++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายงานพิเศษ : ครม.ไฟเขียวรถเมล์ 4 พันคัน... "สมประโยชน์ร่วมกัน" ในรัฐบาลใช่มั้ย?

อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

จู่ๆ ที่ประชุม
ครม.ก็เห็นชอบโครงการที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า "ส่อทุจริต"
อย่างโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ที่ "นายโสภณ ซารัมย์"
เจ้ากระทรวงคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ผลักดันมาตั้งแต่เมื่อเดือน
พ.ค.ขนาดก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ภท.จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ถ้า
ครม.ล้มโครงการนี้ แต่นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ดูเหมือนจะไม่กลัว
เพราะเลือกที่จะยื้อเวลาด้วยการโยนลูกให้ "สภาพัฒน์" ไปศึกษา ว่า
จะใช้วิธีซื้อหรือเช่าดี แต่มาบัดนี้
ที่พรรคร่วมรัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่องมองต่างกันเกี่ยวกับการแก้
รธน.ครม.กลับลุกขึ้นมาเห็นชอบโครงการเช่ารถเมล์ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
อย่างนี้ จะไม่ให้มองว่า มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือ "สมประโยชน์"
ร่วมกันในพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างไร?

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ในที่สุด โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ระยะเวลา 10 ปี
มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ของ ขสมก.ที่นายโสภณ ซารัมย์
รัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย พยายามผลักดันให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
(ครม.) ไฟเขียวโครงการนี้ ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อที่ประชุม ครม.วันที่ 29
ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(บอร์ด สศช.) หรือบอร์ดสภาพัฒน์ ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้ไปศึกษาว่า
โครงการดังกล่าวควรใช้วิธีซื้อหรือเช่า ถึงจะคุ้มค่ากว่ากัน ซึ่งในที่สุด
บอร์ดสภาพัฒน์สรุปว่า เช่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการซื้อ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม.ว่า
ครม.ได้เห็นชอบตามที่บอร์ดสภาพัฒน์สรุป
รวมทั้งให้นายโสภณไปกำหนดแผนที่ชัดเจนกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง เช่น
การจะทำโครงการให้คุ้มค่า
ต้องใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์และต้องลดจำนวนพนักงานลงประมาณ 6,000-7,000
คน จึงต้องทำโครงการจูงใจให้พนักงานเกษียณก่อนกำหนด
,ต้องเพิ่มจำนวนอู่รถเมล์ที่มีสถานีที่สามารถเติมเอ็นจีวีได้
,การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใสและมีการแข่งขันให้มากที่สุด
รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ ที่เคยพิจารณาใน ครม.ไปแล้ว
ก็ให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาและนำกลับมาเสนออีกครั้ง เช่น
ให้เป็นรถเมล์ที่ประกอบในประเทศ และการลดวงเงินมูลค่าโครงการลง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์
และพรรคประชาธิปัตย์ ถูกพรรคภูมิใจไทย มองว่า พยายามยื้อเวลาไม่ให้
ครม.ไฟเขียวโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน โดยที่ประชุม
ครม.ได้ตีกลับโครงการดังกล่าวหลายครั้ง
เพื่อให้ไปพิจารณาปรับลดวงเงินมูลค่าโครงการที่สูงเกือบ 7 หมื่นล้านบาทลง
ซึ่งนาย โสภณ รัฐมนตรีคมนาคม ก็รับลูก
สามารถลดมูลค่าโครงการได้ทันทีทันควัน โดยลดจาก 69,700 ล้านบาท เหลือ
67,900 ล้านบาท พอถูกติงว่ายังสูงอยู่ นายโสภณก็ยอมลดอีกเหลือประมาณ
64,000 ล้านบาท ทำเอาหลายฝ่ายสงสัยว่า ตกลงนายโสภณเป็นรัฐมนตรีคมนาคม
หรือผู้จัดการบริษัทเอกชนที่จะเป็นผู้ให้ ขสมก.เช่ารถเมล์ 4 พันคันกันแน่

แต่ปัญหาของโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4
พันคันที่พรรคภูมิใจไทยพยายามตีปี๊บว่าเป็นผลงานของพรรค
ไม่ได้อยู่แค่ว่ามูลค่าโครงการสูงจนน่าตกใจ แต่ยังมีอีกหลายปัญหา
จนส่อเค้าว่าอาจมีการทุจริตในโครงการนี้ เช่น ค่า เช่ารถว่าแพงแล้ว
แต่ค่าซ่อมรถยิ่งแพงกว่าค่าเช่าอีก โดยค่าเช่ารถอยู่ที่คันละ 2,195
บาทต่อวัน หรือคิดเป็นเงิน 32,047 ล้านบาท ขณะที่ค่าซ่อมรถปาเข้าไปคันละ
2,250 บาทต่อวัน คิดเป็นเงิน 32,850 ล้านบาท
โดยต้องเสียค่าซ่อมตั้งแต่วันแรก ทั้งที่เป็นรถใหม่!

