++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กรรมฐานของคนที่เกิดวันศุกร์

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องกรรมฐาน ที่เหมาะกับคนเกิดวันศุกร์
เรามาพูดถึงอุปนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์กันก่อนดีกว่า

ดาวศุกร์ ตามหลักโหราศาสตร์ หมายถึง ความรักทางโลกีย์ สิ่งสวยงาม
ความบันเทิง และอารมณ์ร่าเริง เป็นต้น นี่เป็นเรื่องของดาวศุกร์ทั้งนั้น

ฉะนั้น ลักษณะนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์ ตามหลักโหราศาสตร์
ที่จะเห็นได้ค่อนข้างเด่นชัดก็คือ จะเป็นคนที่รักสวยรักงาม อารมณ์ร่าเริง
ชอบร้องรำขับร้อง แต่ก็มีจุดอ่อน ที่ต้องคอยแก้ไขอยู่เหมือนกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นสุภาพสตรีที่เกิดในวันศุกร์
มักจะมีนิสัยที่เรียกได้ว่า อาจจะเป็นจุดอ่อนก็ว่าได้ มีอยู่ 2 เรื่อง
คือ

1. เป็น คนค่อนข้างจะห่วงคนอื่น มากกว่าตัวเอง
บางครั้งก็เอาเรื่องของคนอื่น เช่นความทุกข์ของคนรอบข้าง มาใส่ใจ
จนกระทั่งทำให้ตัวเอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับก็มี

2. เป็น คนที่มักจะเผลอไผล ในเรื่องของคำพูดคำจา อยู่เป็นประจำ
เช่นคิดไว้อย่าง แต่เวลาพูด กลับพูดไปอีกอย่าง
จนกระทั่งทำให้เกิดเรื่องให้ชวนขำอยู่บ่อยๆ
และนี่ก็คือ ลักษณะนิสัยโดยทั่วๆไป ของคนที่เกิดในวันศุกร์


กรรมฐานสำหรับคนที่เกิดวันศุกร์

ทีนี้มาพูดถึงกรรมฐาน ที่จะใช้แก้นิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์กันบ้าง
ก็อย่างที่บอกในตอนต้นแล้วว่า ลักษณะนิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์นั้น
ถ้าจะสรุปเป็นข้อๆ เพื่อหากรรมฐานมาแก้ได้ง่ายขึ้น ก็คงพอสรุป
เป็นข้อๆได้ ดังต่อไปนี้
1. เป็นคนที่ติดในเรื่องของกามารมณ์ และสิ่งสวยงามต่างๆ
2. เป็นคนที่มักจะทุกข์กับเรื่องของคนอื่น มากจนเกินไป
3. เป็นคนที่มักจะเผลอไผล ในเรื่องของคำพูดคำจา

ในบรรดานิสัยทั้ง 3 ข้อนี้ กรรมฐานที่จะช่วยบรรเทาได้ ก็จะมีดังต่อไปนี้
1. ต้องใช้อสุภะ แก้เรื่องความติดใจ ในกามารมณ์
2. ต้องใช้อุเบกขาพรหมวิหาร แก้ในเรื่อง ชอบทุกข์กับเรื่องของคนอื่น มากเกินไป
3. ต้องเจริญสติปัฏฐาน เพื่อแก้นิสัยที่เผลอไผล


ทีนี้กรรมฐานแต่ละอย่างๆ นั้น มีวิธีปฏิบัติอย่างไร

กรรมฐานที่จะช่วยแก้นิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์

อุปนิสัย ของคนที่เกิดวันศุกร์ และก็ได้สรุปไว้ว่า
นิสัยของคนที่เกิดวันศุกร์ แต่ละอย่างๆนั้น จะแก้ได้ ด้วยกรรมฐานหมวดใด
โดยวิธีปฏิบัติ ในกรรมฐานแต่ละหมวดนั้น จะนำมาขยายความ กันในตอนนี้
โดยเริ่มจาก กรรมฐานหมวดแรก นั่นก็คือ....

