ไม่ว่าที่ สุดแล้ว
การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเสื้อแดงจะได้เกิดขึ้นหรือไม่
แต่ข้อเสนอของแกนนำเสื้อแดงที่ให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อแลกกับการยุติชุมนุม
พร้อมเปิดทางให้ทุกพรรคลงพื้นที่หาเสียงได้อย่างเสรี
ก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า นี่หรือคือสิ่งที่ปากบอกว่าพร้อมเจรจา
แท้จริงแล้วน่าจะเป็นการข่มขู่รัฐบาลมากกว่า นี่ยังไม่รวมกรณีที่
"บิ๊กจิ๋ว" และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดดลงมาร่วมวงโค่นล้มรัฐบาลอย่างเปิดเผย
แต่จะสำเร็จหรือไม่ ต้องให้หลายฝ่ายวิเคราะห์
หลังแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
นายวีระ มุสิกพงศ์-นายจตุพร พรหมพันธุ์-นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
นัดชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มี.ค.โดยตั้งเป้า 3 วันน่าจะเผด็จศึกรัฐบาลได้
แต่กลายเป็นว่า 10 วันล่วงไปแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะโค่นรัฐบาลสำเร็จ
ขนาดทั้งปลอบทั้งขู่ให้รัฐบาลยุบสภา ด้วยการอ้างว่า
พร้อมเจรจากับรัฐบาลเพื่อสงบศึก โดยนายกฯ
ต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
แล้วกลุ่มเสื้อแดงจะยอมยุติการชุมนุม
และพร้อมจะให้ทุกพรรคลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งได้ในทุกพื้นที่จะไม่ขัดขวาง
แถมยังพูดเหมือนดูดีว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร
ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลเลือกตั้ง เพื่อให้บ้านเมืองสงบ
แต่หลายฝ่ายก็รู้ทันว่า ที่แกนนำเสื้อแดงพูดเช่นนี้ได้เพราะมั่นใจว่า
ถ้าเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยจะชนะแน่ และเมื่อคิดว่าพรรคตัวเองชนะ
จึงดักคอไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าห้ามใครออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน
นอกจากกลุ่มเสื้อแดงจะพยายามกดดันรัฐบาลทุกวิถีทางแล้ว ด้าน
ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ยังโดดลงมาร่วมวงช่วยกลุ่มเสื้อแดงโค่นรัฐบาลอย่างเปิดเผยด้วย
โดยวางหมากเดินสายเจรจากับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
หวังกล่อมให้ถอนตัว-พลิกขั้วให้ได้ โดยอ้างว่า
รัฐบาลอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้อีกต่อไปแล้วจากการชุมนุมของ
กลุ่มเสื้อแดง
ก่อนจะได้บทสรุปว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงจะจบลงอย่างไร
และแกนนำพรรคเพื่อไทยจะกล่อมพรรคร่วม ให้ทิ้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่
ลองมาหยั่งกระแสสังคมดูว่ารู้สึกอย่างไรกับข้อเสนอของกลุ่มเสื้อแดง
รวมทั้งการขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทย
รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองท่าทีของกลุ่มเสื้อแดง ว่า
ต้องการเจรจากับรัฐบาล เพราะคงไม่สามารถคุมม็อบให้ปักหลักสู้ในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปกรณ์
ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่เหมือนการชี้นิ้วสั่งของแกนนำเสื้อแดง
พร้อมแนะว่า รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่คิดไม่เหมือน
นปช.ด้วย