ทั้งนี้ หลายฝ่ายในสังคมเคยออกมาแฉก่อนหน้านี้ ว่า
โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันมีความไม่ชอบมาพากล ส่อทุจริตคอร์รัปชัน เช่น
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ชี้ว่า
นอกจากค่าเช่ารถที่สูงเกินควร, ค่าซ่อมรถที่ไม่สมเหตุสมผล,
ระยะเวลาเช่ารถที่ยาวเกินควร และการประมาณการรายรับที่
ขสมก.จะได้ในอนาคตเพื่อมาจ่ายค่าเช่ารถสูงเกินจริงแล้ว ยังมีการส่อฮั้ว
กันระหว่างนักการเมืองกับบริษัทที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองด้วย
โดยกำหนดให้การประมูลต้องมีค่าประกันซองสูงถึง 3,000 ล้านบาท!

ขณะที่นายจารึก อนุพงษ์ ส. ว.สรรหา และประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม
วุฒิสภา ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน
ก็ได้ออกมาตั้งคำถามถึงรัฐมนตรีคมนาคมว่า "ถ้าจะเช่ารถเมล์ในโครงการนี้
ต้องใช้เงิน 67,922 ล้านบาทในเวลา 10 ปี เฉลี่ยต่อปี 6,792 ล้านบาท
แสดงว่า ขสมก.ต้องหารายได้วันละ 186 ล้านบาท เมื่อนำเอาค่าโดยสาร 30
บาทต่อคนไปหาร ต้องมีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละ 6.2 ล้านคน ผมถามว่า
ขสมก.จะไปหาผู้โดยสารจำนวนนี้มาจากไหน เพราะผู้โดยสารปัจจุบันมีไม่ถึง 4
ล้านคน จะเอาปัญญาจากไหนไปหา และสถิตินี้จะลดจำนวนลงอีก
เพราะอนาคตขนส่งมวลชนอื่นจะดึงผู้โดยสารจาก ขสมก.มากขึ้นอีก"

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.และแกนนำกลุ่ม 40
ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมา
ภิบาล วุฒิสภา ชี้ว่า โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันไม่เพียงส่อทุจริต
แต่ยังเป็นการแปรรูป ขสมก.โดยไม่ต้องแก้กฎหมายอีกด้วย
เพราะกำไรทั้งหมดอยู่ที่บริษัทให้เช่ารถ ส่วนภาวะขาดทุนตกอยู่กับ ขสมก.

"ตัว เลขของทางรัฐมนตรีที่เสนอมาเกี่ยวกับเรื่องโครงการนี้เนี่ย
มันมีการประเมินรายได้ที่สูงเกินจริง
และมีการทำรายจ่ายที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นโครงการนี้ออกมาก็ขาดทุนทันทีน่ะ
ซึ่งการขาดทุนทันทีหมายความว่า ขสมก.ก็ต้องเป็นคนแบกรับหนี้สินตรงนี้
แล้ว ขสมก.แบกรับ ก็คือ ประชาชนก็ต้องแบกรับ ใช่มั้ย เพราะอย่างรัฐมนตรี
ยกตัวอย่างนะ เขาบอกว่าจะมีรายได้วันละ 11,000 บาท ซึ่งก็คือกำไรแค่วันละ
1,000 บาทต่อคัน ซึ่งถ้าเกิดไม่ได้ 11,000 เนี่ย คุณจะว่ายังไง
เพราะค่าใช้จ่ายที่รัฐมนตรีบอกว่าประมาณวันละ 9,000 กว่าบาท จริงๆ
แล้วไม่ใช่ มันวันละ 12,000 บาท ดูจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดนะของ ขสมก.
ขสมก.เขามีประเมินไว้เลย ก๊าซเอ็นจีวี วันละ 2,100 บาทต่อคันต่อวัน
พนักงานขับรถ 2,400 บาทต่อคันต่อวัน ฝ่ายบริหาร เพราะ
ขสมก.ไม่ได้มีแต่คนขับรถนะ เขาก็มีฝ่ายบริหารของเขา
ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ต้องถูกเอามาเป็นโสหุ้ยในส่วนของที่จะมาคิดคำนวณกับราย
ได้ ในส่วนของฝ่ายบริหารเนี่ย 1,121 บาท และดอกเบี้ยอีกประมาณ 70,000
ล้านของเขาเนี่ย ก็เป็นดอกเบี้ยตกวันละ 1,412 บาทต่อคันต่อวัน
พนักงานสนับสนุนอีก 693 นี่รวมตัวเลขนี้ก็ 7,700 บาท 7,700
ไปบวกกับค่าเช่ารถของเขา 4,780 บาท ตอนนี้เขาลดลงมาเหลือ 4,657 ก็ 12,000
แล้วคุณหากำไรวันละ 11,000 เนี่ย มันจะกำไรได้ยังไง
มันขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่ทำ ใช่มั้ย"

