++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองและการทูต

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน


นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทางวิทยุโทรทัศน์ในรายการสัมภาษณ์กับนาย
สุทธิชัย หยุ่น ในวาระที่มาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอาเซียน
+ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เมื่อเร็วๆ นี้
การแสดงความคิดเห็นของนางฮิลลารี คลินตัน
สะท้อนถึงการเข้าใจสภาวการณ์ทางการเมืองไทย
การกล่าวชมการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทยแม้จะเผ็ดบ้าง
เหมือนอาหารไทยก็ตาม ทำให้เกิดความชื่นชมยินดีในหมู่คนจำนวนไม่น้อย

นอกจากนั้นนางฮิลลารี คลินตัน ยังมีมุกตลกเกี่ยวกับสังคมไทย
เป็นต้นว่า ได้มีการพูดว่ามีเสื้อผ้าบางสีที่ไม่ควรใส่อันหมายถึงสีเหลืองและสีแดง
ขณะเดียวกันเมื่อมีการถามถึงการบริหารของจอร์จ บุช นางฮิลลารี คลินตัน
ก็กล่าวทันทีว่าไม่ต้องการพูดถึงเรื่องในอดีต
และเมื่อมีการเอ่ยถึงคุกไทยที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทรมานนักโทษนั้น
นางฮิลลารี คลินตัน ก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอันใด

จากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยและเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบ
ประชาธิปไตย รวมทั้งความรู้เรื่องการขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้นั้น
สะท้อนให้เห็นถึงการมีข่าวสารข้อมูลหรือได้รับการชี้แจงสรุปจากเจ้าหน้าที่
ของสถานทูตเป็นอย่างดี
นอกเหนือจากนี้การวางตัวเป็นกันเองและเป็นมิตรในระหว่างการสัมภาษณ์นั้น
ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าสตรีชาวอเมริกันผู้นี้ซึ่งเกือบจะเป็นผู้สมัครรับ
เลือกตั้งแข่งขันเป็นประธานาธิบดี
น่าจะมีอนาคตทางการเมืองที่ยาวนานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม
ความน่าชื่นชมดังกล่าวมานั้นก็ถูกบั่นทอนลงโดยการแสดงความคิดเห็นและการ
วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเมียนมาร์ เกาหลีเหนือ และอิหร่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงจุดยืนบางอย่างของสหรัฐอเมริกา
และยังตามมาด้วยการชี้แนะชี้นำประเทศในกลุ่มอาเซียนให้กระทำการบางอย่าง
ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศสหรัฐฯ
ไม่ระมัดระวังในเรื่องความละเอียดอ่อนทางการเมืองและการทูต

ในกรณีเมียนมาร์นั้น ถึงแม้ความต้องการของสหรัฐฯ
ที่จะส่งเสริมการให้สิทธิเสรีภาพและการพัฒนาประชาธิปไตย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลพม่ากระทำต่อนางอองซาน
ซูจี ซึ่งก็มีเหตุผลในตัวของมันเอง แต่การที่นางฮิลลารี คลินตัน
ชี้แนะชี้นำต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนว่าน่าจะมีการพิจารณาสมาชิกภาพของเมีย
นมาร์ หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ
พิจารณาถึงการขับเมียนมาร์ออกจากองค์กรอาเซียน

อาเซียนเป็นความร่วมมือส่วนภูมิภาค มีประวัติอันยาวนาน
ในการประชุมที่ภูเก็ตก็มี 3 ประเทศร่วมประชุมด้วย ซึ่งได้แก่ จีน ญี่ปุ่น
และสาธารณรัฐเกาหลี อาเซียนมาประชุมเพื่อร่วมมือกันในหลายๆ เรื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้กับไข้หวัด 2009
การเข้าไปก้าวก่ายกับสมาชิกภาพของประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นเรื่องที่ไม่งาม
อาเซียนย่อมมีวุฒิภาวะสามารถตัดสินและวินิจฉัยสถานการณ์และกรณีดังกล่าวได้
เอง

ข้อสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ก็คือการคว่ำบาตรให้เมียนมาร์ออกจากอาเซียนยิ่งจะ
ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ในส่วนนี้นางฮิลลารี คลินตัน
ในฐานะตัวแทนของสหรัฐฯ น่าจะคิดให้รอบคอบและใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง
ที่สำคัญน่าจะแสดงการให้เกียรติต่อความเป็นอิสระของประเทศในกลุ่มองค์กรอา
เซียน

ขณะเดียวกันจีนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมียนมาร์
พร้อมๆ กับการมีพรมแดนติดเกาหลีเหนือ
การพูดจาอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเกาหลีเหนือซึ่งจะกล่าวต่อไป
ย่อมจะสร้างความไม่สบายใจแก่จีน ส่วนกรณีของอาเซียนนั้น
การแสดงความเห็นเช่นนั้นนำไปสู่ความกระอักกระอ่วนใจ
ในกรณีของอิหร่านนางฮิลลารี คลินตัน
ก็ใช้โอกาสดังกล่าวแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ออกมา
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่ในกรณีของเกาหลีเหนือนั้นมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงซึ่งมีลักษณะเป็นการ
ยื่นคำขาดกลายๆ การแสดงทีท่าที่แข็งกร้าวเช่นนี้ย่อมเสี่ยงต่อการมีปฏิกิริยาตอบโต้
และทำให้กระบวนการเจรจาเพื่อจะยุติการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ถูกกระทบได้
และผลก็ออกมาเช่นนั้นจริงๆ
ทางเกาหลีเหนือตอบโต้ด้วยภาษาที่ดุเดือดเผ็ดร้อน
และในบางส่วนก็เป็นการดูถูกดูแคลนซึ่งมักจะไม่ทำกันในวงการทูต
หรือในวงการเมืองระหว่างที่มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติในประเด็นความขัดแย้ง

การขาดความสนใจต่อความละเอียดอ่อนทางการเมืองและการทูตของรัฐมนตรีกระทรวง
การต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งนี้
ได้สร้างความเสียหายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ต่อเมียนมาร์และเกาหลีเหนืออย่างเห็นได้ชัดที่สุด

นางฮิลลารี คลินตัน ได้กล่าวว่าสหรัฐฯ
จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งในเอเชีย
ซึ่งหมายความว่าจะไม่ปล่อยมหาอำนาจอื่น เช่น จีน อินเดีย
หรือแม้รัสเซียผูกขาดในความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้าต่อไป
แต่สิ่งซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาคือ
ถ้าหากการเริ่มต้นการกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ
เริ่มต้นด้วยการขยายความขัดแย้งทางการเมือง
จนอาจจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเกาหลีเหนือซึ่งอาจจะสร้างความตึงเครียดในคาบ
สมุทรเกาหลีหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม
หรือในกรณีของเมียนมาร์ซึ่งอาจจะทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนถูกกระทบ
ได้ บทบาทของสหรัฐฯ จะกลายเป็นบทบาทในทางลบมากกว่าบวก
ขณะเดียวกันความพยายามของประเทศต่างๆ
ในอาเซียนที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในเมียนมาร์ชะงักงันลงได้ถ้าเมีย
นมาร์ออกจากอาเซียน

คำถามก็คือ ถ้าการกลับมาสู่เอเชียของสหรัฐฯ
เริ่มต้นด้วยความขัดแย้งหรือด้วยการสร้างความขัดแย้ง
หรือขยายความขัดแย้งให้มีขอบข่ายกว้างขึ้น
จะเกิดประโยชน์อันใดกับภูมิภาคเอเชีย
เพราะในขณะนี้ต่างก็เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งสหรัฐฯ
มีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจและการ
บริหารที่ล้มเหลวผิดพลาด
การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอยู่บนฐานของการมีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศและ
ภายในภูมิภาค การให้สัมภาษณ์และการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ
ที่เพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งในทางการเมืองของภูมิภาคนั้น
เป็นการดำเนินการที่สวนทางกับสิ่งที่พึงประสงค์และถือได้ว่าล้มเหลวโดยสิ้น
เชิง

ความประทับใจที่มีต่อนางฮิลลารี คลินตัน
จากบุคลิกภาพและการพูดจาที่เป็นมิตร
กลับถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดายจากการไม่ให้น้ำหนักกับความละเอียดอ่อนทางการ
เมืองและทางการทูต รัฐบาลสหรัฐฯ
อาจต้องทบทวนท่าทีที่แข็งกร้าวที่เคยแสดงมาเยี่ยงนี้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

สิ่ง ที่น่าจะตระหนักก็คือ ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง
มหาอำนาจอื่นๆ กำลังผงาดขึ้นมาและมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ
ทีท่าที่มีความเชื่อมั่นถึงอำนาจทางทหารและทางเศรษฐกิจ
จนอาจทำให้หลายประเทศรู้สึกว่ากระเดียดไปในทางแสดงออกถึงความอหังการแห่ง
อำนาจ (arrogance of power) ซึ่งอาจจะส่งผลในทางลบต่อรัฐบาลสหรัฐฯ
อย่างน่าเสียดายยิ่ง

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085832

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น