Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555
การสอนคุณธรรมด้านความสามัคคี : กรณีความร้าวฉานในรัฐสภาไทย โดย อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
กระแสการเรียนรู้ธรรมะผ่านเทศกาล “พุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” สร้างบรรยากาศแห่งความสุขสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทยได้ระยะหนึ่ง แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า หลักธรรมะในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ดีงามและควรน้อมนำมาใช้ในชีวิตทั้งการครองตน ครองคน และครองงาน ทั้งนี้หลักธรรมะพื้นฐานอันเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งอย่างคำสอนที่ว่า ทำดี ละชั่ว และรักษาจิตให้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนมากผู้นับถือพระพุทธศาสนารับรู้และพยายามปฏิบัติกัน
ไม่ว่าการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบันขณะตกอยู่บนองศาแห่งความร้อนระอุทุกองคาพยพ เพราะผลพวงจากความพยายามสร้างความปรองดองผ่านรัฐสภา แต่เจตนายังเป็นที่เคลือบแคลงของอีกหลายฝ่ายหลายภาคส่วนว่า ต้องการ พ.ร.บ. เพื่อ “ปรองดอง” หรือ “นิรโทษกรรม” แน่?
การสอนคุณธรรมในสถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะระดับปัญญาชนในมหาวิทยาลัย มิติของผู้เขียน มีความเห็นว่า “สถานการณ์จริง” หรือ “กรณีศึกษา” เป็นบทเรียนและสื่อการสอนที่ตั้งอยู่บนความทันสมัย และเป็น “ประเด็น” ในกระแสแห่งความสนใจ ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างไม่รู้ตัว และการสอนคุณธรรมที่ให้เห็นผลนั้น ต้องใช้สถานการณ์หรือกรณีจริง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
กรณีศึกษา “ความร้าวฉานในรัฐสภาไทย” ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน กระทำความรุนแรงต่อกัน บ่งบอกให้เห็นถึงความ “แตกแยก” และ “เลือกข้าง” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เชื่อมโยงไปถึงภาคประชาชนทุกฝ่ายในบ้านเมือง บทเรียนนี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณธรรมด้านความสามัคคี ที่รัฐสภาพยายามให้เยาวชนมีให้มาก ยังไม่สามารถเยียวยาหรือประสาน “ความรู้สึกภายใน” ของนักการเมืองได้เพราะความมุ่งหมายของต่างฝ่าย ยังคงหวังใช้ “ภาษา” เป็นสื่อสร้างความปรองดองผ่านตัวอักษรที่จะจารจารึกในกระดาษ เพื่อสร้างความชอบธรรมและรักษาผลประโยชน์ให้กับฝ่ายตน ตามวาทะกรรมที่ว่า การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ ดังนั้นความสามัคคีจึงไม่มีที่อยู่
ผู้เขียนสอบถามนักศึกษาในบรรยากาศชั้นเรียนขนาดเล็กในสถาบัน มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับการใช้กฎหมายเพื่อปรองดอง ทั้งยังให้ข้อเสนอแนะว่า กฎหมายยังไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย แต่หากการเคารพกติกา หรือรักษาวินัยพื้นฐานที่มีเป็นสิทธิของบุคคลต่างๆ ย่อมช่วยให้สังคมลดความวุ่นวาย และอย่าให้มีการอาศัยการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศมากกว่าใช้กติกาที่มีอยู่ ซึ่งไม่ได้ใช้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ความคิดเห็นเหล่านี้แสดงเห็นว่า การสอนคุณธรรมต่างๆ รวมทั้งความสามัคคีที่ดีและเกิดคุณค่าอย่างหนึ่งนั้น ควรใช้กรณีศึกษา เป็นสื่อในการสอนคุณธรรม
ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน ผู้เขียนยังคงเป็นห่วงเยาวชนทุกระบบการศึกษาของประเทศ ที่รับข้อมูล ข่าวสารและไม่อาจแยกแยะได้ว่า สารใดสื่อด้วยเหตุผล สารใดสื่อด้วยอารมณ์ และคุณธรรมอันดีงาม จะคงอยู่ได้อย่างมีคุณค่า โดยพวกเขาไม่รู้สึกว่าวัตถุนิยมเป็นเครื่องตัดสินความดีงามภายในของมนุษย์ในอนาคต
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น