"แล้วกรณีนี้เนี่ย มันเป็นแปรรูปกิจการของ ขสมก.โดยพฤตินัย
โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย คือกำไรทั้งหมดจะไปอยู่ที่บริษัทที่เอารถมาให้เช่า
ส่วนขาดทุนจะอยู่กับ ขสมก. เพราะอุปมานะว่า
บริษัทให้เช่ารถก็เหมือนอู่แท็กซี่ ขสมก.กลายเป็นแท็กซี่
อู่ที่เป็นคนให้เช่าแท็กซี่ พอครบกำหนด อ้าว! คุณต้องจ่ายฉันวันละ 1,000
คุณจะได้กำไรหรือคุณจะมีรายได้เท่าไหร่ เขาไม่เกี่ยว ใช่มั้ย บอก เฮ้ย!
ทำไมกลายเป็น ขสมก.ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเส้นทางการเดินรถทั้งหมดเนี่ย
ทำตัวที่จะให้บริษัทที่มา (ให้) เช่ารถได้กำไร แต่ตัวเองรับภาระการขาดทุน
รับภาระความเสี่ยงต่างๆ โครงการแบบนี้มันส่อว่ามันทุจริต
มันไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว"

ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม.
และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันเช่นกัน
โดยบอกว่า โครงการนี้มีกลิ่นคาวของคอร์รัปชันอยู่

"มัน ไม่ได้คิดขึ้นโดยตรงไปตรงมา
มันเริ่มจากปัญหาเรื่องเปลี่ยนเชื้อเพลิงแค่นั้นเอง
มันไม่ใช่คิดแต่แรกว่า เออ! รถเมล์กรุงเทพฯ นี่สายมันยาวเหลือเกินนะ
น่าจะมีเส้นหลักเส้นรอง มันต้องเริ่มคิดจากตรงนั้น แล้วค่อยมาบอก เออ!
จะปฏิรูป ขสมก.อะไรก็ว่ากันไป ตั๋วเดียวขึ้นทั้งวันอะไรก็ว่ามา
ไม่ได้เริ่มจากอันนั้น เริ่มจากปัญหาเชื้อเพลิง ซึ่งเขาเสนอไว้ สมัย
(รัฐบาล) สุรยุทธ์เขาเสนอไว้แต่เพียงว่าเอารถเก่ามาเปลี่ยนเครื่องเท่านั้นเอง
มันลามมาถึงตรงนี้ มันทำให้ ไม่เข้าใจว่าคิดอย่างนั้นทำไม นี่คือ
ความเป็นมาที่มันประหลาด (ถาม-หลังจากนั้นพอเริ่มเห็นวงเงินโครงการ
ก็เริ่มเห็นพิรุธมากขึ้นเหรอ?) ไม่ใช่เรื่องวงเงิน มันเป็นเรื่องว่า
มันเอา 6 พันคัน รถเดิมก็มีอยู่แล้ว รถร่วมเขาก็ทำงานอยู่ด้วย
คุณไปโยนทิ้งหมดได้ยังไง ทำไมอยากได้รถใหม่อะไรนักหนา
รู้อยู่แล้วว่ารถใหม่ เราไม่มีตังค์จะซื้อ คิดมาได้ยังไง
ก็สงสัยกันตรงนี้ แล้วทำไมมันดูไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไร มัน 6 พัน
(ตอนแรกจะเช่ารถ 6 พันคัน) เขาต่อ 4 พันก็เอา อะไรกันเนี่ย
มันแสดงความไม่กระจ่างชัดในตัวโครงการเขาว่า ปัญหามันคืออะไร และทำอะไร
เพราะอะไร ตัวนี้มัน defend ไม่ได้ เป็นวิทยานิพนธ์
ก็สอบไม่ได้หรอกแบบนี้"

