++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

การสนับสนุนทางการเมือง (Political Support)

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสถาปนาชุมชนการเมือง และมีการสถาปนารัฐ โดยมีระบบการเมืองที่แตกต่างกันแล้วแต่สังคม ผู้ใช้อำนาจรัฐคือรัฐบาล
      
        ในการวิเคราะห์การเมืองแบบระบบ (systems theory) จะมองอยู่ที่ 3 หน่วยของการเมือง หน่วยแรกได้แก่ ชุมชนทางการเมือง (political community) หน่วยที่สองได้แก่ ระบอบการปกครองซึ่งเกิดจากระบบการเมือง (political regime) และหน่วยที่สามได้แก่ ผู้ใช้อำนาจรัฐหรือรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่การเมือง (political authorities)
      
        สังคมที่อยู่ร่วมกันโดยสงบสุขจะให้การสนับสนุนต่อทั้ง 3 หน่วย อันได้แก่ การสนับสนุนต่อชุมชนทางการเมือง กล่าวคือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังคิดว่าตนเองนั้นเป็นประชาชนของชุมชนการเมืองนั้น โดยจะไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น เช่น เป็นคนสิงคโปร์ถึงแม้จะไม่ชอบรัฐบาลหรือระบบการเมือง แต่ก็ยังคิดว่าจะอยู่ร่วมกันภายในชุมชนการเมืองนั้นที่เรียกว่าสิงคโปร์
      
        ในส่วนที่สองคือการสนับสนุนต่อระบอบการปกครอง เช่น ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีปัญหา มีการล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็ยังต้องการธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองดังกล่าว ถ้ามีปัญหาก็ทำการปฏิรูปปรับปรุงให้ดีขึ้น
      
        ในส่วนที่สาม ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่การเมืองนั้นคือรัฐบาล อาจจะมีผลงานไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ก็ยังยินดีให้การบริหารประเทศต่อไป เพราะคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ดีที่สุดที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
      
        แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความขัดแย้งในสังคมขนาดหนักจนไม่สามารถจะใช้เหตุ ใช้ผลในการเจรจาต่อรองเพื่อหาข้อยุติในความขัดแย้งดังกล่าว หรือถ้าเกิดความรู้สึกว่าสังคมที่ตนอาศัยอยู่นั้นเป็นสังคมที่ขาดความ ยุติธรรม ระบบทำงานไม่ได้ผล ผู้ใช้อำนาจรัฐขาดความชอบธรรม จนตนเองเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากอยู่ร่วมกันในชุมชนการเมืองต่อไป ก็อาจมีขบวนการขอแยกตัวมาเป็นชุมชนการเมืองต่างหาก ทันทีที่ความคิดนี้เกิดขึ้นก็กล่าวได้ว่า สมาชิกชุมชนการเมืองนั้นกำลังถอนการสนับสนุนจากการอยู่ร่วมเป็นชุมชนการ เมืองเดียวกัน เช่น
      
        กรณีของบังกลาเทศที่แยกออกจากปากีสถาน หรือกรณีของติมอร์ตะวันออกที่แยกออกจากอินโดนีเซีย ในกระบวนการแยกตัวออกมานี้อาจจะนำไปสู่การสู้รบกันและมีการเข้ามาไกล่เกลี่ย แทรกแซงโดยมหาอำนาจหรือโดยองค์การโลก หรืออาจจะมีการเปิดโอกาสให้ลงประชามติว่าจะอยู่ในชุมชนการเมืองเดิม หรือจะขอแยกตัว ซึ่งถือเป็นปัญหาการเมืองที่รุนแรงที่สุดเพราะเป็นการแยกออกจากรัฐเดิม
      
        ในกรณีที่มีการแยกจากรัฐเดิมเนื่องจากรัฐเดิมล่มสลาย ก็เช่นสหภาพโซเวียตซึ่งแตกเป็นประเทศเล็กๆ หลายประเทศ หรือในกรณีที่มีการสู้รบจนขอแยกตัวออกเป็นเอกราชก็มีตัวอย่างมาแล้วหลาย ประเทศ และนี่ถือเป็นวิกฤตทางการเมืองที่รุนแรงที่สุด
      
