++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด... รักษามะเร็งในเด็ก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 ตุลาคม 2552 10:11 น.
การให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
บทความโดย : ผศ.พญ. กลีบสไบ สรรพกิจ กุมารแพทย์ด้านโลหิตวิทยาและอองโคโลยี

โรค มะเร็งในวันนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่ผู้ใหญ่
แม้แต่เด็กเล็กก็เป็นโรคมะเร็งได้ โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ
"โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน" ฟังดูแล้วน่าใจหาย
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์
ทำให้โรคร้ายมีโอกาสรักษาให้หายได้เพิ่มขึ้นด้วย
"การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด"

โดยทั่วไป การรักษาโรคมะเร็งในเด็ก มีวิธีการหลักด้วยกัน 3 วิธี คือ
1.การให้ยาเคมีบำบัด
2.การฉายรังสีรักษา
3.การผ่าตัด

ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
แต่ละราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งที่เป็น ระยะของโรค
และอายุของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม
มีผู้ป่วยเด็กจำนวนไม่น้อยที่โรคเป็นรุนแรงและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง
หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น จึงต้องใช้วิธี
"การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือปลูกถ่ายไขกระดูก" ร่วมด้วย

ขั้นตอนการรักษา
ผู้ ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงและในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการฉายรังสีทั่ว
ร่างกายร่วมด้วย เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง และทำให้เกิดที่ว่างในไขกระดูก
จากนั้นแพทย์จะให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย
เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดทดแทน
ช่วยให้ไขกระดูกผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
และสามารถใช้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษาในการกำจัดเซลล์มะเร็งได้เต็มที่
โดยไม่ต้องกลัวผลข้างเคียงจากการกดไขกระดูก นอกจากนี้
การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงจะช่วยกดภูมิต้านทานให้สามารถรับเซลล์ต้นกำเนิด
เม็ดเลือดที่ปลูกถ่ายเข้าไปใหม่ได้
โดยเซลล์เหล่านี้จะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นในไขกระดูกผู้ป่วยจนสามารถสร้างเซลล์
เม็ดเลือดต่างๆ ได้ตามปกติ

ผลข้างเคียง
การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีขนาดสูง
จะทำให้ไขกระดูกของผู้ป่วยถูกกดอย่างมาก
ส่งผลให้จำนวนเม็ดเลือดทุกชนิดลดลงจนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อที่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงแก่
ชีวิตได้ ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
จึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผลการรักษามาก
เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่ำมาก จึงต้องอยู่ในห้องแยก
และได้รับยาเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
หากผู้ป่วยมีไข้จะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม
มีการให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว ให้เลือดและเกร็ดเลือดเป็นระยะ

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้
อื่นจะต้องได้รับ "ยากดภูมิคุ้มกัน"
หลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดประมาณ 6 เดือน
เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้บริจาคต่อ
อวัยวะต่างๆ ของผู้ป่วย นอกจากนี้
ยังต้องดูแลเรื่องของภาวะโภชนาการและสภาวะทางจิตใจเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่
จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในปาก รับประทานอาหารไม่ได้
จึงต้องได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำ

แหล่งเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดใหม่
โดยปกติจะหาได้จากญาติของผู้ป่วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องจากพ่อแม่เดียวกัน
ซึ่งลักษณะทางพันธุกรรมของเนื้อเยื่อจะมีโอกาสเหมือนกับผู้ป่วยประมาณ 25%
(ซึ่งสูงกว่าโอกาสจากผู้บริจาคคนอื่นๆ)
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากญาติได้
แพทย์ผู้รักษาสามารถติดต่อที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ซึ่งมีการก่อตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่รับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิด
จากแหล่งต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้บริจาคที่ไม่
ใช่ญาติให้แก่ผู้ป่วยได้
ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถเก็บได้จากแหล่งต่างๆ คือ ไขกระดูก
หรือกระแสเลือดโดยต้องให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวเพื่อให้เซลล์ต้นกำเนิด
ออกจากไขกระดูกมาอยู่ในกระแสเลือดก่อนการเก็บเซลล์
หรืออาจเก็บได้จากเลือดสายสะดือหลังทารกคลอด

แต่สำหรับโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
หรือมะเร็งก้อนเนื้อตามอวัยวะต่างๆ ที่ไม่มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก
ขณะที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูก
แพทย์อาจเก็บเซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยแช่แข็งไว้
เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายไขกระดูกในภายหลังได้

ผลการรักษา
สำหรับ ประเทศไทยได้มีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในผู้ป่วยเด็กประสบผล
สำเร็จเป็นครั้งแรกในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt's
โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยเก็บแช่แข็งไว้ก่อนนำมาทำปลูกถ่ายไขกระดูก
เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2530 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลังจากนั้นมีผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ด
เลือดตามโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทยไปแล้วมากกว่า 200 ราย
ผลการรักษาที่ได้ทัดเทียมกับต่างประเทศและค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่ามาก

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งในเด็กด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ด
เลือดจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น
แหล่งที่มาของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และจำนวนเซลล์ที่ได้
ชนิดของการทำปลูกถ่ายไขกระดูก ยาเคมีบำบัดที่ใช้
อาการทางคลินิกของผู้ป่วยก่อนได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
รวมทั้งการดูแลภายหลังการปลูกถ่ายฯ
ซึ่งจะถือว่าประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงของโรค
และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบร่องรอยของโรคมะเร็งเหลืออยู่

อย่าง ไรก็ตาม
การปลูกถ่ายไขกระดูกจัดเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง
จึงต้องมีการให้คำปรึกษาแนะนำผู้ปกครองและผู้ป่วยอย่างเหมาะสมก่อนการรักษา
สอบถามรายละเอียดเพิ่ม เติมได้ที่ โทร.02-4195971-3 และ 02-4194205

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น