"ไม่ควรจะเป็นการเจรจาแค่เพียง 2 ฝ่าย เพราะฝ่ายที่ 3
ซึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการคิดของกลุ่ม
นปช.ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโดยตรง
อาจจะมีกลุ่มอื่นที่อยากจะเรียกร้องให้มีการ คือข้อคิดอาจจะเหมือนกัน
คือเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน
เรียกร้องการปรับปรุงการแก้ไขกฎหมาย
แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบสภาในขณะนี้
เพราะฉะนั้นการเจรจามันไม่ควรจะมีแค่เพียงข้อเสนอประเด็นที่
นปช.เรียกร้อง คือเจรจาเฉพาะกับรัฐบาลเท่านั้น (ถาม-แกนนำเสื้อแดงบอกว่า
รัฐบาลยุบสภาสิ แล้วจะให้ทุกพรรคลงพื้นที่หาเสียงได้ทุกพื้นที่
ไม่ขัดขวาง?) ตกลงวันนี้คนเสื้อแดงจะชี้นิ้วประเทศใช่มั้ย
คนที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดง เสื้ออื่น เสื้อเหลือง
พวกผมนี่ไม่มีสิทธิ์จะชี้นิ้วประเทศนี้ใช่มั้ย นี่เป็นประชาธิปไตยแบบไหน
การข่มขู่รัฐบาล การข่มขู่ประชาชน เป็นวิธีการประชาธิปไตยหรือเปล่า
สิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่เขาเรียกร้อง มันคนละเรื่อง
(ถาม-อ.ประเมินแล้วจะยังไงต่อไป กลุ่มเสื้อแดงจะยื้อเวลาไปเรื่อยๆ
หรือเปล่า เพราะเมื่อเสาร์ที่แล้ว (20 มี.ค.)ก็เคลื่อนพลทั่วกรุง
เสาร์นี้ (27 มี.ค.)ก็เคลื่อนอีก?) เขากำลังทดสอบความอดทนของคนกรุงเทพฯ
ว่า คนกรุงเทพฯ จะมีความอดทนแค่ไหน ถ้าคนกรุงเทพฯ
จะปล่อยให้เขาปิดเมืองได้เนี่ย คิดว่าก็ให้เขาปิดประเทศไปเลย"
"(ถาม-อ.มองการเคลื่อนไหวของบิ๊กจิ๋ว และ
ส.ส.พรรคเพื่อไทยยังไงที่โดดลงมาร่วมวงกับ นปช.อย่างไม่เหนียมแล้ว
และตอนนี้กำลังเดินเกมล็อบบี้ให้พรรคร่วมฯ ถอนตัวจากรัฐบาล?)
คนเหล่านี้ไม่มีความหมาย เป็นคนที่ไม่มีราคา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต
หรือบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหลาย ที่โดดลงมาร่วมในขณะนี้
สังคมไม่ได้ให้ราคาอะไร สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญ
และบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ล้มเหลวทางการเมือง แม้แต่ พล.อ.ชวลิต
เองก็ตาม เพราะได้ทำอะไรมาหลายเรื่องแล้ว ที่นี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่
พล.อ.ชวลิต ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลออก วันนี้ (23
มี.ค.) มีการประชุม ครม.พรรคร่วมฯ ก็ไปครบถ้วนสมบูรณ์ การถอนตัว
(ของกลุ่มเสื้อแดง) ที่จะไม่ไปกดดันการประชุม ครม.ก็แสดงให้เห็นว่า
ทางเสื้อแดงเองก็อยากจะเจรจา
เพราะการที่จะคุมม็อบให้อยู่ในระยะยาวไม่อยู่ในสภาพที่จะรับได้"
ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา
ก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาในขณะนี้เช่นกัน
เพราะเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้ควรยุบ พร้อมแนะกลุ่มเสื้อแดงว่า
ควรยอมรับประชาธิปไตยเสียงข้างมาก หากจะเรียกร้องให้ยุบสภา
ต้องถามประชาชนอีกหลายสิบล้านคนดูด้วยว่า อยากให้ยุบสภาหรือไม่
"ผมว่าไม่มีเหตุน่ะ
การยุบสภามันเป็นเรื่องที่สภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้
มีความขัดแย้งกันในการบริหารจัดการในนิติบัญญัติ
ตอนนี้ผมยังไม่เห็นมีเหตุตรงนี้เลย มีเหตุอย่างเดียวคือคุณจะเอานายกฯ
ออกไป และไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้ง ถามว่าเลือกตั้งตอนนี้