"(ถาม-รัฐมนตรียืนยันว่า ที่ทำนี่เพื่อแก้ปัญหาขาดทุนของ
ขสมก.และไม่ได้ใช้งบประมาณ เอารายได้ในอนาคตของ ขสมก.มาจ่าย?)
จุดใหญ่มันอยู่ที่ว่า เมื่อมีการลงทุน
ไม่ว่าจะเปลี่ยนรถเดิมหรือซื้อรถใหม่หรือเช่าอะไรก็แล้วแต่
คุณไม่มีตังค์ใช่มั้ย ก็สัมปทานไปสิ ได้ไม่ต้องมานั่งมองกันอย่างนี้
ทีนี้ถ้าเปลี่ยนมาเป็น บอกยังเป็นของเราอยู่ แล้วเราเช่า
แล้วเช่าอะไรตั้ง 4 พันคัน แล้ว 10 ปี ประเมินมาจากค่าอะไร
ไม่วิ่งก็ต้องจ่าย ไม่ซ่อมก็ต้องเสีย ประเมินรายได้จากอะไรก็ไม่รู้
ตัวเลขในการเหมาทั้งหมด 4 พันก็ดี 10 ปี ก็ดีเนี่ยมันเลื่อนลอยเป็นที่สุด
แล้วพวกเราก็มัวแต่ไปเถียงว่า เออ! มันแพงหรือถูก มันไม่ใช่
เป็นเรื่องไม่มีตังค์ ให้สัมปทานเขาไปสิ
แล้วทำไมต้องมาเช่าในราคาตายตัวแบบนี้ แล้วก็ฟิกซ์ยาวตั้ง 10 ปี"

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์
และรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ตรวจสอบโครงการเช่ารถเมล์ 4
พันคันหลังมีผู้ร้องเรียนว่าส่อทุจริต พูดถึงกรณีที่
ครม.มีมติไฟเขียวโครงการดังกล่าวแล้วว่า เป็นการไฟเขียวแบบมีเงื่อนไข
โดยกระทรวงคมนาคมและ
ขสมก.ต้องไปวางแผนรองรับปัญหาและความเสี่ยงเรื่องที่สภาพัฒน์เสนอ
ซึ่งหลายข้อตรงกับที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ตรวจสอบและเสนอไว้เช่นกัน
ซึ่งหากกระทรวงคมนาคมและ ขสมก.ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้
โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันก็ต้องพับไป
หากดึงดันเดินหน้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
ก็เสี่ยงต่อการติดคุกฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

"ไฟ เขียวก็มีเงื่อนไข เหมือนกับที่คณะ
กมธ.ป.ป.ช.ให้ความเห็นสอบสวนไป หลายส่วนตรงกัน (เช่น?) คืออย่างนี้
การตรวจสอบของคณะ กมธ.ป.ป.ช.เนี่ย เราให้ความเห็นไปว่า
เรื่องนี้มันมีตัวเลขที่มันไม่ตรง
และเสี่ยงต่อความที่ไม่เป็นไปตามที่เสนอ มติ
ครม.เขาก็อนุมัติตามที่สภาพัฒน์เสนอความเห็น ก็มีความเห็นเรื่องนี้
เสี่ยงต่อการที่ทำแล้วไม่เป็นไปตามนั้น
เป็นไปตามที่เสนอจากกระทรวงคมนาคมและ ขสมก.เพราะฉะนั้นก็เลยมีเงื่อนไขว่า
ถ้าจะทำ ก็ให้ปรับโครงสร้าง ก็คือต้องไป
ปรับโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องการเกษียณ พวกเจ้าหน้าที่
เขาใช้คำว่าอย่างนี้ เกษียณพวกพนักงานของ ขสมก.7,009 คนตามที่
ขสมก.เสนอก่อน เขามีเงินงบประมาณให้ 6 พันกว่าล้าน
อย่างนี้ไม่ได้ไฟเขียวให้ซื้อ ต้องมีเงื่อนไข ต้องทำตามที่เสนอกันก่อน 2.
เรื่องที่ดินที่จะจอดรถหรือเช่ามาแล้วมาจอด จะหาที่จอดที่ไหน
ขสมก.ก็เสนอว่าจะซื้อที่ดิน ก็ต้องลงทุนอีกหลายพันล้าน
รวมทั้งจะต้องไปหาที่เติมแก๊สเอ็นจีวี โดย ปตท.เป็นคนจัดให้
ทีนี้เขาก็รายงานว่า ปตท.มาให้การว่า
ถ้าจะใช้เวลาทำตามนี้ต้องใช้เวลาเป็นปีขึ้นไป
เขาก็ให้ไปตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่า ทำได้หรือไม่ได้
3.เงื่อนไขที่จะให้เอกชนจะซื้อเงื่อนไขขอบเขตในการที่จะให้เอกชนให้เช่า
เนี่ย ก็ต้องไปดูเรื่องราคา
ไปดูเรื่องความโปร่งใสให้เรียบร้อยว่าจะทำยังไง ที่ว่าที่ออกมาเนี่ย
เพราะในนั้นเราให้ความเห็นไปแล้วว่า มันราคาแพงกว่าความเป็นจริง
กับเรื่องค่าซ่อมรถ 2 อย่างนี้เราเคยให้ความเห็นไปในรายงานไปแล้วประมาณ
6-7 พันล้านบาท อันนี้ก็ตรงกัน
เพราะฉะนั้นก็ต้องไปแก้ไขพวกนี้ให้ได้เสียก่อน
แล้วถึงจะมาพูดว่าจะเช่ารถกัน เพราะฉะนั้นเรื่องคน
ก็คือเรื่องคนที่จะไปทำโครงการเกษียณเพื่อจะลดค่าใช้จ่ายลงไปมหาศาล 33%
ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด มันก็เป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายนักน่ะ
เพราะฉะนั้นการอนุมัติทั้งหมดนี้มันก็จะมีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติให้ได้ก่อน
ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็ถือว่าโครงการนี้ต้องพับไป เพราะเป็นข้อเสนอของ
ขสมก.กับกระทรวงคมนาคมเอง"

"(ถาม- ถ้าให้คุณชาญชัยลองประเมินว่าในที่สุดแล้ว
โครงการนี้มันจะเดินได้มั้ยหรือมันน่าจะต้องพับไป?) ยาก ผมดูแล้วยาก
ถ้าเขาปฏิบัติไม่ได้ แล้วยังฝืนทำ ก็ถือว่าเสี่ยงต่อกฎหมาย เสี่ยงคุกน่ะ
คือ จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันเน่าแล้วมันต้องไปทำใหม่น่ะ
มันไม่ใช่เอาโครงการเก่าแล้วก็มาตั้งอย่างนี้ ถ้าพูดตรงๆ
สภาพัฒน์ตั้งเงื่อนไขมาก็ถือว่าหินนะ แต่ว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่
ขสมก.ไปเสนอเองด้วยไง ตัวเองเสนอแล้วตัวเองไม่ทำเนี่ย
จะไปลักไก่ให้เขาทำให้เช่ารถอะไรมาได้ก่อน แล้วค่อยมาว่ากันทีหลังเนี่ย
มันไม่ได้ เพราะมันเป็นเงื่อนไขทำให้องค์กรเสียหายมาก
แล้วมีการทุจริตเกิดขึ้นเยอะแยะ มันต้องแก้ไขตรงนั้นให้ได้เสียก่อน"

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส. ว.กทม.และแกนนำกลุ่ม 40
ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมา
ภิบาล วุฒิสภา พูดถึงกรณีที่ ครม.ไฟเขียวโครงการเช่ารถเมล์ 4
พันคันท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการแก้ รธน.ในพรรคร่วมรัฐบาลว่า
เมื่อไม่กี่วันก่อน เพิ่งมีข่าวว่า
สภาพัฒน์อาจจะต้องใช้เวลาศึกษาโครงการดังกล่าวอีกระยะหนึ่ง แต่จู่ๆ
ที่ประชุม ครม.กลับบอกว่าได้ข้อสรุปแล้ว และเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว
จึงน่าสงสัยว่า งานนี้มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่
เพราะโครงการที่เห็นๆ อยู่ว่า ทำไปก็ขาดทุนแน่นอน แล้วคนมีสติปัญญาที่ไหน
จะผ่านโครงการแบบนี้

