++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ทำไงให้อ่อนโยน....โดย นิ้วกลม

อ่อนโยนให้เป็น

ทำไงให้อ่อนโยน....โดย นิ้วกลม

“พี่เคยเขียนถึงหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ใช่ไหม
มันอยู่ตรงไหนอะ หาไม่เจอ”
“อ๋อ มันอยู่ใน bloggang”
“ถามต่ออีกหน่อย พี่ชอบคนไหนในเรื่อง”
“เราชอบปู่ แล้วบีมชอบคนไหน”
“ชอบแม่”
“อ๋อ อืม ชอบเหมือนกัน”
“หากเป็นได้สักครึ่งแบบนั้นคงจะดี”
“อืม…”
“ทำไงถึงจะเป็นคนอ่อนโยนอะ?”


นั่นคือที่มาของบล็อกในวันนี้ครับ
ผมว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก
น่าสนใจเพราะ
หนึ่ง, ความอ่อนโยนนี่มัน “ทำ” กันได้ด้วยหรือ?
สอง, สมมุติว่าทำได้ นั่นสินะ ทำยังไงล่ะ?


ชั่วความคิดแรก ผมตอบน้องไปว่า
“อย่างแรกเลย คงต้องให้เวลากับการสังเกตล่ะมั้ง”
แล้วก็ตามด้วยประโยคถัดมาว่า
“คำถามดีจัง ขอเก็บไปตอบในบล็อกนะ”


พี่ๆ เพื่อนๆ ล่ะครับ พอจะทราบไหมว่า
“ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนอ่อนโยน?”
เอาเข้าจริงแล้วผมก็ไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนประเภทนั้น
แม้จะมีบ้างในเวลาอากาศเย็นๆ และไม่มีคนอยู่ใกล้ๆ
แต่บางคำถามที่ไม่คิดว่าน่าจะเป็นคนตอบ แต่ผมก็ชอบเก็บมาคิด
บ่อยครั้งที่ความคิดและความเข้าใจของเราก็เริ่มจากคำถามที่ดี
ผมอยากเข้าใจและอยากหาคำตอบแบบเดียวกับที่บีมอยากหา
ก็เลยลองเก็บมานั่งคิดดู


แม้จะนั่งคิดได้สักพัก ผมก็ยังคงยืนยันคำตอบในความคิดวินาทีแรก
ผมคิดว่า มีหลายวิธีที่จะนำไปสู่การเป็นคนอ่อนโยน
(ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้หมายความว่าความอ่อนโยนเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป)
แต่ผมคิดว่า วิธีการหลักๆ ก็คือ “การให้เวลากับการสังเกต” นั่นเอง

เราสามารถอ่านวรรณกรรมเยาวชนสักสองโหล ดูสารคดีดอกไม้
ชีวิตมด ตัวหนอน ผีเสื้อ ดูหนังที่อ่อนละมุน ฟังเพลงละไม ฯลฯ
สิ่งเหล่านั้นล้วนหล่อหลอมให้เราอ่อนโยนมากขึ้น

แต่หากลองสังเกตให้ดี อาจพบคำตอบคล้ายกันกับผม
ผมว่าความอ่อนโยนเกิดขึ้นจากการใส่ใจ
และการใส่ใจนั้นอาศัยเวลา

คนที่มีเวลาใส่ใจกับสิ่งต่างๆ และผู้คนรอบข้าง
สนใจในรายละเอียด ซึมซับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้าม
คนคนนั้นนับได้ว่าอ่อนโยนไม่ใช่น้อย

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำว่า “sensitive”
เลยหยิบดิกฯ ขึ้นมาเปิด ในนั้นให้ความหมายไทยๆ ว่า
“ความรู้สึกไว” ผมแปลของผมเอาเองว่า “ขยันรู้สึก”

คนที่อ่อนโยนน่าจะมี “ต่อมรับความรู้สึก” โตเต่งกว่าชาวบ้าน
คืออะไรเข้ามาใกล้ๆ ก็รู้สึกรู้สาไปเสียทุกอย่าง
ฝุ่นตกกระทบผิวหนังก็รู้สึกราวกับ
ใครหย่อนลูกเทนนิสลงมาจากตึกสิบชั้น
โอว…นั่นก็ขี้รู้สึกเกินไป!

จะว่าไปแล้ว ต่อมๆ นี้ก็คล้ายต่อมอื่นๆ ในร่างกาย
เราเกิดมา มันมีขนาดที่ติดตัวมาแบบหนึ่ง
แต่พอเราเติบโต มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา
ผมจึงคิดว่า เราสามารถฝึก “ต่อมอ่อนโยน” ได้
หาก “สัมผัส” มันบ่อยเข้า มันจะบวมปูดตึงเต่งมากขึ้นเรื่อยๆ

และ “เวลา” นั่นเองคือคำตอบ
คนคนเดียวกัน ในวันที่มีเวลาว่างกับวันที่ยุ่งหัวฟูก็อ่อนโยนไม่เท่ากัน
หากมีเวลา เราจะใส่ใจสิ่งต่างๆ รอบกายมากขึ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ บางครั้ง เราก็ชินชากับชีวิตที่ไม่ค่อยมีเวลา
และชีวิตที่หมุนไวเหมือนกงล้อของหนูถีบจักร
กระทั่งวันที่มีเวลา เราก็มองข้ามสิ่งต่างๆ ที่น่าใส่ใจไปเสียได้

สำหรับผมแล้ว คนที่อ่อนโยนกับคนที่พยายามทำความเข้าใจ
มักจะเป็นคนเดียวกัน นั่นหมายความว่า เขามีเวลานั่งดู
ให้เวลาทำความเข้าใจ และพยายามมองให้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นอยู่ตรงหน้า
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “ภาพ” ที่เห็น
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “คำพูด” ที่ได้ยิน
สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “สัมผัส” ที่ได้แตะต้อง

