วันนี้เป็นวันครบ 5 รอบ หรือ 60 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
(People's Republic of China)
เมื่อ 60 ปีก่อน
การถือกำเนิดขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นเปรียบได้กับการก่อกำเนิดครั้ง
ใหม่ของชาวจีนหลายร้อยล้านคนหลังผ่านศตวรรษแห่งความทุกข์เข็ญซึ่งเริ่มต้น
ขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามฝิ่นในช่วง ค.ศ.1840 ผ่านยุคสมัยของการล่าอาณานิคม
ยุคของการล่มสลายของระบอบจักรพรรดิที่ยั่งยืนยาวนานมากว่า 2 พันปี
ผ่านสงครามกลางเมือง ผ่านสงครามโลก 2 ครั้ง
และผ่านสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นอกจากนี้ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา
หลังการถือกำเนิดขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประชาชนชาวจีนและประเทศจีน
ยังต้องผ่านความทุกข์ยาก
การเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี
สงครามเย็น ยุคการก้าวกระโดดไกล ยุคการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
ยุคการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และปัจจุบันคือ ยุคของการใช้
"ยุทธศาสตร์การก้าวออกไป" ที่ในภาษาจีนกลางใช้คำว่า "โจ่วชูชี่ว์"
หากจะกล่าวไป
ความพยายามที่จะสรุปถึงความล้มเหลวและความสำเร็จของการดำเนินนโยบายในการ
ปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา
ด้วยบทความชิ้นเดียวนั้นถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย
หากไม่ใช้โอกาสนี้เพื่อที่จะกล่าวถึง อนาคตของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เข้ามากระทบกับประเทศไทยและวิถีชีวิตของคนไทย
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ วานนี้ (30 ก.ย.)
ข่าวใหญ่ในแวดวงการเงิน-การคลัง ก็คือ
การที่ประธานกรรมการธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน
(ไอซีบีซี) เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงเจตจำนงเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดธนาคารสินเอเซีย
ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ หากรัฐบาลอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นธนาคารสินเอเซียดังกล่าวที่มีมูลค่ากว่า
18,000 ล้านบาท ไอซีบีซี
ก็จะกลายเป็นธนาคารจากจีนแผ่นดินใหญ่แห่งแรกที่เข้ามามีบทบาทกับภาคการเงิน
-การธนาคารของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ท่านผู้อ่านบางส่วนอาจไม่ทราบว่า ปัจจุบันไอซีบีซี
หรือธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน
ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 นี้เองนั้น
ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ในแง่ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization)
โดยมีมาร์เกตแคปสูงถึง 254,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินทรัพย์ทั้งสิ้นราว
9.8 ล้านล้านหยวน (ราว 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)
มีสาขาทั้งในและนอกประเทศรวม 18,000 สาขา
โดยนอกจากประเทศจีนแล้วยังมีสาขาครอบคลุม 106 ประเทศทั่วโลก
จริงๆ การก้าวเข้ามามีบทบาทในภาคการเงินไทยของธนาคารพาณิชย์จีน
อาจถือได้ว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในขั้นต้น
และถือเป็นเพียงกองหนุนเท่านั้น
เพราะทัพหน้าของจีนที่เข้ามาติดต่อ-ค้าขายกับประเทศไทยนั้นได้เข้ามาในบ้าน
เราก่อนหน้านี้นานแล้ว คือ บรรดาพ่อค้า และภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่อาจจะตามมาในอนาคตอันใกล้ก็คือ
กลุ่มประเทศที่ใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินในการค้าขาย-แลกเปลี่ยน (Yuan
Zone)
หากมองให้ทะลุความซับซ้อนของการแลกเปลี่ยนทางการค้าและความสัมพันธ์เชิง
เศรษฐกิจระหว่างประเทศ การแผ่ขยายอิทธิพลของสาธารณรัฐประชาชนจีน
มิได้จำกัดแต่เพียงเฉพาะในแง่มุมทางเศรษฐกิจเท่านั้น
แต่ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองในประเทศ
รวมถึงปัญหาสังคมต่างๆ
จีนก็เข้ามามีบทบาทและเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญมากขึ้น
ในเชิงบวก
การแผ่อิทธิพลลงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
กลายเป็นการถ่วงดุลอิทธิพลของโลกตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซงและกอบโกยผล
ประโยชน์ในภูมิภาคนี้ และเปรียบเสมือนเป็นกันชนลดผลกระทบต่างๆ
ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างดี ยกตัวอย่างเช่น
กรณีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของ
ปี 2551 เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม
การแผ่อิทธิพลดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจ การเมือง
สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น
ผลกระทบต่อประเทศไทยจากยุทธศาสตร์ในการเปิดทางออกสู่ทะเลจีนใต้และอันดามัน
ซึ่งนำมาสู่โครงการสร้างเขื่อนและโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ ในแม่น้ำโขง
การสร้างเส้นทางข้ามประเทศเพื่อสะดวกต่อการขนถ่ายสินค้าจากจีนผ่านมายังท่า
เรือในเมืองไทย ออกไปยังประเทศต่างๆ
นอกจากนี้
การแผ่ขยายอิทธิพลและการสร้างความสัมพันธ์ของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับ
รัฐบาลทหารของพม่า ก็ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาระบบการเมือง
ระบอบประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาภายในของพม่า
ซึ่งกระทบชิ่งมาก่อปัญหาให้กับประเทศไทยอย่างเช่น กรณีนางอองซาน ซูจี
และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยา
ด้วยเหตุนี้
คนไทยจึงมิอาจหลงระเริงและมุ่งหวังที่จะกอบโกยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการ
เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแต่เพียงอย่างเดียว
โดยละเลยการคำนึงถึงปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่
และวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อย
หรือคนกลุ่มใหญ่เท่าไรก็ตามได้
สาเหตุที่ผมยกตัวอย่างประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาในวโรกาสที่สาธารณรัฐ
ประชาชนจีนก่อตั้งมาครบรอบ 60 ปีนี้
มิได้มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างรอยแตกร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง
แต่มีจุดมุ่งหมายชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริง และประเด็นปัญหาต่างๆ
โดยคร่าวที่เกิดขึ้นจากการเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งมีสถานะเป็นพี่ใหญ่ของประเทศในทวีปเอเชีย
และกำลังจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีศักยภาพทัดเทียมประเทศสหรัฐอเมริกาใน
ทุกๆ ด้าน
สุด ท้ายผมเพียงหวังว่า วันเกิดครบรอบปีที่ 60
ของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่
และก้าวย่างใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน
อันเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000115082
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น