แล้วเรารับรองได้ยังไงว่าจะไม่เกิดเหตุอย่างที่พวกเขาว่ามา
ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องตอบว่า
การยุบสภาต้องมีเหตุมาจากสภานิติบัญญัติไม่สามารถทำงานได้
(ถาม-โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะถอนตัว เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?) ผมมองว่า
ตอนนี้ถ้ายุบสภาแล้ว เขามั่นใจได้มั้ยว่าเขาจะหาเงินที่ไหนมาซื้อเสียงกัน
มาจัดการเลือกตั้งกัน เพราะปัจจุบันต้นทุนมันอยู่ที่ประมาณ 50
ล้านต่อเขตแล้ว ผมถามว่า ถ้าบังคับ ส.ส. ส.ส.จะยอมมั้ย ส.ส.คงไม่ยอมหรอก
อยู่ๆ คุณก็ตกงานไง และอีกอย่าง เอ๊ะ! คุณชุมนุมกันเสร็จเรียบร้อย
คุณบอกให้ยุบสภา ผมถามว่าคุณชุมนุมถึง 13 ล้านคนมั้ยล่ะ ถ้า 13 ล้านคน
ก็เหลืออีกประมาณ 40 กว่าล้านที่เขาไม่ได้ชุมนุมกับคุณน่ะ
คุณถามเขารึเปล่าว่าควรจะยุบสภาควรจะลาออก
ประชาธิปไตยมันต้องถือเสียงข้างมากใช่มั้ย ไม่ใช่ใช้เสียงของการกดดัน"
ด้านนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่
พูดถึงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ว่า
หลังจากมีการขับรถเพ่นพ่านทั่วกรุงเมื่อวันเสาร์ที่ 20
มี.ค.ที่ผ่านมาโดยไม่เกิดเหตุรุนแรง
คงต้องดูว่าการจะเคลื่อนขบวนอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 27
มี.ค.นี้จะมีเหตุรุนแรงหรือไม่ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ
พูดเหมือนส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ให้ม็อบอยู่ต่ออีก 7 วัน
สะท้อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
อาจจะพยายามทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ในช่วง 7
วันดังกล่าว นายสมศักดิ์
ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีที่แกนนำเสื้อแดงเสนอให้รัฐบาลยุบสภา
เพื่อแลกกับการยุติชุมนุม เพราะถือเป็น 1 ในหลายๆ
พฤติกรรมของกลุ่มเสื้อแดงที่พยายามข่มขู่และแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีอำนาจ
เหนือรัฐ
"อันนี้ก็เป็นการข่มขู่อยู่เหนืออำนาจรัฐ อย่างเมื่อวาน
ที่เขาเดินไป พวกหมอเหวงเดินไปจะไปตรวจค้นอาวุธทหาร
พวกนี้พยายามสร้างในแง่จิตวิทยาให้เห็นว่าอำนาจรัฐอยู่กับพวกนี้แล้ว
จะไปตรวจอาวุธทหาร ซึ่งเขามีสิทธิที่จะพกหรือไม่พอเป็นสิทธิของเขา
แต่ทางนั้นก็ตอบไปว่าไม่มีอาวุธ แทนที่จะตอบว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะมาค้น
คุณเป็นใคร นี่ก็คือความพยายามที่จะสร้างเหนืออำนาจรัฐ แบบนี้ก็เหมือนกัน
คือ เขาเกทับ เดินเหนือรัฐบาล
และตกลงรัฐบาลนี่ไม่สามารถปกป้องประชาชนให้มีเสรีภาพในการเดินทางไปไหนมาไหน
ได้ ปล่อยให้อันธพาลก่อกวน แม้กระทั่งนายกฯ วิ่งหัวซุกหัวซุน
สภาพการณ์แบบนี้นายกฯ อาจจะดูเป็นสุภาพบุรุษในสายตาภาพกว้าง
แต่ด้านหนึ่งกลับไปสร้างให้พวกนี้ฮึกเหิมว่า เห็นมั้ยนายกฯ พวกเราก็ไล่
หนีหัวซุกหัวซุนอยู่ ทำให้เขาไปโฆษณาได้ว่ารัฐเนี่ยหมดอำนาจ
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ฉะนั้นเขาไม่มีสิทธิจะมาบอกว่า
มาทำสัญญาเอ็มโอยู แสดงว่าคุณควบคุมประเทศนี้ไว้แล้วเหรอ
แสดงว่าเขามีอิทธิพลอำนาจป่าเถื่อนอยู่เหนืออำนาจรัฐแล้ว"
"ฉะนั้น รัฐจะต้องทำให้เห็นว่า เสรีภาพในการเดินทาง
