++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของปืนไฟกับไทยสมัยโบราณ (๒)

ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์

            ..หากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน ก็เหมือนประเทศผู้ผลิตสินค้าอาวุธสงครามที่เห็นช่องทางจะจำหน่ายสินค้าของตนให้ได้มากๆ เมื่อได้มองตลาดการค้าแล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะประเทศสองประเทศกำลังทำสงครามกันอยู่ ก็จะได้ส่งพ่อค้าเข้าไปติดต่อค้าขายอาวุธให้กับประเทศทั้งสองเข้ามารบราฆ่าฟันกันเองตามความพอใจ ดังนั้นในสงครามไทยและพม่า ในระยะต่อมาจึงปรากฏว่ามีอาสาชาวโปรตุเกสเข้าไปร่วมอยู่ในกองทัพของทั้งสองฝ่ายด้วย เพือสาธิตสินค้าของตนให้กับลูกค้าทั้งสองประเทศ

            เมื่อปืนไฟเป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้ในราชการสงครามมากยิ่งขึ้น ก็เช่นเดียวกับในสมัยนี้ที่ทางราชการทหารต้องเที่ยวสืบหาอาวุธที่ทันสมัยใหม่ๆ เพื่อนำมาไว้ใช้ป้องกันประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นก็คงจะได้สั่งทั้งปืนเล็ก ปืนใหญ่เข้ามาใช้กันหลายชนิดในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงเรื่องราวที่น่าสังเกตไว้เกี่ยวกับเรื่องปืนบ้าง ถึงการที่คนเอเซียยังไม่ชำนาญในการใช้ปืน แต่ก็ได้รู้และเห็นประสิทธิภาพของมันได้เป็นอย่างดีแล้ว

            ภายหลังจากที่เสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัยในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ไปแล้ว พม่าได้ยกกองทัพกลับเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ไทยได้เห็นประโยชน์ของปืนใหญ่ ปืนไฟ ปืนเล็ก ว่ามีคุณค่าอย่างมหาศาลในการทำลายล้างข้าศึก จึงคิดทำลายค่ายพม่าด้วยทางลัด โดยอัญเชิญเอาปืนใหญ่ ชื่อ นารายณ์สังหารลงเรือสำเภาหมายจะไปยิงค่ายข้าศึกให้พินาศ แต่เนื่องจากปืนใหญ่เป็นอาวุธหนักและมีคุณค่ามาก เมื่อจะเชิญปืนลงเรือสำเภานั้น เพื่อป้องกันการแย่งชิง จึงได้แต่งกองทัพบกออกรักษาป้องกันสำเภาปืนไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำที่เรือปืนจะผ่านไป  จากการตั้งทัพบกป้องกันปืนนี้เอง ทำให้กองสอดแนมของพม่ารู้ จึงรีบกลับเข้าไปรายงานราชการทัพให้กับพระเจ้าหงสาวดี แต่ยังไม่ทันที่จะรายงานเสร็จ พี่ไทยเราก็ยังปืนนารายณ์สังหารเข้าไปในค่ยใหญ่ของพม่า กระสุนตกลงในค่ายกลิ้งขลุกๆ เข้าไปที่หน้าพลับพลาพระที่นั่งของพระเจ้าหงสาวดีๆ เองก็ทรงตกพระทัย ให้เก็บเอากระสุนปืนที่กลิ้งขลุกๆมานั้น ขึ้นเซ่นสรวงบวงพลี แล้วก็ย้ายค่ายหนีไปอยู่ที่อื่นให้พ้นวิถีกระสุนปืนใหญ่ พอตั้งค่ายใหม่เสร็จสรรพก็ยกทัพเคลื่อนเข้ามาอีก พี่ไทยเห็นได้ทีว่าปืนนี้มีประสิทธิภาพดีจริงๆ ก็ให้เอาปืนใหญ่ลงใส่สำเภาจะไปยิงค่ายพม่าที่ตั้งใหม่อีก แต่คราวนี้ชะรอยว่าจะอัดดินปืนมากไปหรืออย่างไร ก็ไม่ทราบ ปืนถีบเอาท้ายสำเภาจมลง  ผลของการยิงครั้งนั้นจึงได้แต่ยิงกิ่งโพธิ์ใหญ่ขนาด ๓ กำเศษ (ไม่รู้ว่าใหญ่เท่าไร) ตกลงตรงใกล้ช้างพระที่นั่งของพระเจ้าหงสาวดีเท่านั้น

             เรื่องปืนใหญ่ปืนไฟในสมัยแรกๆของไทยนั้น คงยังมีเรื่องเล่ากันอีกมากมาย เพราะในช่วงก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๑๑๒ นั้น ไทยได้สั่งปืนชนิดต่างๆเข้ามาอีกมากมาย ถึงขนาดตั้งรายล้อมรอบกำแพงพระนครศรีอยุธยาได้ จำนวนปืนต่างๆเหล่านั้นมีปืนอยู่ชนิดหนึ่งที่เรียกกันเป็นภาษาไทยว่า "ปืนบะเหลี่ยมจ่ารงมณฑกนกสับ" ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยๆ ก็คงจะไม่ได้ความอะไร ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะมีที่มาจากภาษาอื่นๆแน่ ก็เลยลองค้นๆดู ไปเห็นศัพท์ที่น่าสนใจ ก็เลยรวมๆมาลองตีความให้คิดกันเล่นๆ อย่างนี้ครับ...

            บะเหลี่ยม, บาเรียม มาจากศัพท์ว่า  brown bess อ่านว่า บราวเบส แปลว่า ปืนคาบศิลา
            จ่ารง มาจากศัพท์ว่า   charoit อ่านว่า แชเรียท แปลว่า รถลาก, รถศึก หรือรถประเภทมีสองล้อ
            มณฑก มาจากศัพท์ว่า  breech block อ่านว่า เบรสบล็อก แปลว่า ส่วนท้ายของปืน และนกสับ มาจากศัพท์ว่า  knock up อ่านว่า น็อคอัพ แปลว่า กระทบขึ้น หรือ ตีขึ้น

            แน่นอนว่า คนไทยได้รับศัพท์ดุ่นๆของเขามาใช้ เรียกเป็นชื่อปืน แล้วก็ใช้สำเนียงแบบไทยๆ เรียกเสียโก้หรูว่า "ปืนบะเหลี่ยมจ่ารงมณฑกนกสับ"  ไปเสียเลยทีเดียว ผิดถูกอย่างไรก็ทิ้งไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาวิจารณ์กันไปเองเถอะ แต่ผมน่ะว่าของผมอย่างนี้ละครับ



ที่มา  ต่วยตูน เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น