อสุภกรรมฐาน

อสุภะ คำนี้ หมายถึง สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม ซึ่งได้แก่ ซากศพต่างๆ นั่นเอง

พวก ซากศพต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน เพื่อแก้นิสัย
ที่ติดในความสวยงาม ได้เป็นอย่างดี ใครก็ตาม ที่รู้ตัวว่า
เป็นคนที่ติดในสิ่งสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องกามารมณ์ต่างๆ
ท่านจะละเลยกรรมฐานข้อนี้ ไปไม่ได้เลย

ทีนี้ มาพูดถึงวิธีปฏิบัติกันบ้าง การที่เราจะนำเอาซากศพต่างๆ
มาเป็นเครื่องเพ่ง พิจารณานั้น ถ้าเอาศพจริงๆมาพิจารณา คงจะทำได้ยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยนี้ ถ้าเป็นในสมัยก่อน ยังพอได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปพิจารณาศพในป่าช้า ยังพอทำได้ง่าย
กว่าในปัจจุบัน แต่สำหรับปัจจุบันนี้ ถ้าใครอยากจะเจริญอสุภะ
ท่านอาจจะใช้วิธี ไปหาภาพซากศพในลักษณะต่างๆ มาพิจารณาก็ได้

เมื่อได้ภาพมาแล้ว ก็ให้เอามาเพ่งดู แล้วจำภาพนั้นให้ได้
พร้อมกับให้น้อมพิจารณา เข้ามาหาตัวเอง ว่าอีกไม่นาน ถ้าเราตาย
เราก็จะมีสภาพที่ไม่น่าดู ไม่น่าชม อย่างนี้เหมือนกัน
อย่าว่าแต่รูปจะไม่น่าดูเลย แม้แต่กลิ่น ก็ไม่น่าพิศมัยเช่นกัน
ใครว่ากลิ่นหมาเน่า มีกลิ่นเหม็นที่รุนแรง แต่กลิ่นศพ ของคนที่ตายแล้ว
ก็รุนแรงไม่แพ้กัน ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะช่วยลดละความติดใจ
ในเรื่องของกามารมณ์ ไปได้มากทีเดียว และนี่ก็คือกรรมฐานหมวดแรก
ที่เหมาะกับคน ที่เกิดวันศุกร์

อุเบกขาพรหมวิหาร

ทีนี้ มาถึงนิสัยอย่างที่ 2 ของคนที่เกิดวันศุกร์
ก็คือนิสัยที่ชอบเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนคนอื่นอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆที่บางที
เรื่องนั้น มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย
แต่เราก็อดที่จะออกรับแทนเขาเสียมิได้ นิสัยอย่างนี้ กรรมฐาน
ที่จะช่วยแก้ ได้ดีที่สุด คงไม่มีอะไรเกิน อุเบกขา ในพรหมวิหาร

ความจริง พรหมวิหาร มี 4 ข้อ แต่สำหรับในกรณีนี้
ให้เน้นที่อุเบกขาพรหมวิหารอย่างเดียว อุเบกขา ที่ว่านี้ ก็คือ
การรู้จักทำใจวางเฉย เพราะมานึกถึง เรื่องกฎแห่งกรรม ว่าแต่ละคน
ต่างมีกรรมเป็นของตัว ใครทำกรรมอะไรไว้
คนนั้นก็จะต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่มีใคร ช่วยใครได้
บางครั้งเราไปวิตกกับเรื่องของ คนอื่นจนเกินไป โดยลืมคิดไปว่า
เขาเหล่านั้น ก็ต่างมีกรรมเป็นของๆตัว และแต่ละคน
ก็ต่างทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ผลที่ได้รับ
จะให้เป็นไปอย่างใจเราทุกอย่าง คงไม่ได้ เมื่อเรามานึก ถึงเรื่องกรรม
ได้อย่างนี้ จะทำให้เรา วางใจเป็นกลาง ได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้น ใครที่รู้ตัวว่า เป็นคนที่ชอบ เป็นทุกข์เป็นร้อน
กับเรื่องของคนอื่น จึงควรมาเจริญอุเบกขาพรหมวิหาร
โดยการนึกถึงเรื่องกรรม ของแต่ละคน ให้มากๆ มันจะช่วยคลายเรื่องนี้
ไปได้เยอะทีเดียว