ผู้ใดจะไปที่ไหน ถ้าใครมาฝ่าฝืนมาขัดขวางละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่น
รัฐต้องเป็นคนจัดการ รัฐบาลต้องจัดการในเรื่องนี้
ไม่ใช่ปล่อยให้เขาข่มขู่คุกคาม
มันไม่ใช่เป็นการยื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรองเกี่ยวกับความเดือดร้อนของ
ประชาชนเหมือนเกษตรกรชาวไร่ชาวนา หรือขบวนการของสหภาพแรงงาน
มันคนละเรื่องกันนะ เพราะฉะนั้นจะไปเจรจาเรื่องอะไร นั่นคือ คำตอบ
ไม่ใช่เจรจา และพวกนี้เรียกร้องให้ยุบสภา
เมื่อรัฐบาลยุบสภาก็แสดงว่ายอมรับ เขาก็ชนะแล้ว และหลังจากยุบสภาแล้ว
พวกนี้บอกว่าจะไปไหนมาไหนได้ จะให้เกิดความเรียบร้อย ทำสัญญาสงบศึก
ถ้ารัฐบาลทำอย่างนั้นก็คือความพ่ายแพ้
คือการยอมรับอำนาจที่การชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้การบงการของนักโทษ
ชายทักษิณที่กำลังป่วนบ้านป่วนเมือง
รัฐบาลมีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมจัดการไม่ให้คนที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย
มาทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อน มันต่างกับพันธมิตรฯ พันธมิตรฯ
เราเรียกร้องว่ารัฐบาลนั้นมาโดยไม่ชอบ
เราเห็นมั้ยว่ามันพิสูจน์กันชัดเจนทั้งหมดเลยว่า เขาไม่ชอบเพราะอะไร
โกงการเลือกตั้ง ศาลก็ยุบแล้ว ทำผิดหลายอย่าง
ยุบพรรคก็เห็นปรากฏชัดเจนแล้ว แต่รัฐบาลนี้มันต่างกัน
เพราะเขามาเช่นเดียวกับคุณสมัคร คุณสมชาย"
เมื่อถามว่า คิดว่า
มีโอกาสจะเกิดการพลิกขั้วของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หลัง พล.อ.ชวลิต และ
ส.ส.พรรคเพื่อไทยพยายามเดินเกมล็อบบี้พรรคร่วมรัฐบาลให้ถอนตัว
นายสมศักดิ์ บอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่กล้าฟันธง
เพราะหลายคนในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้ที่เคยไปมาหาสู่และร่วมงานกับคนในพรรค
เพื่อไทยมาก่อน และอย่างที่รู้กันว่า นักการเมืองในสภาปัจจุบันก็เหมือน
"ของเหลว" วันดีคืนดี ถ้าผลประโยชน์ลงตัว ก็พร้อมจะไปรวมกันได้
ถ้าผลประโยชน์ไม่ลงตัวหรือไม่มากพอ ก็แยกกัน
แต่ถ้าวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบัน
คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่น่าจะแยกกัน
นายสมศักดิ์ ยังฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า
ควรจัดการปัญหากลุ่มเสื้อแดงที่สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเทพฯ โดยเร็ว
เพราะขณะนี้คนเริ่มเบื่อหน่ายกับหลายพฤติกรรมของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ เช่น
การนำเลือดมาเท ซึ่งเข้าขั้นวิตถาร ขณะเดียวกัน
ตั้งแต่กลุ่มเสื้อแดงเข้ามาชุมนุมใน
กทม.ก็เกิดระเบิดตูมตามขึ้นที่นั่นที่นี่ยิ่งกว่าอยู่ในภาวะสงครามเสียอีก
หากนับกรณีคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กระทรวงสาธารณสุข ที่
ครม.ใช้เป็นสถานที่ประชุมเมื่อวานนี้(23 มี.ค.) ก็ 8
ครั้งเข้าไปแล้วสำหรับระเบิดใน กทม.ดังนั้น
รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เพื่อคนกรุงเทพฯ เท่านั้น
แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศต่างๆ
ที่จะมาร่วมประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา(ไอพียู) ครั้งที่ 122 ที่
กทม.ระหว่างวันที่ 27 มี.ค.-1 เม.ย.นี้ด้วย!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น