณสุขาสาธารณะ ปั้มน้ำมัน สถานโบราณคดี ต้องสร้าง ต้องสะอาด ต้องมีคนดูแลและยังจำเป็นอยู่ที่จะต้องสร้างเป็นแบบผสม คือ มีทั้งแบบโถให้คนแก่ คนพิการ คนอ้วน ปลดทุกข์ได้ และแบบนั่งยองๆให้คนที่ไม่ชิน และคอยคิดว่าก้นชาวบ้านสกปรกหมดไปนั่งทับที่กันไม่ได้ ก้นตูเท่านั้นที่สะอาดเพราะตูใช้สบู่กรดฟอก คนคิดอย่างนี้ยังมีถึงปีนไปนั่งบนขอบโถ เขาเลยเป็นข้ออ้างที่จะไม่สร้างเป็นสากล
ของดีในพัทยายุคนี้ยังมีอีกมากมาย แต่คงต้องขอสงวนไปไว้ในตอนชิม หมูตุ๋นและเลือดหมูเจ้าเก่าที่หายไปจากพัทยากลาง และไปตามพบแล้วจะได้เอามาเล่ากันในโอกาสต่อไป พร้อมทั้งบอกให้ในพัทยาที่เด่นๆในปัจจุบันนั้นมีอะไร ตอนนี้ไปกินเป็ดย่างกับผมดีกว่า
เมื่อมกราคม ๒๕๒๙ ตอนที่ผมเขียนเรื่องวัดสมเด็จฯ ตอนท้ายผมพาไปกินเป็ดย่างที่ร้าน เม้งกี่ จากนั้นผมก็พาครอบครัวของผมไปกินอีกมื้อกลางวัน คราวนี้ไปถึงสั่งอาหารไม่มีใครยอมรับคำสั่ง คนก็แยะ เราก็หิว ดูหน้าผมแล้วก็วิ่งเข้าไปหลังร้าน แล้วออกมาดูหน้าใหม่ ถามลูกเต้าดูว่าหน้าพ่อเปื้อนอะไรมาหรือเขาถึงเอาแต่วิ่งมาดูหน้าไม่รอรับคำสั่งสักที สักพัก เถ้าแก่ที่ไม่แก่ (ตอนนั้นยังไม่ ๖๐ ) ท่าครึ้มๆพิกลออกมาถาม ไม่ได้ออกมารับการสั่งอาหาร มาถามว่าผมคือนายพลโอภาสใช่ไหม ผมก็แว้ดเข้าให้ว่าใช่น่ะซี ตอนนี้หิวข้าวเต็มทีจะขายไหม เถ้าแก่หรือคุณมานะบอกว่าขายซีครับ แต่ขอให้ท่านมองข้างฝาเหนือหัวผมนั่นเอง ผมก็มองตาม มีกรอบใส่ข้อเขียนของผมเกี่ยวกับร้านของเขา ตัดหัวหนังสือต่วยตูนและอะไรต่ออะไรมาเข้ากรอบมองดูแล้วดี ได้ความว่าตอนนั่นต่วยตูนนิยมเอารูปนักเขียนในเครือต่วยลงปกหลัง เขาก็เลยจำหน้าของผมได้ เพราะเขาอ่านต่วยตูนอยู่แล้ว อ่านมาตราบเท่าทุกวันนี้ (เขาบอกว่าเจอกัน) และตอนนี้เพิ่มอ่านไทยรัฐวันอาทิตย์อีกหนึ่งฉบับ
วันที่เขามามองหน้าผมแล้วแนะนำว่าทำไมรู้จัก จากนั้นไปจัดอาหารมาให้ ที่สำคัญคือเป็ดย่างหนังเกรียมกรอบไม่เหมือนใคร และตุ๋นต่างๆในกระบอกไม้ไผ่ เดี๋ยวจะจาระไนให้ทราบ จบแล้วบอกว่าขอเลี้ยง ผมไม่ยอมผิดกฎของผม งั้นขอคิด ๔๐ บาท ท่านจะทำไม ที่วาจาห้าวหาญเพราะแกบอกว่าวันนี้เป็นวันหยุดของแก จะติดเครื่องตั้งแต่เช้าและประคองเครื่องไม่ให้ดับไปตลอดวัน ส่วนทางร้านให้ลูกชาย ลูกสาว ลูกสะใภ้จัดการ
นี่คือ เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว
ปีนี้ ๒๕๔๐ เดือนมิถุนายน ผมไปกราบนมัสการพระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ พักที่คอนโดบนเขาพระตำหนัก "โอเรียนเตลฮิลล์ รีสอร์ต" ซึ่งเขาบอกว่า วิวสวยนัก ผมพักไม่เสียสตางค์เพราะพักตามโควต้าประจำปีในการแลกเปลี่ยนโรงแรมที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งมีผู้โทรมาถาม เขียนหนังสือมาถามบ่อยๆ ว่าดีไหมการเป็นสมาชิกแบบแลกเปลี่ยนโรงแรมอย่างนี้ ก็ขอตอบไว้อีกครั้งว่า ไม่ดี เพราะเสียสตางค์แพง ผมเป็นตอนนั้นมันรุ่นแรกของเมืองไทย แปลกดี แต่เป็นแล้วก็แปลกดีเพราะจะแลกพักโรงแรมไปยังประเทศเป้าหมายไม่ได้ดังใจเรา หรือในเวลาที่เราอยากไป เพราะหากเขาไม่มาเราก็ไปไม่ได้ ข้อหนึ่งที่เขาไม่มา เพราะโรงแรมที่แลกกันนั้นอยู่ในลักษณะรีสอร์ตแทบทั้งสิ้น ของเราไม่ได้มาตรฐานพอ เช่น ที่โอเรียนเตลฮิลล์ รีสอร์ตที่พักแบบนี้เป็นแบบคอนโดเทลให้เช่าด้วย คือ คนซื้อส่วนบุคคลแล้วให้เช่าด้วย โรงแรมหรือคอนโดเทลตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะมาก บนเขาพระตำหนักวิวสวยมาก โดยเฉพาะที่สระว่ายน้ำ แต่ภายให้ห้องเรียบเกินไป ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีลักษณะเป็นรีสอร์ต เช่น ประกอบอาหารไม่ได้เลย หากเทียบกับนิวซีแลนด์ อเมริกา หรือแม้แต่สิงคโปร์ ที่พักมาแล้ว มาตรฐานรีสอร์ตที่แลกเปลี่ยนนี้สู้ของเขาไม่ได้ ที่นี่เปิดให้พักด้วยราคาเพียง ๙๐๐ บาท รวมอาหารเช้า (038) 420252-3 ถือว่าดีมากสำหรับราคา และสถานที่ระดับนี้และสะดวกดีทีเดียว
ลายแทงไปร้านเม้งกี่ ซึ่งตอนนี้เกิดแตกออกมาเป็น ๒ ร้าน คือ มีสาขา แต่สาขาของเขานั้นรับประกันในคุณภาพ เพราะผลิตเป็ดจากแหล่งเดียวกัน และร้านสาขาขายแค่ 08.00-14.00 เท่านั้น แถมยังมีข้าวแกงขายเสียด้วย คนที่มาคุมร้านสาขาก็คือ ตัวเถ้าแก่เอง ปล่อยลูกสาว ลูกสะใภ้ไว้ที่ร้านเดิม ส่วนลูกชายคนโตไปเป็นเชฟใหญ่ในโรงแรมในกรุงฯ อีกคนก็เป็นเชฟในโรงแรมใหญ่ในพัทยา นี่เอง เรียกว่า เชื้อไม่ทิ้งแถว ผมเจอคุณมานะตอนไปกินข้าวเลือดหมูที่ร้านคูณศรีถนนพัทยากลาง มาเปิดร้านอยู่ติดๆกัน ถามไถ่ได้ความว่าร้านนี้เขาชื่อร้านข้าวต้มเศรษฐี ขอใช้เขาแค่ค่อนวัน 08.00-14.00 เท่านั้น พอเริ่มขายก็เลยต้องใช้ป้ายว่า "เป็ดย่างเม้งกี่เศรษฐี" ไปกับเขาด้วย ก็เลยบอกว่า ระวังคนจะเข้าน้อยเพราะเขากลัวความรวย แกว่าท่าจะจริงคนเข้าร้านน้อยกว่าร้านเดิม ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งครั้งเมื่อ 11 ปีก่อน
ถนนพัทยากลางกลายเป็นถนนที่อาหารอร่อยๆมาชุมชนกันอยู่ เริ่มตั้งแต่สี่แยกเป็นตลาดสดมีผลไม้ มีขนมนมเนยแยะ มีร้านบ่ะกุ๊ดเต๋ ต่อมาทางขวาเป็นร้านเป้ดย่างเม้งกี่เศรษฐี และกลางคืนเป็นข้าวต้มเศรษฐีรสชาติอย่างไรไม่ทราบ แต่ดูแล้วคนโหรงเหรงเต็มที ถัดมาเป็นข้าวเลือดหมูคูณศรี ซึ่งฮิตที่สุดในพัทยา เพราะเจ้าเก่า "บุญสืบ อยู่เช้า" หายไปจากพัทยากลาง (ตามหาเจอแล้ว) กล้วยแขก ข้าวเม่าทอดอร่อยก็อยู่ตรงนี้ หากข้ามฟากมา ลูกชิ้นเนื้อแดงดำอร่อยมาก โดยเฉพาะลูกชิ้นเอ็น กินแล้วต้องหิ้วกลับมากรุงเทพณ ด้วย ขนมครก ขนมถ้วยก้อยู่ตรงนี้ จะแถมด้วยถั่วต้มก็ได้ ยิ่งกลางคืนถนนสายนี้สว่างไสวด้วยร้านอาหารจาระไนไม่หมด
