++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกลียด กลัว และกล้า : ที่มาของการเมืองใหม่

โดย สามารถ มังสัง 12 ตุลาคม 2552 15:46 น.
โดยปกติพรรคการเมืองใหม่มักจะเกิดเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.
และสาเหตุแห่งการเกิดจะเริ่มจากการรวมตัวของอดีต
ส.ส.จากพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อน
โดยร่วมมือกับบรรดานายทุนที่ต้องการเป็นนักธุรกิจการเมือง
เพื่อหวังจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วแสวงหาโอกาสเข้าไปมีอำนาจรัฐด้วยการ
เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในกรณีที่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่น
หรือแม้ไม่มีโอกาสเป็นแกนนำก็ขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ครั้นเข้าไปมีอำนาจรัฐแล้ว
ก็จะใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพรรคพวกในทางมิชอบ
พฤติกรรมการเมืองเยี่ยงนี้ได้เกิดขึ้นและมีอยู่ในวงการเมืองไทยเรื่อยมานับ
ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน
มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนเป็นแกนนำ
และผู้นำของพรรคนั้นมีจริยธรรมและมีความเด็ดขาดในการบริหารมากน้อยแค่ไหน
ถ้าในยุคใดผู้นำโปร่งใสและมีบารมีทางการเมืองสูง เช่น
ในยุคของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
การแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบก็เกิดได้ยาก

ในทางกลับกัน ถ้าผู้นำไม่โปร่งใส
หรือถึงแม้จะมีความโปร่งใสแต่ขาดความเด็ดขาดในการควบคุมพรรคร่วมรัฐบาลที่มี
ความไม่โปร่งใส การแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบก็จะเกิดให้เห็นอย่างดาษดื่น

จริงอยู่ จะมีนักการเมืองส่วนหนึ่งที่มีจริยธรรมและคุณธรรม
ไม่มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกันกับนักธุรกิจการเมือง
แต่ก็มีอยู่ส่วนน้อยไม่มากพอที่จะถ่วงดุลกับนักการเมืองประเภทนักธุรกิจการ
เมือง จึงไม่สามารถทำให้พฤติกรรมขององค์กรของพรรคการเมืองมีความโปร่งใส
และมีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับปรุงคุณภาพของนักการเมืองโดยรวมให้มีการ
เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ยิ่งกว่านี้ นอกจากจะไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแล้ว
พฤติกรรมการแสวงหาของนักธุรกิจการเมืองยังกลายเป็นเหตุให้กองทัพนำไปอ้าง
เพื่อการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีตที่ผ่าน
มา

พฤติกรรมการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบโดยอาศัยอำนาจรัฐ
ปรากฏเด่นชัดให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติ
ศาสตร์การเมืองไทยในยุคของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในช่วง พ.ศ. 2544-2549
ก่อนที่จะถูกกองทัพโค่นล้มเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
และสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลในยุคนั้นมีโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ได้มากที่สุด
น่าจะด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีรัฐบาลพรรคเดียว
และเสียงสนับสนุนในสภาฯ อย่างท่วมท้นถึง 277 เสียงจากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด
400 เสียง คงเหลือเป็นฝ่ายค้านไม่ถึงครึ่ง
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านไม่มีเสียงพอที่จะขอเปิดอภิปรายไม่
ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะได้
จึงทำให้ผู้นำรัฐบาลเหลิงและหลงในอำนาจบริหารประเทศ
ในทำนองเดียวกับเผด็จการในรูปของประชาธิปไตย
หรือเรียกได้ว่าเผด็จการรัฐสภาก็ว่าได้

2. ด้วยเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีเครือข่ายธุรกิจในหลายรูปแบบ
ทั้งโทรคมนาคม เรียลเอสเตท รวมไปถึงธุรกิจปลีกย่อยอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล
เป็นต้น จึงง่ายที่จะแสวงหาประโยชน์ด้วยการออกนโยบายเกื้อหนุนธุรกิจตัวเองให้มี
มูลค่าเพิ่มในรูปของราคาหุ้น และการทำกำไรต่อหน่วยผลิตหน่วยขาย
ทำให้มีเงินมากพอที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการซื้อเสียงเลือกตั้ง

จะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งปลายปี 2550
ที่มีรัฐบาลนอมินีเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแทน
และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในเวลาต่อมาเมื่อมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และมีกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาคัดค้านจนกลายเป็นความแตกแยกจากปัจจัย 2
ประการดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หรือแม้กระทั่งรัฐบาลนอมินี
จึงเป็นที่เกลียดชังของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และจากการต่อต้านของคนกลุ่มนี้
โดยการนำข้อมูลพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส
และมีการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบในหลายๆ รูปแบบ
ทำให้ประชาชนได้รับรู้และออกมาร่วมคัดค้านขับไล่รัฐบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยความเกลียด และต่อมาเมื่อรัฐบาลที่ว่านี้จากไปแล้ว
ก็เกิดความกลัวว่ารัฐบาลที่ว่านี้จะกลับมาอีก โดยอาศัยการเลือกตั้ง
จึงได้ตั้งป้อมต่อสู้โดยใช้ความกล้าหาญต่อสู้กับอำนาจรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จึงมองเห็นในความจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ขึ้นมา

อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุให้ต้องตั้งพรรคการเมือง ก็คือ
พรรคประชาธิปัตย์ที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ
และประชาชนซึ่งต่อต้านอำนาจเก่าฝากความหวังไว้ว่าจะเป็นที่พึ่งทางการเมือง
ได้ กลับทำให้ผิดหวังเมื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับส่วนหนึ่งของการเมืองจากฝ่าย
รัฐบาลเก่า และปล่อยให้ฝ่ายที่เข้ามาร่วมมีบทบาทชี้นำการเมืองจนทำให้ภาวะผู้นำของนาย
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แทบจะไม่เหลือให้หวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้
ทั้งนี้จะเห็นได้จากการอ่อนข้อเรื่องรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน
และเรื่องแต่งตั้ง ผบ.ตร. เป็นต้น

ด้วยเหตุหลายๆ ประการที่ว่ามานี้
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อเป็น
เครื่องมือในการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม

แต่อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า พันธมิตรฯ
ตั้งพรรคแล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ตามที่คาดหวัง
เพียงแค่เป็นการเริ่มต้นของการเมืองในทิศทางที่ควรมีควรเป็นเท่านั้น

ส่วนว่าจะมีอะไรใหม่เหมือนชื่อพรรคหรือไม่
ก็จะคอยดูและคอยช่วยกันประคับประคองให้พรรคนี้ก้าวเดินต่อไปให้ได้
เพราะจะต้องไม่ลืมว่า
องค์กรทุกประเภทรวมทั้งพรรคการเมืองจะต้องเป็นไปตามกฎแห่งการจัดการที่ว่า
"องค์กรเป็นสิ่งมีชีวิต" นั่นคือ เมื่อตั้งขึ้นแล้วจะต้องอยู่รอด
และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป จะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรฯ หรือผู้ที่มิได้เป็นพันธมิตรฯ
แต่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคการเมืองใหม่
จะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันผลักดันให้พรรคนี้อยู่รอดและเติบโต
มิใช่เพื่อผู้ก่อตั้งพรรค แต่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม
โดยยึดหลักที่ว่า

"เกลียด และกลัวสิ่งเดียวกันเป็นเพื่อนกันได้
และเมื่อเป็นเพื่อนกันแล้ว ไม่ควรจะเป็นศัตรูกัน
ด้วยเหตุเพียงรักหรืออยากได้สิ่งเดียวกันแล้วไม่ได้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น