++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นิยัตินิยม



พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า นิยัตินิยม, คติตัวกำหนด (determinism) หมายถึง แนวคิดที่ว่าพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางสังคมเปลี่ยน แปลงไปเพราะมีสิ่งอื่นเป็นตัวกำหนด

เช่น ถ้ามีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด เรียกว่า คติตัวกำหนดทางเทคโนโลยี (technological determinism) ถ้ามีลักษณะทางชีววิทยาหรือทางพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด เรียกว่า คติตัวกำหนดทางชีววิทยา (biological determinism) ถ้ามีเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด เรียกว่า คติตัวกำหนดทางเศรษฐกิจ (economic determinism)

ซึ่งพจนานุกรมฉบับดังกล่าว อธิบายว่า คติตัวกำหนดทางเศรษฐกิจ (economic determinism) หมายถึง แนวคิดที่ว่าปรากฏการณ์ทางสังคม มีรากเหง้าอยู่ที่ความสัมพันธ์ในการผลิต เป็นจุดยืนทางปรัชญาหรือทฤษฎีของสำนักมาร์กซิสต์

ตามทรรศนะของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)ความสัมพันธ์แห่งการผลิตเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบรรดาโครงสร้างส่วนบนตั้งอยู่ เช่น กฎหมายและการเมืองตั้งอยู่ โครงสร้างพื้นฐานนี้ยังเป็นตัวก่อรูปก่อร่างแก่ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชั้นชนขึ้น ผลที่ติดตามมาคือ ทำให้เกิดสำนึกทางสังคมที่สอดคล้องกันตามชั้นชนทางเศรษฐกิจเป็นชั้น ๆ ไป

ดังนั้น มากซ์จึงเขียนไว้ว่า วิถีการผลิตในชีวิตด้านวัตถุเป็นเงื่อนไขแก่กระบวนการชีวิตในด้านสังคม การเมือง และด้านความคิดโดยทั่วไป ข้อเสนอเช่นนี้เป็นที่มาของการถกเถียงเรื่องการกำหนดโดยเศรษฐกิจ หรือน้ำหนักมากน้อยของปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ชีวิตทางสังคม การเมือง และสำนึกทางสังคมของบุคคล ถูกกำหนดจากฐานะของคนคนนั้นในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทรรศนะดังกล่าวท้าทายต่อหลักการแห่งเจตจำนงเสรี และความเป็นตัวเองของบุคคล ดังนั้น จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ในอีกแง่หนึ่ง อาจพิจารณาว่าความสัมพันธ์ในการผลิตเป็นเพียงปัจจัยที่เป็นตัวจำกัดหรือเป็นเพียงเงื่อนไขกว้าง ๆ ในพัฒนาการของโครงสร้างส่วนบน ภายหลังจากมรณกรรมของมากซ์ประเด็นนี้ได้รับการอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมิได้มีผลกำหนดโดยตรงอย่างอัตโนมัติต่อความสัมพันธ์ทางสังคมแต่อย่างใดเพียงแต่มีอิทธิพลอย่างสำคัญ ซึ่งประเด็นสำคัญของข้อถกเถียงคือ เรื่องความคิดและศักยภาพที่ปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นอิสรชนจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เพียงใด.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก/เรียบเรียง
องค์ความรู้ ภาษา วัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น