สติปัฏฐาน

ที นี้ มานิสัยอย่างสุดท้าย คือนิสัย ที่พูดอะไร พลั้งๆ พลาดๆ อยู่เรื่อย
บางทีคิดอย่าง แต่กลับพูดไปอีกอย่าง อย่างนี้ มีวิธีแก้ได้อย่างเดียว
คือต้องเจริญสติให้มาก แบบฝึกหัดในการเจริญสติ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน
มีการฝึก ตั้งแต่หยาบที่สุด ไปจนกระทั่ง ละเอียดที่สุด
แต่ที่อยากจะแนะนำในเบื้องต้นนี้ ให้ฝึกแบบหยาบๆไปก่อน เพราะฝึกง่าย
ใครๆก็ฝึกได้ เพราะร่างกายมีอยู่ ทุกผู้ทุกคน

นิสัย ที่ชอบพูดพลั้ง พูดพลาด ของคนที่เกิดวันศุกร์นั้น
มีวิธีแก้อยู่อย่างเดียว คือต้องเจริญสติให้มาก
และแบบฝึกหัดในการเจริญสติ ที่ดีที่สุด คงไม่มีอะไรดีเท่ากับ การเจริญสติ
ตามแบบของสติปัฏฐาน ซึ่งมีแบบฝึกหัด การเจริญสติ ตั้งแต่หยาบที่สุด
ไปจนกระทั่ง ละเอียดที่สุด

การ เจริญสติ ตามหลักสติปัฏฐาน แบบฝึกหัดการเจริญสติ ตามนัยแห่งสติปัฏฐาน
จริงๆแล้ว มีอยู่มากมาย ที่จะใช้เป็นแบบฝึก แต่คงไม่มีความจำเป็นอันใด
ที่จะต้องนำมาใช้ทั้งหมด
เอาเฉพาะที่เหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็แล้วกัน จึงใคร่ขอแนะนำ 2
วิธี ให้ท่านได้ลองฝึกกันดู

วิธี แรก ให้ใช้ฝึก ในตอนที่ ร่างกายอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหว
ในช่วงที่ร่างกายอยู่นิ่งๆนั้น ให้ท่านเอาสติ เข้าไประลึกรู้
อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยให้ตามรู้
ตามดูลม ไปเรื่อย หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ( วิธีนี้
ท่านเรียกว่า อานาปานปัพพะ ) เวลา หายใจเข้า เข้าไปถึงไหน ก็ให้ตามรู้
อย่าให้พลั้ง อย่าให้พลาดได้ เวลาหายใจออกก็เหมือนกัน
หายใจออกไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องตามรู้ ไปทุกระยะ แม้แต่ความสั้น-ยาว
หยาบ-ละเอียด ของลมหายใจ ก็ต้องมีสติ รู้ตามให้ทัน ว่าอาการของลมหายใจ
เป็นอย่างไร เรียกว่า ต้องมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม ไปทุกอาการ
ว่าอย่างนั้นเถอะ

นี่คือ การฝึกเจริญสติ วิธีแรก ซึ่งให้ใช้ฝึก เวลาที่ร่างกายอยู่นิ่งๆ
ไม่ได้เคลื่อนไหว แต่ธรรมชาติของร่างกาย
จะให้มันนิ่งอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป โดยไม่ให้เคลื่อนไหว
ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะธรรมชาติของร่างกาย
ย่อมมีเคลื่อนไหวบ้าง อยู่นิ่งบ้าง แล้วถ้าเวลาร่างกายเคลื่อนไหวล่ะ
เราจะเจริญสติ ด้วยวิธีใด ? ก็ให้ฝึกเจริญสติ ด้วยวิธีที่ 2 ซีครับ

