++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

กินหมากกินพลู (๑) - ชีวิตเด็กบ้านสวนบางลำเจียก

แก้ว แกมทอง

            เมื่อก่อนนี้พอแขกขึ้นเรือน คำแรกที่เจ้าของบ้านพูดรับรองก็คือ ให้แขกกินหมากนะ ไม่ใช่ให้กินน้ำเหมือนเดี๋ยวนี้

            ผู้เขียนจำได้ว่าพอแขกมาเยือน เขาก็จะเอาเสื่อมาปูที่ระเบียงริมชาน เอาเชี่ยนหมากมาตั้ง เอากระโถนหนึ่งใบชนิดที่ล้างสะอาดอยู่ใหม่ๆ  ไม่ใช่ที่เจ้าของบ้านใช้บ้วนเองอยู่ทุกวันแล้วใช้เด็กเท บางทีเด็กมันก็ไม่เท ปล่อยไว้สองวันสามวัน บ้วนจนน้ำหมากมั่ง อะไรมั่งแทบจะล้นกระฉอกออกมานอกกระโถน บางทีพอเราจะบ้วนอะไรมั่ง พอก้มลงไปแทบจะล้มหงายตึงเลย เม้นเหม็น เพราะงั้นทุกบ้านเขาถึงต้องมีกระโถนใหม่ๆไว้ให้แขกบ้วน

            นอกจากมีเชี่ยนหมาก มีกระโถนแล้ว ก็มีน้ำใส่ขันหรือใส่แก้วตามชนิดของแขกมาวางด้วย บางทีก็มีน้ำร้อนน้ำชาชนิดใส่กากระเบื้องซ้อนอยู่ในกระถางที่มีนวมรอง ไม่ใช่น้ำร้อนน้ำชาชนิดใส่ซองยื่นใต้โต๊ะ ซึ่งชนิดนี้เพิ่งจะมีมาใหม่ในยุคปัจจุบัน

            แขกร้อยทั้งร้อยที่มาเยี่ยมบ้าน พอเห็นเชี่ยนหมากสะอาดเอี่ยม มีพลูสดๆซิงๆไม่เหี่ยวเฉาป้อแป้ มีหมากดิบเจียนไว้สดๆ หรือไม่ก็เป็นลูกๆ ไว้ให้เจียนเอง แขกก็จะรีบระมิดกระเมี้ยนบ้วนหมากของตัวที่อมมาแต่บ้านทิ้งกระโถน แล้วเอาน้ำบ้วนปากหยิบพลูขึ้นป้ายปูนจีน กินใหม่ด้วยสีหน้าชื่นมื่น เรื่องธุระเรื่องอะไรเอาไว้พูดกันทีหลัง

            ทีนี้เมื่อพูดถึงหมาก เมื่อคราวก่อนพูดถึงหมากแห้งเอาไว้เสียหนักหนา คราวนี้จะได้เฉลยว่า แล้วหมากแห้งแข็งเป๊ก ยังงั้นคนแก่จะกินเข้าไปยังไง

            เรื่องนี้เล่นไม่ยากเลย เขาก็เอาแช่น้ำเสียนะซีเล่า แช่ค้างวันค้างคืนไว้อย่างงั้น ไม่ต้องเอาขึ้นกันล่ะ จะกินทีก็หยิบขึ้นมาที เอาใส่ปากหรือใส่ครกโขลกได้สบายมือ แต่ก่อนนี้ตามเชี่ยนหมากของคนแก่ๆน่ะ เขาจะมีถ้วยหรือโถ หรือกระปุกอะไรก็ได้ที่เล็กๆหน่อย เอามาแช่หมากแห้ง ผู้เขียนยังเคยเห็นเขาใช้กระปุกสบู่คาบอลิกเลย กระปุกนี่มันเป็นกระเบื้องเคลือบสีน้ำตาลอ่อน มีฝาปิดมิดชิด รูปร่างสักเท่ากระป๋องบุหรี่ ที่ไม่เปรียบกับกระป๋องนมเพราะนมเดี๋ยวนี้มันมีกระป๋องหลายขนาด เดี๋ยวไปวาดภาพอย่างชนิดกระป๋องโตๆ เข้าก็จะผิดความจริงไปมาก สบู่คาบอลิกนี่ไม่ใช่แตสำหรับอาบน้ำฟอกหัวหมาหรอกนะ ฟอกหัวคนที่เป็นเหาก็ได้

            เชี่ยนหมากของคนแก่ชาวสวนแต่ก่อนนี้ เคยเห็นเขาใช้แต่เชี่ยนแบบเครื่องเขิน ที่เขาเรียกว่าโอลาวน่ะ โอลาวนะไม่ใช่โอลาย เคยเขียนเรื่องเชี่ยนโอลาวนี่ที่ไหนแห่งหนึ่งแล้ว เขาไปสะกดผิดเป็นโอลาย เลยกลายเป็นคนละโอไป แล้วอีกอย่างเรื่องแกงบวน สะกดผิดเป็นแกงบอน ดูเหมือนจะที่นี่เอง ทำให้เสียความรู้สึกอร่อยหด เพราะแกงบวนมันอร่อยกว่าแกงบอนตั้งเยอะ

