++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ความต่างของบุญ กับ กุศล



เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสามารถในการพินิจพิจารณา แต่ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็นคนละอย่างหรือเรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมายของรูปศัพท์แห่งคำสองคำนี้ทีเดียว

บุญ
เป็นสิ่งที่ทำให้ ฟูใจ พอใจ ชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่าตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ทำบุญเอาหน้าเอาเกียรติอย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าได้บุญเหมือนกัน แม้จะเป็นบุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อเอาบุญกันจริงๆก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามแต่ตนจะปรารถนา ไม่ออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสารได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติอย่างไรก็ตาม ฉะนั้นความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ ฟูใจ และ เวียนไปเพื่อความเกิดอีกไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้

กุศล
เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่งสิ่งต่างๆอันเป็นเหตุให้พัวพันอยู่ในกิเลสตัณหา อันเป็นเครื่องนำให้เกิดแล้วเกิดอีก และมีจุดมุ่งหมายกวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว ในเมื่อบุญต้องการโอบรัดเข้ามาหาตัวให้มีเป็นของของตัวมากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ และพอใจดีใจนั้น ฝ่ายที่ถือข้างกุศลก็เห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นความโง่เขลาขนาดเข้าไปกอดรัดงูเห่าทีเดียว ฝ่ายข้างกุศลหรือที่เรียกว่าฉลาดนั้น ต้องการจะปล่อยวาง หรือผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่นให้ปล่อยวางหรือผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศลจึงถือว่าฝ่ายข้างบุญนั้นยังเป็นความมืดบอดอยู่

ตัวอย่าง
เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณาดูที่ตัวอย่างต่างๆที่เรากระทำกันอยู่จริงๆคือ ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือเอาของตอบแทนเป็นกำไร หรือเพื่อผูกมิตรหาพวกพ้อง หรือแม้ที่สุดแต่เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้เรียกว่าให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ

แต่ถ้าให้ทานอย่างเดียวกันนั่นเองแต่ต้องการเพื่อขูดความขี้เหนียวของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนาเอาไว้ เพราะเห็นว่าศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ของโลก หรือให้เพราะเมตตาล้วนๆโดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่าให้ไปเสียมีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่าให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล

ซึ่งมันแตกต่างไปคนละทิศละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเองที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทานจนกลายเป็นผลร้ายขึ้นในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทานถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูงพ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลาความขี้เหนียวในจิตใจของเขา ก็ยังมีปัญญารู้จักเหตุผลว่าควรให้ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ เพราะว่ากุศลไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญจึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร


ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก
รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จักความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีลแล้วรักษาเพื่ออวดเพื่อนฝูง หรือเพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้ หรือทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น ยิ่งเคร่งเท่าใดยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัวมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งมีความยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคมเกิดขึ้นใหม่ๆแปลกๆ เพราะความเคร่งครัดในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ

ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่ง รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวนเท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไปคนละทิศละทาง อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นภาวะแห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสียก็ไม่มีทางตกหล่มจมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไปมากเท่าไร ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่า กุศล แปลว่า ความฉลาด หรือเครื่องทำให้ฉลาด และปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์


ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ
สมาธิเอาบุญก็ได้ เอากุศลก็ได้ สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับคนโน้นคนนี้ที่โลกอื่น ตามที่ตนกระหายจะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือสมาธิเพื่อการไปเกิดในภพนั้นภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตรายแก่เจ้าของถึงกับต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ หรือรักษาไม่หายจนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่าสมาธิเช่นนี้มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุดก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

ส่วนสมาธิที่มีความมุ่งหมายเพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจเพื่อกวาดล้างกิเลส อันกลุ้มรุมจิตให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศลไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้ามจากสมาธิเอาบุญ


*ครั้นมาถึงปัญญา นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัวปัญญานั้นเป็นตัวกุศลเสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์อย่างเดียว แม้ยังจะต้องเกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ ไม่วนเวียน จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าปัญญาในกองธรรม หรือธรรมขันธ์ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น


สรุป
ตามตัวอย่างที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับการกระทำของพวกเราเองดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่าการที่เราเผลอ หรือถึงกับหลงเอา บุญ กับ กุศล มาปนเปเป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิดความสับสนอลเวงเพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ จนเกิดความยุ่งยากสับสนอลหม่านในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอาของสองอย่างนี้เป็นของอันเดียวกันอย่างที่เรียกกันพล่อยๆติดปากชาวบ้านว่า

"บุญกุศล" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวกับการทำบุญกุศลนี้ ให้ลุล่วงไปด้วยความดีจนตลอดกัลปาวสานก็ได้

ถ้ากล่าวให้ชัดๆสั้นๆ

"บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาปไม่ให้งอกงามหรือปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก"

"ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัดรากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไปจนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ"

ความต่างกันอย่างยิ่งย่อมมีอยู่ดังกล่าวนี้ คนปรารถนาบุญจงได้บุญ คนปรารถนากุศลก็จงได้กุศล และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใครจะมองเห็น และจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใดจึงจะชื่อว่า พวกเรารู้จักบุญกุศลกันจริงๆ รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้า และทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกัน ได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทาง" เหมือนกันทั้งสองฝ่าย


โดยท่านพุทธทาส: เทสก์ ณ วัดธารน้ำไหล, ๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น