++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นโยบายเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองไทยควรทำ


1. นโยบาย สร้างรถรางไฟฟ้าเขตเมืองทุกจังหวัด ประหยัดเงินประชาชน ประหยัดพลังงาน

ทำไม คนเมืองและคนชั้นกลางใช้พลังงานน้ำมันมาก ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนทุกครอบครัวขับรถยนต์ส่งลูกไปโรงเรียน และขับรถยนต์ไปทำงาน

ทำอย่างไร ดูรถไฟเสาเหล็กเดี่ยวขนาดเล็กเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลียเป็นต้นแบบ ลงทุนไม่มาก และเป็นระบบที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นได้อย่างดี

แหล่งทุน รัฐบาลให้เทศบาลร่วมทุนกับเอกชนและระดมทุนจากประชาชนซื้อหุ้นพันธบัตรร่วมลงทุน รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณ และกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

ผลดี ประโยชน์มาก ประหยัดพลังงานในระยาว เพิ่มทางเลือกให้คนเมืองลดการขับรถยนต์ไปทำงาน ส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในระดับจังหวัด

2. นโยบาย สร้างระบบคลังสินค้าเกษตรชุมชน สร้างวิสาหกิจชุมชนให้ดูแลจัดการ รัฐจัดระบบประกันราคาพืชผลผ่านวิสาหกิจชุมชน

ทำไม ผลผลิตจากภาคเกษตร ขาดหลักประกัน ราคาตกต่ำ ไม่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้

ทำอย่างไร ส่งเสริมให้ประชาชนชนบทระดมทุนร่วมหุ้นกับภาครัฐ ร่วมจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนรายอำเภอ เพื่อเก็บรักษาผลผลิต (กันข้าวหายด้วย) วิสาหกิจนี้ปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับการผลิตของแต่ละท้องถิ่น อาจแบ่งรายผลิตภัณฑ์ก็ได้ มีกิจกรรมตั้งแต่การส่งเสริมและวางแผนการผลิต การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การสร้างโกดังเก็บรักษา การบรรจุภัณฑ์ การตลาด การส่งออก ต้องทำให้วิสาหกิจระดับอำเภอเป็นหน่วยการส่งออกให้ได้ วิสาหกิจนี้อาจปรับปรุงจากระบบสหกรณ์ที่มีอยู่เดิม และใช้การจัดการสมัยใหม่เข้าดำเนินการ ใช้ตลาดทุนท้องถิ่นและทุนภายนอกมาร่วมลงทุนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ทำให้วิสาหกิจระดับอำเภอรวมเป็นวิสาหกิจระดับจังหวัด ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

แหล่งทุน รัฐบาลปรับปรุงระบบสหกรณ์เดิม ให้สหกรณ์การเกษตรเป็นหน่วยการลงทุน แหล่งระดมทุนจากเอกชนและประชาชน ใช้มาตรการด้านภาษีเป็นแรงจูงในส่งเสริมการลงทุน

ผลดี สร้างหน่วยการลงทุนใกล้บ้านให้ประชาชน เป็นหน่วยการระดมทุนในท้องถิ่นและสร้างตลาดแรงงานแก่ผู้จบการศึกษาในท้องถิ่น ให้นักศึกษาไม่ต้องไปหางานที่กรุงเทพหรือแหล่งอุตสาหกรรมไกลบ้าน

3. นโยบาย รื้อฟื้นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจรายสาขารายภูมิภาค เชื่อมโยงอนุภูมิภาค

ทำไม รายภูมิภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ มีโครงสร้างการผลิตและทรัพยากรต่างกัน มีจุดแข็งต่างกัน และทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศมั่นคงในระยะยาว

ทำอย่างไร ส่งเสริมการลงทุนรายสาขาให้เหมาะสมกับโครงสร้างการผลิตรายภูมิภาค เหนือและอีสาน เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมพื้นฐานและขนาดกลาง ปรับปรุงระบบตลาดและโลกิสติกส์ เชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคสู่จีน และเวียดนาม

