++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

จีนและระเบียบโลกใหม่

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน


สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังมีส่วนอย่างมากในการจัดระเบียบโลกใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
วิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
มีส่วนผลักดันให้บทบาทของจีนในเวทีสังคมนานาชาติ
ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองโดดเด่นและสูงขึ้น
ในขณะเดียวกันบทบาทที่โดดเด่นของสหรัฐฯ
ในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกก็อาจจะมีการแปรเปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
จีนเพิ่งเปิดประตูประเทศด้วยนโยบายสี่ทันสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง
คือการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการป้องกันประเทศ
หลังจากที่จีนหันไปใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยมีระบบตลาดเป็นกลไก
รัฐก็ยังคุมรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ดูแลและสอดส่องการประกอบธุรกิจของเอกชน
การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการเงินการคลัง
โดยไม่ปล่อยให้หลุดลอยไปอย่างอิสรเสรีไร้การควบคุม ไร้ทิศทางเหมือนสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นศึกษาหาความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาการจากประเทศ
ตะวันตกอันได้แก่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในการผลิต การจัดการ
และการบริหารผสมผสานกับความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของจีน
จนสามารถถีบตัวขึ้นมากลายเป็นเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก

ในขณะเดียวกัน
ทางการเมืองจีนก็ให้เสรีภาพกับประชาชนในการดำรงชีวิต
แต่ก็ไม่ไปไกลถึงกับให้เสรีภาพทางการเมืองแบบระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก
มีการเลือกตั้งผู้นำหมู่บ้านแต่ไม่มีการเลือกตั้งในระดับชาติ
มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระแต่จะกระทบกระทั่งหลักการสังคมนิยม
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้
ระบบเศรษฐกิจแบบจีนและระบบการเมืองแบบจีนเริ่มมีการกล่าวถึงโดยนักวิชาการ
เพราะเป็นระบบที่สร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพและการควบคุมของรัฐ
โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมคอยสร้างกรอบและกำหนดทิศทาง
แต่ไม่ตึงเหมือนในสมัยเหมา เจ๋อตุง

ผลที่ตามมาคือ
การที่จีนประสบความสำเร็จโดยมีเสถียรภาพทางการเมือง
และมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีอัตราความจำเริญอย่างต่อเนื่องในระดับสูง
อันมาจากนโยบายที่ชาญฉลาดผสมผสานกับข้อเท็จจริงที่ว่าจีนมีตลาดภายในใหญ่
มหึมา มีประชากรถึง 1,300 ล้านคน และต้องตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
จีนนั้นเป็นหนึ่งประเทศใน 200 กว่าประเทศของโลกตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ซึ่งมีการนับหน่วยของรัฐชาติเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง
ในทางเศรษฐกิจต้องถือว่าจีนคือจักรวรรดิที่ประกอบด้วย 30 กว่าประเทศ
มณฑลเสฉวนมณฑลเดียวมีประชากร 100 ล้านคน ใหญ่กว่าประเทศเวียดนาม
มณฑลกวางตุ้งมีประชากร 80 ล้านคน ใหญ่กว่าประเทศไทย
เมืองฉงชิ่งหรือจุงกิงเมืองเดียว มีประชากร 30 ล้านคน

นี่คือข้อเท็จจริงที่มองข้ามไม่ได้
ตลาดภายในอย่างเดียวก็สามารถจะนำไปสู่การกระตุ้นความเจริญได้
เหตุนี้จึงทำให้จีนพึ่งพาต่างประเทศเพียง 30 ใน 100
ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวถึง 70%
ของรายได้ จากประเทศที่มีฐานะยากจน ล้าหลัง
จีนได้พัฒนามาจนกลายเป็นประเทศที่สามารถเสนอการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของ
ประเทศอื่นแม้กระทั่งของสหรัฐฯ
และเป็นประเทศที่มีเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล

เมื่อสภาวะเปลี่ยนไปเช่นนี้
จีนเริ่มประกาศให้โลกรู้ว่าระเบียบโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นเสาหลัก
มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นรูปแบบ
คงไม่ใช่ข้อเสนอที่ทุกประเทศต้องนำไปใช้แบบลอกแบบทั้งดุ้นอีกต่อไป
จีนอ้างว่าระบบการปกครองของตนก็เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยรูปแบบ
หนึ่ง และเศรษฐกิจแบบจีนเป็นเศรษฐกิจที่มีภูมิป้องกันตัวเองได้ดีกว่าทุนนิยมแบบ
ปล่อยลอยไร้ทิศทาง
จีนเริ่มเรียกร้องให้เงินหยวนของจีนเป็นเงินสกุลแข็งอยู่ในระดับเดียวกับดอลลาร์
ปอนด์ ยูโร ฯลฯ

คำถามก็คือ ระเบียบโลกเดิมที่จีนและประเทศต่างๆ
จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกโดยที่ไม่มีทางเลือก
เป็นระเบียบโลกที่พึงประสงค์มากน้อยเพียงใด ในเบื้องแรก คำว่าการค้าเสรี
(Free Trade) จะเป็นการค้าที่ยุติธรรม (Fair Trade) ได้หรือไม่
ระหว่างประเทศที่ระดับการพัฒนาไม่เท่ากันเนื่องจากระดับการพัฒนาทางวิทยา
ศาสตร์และเทคโนโลยี
ในกรณีที่ประเทศยากจนและล้าหลังค้าขายในระดับที่เท่าเทียมกันกับประเทศที่
พัฒนาแล้ว ความได้เปรียบในดุลการค้าและดุลชำระเงินย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย
และถึงแม้จะมีการชดเชยด้วยมาตรการใดก็ตามก็คงไม่สามารถจะทำให้เกิดความ
ยุติธรรมได้