"เรื่องรถเมล์ 4 พันคัน ไม่ใช่อยู่ๆ ให้ทางสภาพัฒน์ไปพิจารณาดู
และเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เข้าใจว่าเป็นข่าวลวงใช่มั้ย ที่สภาพัฒน์บอกว่า
ขอพิจารณาอีกระยะหนึ่ง อาจจะต้องรื้อระบบใหม่ เสร็จแล้ว
ปรากฏอยู่ดีดีก็มาบอกว่าให้ผ่านแล้ว อันนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เอ๊ะ!
นี่เป็นการตกลงผลประโยชน์ทางการเมืองใช่มั้ย อันนี้คือ
เสถียรภาพที่ทำให้รัฐบาลอยู่ได้ใช่มั้ย
เพราะฉะนั้นคิดว่ากรณีเรื่องนี้มันมีความไม่ชอบมาพากลอยู่แล้ว กรณีรถเมล์
4 พันคันที่บอกว่า จะทำเพื่อให้คนกรุงเทพฯ
ได้รถใหม่เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของ
ขสมก.แต่ถ้าดูจากความเป็นไปได้ของโครงการนี้ คิดว่าขาดทุนแน่นอน
เพราะแค่ค่าเช่าที่จะต้องจ่ายให้กับบริษัทที่เอารถมาให้เช่า
รวมกับค่าใช้จ่ายของ ขสมก. ซึ่งยังไม่รวมค่าเช่าอู่ที่จะให้รถ 4
พันคันจอด ไม่ได้รวมเงินที่จะชดเชยให้กับพนักงานขายตั๋วรถเมล์ที่จะเลิกจ้างเขา
สิ่งเหล่านี้ต้องเอามาคำนวณเป็นต้นทุนนะ
เพราะฉะนั้นต้นทุนสูงกว่ารายได้ที่คุณประเมินว่าคุณจะได้แน่นอน
รายจ่ายสูงกว่ารายได้แน่นอน ทีนี้ถ้าเป็นธุรกิจของใครเนี่ย
ประเมินในกระดาษแล้ว ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้
มันก็ไม่มีใครโง่ที่จะไปทำนะ เพราะฉะนั้นโครงการนี้มันเป็นข้อสงสัยว่า
มันเป็นแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองใช่หรือไม่
ซึ่งรัฐบาลเนี่ยต้องการเสถียรภาพจากพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ ถามหน่อย!
ตอนที่จะขอให้มาร่วมกันเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลเนี่ย
มีข้อตกลงกันหรือเปล่าเรื่องถนนปลอดฝุ่นกับรถเมล์ 4 พันคัน
ซึ่งเป็นเค้กในส่วนของพรรคภูมิใจไทย คือรัฐบาลคงตอบว่าไม่จริง
โปร่งใสแน่นอน แต่คิดว่าถ้าคนมีสติปัญญาที่ปกติ
เป็นคนปกติที่ยังไม่บ้าเนี่ย โครงการแบบนี้ไม่ควรจะผ่านอยู่แล้ว
ขาดทุนแน่นอน"

น.ส.รสนา ซึ่งร่วมกับกลุ่ม 40 ส.ว.เปิดแถลงคัดค้านกรณีที่
ครม.มีมติเห็นชอบโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันเมื่อวานนี้ (30 ก.ย.)
ยังยืนยันด้วยว่า จะติดตามโครงการนี้อย่างเข้มข้น
เพราะโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน
เป็นการขยายมาจากโครงการรถเมล์ยูโรทู 500 คัน ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
(สตง.) เคยชี้ไปแล้วว่ามีการทุจริต
และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แห่งชาติ (ป.ป.ช.) น.ส.รสนา ยังเตือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า อย่า
คิดว่า การมีเสถียรภาพกับพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นคือคำตอบที่ทำให้รัฐบาลอยู่ได้
เพราะหากรัฐบาลทำในสิ่งที่ทุจริตคอร์รัปชั่น หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์
หรือเกี้ยเซี้ยกันเพียงเพื่อสมประโยชน์กันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
โดยไม่สนใจเรื่องธรรมาภิบาลแล้วละก็ อย่าหวังว่ารัฐบาลจะอยู่ได้!!


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000115708

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น