ช่วงเดือนที่
ผ่านมาข่าวคราวโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็กเกิดขึ้นหลายราย
ล้วนแล้วน่าสลดหดหู่เหลือเกิน
เพราะเป็นเด็กที่อยู่ในช่วงไม่เกินวัยประถมต้น
ซึ่งเป็นวัยที่ควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
หวังว่า ข่าวคราวทั้งเรื่องที่เด็กวัย 5 ขวบ ตกคอนโดมิเนียม 7
ชั้น จนเสียชีวิต หรือข่าวที่เด็ก วัยเกือบ 10 ปี ฆ่าตัวตาย
หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ (อีกแล้ว) ให้กับคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง
กรณีเด็กน้อยเสียชีวิตที่สะเทือนใจมากเหลือเกิน ก็คือ ข่าวฆ่าตัวตาย
ข่าวที่ว่าก็คือ น้องเจมส์ (ด.ช.ธันวา เวชกามา) อายุเกือบ 10 ปี
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ฆ่าตัวตายด้วยผ้าขนหนูผูกคอในห้องน้ำภายในบ้าน
ด้วยสาเหตุอาจน้อยใจที่ถูกคุณพ่อบังคับให้ไปโรงเรียนในวันสุดท้ายของเทอมแรก
ปีการศึกษา 2552
ตามข่าวน้องเจมส์ เป็นเด็กเรียนดี เป็นนักกีฬาเทควันโด
เคยได้รับรางวัลเหรียญทองเทควันโด ระดับเยาวชนหลายรายการ
ทั้งคุณครูและพ่อแม่ให้สัมภาษณ์ ว่า น้องเป็นเด็กดี
มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและครู
และไม่เคยปรากฏว่ามีปัญหาทั้งการเรียนและครอบครัว พ่อแม่เชื่อว่า
เด็กอาจทำประชดแล้วเกิดพลาดทำให้เสียชีวิต
ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
แต่ข่าวคราวเรื่องเด็กฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นจริง
ก่อนหน้านี้ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
เปิดเผยถึงแนวโน้มของเด็กที่ฆ่าตัวตายมีอายุลดลง
และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากปัญหาครอบครัว การเลี้ยงดู
และสภาวะจิตใจ ที่ทำให้เด็กซึมเศร้า และเครียดจัด
เมื่อเกิดปัญหากระทบจิตใจ จึงตัดสินใจคิดสั้น
แล้วอะไรทำให้เด็กไทยต้องเครียดมากมายขนาดนั้น
จนคิดสั้นไม่อยากจะมีชีวิตอยู่...?
ปัจจัยสำคัญที่สุดเกิดจากปัจจัยภายในครอบครัวที่มีผลต่อการพยายามฆ่าตัวตายของเด็ก
ประการแรก ไม่มีเวลาให้กัน
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะเมื่อไม่มีเวลาให้กัน
ก็ย่อมทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวขาดช่วง ขาดการพูดคุย ปรึกษาหารือกัน
ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของสมาชิกในครอบครัว
อย่าคิดว่าลูกยังเด็กไม่มีเรื่องเครียดหรอก
เพราะปัญหาที่ประสบอยู่ของเด็กก็เป็นเรื่องใหญ่ของเขา
เพราะเขายังขาดประสบการณ์ชีวิต
และเมื่อเขาไม่สามารถพูดคุยหรือระบายให้คนในครอบครัวได้
ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
ประการที่สอง ใช้คำพูดไม่เหมาะสม
บางครอบครัวมีการสื่อสารกันตลอด แต่เป็นการสื่อสารที่บกพร่อง
มีการใช้คำพูดที่รุนแรง เหน็บแนมด่าทอ หรืออาจใช้คำไม่สุภาพหยาบคาย เช่น
"มึงโง่" หรือพูดจาส่อเสียดเวลาลูกทำสิ่งใดผิดพลาด เช่น "เกิดมาทำไมเนี่ย
ไม่มีอะไรดีเลย" แม้ใจจริงพ่อแม่ไม่ได้คิดอย่างนั้น แต่คำพูดที่พูดออกไป
ก็ได้เข้าไปประทับอยู่ในใจของลูกเรียบร้อยแล้ว
ผู้ใหญ่บางคนถึงขนาดควบคุมอารมณ์ไม่ได้ต่อว่าลูกให้ไปตายเสีย
ก็เคยเกิดเหตุไม่คาดคิดแล้วต้องทำให้พ่อแม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง
ประการที่สาม เผด็จการครอบครัว
วิธีการเลี้ยงดูแบบพ่อแม่เป็นใหญ่ กดขี่ และสั่งการ
แม้พ่อแม่อยากให้ลูกได้ดี และเชื่อว่า
ถ้าลูกทำอย่างที่ตนเองวางแผนไว้แล้วจะได้ดี เช่น
การถูกบังคับให้เรียนในวิชาที่ไม่ชอบหรือทำให้สิ่งที่ลูกไม่ต้องการ
โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของลูก ก็อาจทำให้ลูกน้อยใจ
และคิดว่าพ่อแม่ไม่รักตนเอง ไม่สนใจว่าลูกคิดอย่างไร
เด็กประเภทนี้จะขาดความมั่นใจในตนเอง จะขี้กลัวและเก็บกด
เด็กหลายคนที่สามารถปรับตัวกับเพื่อนได้ก็ยังมีคนรับฟัง
แต่ถ้าเด็กขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน หรือคนที่พร้อมจะรับฟังเขา
ก็อาจทำให้เด็กประเภทนี้เลือกตัดสินปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ด้วยการประชด
ชีวิตไปเลย
ประการที่สี่ มีปัญหาทางจิต
เด็กบางคนอาจมีอาการของโรคทางจิต เช่น เป็นโรคซึมเศร้า
ต้องได้รับการรักษา เพราะถ้าหากปล่อยไว้จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน
ข้อมูลผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตคนไทยปี 2551 พบว่า
มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณร้อยละ 2.39 อันดับ 1 คือ
กรุงเทพฯ ร้อยละ 3.47, อันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.77,
อันดับ 3 ภาคใต้ ร้อยละ 2.11, อันดับ 4 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.95
และอันดับสุดท้ายคือ ภาคกลาง ร้อยละ 1.70
และเจ้าโรคซึมเศร้ากำลังเป็นภัยเงียบคุกคามการดำเนินชีวิตของคนใน
สังคม ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่พบเห็นหรือสังเกตว่าลูกของเราอาจเข้าข่ายดังกล่าว
ต้องรีบไปพบแพทย์
เพราะถ้าเข้ารับการรักษาเร็วก็จะทำให้มีโอกาสรักษาให้หายได้
ถ้าเข้าไปช่วยเหลือทันท่วงทีและถูกวิธี
ประการที่ห้า เด็กรู้สึกว่าไร้ค่า
มนุษย์ทุกคนควรได้รับการยอมรับคุณค่าของความเป็นมนุษย์
เด็กเองก็ต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ จากคนที่เด็กรัก
แต่กลับมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกน้อยใจในโชคชะตา ไม่มีคนรัก
บางคนรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในครอบครัวต่อไป
อาจเป็นผลมาจากการถูกตอกย้ำความไร้ค่าจากคนที่เขารัก
สิ่งที่คนในครอบครัวควรปฏิบัติต่อกัน
ต้องเริ่มจากการพูดจาดีต่อกัน การให้กำลังใจ
และให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่
เว้นการด่าทอที่มีลักษณะเป็นการดูถูกหรือเหยียดหยาม
จนทำให้เกิดความน้อยใจ และเมื่อสังเกตเห็นลูกผิดปกติ
ควรเข้าไปพูดจาถามไถ่เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น
ประการที่หก ปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือครอบครัวแตกแยก
ปัญหาเรื่องนี้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ถ้าไม่สามารถปรับตัวได้
เพราะเด็กที่เคยอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะ หรือครอบครัวสมบูรณ์
และเมื่อครอบครัวต้องประสบกับภาวะขัดสน หรือแตกแยก
การปรับตัวของสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาเศรษฐกิจและความเครียด
ทำให้สัมพันธภาพของคนในครอบครัวห่างเหิน เด็กบางคนไม่สามารถปรับตัวได้
อีกทั้งเมื่อสัมพันธภาพห่างเหิน ก็ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยเดินหลงทาง
หรือไม่ก็เลือกจบปัญหาที่ไม่เหมาะสม
ประการสุดท้าย ขาดทักษะชีวิต
ประเด็นนี้นับเป็นประเด็นใหญ่ และกลายเป็นปัญหาหนักสุด
เพราะเด็กในยุคปัจจุบันได้รับการเลี้ยงดู
และเติบโตขึ้นมาด้วยการถูกบ่มเพาะให้เป็นเด็กเก่ง เด็กเรียนดี
และมักมีการแข่งขันในทุกเรื่องของชีวิต
เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาด้วยการเก่งวิชาการอย่างเดียว
จึงมักทำให้ชิวิตขาดทักษะในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและสำคัญ
โดยเฉพาะในด้านการปรับตัว ความอดทน ความเข้มแข็ง ฯลฯ
เรามักจะได้ยินเสมอๆ ว่า เด็กปัจจุบันรอคอยไม่เป็น ชอบงานสบาย
ส่วนหนึ่งเพราะเด็กขาดโอกาสเรียนรู้ทักษะชีวิตในด้านอื่นๆ เช่น
การแก้ปัญหา การต่อสู้กับชีวิตจริง หรือการมีทักษะชีวิตอย่างรอบด้าน
แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่กลับมองข้ามปัญหานี้ไป คิดว่า
เมื่อโตแล้วก็สามารถเรียนรู้ได้เอง
ทั้งที่จริง...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เด็กควรได้รับการปลูกฝังและบ่ม
เพาะตั้งแต่เล็ก เพราะทักษะการใช้ชีวิตให้เป็น
มีความสำคัญกว่ามิติชีวิตในทุกด้าน
ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เด็กไทยมีภูมิต้านทานในชีวิตต่ำ !!!
ตัวเลขล่าสุดที่เด็กไทยฆ่าตัวตายทั่วประเทศปีละ 600 คน เฉลี่ยวันละ 2 คน
ความจริงเรื่องเด็กและเยาวชนคิดฆ่าตัวตาย
ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา
ประเทศในโซนยุโรป และญี่ปุ่น ก็มีเด็กฆ่าตัวตาย และคิดฆ่าตัวตายสูงมาก
แต่ที่น่าตกใจมากไปกว่านั้น...
เด็กที่เรียนดี ฉลาด ครอบครัวฐานะดี
ความรู้สึกเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงกว่าปกติ...!!
เพราะเด็กเหล่านี้ มั่นใจในตนเอง
มักเป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวดี เรียนดี ชนะมาตลอด
ไม่ได้เรียนรู้จักการพ่ายแพ้ เมื่อมั่นใจในตนเองมาก
ประกอบกับขาดทักษะการแก้ปัญหา
เด็กเหล่านี้จะไม่สามารถทนรับความรู้สึกพ่ายแพ้หรือแบกรับความรู้สึกอับอาย
ได้ โอกาสที่เด็กเหล่านี้จะเลือกวิธีจบปัญหาด้วยการจบชีวิตจึงมีโอกาสสูง
แล้วเราจะเป็นพ่อแม่แบบไหน...เลือกได้ค่ะ !!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น