นอกเหนือจากนั้นการมีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตรก็ดี ลิขสิทธิ์ก็ดี
รวมตลอดทั้งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ก็ดี
ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะถกเถียงได้
แต่สิ่งนี้ก็นำไปสู่การผูกขาดในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงโดยประเทศ
ที่พัฒนาแล้ว และในความเป็นจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐฯ
เป็นประเทศสุดท้ายที่เข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญากรุงเบิร์น (Bern Convention)
เกี่ยวกับสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์

ขณะที่มีการพูดถึงการรักษาสภาพแวดล้อมการป้องกันปัญหาโลกร้อน
สหรัฐฯ เองก็ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงเกียวโต (Kyoto Protocol)
และในขณะที่มีการกล่าวถึงบรรษัทภิบาล (Corporate Governance)
ซึ่งจะต้องมีหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างยุติธรรม
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจนี้
ก็เนื่องจากการขาดความโปร่งใสในกรณีของซับไพรม์
การขาดบรรษัทภิบาลของผู้บริหารบรรษัทใหญ่ๆ
ด้วยการตั้งเงินเดือนตัวเองและแจกรางวัลประจำปีด้วยอัตราที่สูงลิ่ว
รวมทั้งบริหารธุรกิจอย่างหละหลวมถึงขั้นล้มละลาย

ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ เองภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา
ก็ใช้ภาษีของประชาชนอเมริกันเข้าไปอุ้มบรรษัทใหญ่ๆ เอาไว้
เพราะถ้าบรรษัทเหล่านั้นล้มละลายจะส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจทั้งมวล
มาตรการดังกล่าวนี้สหรัฐฯ เคยเสนอแนะไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนานำไปปฏิบัติ
หลักการคือว่า บรรษัท บริษัทที่อ่อนแอบริหารผิดพลาดต้องให้ล้มไปเอง
แต่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ
ทำอยู่ขณะนี้ขัดต่อหลักการที่ตนประกาศไว้ต่อสังคมนานาชาติ
การอุ้มชูและค้ำจุนบริษัทที่มีหนี้เสียโดยรัฐบาลได้เกิดขึ้นแม้ในสมัยรัฐบาล
บิล คลินตัน ที่ประคับประคองบรรษัทการเงินที่เสียหายจากการโจมตีเงินตราต่างประเทศของ
ประเทศอื่นเพื่อไม่ให้บรรษัทการเงินเหล่านั้นล้มละลาย

การปฏิบัติการสองมาตรฐานนี้จะดูเป็นอื่นไม่ได้นอกจากจะพูดตามแบบภาษาอังกฤษ
ที่ว่า He did not practice what he preached
คือบาทหลวงที่เทศนาให้คนอยู่ในกรอบศีลธรรมและจรรยาบรรณ
กลายเป็นผู้ที่ไม่ปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนเองเทศน์ออกไป

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมจะส่งผลต่อระเบียบโลกในอนาคต
แม้สหรัฐฯ ยังจะเป็นมหาอำนาจที่สำคัญของโลกอยู่
และสหภาพยุโรปก็คงเป็นเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้

แต่บทบาทในทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีน อินเดีย และรัสเซีย
คงต้องจัดเข้าอยู่ในสมการในเวทีการเจรจาการเมืองระหว่างประเทศ
และข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้า สหรัฐฯ
คงไม่สามารถจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของโลกโดยผู้เดียวได้อีกต่อไป
เงินเหรียญสหรัฐ
ซึ่งเป็นเงินสกุลที่สำคัญที่สุดสกุลหนึ่งก็น่าจะเปิดให้เงินสกุลหยวนเข้ามา
มีบทบาทมากขึ้น หรือในอนาคตอาจจะมีเงินสกุลของอาเซียนเกิดขึ้นด้วย

ยุคแห่งสหรัฐฯ ที่เป็นเสาหลักเสาเดียวหลังสงครามเย็น
หรือหนึ่งในสองเสาหลักคู่กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นคงต้องแปรเปลี่ยนไป
เสาหลักของโลกและภูมิภาคน่าจะกระจายไปทั่ว นอกจากจีน อินเดีย รัสเซีย
และญี่ปุ่นแล้ว บราซิล อินโดนีเซีย เกาหลีใต้
และประเทศที่มีศักยภาพอื่นกำลังเปิดประตูมาสู่สังคมนานาชาติโดยมีบทบาทมาก
ขึ้น

และในยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วนี้
ไม่มีใครสามารถจะห้ามการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของประเทศที่มีทุนเดิมในทาง
วัฒนธรรมและความรู้ได้ กรณีของจีนสามารถทำสำเร็จได้ภายในสองทศวรรษ
กรณีของบราซิลก็น่าจะทำให้สำเร็จได้ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันหรือนานกว่า
เล็กน้อย เกาหลีใต้ซึ่งเคยยากจนกว่าญี่ปุ่นมาก
มาบัดนี้สามารถจะผลิตสินค้าทางเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งรถยนต์ที่กำลังท้าทายคู่แข่งที่เป็นศัตรูเก่าของตนคือญี่ปุ่น
ไม่นานนักตลาดรถยนต์ก็คงจะดาษดื่นไปด้วยรถยนต์ของอินเดียและรถยนต์จากจีน
รวมทั้งรถยนต์จากมาเลเซีย

โลกา ภิวัตน์เป็นยุคของโลกแบน นั่นคือ
ความเสมอภาคแห่งโอกาสของการพัฒนาเหมือนสนามฟุตบอล ทุกคนยืนเท่าๆ กันหมด
การพัฒนาในสองทศวรรษหน้านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าติดตาม

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000050722

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น