นั่นเท่ากับว่า ไม่ “ผิว+เผิน” แต่ “ลึก+ซึ้ง”
คำว่า “ลึกซึ้ง” น่าสนใจ
เคยมีไหม “ตื้นซึ้ง” –ไม่มี!
คนเราจะ “ซึ้ง” ได้ ต้องปล่อยความคิดความรู้สึกด่ำดิ่ง “ลึก” ลงไปเท่านั้น

ชีวิตทุกวันเต็มไปด้วยผิวและเปลือก บางครั้งก็หน้ากาก
หากมีเวลาเราจะได้ปอกเปลือก แง้มผิว ถอดหน้ากากของสิ่งต่างๆ ออก
แล้วเราก็จะเข้าใจ “เบื้องหลัง” มากขึ้น

นั่นคือเหตุผลที่คนอ่อนโยนบางคนน้ำตาไหลเพียงเพราะใบไม้ร่วง!
เพราะในวินาทีนั้น ใบไม้อาจบอกความหมายของชีวิต!
บางครั้งคนเราก็ “บรรลุ” อะไรเล็กๆ จากการใส่ใจอะไรบางอย่าง
จ้องมองอะไรนานๆ แล้วอ่านเจอความหมายที่ซ่อนอยู่ลึกลงไป

นั่นในภาพกว้าง หากกล่าวให้แคบขึ้น ในระดับความสัมพันธ์คนต่อคน
จะว่าไปแล้ว เราต่างมี “ผิว” และ “เปลือก” ด้วยกันทั้งนั้น
หากเราคบกันผิวเผิน พูดคุยด่วนๆ เราก็จะใช้ผิวคุยกับผิว
และเราก็จะรู้จักและเข้าใจกันแบบ “ผิว+ผิว”

แต่หากมีเวลา เช่นกันกับการจ้องมองดอกไม้ใบหญ้า
ในคนหนึ่งคนมีสิ่งที่รอให้ค้นหาและเปิดเผยมันออกมา
มีความหมายลึกๆ มีเนื้อหา มีอดีตและเรื่องราวระหว่างทางที่ผ่านมา
หากใครสักคนมีเวลาเพียงพอที่จะใส่ใจนั่งฟังใครสักคน
ผิวก็จะค่อยๆ ถูกกระเทาะ เปลือกจะค่อยๆ ถูกแกะทิ้งไป
แล้วเราก็จะได้สัมผัส “ข้างใน” กันมากขึ้น
“ข้างใน” ที่ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่แก้ผ้าคุยกัน!

และโดยส่วนใหญ่ เรามักจะรู้สึกดีที่มีคนให้เวลาใส่ใจกับเรามากพอ
มีเวลาทำความรู้จักกันให้ลึกซึ้ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ใครก็ต้องการทั้งนั้น
ใครสักคน (หรือหลายคน) ที่จะได้รู้จักและเข้าใจกันจริงๆ

การให้เวลาใส่ใจและทำความเข้าใจคนอื่นทำให้คนเราอ่อนโยนขึ้น
การได้เรียนรู้ความรู้สึกลึกๆ ที่ละเอียดอ่อนของคนอื่น
ก็ช่วยขัดเกลาความรู้สึกของเราให้ละเอียดขึ้นเช่นกัน
ความรู้สึกของมนุษย์ละเอียดอ่อนจะตายไป

หลายสิ่งที่เราเดินผ่าน หลายคนที่เราไม่ได้นั่งลงคุยด้วยจริงจัง
แท้จริงแล้วล้วนมีสิ่งที่รอให้ค้นหาและค้นพบ กระทั่งช่วยกันค้น
คนที่ขี้รู้สึกจะได้สัมผัสโลกมากกว่าคนอื่น
และโดยมากความรู้สึกที่อ่อนโยนมักจะสวยงาม
มีบ้างที่เศร้า เหงา ซึม แต่นั่นก็สวยงามไปอีกอย่างอยู่ดี

อะไรที่รวดเร็วและแข็งกระด้าง ยากที่จะทำให้รู้สึกดี
ความเนิบช้าและการซึมซับต่างหากล่ะที่นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจ
และความรู้สึกอันลึกซึ้ง

ในหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ตัวละคร “แม่”
มีฤทธิ์เป็น “กลาง” รับฟัง ใส่ใจ และซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของคนอื่น
พยายามยอมรับในสิ่งที่แต่ละคนเป็น และพยายามเป็นตัวประสาน
ทุกคนเข้าด้วยกัน พยายามมองให้เห็นข้างในและเข้าใจทุกคน

พยายาม แต่ใช่ว่าจะสำเร็จ

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มมีคำแนะนำที่ “จับต้องได้” มากขึ้น
เขียนวนเวียนและพูดคุยไปมากับตัวเองมาเสียหลายบรรทัด
สุดท้ายแล้วมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากอ่อนโยนเป็นแบบฝึกหัดง่ายๆ
หากวันนี้มีเวลา ลองจับตาจ้องมองแมลงวันดูสักหน่อย
แล้วลอง “ตกหลุมรักแมลงวัน” ดูสักตัว

แน่นอน มันอาจต้องใช้เวลาพอสมควร

อะไรที่ทำให้คนเราจะตกหลุมรักแมลงวันได้?
และถ้าใครก็ตามที่ตกหลุมรักแมลงวันได้
ผมคิดว่า เขาก็คงอ่อนโยนไม่ใช่น้อย

ว่าแต่ว่า คุณพอจะมีเวลามองหาความงามของแมลงวันไหม?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น