ร้านเม้งกี่ที่แท้จริงดั้งเดิมของเขาไปอย่างนี้ คือ หากมาจากกรุงเทพฯ พอถึงบางละมุงประมาณ กม.140 เศษๆ มีไฟสัญญาณให้เลี้ยวขวา วิ่งผ่านศูนย์การค้าไปจนสุดทางเป็นสามแยก หากเลี้ยวขวาไปตลาดนาเกลือ เราเลี้ยวซ้ายมาสัก กม.เศษๆ ผ่านธนาคารกสิกรไทย ต่อมาร้านเครื่องหวาย ร้านเม้งกี่อยู่ติดกันห้องโถงใหญ่ๆ หากวิ่งเลยไปจะไปเจอเอาปั้มเชลล์ทางซ้ายมือ ส่วนร้านสาขาก็บอกแล้วว่าอยู่พัทยากลาง วันที่เจอกัน เถ้าแก่บอกว่าเมื่อคืนผมหนักไปหน่อย เพราะตัวคนเดียว เมียคลอดลูกสาวได้ ๒ วันก็ตายมา ๑๘ ปีแล้ว จึงครองตัวเป็นโสดเรื่อยมา เรียกว่าน่ารักจริงๆ
เป็ดย่างเม้งกี่ นั้น แค่มองที่แขวนในตู้ก็อร่อยแล้ว เพราะดูเกรียม เมื่อสับใส่จานมาจะได้เป็ดย่างหนังกรอบ เนื้อนุ่มรสหวานชุ่มฉ่ำด้วยความหวานของแบะแซหรือขัณฑสกร ไม่ได้ใช้น้ำผึ้งอย่างที่คุยๆกัน และเป็ดย่างสมัยนี้ย่างด้วยไฟแก๊สเพราะหาฟืนย่างไม่ได้ ทำให้ยิ่งได้มาตรฐาน เพราะเขาตั้งเวลาได้ทุกวันจะออกมาในรูปเดียวกัน ไม่ใช่วันนี้ทะเลาะกันเป็ดออกมาไหม้ทั้งตัว ส่วนก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เกี๊ยว เป็ดตุ๋น นั้นจะเสิร์ฟมาในโถเลยทีเดียว ร้อนฉ่าซดโฮกตาสว่าง อะไรค้างมาแต่เมื่อคืน พลังจะฟื้นหมด หากถนัดใช้ตะเกียบยิ่งดี จะได้ขอข้าวร้อนๆใส่ถ้วยมาแล้วฟุ้ยเสียด้วยตะเกียบ ทีนี้ตอนซด จะต้องสั่งประเภทตุ๋นในกระบอกไม้ไผ่ ผมเจอร้านนี้เพียงแห่งเดียว เขาใช้กระบอกไม้ไผ่ตัดเป็นถ้วย ใช้แล้วสัก ๓ เดือนจะทิ้งไปเลย การล้างกระบอกแต่ละวันจะล้างด้วยความร้อนไม่ใช้ผงซักฟอกให้มีกลิ่นจับ เม้งกี่กวดขันมาก เรืองความสะอาด ได้แก่ซี่โครงหมตุ๋น เห็ดหอม ตุ๋นดอกไม้จีน ขาและปีกไก่ตุ๋นยาจีน มะระตุ๋นซี่โครงหมู ๔ ตุ๋นนี้ เสิร์ฟมาในกระบอกไม้ไผ่
นอกจากนี้ยังมีขาหมูอีก หากสั่งให้ครบเครื่อง และต้องกินข้าวก็สั่งมาให้ครบ เป็ดย่างจานโตๆแหละดีตุ๋น ๑ ใน ๔ ตุ๋นหรือไปหลายคนก็ ๔ ตุ๋นเลย ขาหมูอีกสักจานแล้วจะวกมาปิดด้วย ก๋วยเตี๋ยว เกี๊ยว บะหมี่เป็ดตุ๋น ก้ไม่มีใครห้าม หรือหากไปกินที่ร้านสาขา ยามเช้าก็ดีเพราะยังมีข้าวแกงให้ชิมอีก ไม่รู้เอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาทำ กินตรงร้านสาขาพัทยากลาง อิ่มแล้วไล่ซื้อดะไปตั้งแต่กล้วยแขก ข้าวเม่า ข้ามไปซื้อขนมครก ขนมถ้วย แล้วหอบไปวัดญาณสังวราราม
ไม่ได้เอาไปถวายพระหรอก เพราะพระที่วัดนี้ท่านฉันมื้อสายมื้อเดียว หอบเอาไปฉันเอง
ที่มา ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น