อีสาน จับสินค้าอ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง สร้างฐานการผลิตแก๊สโซฮอลล์ในภาคอีสาน สู่การผลิตแก๊สโซฮอลล์เพื่อการส่งออก สร้างอีสานให้เป็นฐานการลงทุนเชื่อมโยงกับตลาดอินโดจีน เชื่อมโยงลาว เขมร เวียดนาม สร้างฐานและแบรนด์ข้าวหอมมะลิเน้นเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ ส่งออกอย่างจริงจัง สร้างแผนการตลาดสาธิตการบริโภคต่างประเทศรองรับข้าวหอมมะลิ สร้างแผนงานและโครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงอีสาน ลาว เขมร เวียดนาม ในลักษณะกลุ่มคลัสเตอร์ทัวร์ทางวัฒนธรรมแม่นำโขง โดยมีจุดขายแม่น้ำโขง เชื่อมภูมิภาคด้วยโครงข่ายทางถนนอิสต์เวสต์ที่เพิ่งสร้างเสร็จ และริเริ่มสร้างรถไฟรางคู่ร่วมทุนระหว่างประเทศจากอีสานสู่เวียดนามผ่านลาวแบบ Europass เปิดสินค้าการศึกษาโดยให้สถาบันการศึกษาอีสานเป็นที่รองรับนักศึกษาอินโดจีน เน้นรูปแบบ Study and Home หนุนเอกชนสร้างผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งเชื่อมโยงอีสาน ลาว และดานัง เพื่อตลาดญี่ปุ่น จีน เกาหลี

เหนือ ตอนล่างแหล่งผลิตข้าว เหนือตอนบนแหล่งผลิตพืชผัก ผลไม้ และสินค้าบริการ การท่องเที่ยว พัฒนาเปิดให้ภาคเหนือตอนล่างและกลางตอนบนให้เป็นตลาดข้าวอ้างอิงของโลก ส่งเสริมการสร้างวิสาหกิจร่วมทุนขนาดใหญ่เปิดตลาดค้าข้าวระดับโลกในภูมิภาคแห่งนี้ เปิดการเจรจาค้าข้าวล่วงหน้าต่างประเทศคล้ายน้ำมัน ใช้ตลาดข้าวเป็นจุดดึงดูดชาวโลก ฟื้นประเพณีชาวนาดั้งเดิมให้พ่อค้าและนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าชมดูนาข้าวและซื้อข้าวในตลาดข้าวระดับโลก สร้างรถไฟรางคู่ความเร็วสูงร่วมทุนระหว่างประเทศจากจุดนี้ สู่เหนือตอนบน ภาคนี้เน้นเปิดกลไกตลาดไทยในจีนต่อยอด FTA ที่ทำอยู่แล้ว ส่งเสริมให้เอกชนไทย-จีนเปิดตลาดไทยในจีนตอนล่าง เพื่อรองรับผลผลิตจากภาคเหนือของไทย และรองรับตลาดการท่องเที่ยวชาวจีน ต่อรถไฟรางคู่ความเร็วสูงสู่ตอนใต้ของจีน เพื่อขนถ่ายสินค้าและการท่องเที่ยวสู่ภาคเหนือตอนบน จัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ เชียงราย เชื่อมโยงภาคใต้จีน สนับสนุนเอกชนไทยเหนือร่วมจีน สร้างฐานการผลิตเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก ลำไย เน้นสร้างแบรนด์สินค้าทางภูมิศาสตร์ และสร้างแบรนด์เชียงใหม่-เชียงราย เป็น World Holiday and Conference Destination ส่งเสริมและสร้างการแบรนด์ท่องเที่ยวแบบ Healthy Home Healthy Life แบบ Long Stay ดูแลสุขภาพครบวงจรแก่ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น

ภาคตะวันออก เน้นสร้างอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องและพลาสติกเกรดสูงเพื่อการส่งออก ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมเปิดตลาดฐานการผลิตสินค้าไฮเทคโนโลยี เปิดนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคให้นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะเกาหลีเพื่อเป็นฐานการส่งออกในอาเซียน ปั้นมังคุดและเงาะสู่แบรนด์ภูมิศาสตร์ตลาดโลก เปิดตลาดผลไม้ที่ออสเตรเลียต่อยอด FTA ใช้ฐานภาคตะวันออกเป็นจุดเชื่อม รวมทั้งปั้นเมืองจันทบุรีเป็นตลาดอ้างอิงอัญมณีโลก พร้อมเที่ยวพัทยาและเกาะช้างเมืองตลาด