        ในส่วนของการไม่ให้การสนับสนุนต่อระบอบการปกครองนั้น ก็พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบประชาธิปไตยไปสู่ระบบสังคมนิยม ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศจีน หรือในกรณีที่มีการปฏิวัติโดยใช้กำลังล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยไปสู่ระบบเผด็จการ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนไม่พอใจลุกฮือต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ ก็คือการถอนการสนับสนุนที่มีกับระบบเดิม เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ซึ่งเริ่มต้นจากการถอนการสนับสนุน โดยการสนับสนุนเดิมนั้นเกิดจากความกลัวในอำนาจ มิใช่เกิดจากความผูกพันที่มีต่อระบบเมื่อความกลัวหมดไปก็สามารถต่อสู้เพื่อ เปลี่ยนระบบได้
      
        ในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่การเมืองนั้น ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยวิธีการก็คือไม่ลงคะแนนเสียงให้การเลือก ตั้งในครั้งต่อไปจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือถ้ามีการขับไล่รัฐบาลด้วยการลุกฮือของประชาชนและเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่การเมืองหรือรัฐบาล แต่บ่อยครั้งการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลง ระบอบการปกครองก่อน
      
        สังคมใดก็ตามที่เกิดวิกฤตการณ์ขาดการสนับสนุนทั้ง 3 หน่วยการเมือง คือชุมชนการเมือง ระบอบการปกครอง และเจ้าหน้าที่การเมือง ต้องถือว่าเป็นวิกฤตการเมืองที่มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก และถ้าไม่สามารถที่จะเจรจาต่อรองจนหาทางออกที่ดีที่สุดเป็นที่ยอมรับของทุก ฝ่าย โอกาสที่จะนำไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังย่อมเกิดขึ้นได้
      
        ในตอนแรกก็อาจจะเพียงต้องการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่การเมือง แต่ถ้าเลยเถิดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็ยังคงเหลือชุมชนการ เมืองอยู่เหมือนเดิม สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือการไปไกลจนถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงชุมชนการ เมือง แยกออกมาเป็นหน่วยต่างๆ ในส่วนนี้ต้องถือว่าชุมชนการเมืองก็ดี ระบอบการปกครองก็ดี เจ้าหน้าที่ทางการเมืองก็ดี ของรัฐเดิมนั้นเกิดการล่มสลาย และในทางรัฐศาสตร์ต้องถือว่านี่คือวิกฤตทางการเมืองที่รุนแรงที่สุด
      
        คำถามก็คือ จะมีทางแก้ไขต่อการถอนการสนับสนุนที่ประชาชนมีต่อ 3 หน่วยการเมืองดังกล่าวได้อย่างไร ประเด็นอยู่ที่ว่าประชาชนอยู่ร่วมกันเพราะความยินยอมที่จะอยู่ร่วมชุมชนการ เมืองเดียวกัน เนื่องจากเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และขณะเดียวกันที่ยอมอยู่ใต้ระบอบการปกครองนั้นก็เพราะตนสามารถจะมีความ ผาสุก และธำรงไว้ซึ่งความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าการดำรงอยู่ภายใต้ระบบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ การมีชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้ใช้ อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล หรือเข้ามาสู่ตำแหน่งอำนาจโดยขาดความชอบธรรม
      
        ประเด็นสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันของชุมชนการเมืองภายใต้ระบอบการปกครอง เดียวกัน และภายใต้การบริหารเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะต้องตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของสมาชิกชุมชน นั่นคือ การมีชีวิตที่ดี มีปัจจัยสี่ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ระบบมีความเป็นธรรม กระบวนการต่างๆ มีความยุติธรรม
      
        เมื่อ ไหร่ก็ตามที่เกิดความรู้สึกว่าระบบสังคมไม่ตอบสนองต่อความมีศักดิ์ศรีของ มนุษย์ ระบบการปกครองขาดความชอบธรรม ผู้ใช้อำนาจรัฐขาดความชอบธรรมและความยุติธรรม ทำให้ไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันอีกต่อไปได้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ โอกาสของการนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐและ ประชาชน หรือระหว่างประชาชนที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และนี่เป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และต้องรีบหาทางแก้ไขโดยสันติวิธีโดยรีบด่วน คำถามคือ ใครจะเป็นคนริเริ่มและจะดำเนินการอย่างไร


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000039811

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น