            เรื่องเชี่ยนหมากนี่ความจริงเขามีกันหลายอย่าง เชี่ยนหมากเงิน็มี เชี่ยนหมากนากก็มี แต่ส่วนมากเขาเอาไว้เวลามีงานใหญ่จริงๆ ถึงจะเอาออกมาโชว์  ส่วนมากแล้วธรรมดาก็ใช้แต่โอลาว รูปร่างกลมใหญ่คล้ายขัน แต่มีส่วนบนเหมือนเป็นถาดซ้อนปิดอีกที บนถาดนั่นก็มีตลับเล็กๆน่ารักสามสี่ใบไว้ใส่ยาฉุน ยาจืด กานพลู มีซองใส่พลู มีจอกใส่หมาก มีขวดเล็กๆสองขวดใส่พิมเสนใส่การบูน มีเต้าปูนซึ่งรูปร่างเหมือนเต้าจริงๆ คือ ลูกน้ำเต้านะ แต่เล็กกว่า ทำด้วยกระเบื้องเคลือบ มีดอกมีดวงสวยๆ มีไม้ควักปูนที่ทำด้วยทองเหลือง ส่วนที่จับข้างบนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ไก่ นก ปลา เป็นอาทิ ส่วนข้างล่างของตัวเชี่ยนก็มีของสารพัดอย่าง ของบางอย่างไม่น่ามาอยู่ในเชียนก็มี อย่างเข็มฝอย เข็มซ่อนปลาย กิ๊ฟติดผม ซองยาแสงหมึก สตางค์แดง พลอยร่วงๆสีต่างๆ ตะปู ไม้ขีดไฟ คือ มีแทบทั้งนั้น รู้สึกใครขาดอะไรก็จะมาค้นหาที่ก้นเชี่ยนหมาก นี่แหละเป็นได้การแทบทุกครั้ง ส่วนของที่เกี่ยวกับการกินหมากก็มีมีดพับ สำลีไว้ขมวดมวนพลู สำลีนี่เป็นเม็ดขนาดเท่าหัวแม่มือ ข้างนอกเป็นปุยขาว ข้างในแล้วเป็นสีดำปื๋อ อย่างมีสำนวนประชดคนผิวดำว่า ขาวเป็นสำลีเม็ดในนั่นแหละ นอกจากนี้ก็มีผ้าเช็ดปากสีแดง ซึ่งผ้าเช็ดปากคนแก่กินหมากนี้ต้องเป็นสีแดงทั้งนั้นอย่าไปหาสีอื่น บางเชี่ยนก็จะมีตะบันหมากยัดใส่ก้นเชี่ยนไว้ด้วย

            คนกินหมากนี่ ถ้าเป็นพวกสาวๆหรือไม่สาว แต่ยังมีฟันอยู่ เครื่องประกอบการกินหมาก ไม่ต้องมีครกมีสากให้ยุ่งยาก เขาก็หยิบใบพลูมา เอาปูนป้ายแกรกๆ เอาการบูนหรือพิมเสน หรือดอกกานพลูก็ได้ใส่ลงไป แล้วม้วยพลูอย่างชำนาญ แผลบเดียวก็เป็นกรวยกลม คีบไว้หว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลางมือซ้าย หยิบมีดมาผ่าหมาก เอาเสี้ยวหนึ่งมาเจียนแพล๊บแดะขึ้นใส่ปากอมไว้ก่อน หยิบตลับขี้ผึ้งมาเปิด เอาปลายก้อยป้ายขี้ผึ้งมาสีริมฝีปากช้าๆ ด้วยมาดคุณนาย แล้วถึงเอามวนพลูใส่ปากเคี้ยวกร้วมๆ รวมกับชิ้นหมากที่อมรอไว้ก่อนแล้ว พอเคี้ยวหมดมวนพลูก็จะมีน้ำหมากออกมาเยิ้มสองมุมปาก เขาก็จะกรีดนิ้วหยิบถ้วยยาฝอยหรือยาฉุนก็ได้ตามแต่จะชอบ มาเปิดขยุ้มเอายาออกมากระจุกหนึ่ง เช็ดปรอบริมปาก แล้วจุกไว้ตรงมุมหนึ่ง ปล่อยให้ฝอยยาปลิวพะเยิบพะยาบอยู่นอกปากสองสามเส้นดูเก๋ดี

            เรื่องยาจุกปากประกอบเครื่องกินหมากนี่  ถ้าเป็นคนไทย รู้สึกจะชอบยาจืดหรือยาฝอยนี่นะ แต่ถ้าเป็นคนจีนกินหมาก หรือ ไม่ได้กินหมาก เขาจะชอบใช้ยาฉุนจุกปากกัน บางคนก้อนเบ้อเริ่มเลย ไม่รู้เพื่ออะไร

            ส่วนคนแก่กินหมากนั้น เขาก็ใช้ครกน่ะแหละ เป็นเครื่องทุ่นแรง จับๆหมากใส่ครกแล้วตำป๊อกๆ พอละเอียดก็เอาช้อนตักใส่ปาก เครื่องครกของเขาต้องมีช้อนประจำอยู่ด้วย มีขี้หมากเกาะกรังตรงโคนช้อน ส่วนตรงปลายน่ะเลียเสียมันแผล่บ สากก็เหมือนกัน ตอนตำเสร็จแล้วบางคนก้เลียเสียหน่อยๆตรงปลายสากด้วยท่าทางน่าอร่อยดี


        (อ่านต่อตอนที่ ๒)

ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น