ภาคใต้ เปิดภาคใต้ให้เชื่อมโยงกับอาเซียนตอนล่างให้ชัดเจน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ปั้นให้สงขลาเป็นตลาดอ้างอิงยางพาราโลก สนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารทะเลและห้องเย็นเพื่อการส่งออกเน้นตลาดตะวันออกกลางและอินเดีย เชื่อมโยงเที่ยวบินภาคใต้กับอินเดียและตะวันออกกลาง สร้างท่าเรือน้ำลึกขนถ่ายสินค้ายางพาราและอาหารทะเล เพิ่มมูลค่าภูเก็ต กระบี่ ขายวิถีชีวิตอันดามัน เน้นแบบครอบครัวชวนเที่ยว สนับสนุนและสร้างแบรนด์เกาะ Organic Island and Resort เกาะในฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเอกชนบางรายทำอยู่แล้ว เป็นทางเลือกแก่ชาวต่างประเทศ สร้างรถไฟรางคู่ความเร็วสูงจากกรุงเทพสู่ภาคใต้ร่วมทุนเอกชน

แหล่งทุนและแนวทาง ปรับระบบตลาดทุนใหม่ให้ภาคเกชนท้องถิ่นร่วมลงทุนกับองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศได้ ปรับหอการค้าจังหวัดให้เป็นหน่วยระดมทุนและเปลี่ยนตลาดการลงทุน ปรับเปลี่ยนพาณิชย์จังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นหน่วยงานวิสาหกิจร่วมหอการค้าจังหวัดและภาคเอกชน ทำธุรกรรมกับต่างประเทศได้โดยตรง เพื่อระดมทุนตามแผนการการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระดับภูมภาคและอนุภูมิภาค รัฐสร้างมาตรการภาษีโดยการสร้างแรงจูงใจปลอดภาษีหรือเก็บภาษีอุตราถูกโดยกำหนดระยะเวลา รัฐไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณ (เพราะไม่มีอยู่แล้ว เหลือ ไม่ถึง 10%) แต่สร้างกลไกให้เอื้อต่อการระดมทุนอย่างจริงจังในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค เป็นการระดมเงินจากประชาชนทุกครัวเรือน (เพราะดอกเบี้ยน้อย) มาลงทุนร่วมกับกลุ่มธุรกิจระดับชาติและนานาชาติ สร้างกลไกการตลาดโดยสร้าง Thai Brand Market Outlets ในประเทศที่ทำ FTA แล้ว และตลาดที่มีศักยภาพใหม่ คือ แอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง เพื่อรองรับสินค้าและบริการจากประเทศไทย เชื่อมโยงกับภายในประเทศ ปั้นหนุนยักษ์ใหญ่ ซีพี ซีเมนต์ไทย อมต ปตท. และบ้านปู เป็นไทยแบรนด์ลักษณะหัวจรวดสู่ตลาดโลก เพื่อฉุดกลุ่มธุรกิจอื่นสู่ต่างชาติ เฉกเช่น บริษัทแบรนด์ใหญ่ญี่ปุ่นและเกาหลีทำ

สรุป การพัฒนาเศรษฐกิจชาติไม่จำเป็นต้องมีเงินมากเสมอไป แต่ต้องการความรู้และสมอง สามารถสร้างงานและเงินแก่ครอบครัวไทย และมีเงินเข้าประเทศ จะสามารถทำรัฐสวัสดิการได้ (ที่นักการเมืองทุกพรรคประเด ประดังจะใช้เงิน เพื่อ เรียนฟรี รักษาฟรี น้ำมันราคาถูก ฯลฯ) ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องปฏิรูปปรับโครงสร้างและกลไกเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผมเขียนมานี้ผมดูจากการพัฒนาชาติของญี่ปุ่น เกาหลี และอเมริกา มีการกระจายโครงสร้างเศรษฐกิจครอบคลุมทุกภูมิภาคประเทศของเขา ต่างจากเราที่กระจุกแค่กรุงเทพ พอน้ำจะท่วมที จะเป็นจะตายกันทั้งประเทศ ตัวกรุงเทพลำบาก และกลัวประเทศไทยจะพัง เพราะกรุงเทพเป็นคำตอบเดียวและคำตอบสุดท้าย ภาคอื่นไม่มีความหมาย เพราะประเทศเรามิได้ปรับโครงสร้างฐานเศรษฐกิจอย่างจริงจัง พรรคการเมืองใดสนใจข้อเสนอนี้สามารถนำไปพิจารณาได้เลยไม่คิดเงินและลิขสิทธิ์

ยรรยงค์ อินทร์ม่วง

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

1 ความคิดเห็น: