++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

ทางเดียวเท่านั้นหยุดความชั่วร้ายลงได้ สู่ความยิ่งใหญ่ของชาติ

โดย ป.เพชรอริยะ    


ก่อนอื่นขอแสดงความห่วงใย และกำลังใจมายังคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ให้หายไวๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป รวมทั้งญาติมิตร ชาวพันธมิตรฯ และรวมทั้งพี่น้องปวงชนไทยทุกคน
      
       ความอัปมงคล ความอัปยศที่เกิดขึ้นกับชาติของเราอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า หัวใจหลักก็คือผู้ปกครองขาดความรู้ ความเข้าใจ โง่เขลาเรื่องระบอบ หรือหลักการปกครองนี้เอง ทำให้การเมืองไทยไปผูกติดอยู่กับบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งล้วนแล้วทำเพื่อประโยชน์ตนและกลุ่มของตนทั้งสิ้น จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างร้ายแรงเสมอมานับแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน
      
       ความขัดแย้งร้าวฉานของชนในชาติจะมีแต่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คน ดีจะกลายเป็นร้าย คนร้ายจะกลายเป็นคนดี เว้นเสียแต่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม คือหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางการเมือง และสังคมของปวงชนในชาติ เมื่อประชาชนเข้าใจหลักการปกครอง เข้าใจการเมือง และเข้าใจการปฏิบัติต่อกันในสังคม พวกนักการเมืองผีเปรต ฉ้อราษฎร์บังหลวงหลอกลวงทั้งหลาย ก็จะหมดไป
      
       ทางออกที่ดีที่ถูกต้องที่สุดของชาติ สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของชาติไทยเรา โดยมั่นคงในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และแก่นธรรมอันสูงสุด ได้ประยุกต์เป็นหลักการปกครอง (Principle of Government) เรียกว่าธรรมาธิปไตย 9 โดยย่อดังนี้
      
       1. หลักธรรมาธิปไตย (The Principle of Dhammādhipateya, Supremacy of the Dharma)
      
       พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุทั้งหลายฟังเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองให้ เป็นธรรม โดยให้ถือธรรมาธิปไตย และให้ภิกษุนำไปสอนเผยแผ่สืบต่อไม่ให้ขาดสาย (ที.ปา. 11/35) ความย่อว่า
      
       ธรรมาธิปไตย 1) จงอาศัยธรรมเท่านั้น 2) สักการธรรม 3) ทำความเคารพธรรม 4) นับถือธรรม 5) บูชาธรรม 6) ยำเกรงธรรม 7) มีธรรมเป็นธงชัย 8) มีธรรมเป็นยอด 9) มีธรรมเป็นใหญ่... และปัญญาที่ลึกซึ้งสูงสุด ธรรมาธิปไตย คือเอกภาพของสรรพสิ่ง
      
       2. หลักพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐ (The Principle of the King as the head of the Kingdom of Thailand) ประเทศไทยทุกยุคทุกสมัยแต่โบราณกาลมา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ว่าสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์ การเมือง และทางสังคมของประเทศไทยจะเป็นไปในทางทิศใด พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐคู่กับปวงชนชาติไทยเสมอมา และได้พัฒนาขึ้นเป็นอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการสร้างสรรค์สู่หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 อันยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชสมภารเจ้า พระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงปฏิบัติธรรมอันเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ และทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นเอกภาพหรือศูนย์รวมจิตใจของชนในชาติ
      
       3. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (The principle of the Popular Sovereignty) ในการปกครองแบบสมัยใหม่ และรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่ารัฐชาติ (Nation state) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาความเป็นรัฐชาติไทยขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. 2434) เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น ความมั่นคงให้เกิดเอกภาพขึ้นแก่ประเทศ อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองของประเทศหรือรัฐ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
      
       1) อำนาจอธิปไตยด้านชาติ คืออำนาจในการปกครองประเทศของตนอย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากต่างประเทศ เป็นอำนาจที่สัมพันธ์กันอย่างอิสระระหว่างรัฐหรือประเทศต่างๆ
      
       2) อำนาจอธิปไตยของปวงชน อำนาจอธิปไตยด้านชาติจะเข้มแข็งหรือไม่เพียงไรขึ้นอยู่กับอำนาจอธิปไตยของปวงชน อำนาจอธิปไตยของปวงชนเข้มแข็ง อำนาจอธิปไตยด้านชาติก็จะเข้มแข็งด้วยอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้ประเทศชาติเข้มแข็ง ไม่ถูกแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจได้โดยง่าย และนานาประเทศต้องเกรงขาม ในความเป็นเอกภาพของปวงชนในชาติ
      
       ทุกวันนี้อำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียว จึงทำให้อำนาจอธิปไตยด้านชาติอ่อนแอ ถูกแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจ และประเทศไทยจะเต็มไปด้วยนักการเมืองฉ้อฉล ขี้โกง เต็มบ้านเต็มเมือง
      
       ความสัมพันธ์ระหว่างประมุขแห่งรัฐกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน ย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน คือเป็นลักษณะทั่วไป (Comprehensiveness) คือครอบคลุมองค์รวมทั้งประเทศ และมีความเด็ดขาด (Absoluteness) มีความถาวร (Permanence) แบ่งแยกมิได้ (Indivisibility) และมีลักษณะทั่วไป (General power) คือครอบคลุมอำนาจอื่นที่ต่ำกว่าอำนาจอธิปไตยทั้งหมด เช่น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อันเป็นอำนาจลักษณะเฉพาะที่แตกต่างหลากหลาย และเป็นอำนาจชั่วคราวตามวาระ เป็นต้น
      
       ประมุขแห่งรัฐมีความชอบธรรม ในการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อแก้ไขเหตุวิกฤตสำคัญๆ ของชาติ ซึ่งองค์กรอำนาจอื่นไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น อำนาจในการยุติการจลาจลทางการเมือง อำนาจในการยุติสงครามกลางเมืองหรือสงครามระหว่างประเทศ และการใช้อำนาจในการแก้ไขเหตุวิกฤตแห่งชาติ ทั้งนี้โดยองค์ประมุขแห่งรัฐทรงใช้อำนาจในลักษณะเป็นธรรมสูงสุด หรือธรรมาธิปไตย โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งชาติเป็นสิ่งสูงสุด
      
       เอกภาพของอำนาจอธิปไตยของปวงชนตามลักษณะพิเศษของประเทศไทย ได้รวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐ (แห่งราชอาณาจักร) นั่นเอง
      
       4. หลักเสรีภาพของบุคคล (The Principle of Freedom of person) เป็นมิติหนึ่งของกฎธรรมชาติ หมายถึงเสรีภาพบริบูรณ์ของบุคคล คือเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพส่วนบุคคลเอกชน เป็นเสรีภาพที่บุคคล นิติบุคคล และรัฐ ไม่ควรละเมิดเสรีภาพของประชาชน
      
       5. หลักความเสมอภาค (The Principle of Equality) เป็นมิติหนึ่งของกฎธรรมชาติ หมายถึง 1) ความเสมอภาคทางการเมือง คือ ความเสมอภาคในการแสดงพฤติกรรม ต่อสังคมในการอุทิศตนเพื่อประเทศชาติ อันเป็นกิจกรรมกุศลสาธารณะ 2) ความเสมอภาคทางกฎหมาย 3) ความเสมอภาคทางโอกาส
      
       6. หลักภราดรภาพ (The Principle of Fraternity) เป็นมิติหนึ่งของกฎธรรมชาติ คือการถือว่ามวลมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งผองเป็นพี่น้องกัน เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้อยที ถ้อยอาศัย บนรากฐานของความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการให้โอกาส ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะทางอาชีพ วุฒิการศึกษา ศาสนา ความเชื่อต่างๆ ทุกวันนี้สังคมไทยขาดความเป็นภราดรภาพ เป็นเพราะระบอบการเมืองเผด็จการครอบงำ (การปกครองที่ไม่มีหลักการปกครองโดยธรรม มีแต่รัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว) แต่พวกผู้ปกครองซึ่งขาดปัญญาไม่ยอมรับความจริง)
      
       7. หลักเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรม (The Principle of Unity) เป็นมิติหนึ่งของกฎธรรมชาติ การถือหลักเอกภาพของความแตกต่างหลากหลาย (Unity of diversity) ความเป็นเอกภาพคือความสามัคคีธรรมและความสันติสุขของคนในชาติ บนความแตกต่างทางวุฒิการศึกษา อาชีพ ศาสนา ลัทธิฯ ลัทธิการเมือง ความเชื่อ ค่านิยม จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้นั้น ก็ต่อเมื่อประเทศมีหลักการปกครองที่เป็นธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ธรรมาธิปไตย 9 เท่านั้น
      
       8. หลักดุลยภาพ (The Principle of Balance) เป็นอีกมิติหนึ่งของกฎธรรมชาติ บนความสัมพันธ์ทั้งองค์รวมหรือทั้งระบบในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้ง หมด การตั้งอยู่ ทรงอยู่ ดำรงอยู่อย่างดุลยภาพได้นั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพมีลักษณะแผ่กระจายกับด้านความแตกต่างหลาก หลายมีลักษณะรวมศูนย์ จึงก่อให้เกิดดุลยภาพซึ่งมีลักษณะพระธรรมจักรนั่นเอง
      
       9. หลักนิติธรรม (The Principle of the Rule of law) หลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมอันเป็นหลัก เป็นกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรม ปัจจุบันจะมีหลักการ รูปแบบและวิธีการปกครองบ้านเมืองสมัยใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งยวดในความเป็นธรรมของปวงชนในทุกมิติ และหลักนิติธรรมนี้กำหนดขึ้นจากหลักคำสอนพระพุทธเจ้าและกฎธรรมชาติ โดยได้คล้องกับลักษณะพิเศษของประเทศไทย คือ ชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ คือ หลักธรรมาธิปไตย 9 ดังกล่าวนี้
      
       ทั้งนี้ ทั้งหลักนิติธรรมและหลักการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นหลักที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติ สามารถนำไปใช้ทั้งบุคคลและองค์กรนั้นๆ จะเกิดความมั่นคงเจริญก้าวหน้าแบบยั่งยืน
      
       ใน การแก้เหตุวิกฤตชาติง่ายนิดเดียว โดยองค์พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 คือการสถาปนาหลักความมั่นคงแห่งชาติ และเอกภาพของชาติอย่างยั่งยืนนั่นเอง
      
       จากนั้น ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ คำสั่ง ประกาศ กฎกระทรวง ฯลฯ ให้สอดคล้องไม่ขัดต่อหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 และการจัดความสัมพันธ์ภายในชาติในทุกมิติให้ถูกต้องเป็นธรรมเพียงเท่านี้ ประเทศไทยก็จะผ่านพ้นจากเหตุแห่งความชั่วร้ายของประเทศลงโดยพลัน เริ่มนับหนึ่งสู่ความศิวิไลซ์อย่างยิ่งใหญ่สู่อารยธรรมใหม่ ก้าวไกลกว่าประเทศอื่นใดในโลก
      
       ขอแนะนำ และเป็นกำลังใจให้ รัฐบาลโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำเนินการเป็นนโยบายแห่งชาติได้ทันที “เว้นเสียแต่มีอำนาจแต่ขาดปัญญา” เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา มัวแต่หลงเข้าใจผิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอบอกว่า “จะแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญสักร้อยครั้ง พันฉบับ ก็มิอาจจะแก้ไขเหตุวิกฤตชาติให้ลุล่วงไปได้ เว้นแต่เห็นแจ้งด้วยปัญญา สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เท่านั้น”

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000044216

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น