วิธีเจริญสติ แบบที่ 2 ก็ คือ สัมปชัญญะปัพพะ คือให้มีสติ
รู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าร่างกาย จะคู้เหยียด เคลื่อนไหว
เหลียวซ้าย แลขวา หรือแม้แต่จะกิน ดื่ม พูด ก็ให้ทำไปด้วยความรู้ตัว
อย่าปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหว โดยไร้สติ หมายความว่า ให้มีสติ
คอยกำกับการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ นี่เป็นวิธีการฝึก
ในขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว การฝึกเจริญสติทั้ง 2 แบบ นี้
เราสามารถฝึกได้ตลอดเวลา โดยให้ฝึกสลับกัน เพราะตามปกติแล้ว
ร่างกายของคนเรา ก็ต้องมีการเคลื่อนไหวบ้าง เมื่อเคลื่อนไหวมากๆ
มันเกิดเมื่อย ก็ต้องพัก โดยการให้ร่างกายอยู่นิ่งๆ ในเมื่อร่างกาย
มันนิ่งบ้าง เคลื่อนไหวบ้าง อย่างนี้ การที่เราฝึกเจริญสติ
โดยใช้อานาปานปัพพะ ( การมีสติ ตามรู้ตามดูลมหายใจ ) กับ สัมปชัญญะปัพพะ
( การรู้อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ) สลับกันไป จึงเป็นวิธีที่เหมาะสม
สำหรับคนทุกคน

วิธีนี้ สามารถฝึกได้ ตั้งแต่ตื่นนอน ไปจนกระทั่งหลับทีเดียว
ใครที่ไม่เคยฝึก อยากจะให้ลองฝึกดู

ถ้าใครสามารถเจริญสติได้อย่างนี้ ตลอดทั้งวัน ท่านจะมีความรู้สึกว่า
ชีวิตของท่าน มีความสุขมากกว่าแต่ก่อน มีสมาธิ (ความสงบ) มากกว่าแต่ก่อน
อย่างเห็นได้ชัด และสำหรับคนที่มักจะทำอะไร หรือพูดอะไร ผิดพลาด
พลั้งเผลออยู่เรื่อยๆ ถ้าท่านฝึกเจริญสติโดยวิธีนี้ ไปสักระยะ
ท่านจะรู้สึกว่า ความพลั้งเผลอจะน้อยลง และถึงแม้จะมีเผลอบ้าง
แต่ก็จะรู้ตัวได้เร็ว

ฉะนั้น การฝึกเจริญสติ จึงมีอานิสงส์ใหญ่อย่างนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว
การฝึกเจริญสติ ตามแนวของสติปัฏฐานนั้น ไม่จำเพาะว่า คนวันศุกร์
ควรจะฝึกเท่านั้น แม้แต่คนที่เกิดวันอื่นๆ ก็ควรฝึกเช่นกัน เพราะ สติ
(ความระลึกได้) และสัมปชัญญะ (ความ รู้ตัว) เป็นธรรมะ ที่มีอุปการะมาก
และเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ทั้งในระดับต้น จนระดับสูง การที่ใครก็ตาม
รักษาสติอยู่ได้ตลอดเวลา ผู้นั้นได้ชื่อว่า ตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรม
คือความไม่ประมาท และความไม่ประมาทนี่แหละ พระพุทธเจ้าเปรียบว่า
เหมือนกับรอยเท้าช้าง ทำไม ท่านจึงเปรียบความไม่ประมาท
เหมือนกับรอยเท้าช้าง ? ก็เพราะว่า รอยเท้าช้าง เป็นรอยเท้าที่ใหญ่
สามารถเป็นที่รองรับรอยเท้าของสัตว์อื่นๆ ได้ทั้งสิ้น

อัปปมาทธรรม คือความไม่ประมาท (การมีสติรักษาใจอยู่ตลอดเวลา)
ก็ย่อมเป็นที่รองรับคุณธรรมอื่นๆ อีกมากมาย สุดที่จะคณานับเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การเจริญสติ จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่
และเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในพระพุทธ-ศาสนา ซึ่งเราไม่ควรจะละเลย
ไม่ว่าจะเกิดวันไหนๆ ก็ควรจะได้ฝึกเจริญสติทั้งนั้น ฝึกเจริญแล้ว
ประโยชน์ ก็เกิดแก่ผู้ปฏิบัติเองนั่นแหละ หาได้เกิดกับใครไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น