++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ เสถียร โพธินันทะ


ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ

เสถียร โพธินันทะ


พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลายปาฐกถาในวันนี้เป็นเรื่องหนักไปในทางวิชาการ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวค้นคว้าข้อเปรียบเทียบในการที่จะต้องสันนิษฐานและวินิจฉัยในปัญหาบางประการที่สำคัญ ที่มีคนส่วนมากกล่าวว่า เป็นเหตุทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธปรินิพพาน ในการที่ไปเสวยสูกรมัททวะของนายจุนทกัมมารบุตรเข้า การที่จะพูดกันถึงเรื่องนี้ จำจะต้องเล่าทบทวนเหตุการณ์ในตอนปลายสมัยพุทธกาลเสียก่อน และก็ต้องเล่าเรื่องที่พระพุทธองค์อาพาธ ในตอนสมัยพุทธกาลนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับพระชนมายุของพระศาสดา ตามความเข้าใจของเราชาวพุทธทั่วไปก็ว่า พระบรมศาสดาดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ แต่ตามการค้นคว้าของผมได้ประจักษ์หลักฐานว่า พระบรมศาสดาดับขันธปรินิพพานนั้นเมื่อพระชนมายุ ๘๑ ไม่ใช่ ๘๐ คือย่างเข้าปี ๘๑ ยังไม่เต็ม ดับขันธ์ปรินิพพานในปีนั้นไม่ใช่ ๘๐ ถ้วน

ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้ อันนำไปสู่ประเด็นสูกรมัททวะในตอนปลายนั้น ก็จำต้องเล่าทบทวนเสียก่อนว่า ในปีที่พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ นั้นเข้าใจว่าในตอนต้น ๆ ปีคงจะประทับอยู่ที่แคว้นโกศล เพราะมีข้อความปรากฏในบาลีธรรมเจติยสูตร กล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ และได้แสดงความเลื่อมใสปสาทนียกิจยิ่งนักในพระผู้มีพระภาค คือเสด็จเข้าไปนวดที่พระยุคลบาททั้งสอง และจุมพิตพระยุคลบาททั้งสองประกาศนามว่า ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งนัก พระบรมศาสดาจึงทูลถามพระเจ้าปเสนทิว่า ดูก่อนมหาราช เหตุไฉนพระองค์จึงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในตถาคตเห็นปานเช่นนี้ พระเจ้าปเสนทิก็พรรณนาพุทธคุณมีเอนกปริยายต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ แต่มีข้อความตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ แม้หม่อมฉันก็มีพระชนมายุได้ ๘๐ พระผู้มีพระภาคเป็นชาวโกศลแม้หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล

ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อออกจากที่เฝ้าแล้ว ราชโอรส คือ เจ้าชายวิฑูฑภะเป็นกบฏต่อพระราชบิดา ปิดประตูเมืองสาวัตถีไม่ให้ต้อนรับ ช่วงชิงเอาราชสมบัติไป พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงต้องซัดเซพเนจร หวังที่จะมาพึ่งหลานชาย คือเจ้าอชาตศัตรู ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วก็เลยเสด็จสวรรคตที่หน้าประตูเมืองราชคฤห์นั้นเอง เพราะแก่เฒ่าชรามากแล้ว อายุตั้ง ๘๐ ปีแล้ว เดินทางข้ามเมืองข้ามประเทศบุกป่าฝ่าดงรอนแรมมาหลายวัน ข้าวปลาอาหารก็ไม่ได้ตกถึงท้อง ความลำบากตรากตรำประกอบที่ทรงเสยพระทัยที่ลูกชายเนรคุณอกตัญญูเป็นกบฏผสมกันเข้า และอากาศในคืนนั้นก็หนาวเย็นผสมกัน จึงมีเหตุให้พระเจ้าปเสนทิเสด็จสวรรคต

ในวันรุ่งขึ้น ข่าวนี้ได้ทราบไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรูผู้หลาน กว่าจะเห็นองค์ก็เป็นพระบรมศพไปแล้ว จึงได้จัดกาพระบรมศพของพระมาตุลาธิราช ถ้าในปัจจุบันแล้ว มีฐานะเป็นพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูนี้เป็นสามีของเจ้าวัชรีพล เพราะฉะนั้นก็มีศักดิ์เป็นทั้งพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู และเป็นทั้งลุงของพระเจ้าอชาตศัตรู

เรื่องราวตอนนี้ก็บ่งว่าพระเจ้าวิฑูฑภะชิงราชสมบัติสำเร็จ ได้ยกกองทัพไปตีเมืองกบิลพัสดุ์ กำจัดพวกศากยวงศ์ ทำลายเมืองกบิลพัสดุ์เสียราบไป

เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นตอนที่พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ปรินิพพานจะเกิดขึ้นในปีเดียวกันไม่ได้ เพราะเป็นขณะที่วิฑูฑภะยกกองทัพมากำจัดพวกศากยวงศ์ก็ดี หรือกรณีที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกลูกชายเป็นกบฏ กำจัดเสียจากราชสมบัติก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะไปนิพพานในปีที่พระชนมายุย่างเข้า ๘๑ แล้ว ไม่ใช่ ๘๐ ต้องถัดไปอีกปีหนึ่ง หลังจากที่เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จึงจะดับขันธปรินิพพานในปีนั้นได้ ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไปว่าพระองค์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ นั้นเพราะว่าจำนวนเลขที่ลงตัวอยู่แล้ว เพื่อจำง่ายและสะดวกด้วย เพราะเรื่องเศษเลขเป็นเรื่องออกจะจำยาก ไม่เหมือนเลขที่ลงตัว

แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏในธรรมเจติยสูตรก็ดี และหลักฐานที่เจ้าชายวิฑูฑภะยกกองทัพไปกำจัดศากวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์ก็ดี บ่งว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคต้องเสด็จมาห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะถึง ๓ ครั้ง โดยเสด็จอยู่โคนต้นไม้ใบโกร๋นริมทางที่กองทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะจะผ่าน ในขณะเดียวกับที่มีร่มไม้ใบหนาอยู่ริมทางอีกมากต้น เจ้าชายวิฑูฑภะ พอเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่อย่างนั้น ที่ชายแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นโกศล ก็ไม่กล้ายกกองทัพข้ามแดนไปด้วยความเกรงพระหฤทัยพระบรมศาสดา แต่นึกในใจว่า แน่นอน พระศาสดาต้องเสด็จมาคุ้มครอง สุดท้ายพระพุทธองค์ทรงเล็งการณ์แล้วเห็นว่า ห้ามไม่ได้แล้ว เป็นผลกรรมของบรรดาศากยวงศ์ในอดีตชาติ ซึ่งเคยเบื่อยาลงในแม่น้ำ ทำให้ปลา เต่า ตายเป็นจำนวนมหาศาล ผลกรรมอันนี้ได้ติดตามมาสนองแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมิอาจจะห้ามไว้ได้ จึงมิได้เสด็จไปประทับห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะอีก เจ้าชายวิฑูฑภะจึงได้ยาตราเข้าไปในเมืองกบิลพัสดุ์ได้โดยสะดวก และฆ่าฟันพระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เสียมากต่อมาก เรื่องราวตอนนี้ต้องเกิดขึ้นในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐

แล้วลองมาเทียบเคียงในบาลีมหาปรินิพพานสูตร เริ่มต้นก็กล่าวถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ว่า อยู่ที่แขวงเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ก็เรื่องราวอันนี้ เกิดขึ้นในตอนต้นปีที่ประทับอยู่ในเมืองราชคฤห์ เพราะฉะนั้นจะเป็นต้นปี หรือกลางปีที่ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน แล้วไปพ้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องลำดับเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิ กับเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะกำจัดศากยวงศ์นั้น จะต้องเกิดขึ้นต้นปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๘๐ หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จจากแคว้นโกศล ไปประทับอยู่แขวงเมืองราชคฤห์ ราว ๆ กลางปีก่อนจะเข้าพรรษา ในระหว่างประทับอยู่เมืองราชคฤห์นี้ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเช่นว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกษัตริย์ทั้งแคว้นโกศลและมคธ เวลานั้นเจ้าชายวิฑูฑภะเมื่อยาตราทัพไปกำจัดศากยวงศ์ได้แล้ว ผลกรรมก็ติดตามไปสนอง พักพลอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เกิดน้ำหลากท่วมมาหนีน้ำไม่ทัน ตายกันหมดทั้งกองทัพ รวมทั้งเจ้าชายวิฑูฑภะจมน้ำตาย ผลกรรมให้ผลทันตาเห็น

เมื่อราชบัลลังก์ของแคว้นโกศลว่างกษัตริย์ เจ้าชายอชาตศัตรู ในฐานะเป็นทั้งหลานและลูกเขยของพระเจ้าปเสนทิ เพราะฉะนั้นจึงโอนโกศลไปขึ้นกับมคธอีก พระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้ครอบครองแคว้นโกศลอีกแคว้นหนึ่ง แล้วก็ได้เริ่มคิดวางแผนแผ่จักรวรรดิโดยจะฮุบเอาแคว้นวัชชี โดยการจัดเตรียมวางกลยุทธเพื่อเข้าโจมตีแคว้นวัชชี อันเป็นแคว้นอยู่ตรงกันข้ามกับแคว้นมคธ คนละฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำคงคาเป็นเขตแดนกั้น

เรื่องจะตีแคว้นวัชชีนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว แม้พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ ถ้าเราจะสังเกตจะเห็นได้ว่า ในปีสุดท้ายแห่งพระชนมายุของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีเป็นเวลานานเหลือเกิน ประทับอยู่เป็นเวลาตั้งเกือบ ๘ เดือน โดยไม่ยอมไปเสด็จประทับในที่อื่นใดทั้งหมด ดูราวประหนึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงตั้งพระหฤทัยต้องการที่จะป้องกันแคว้นวัชชี ให้พ้นจากภัยของพระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสรรพสัตว์ ด้วยเกรงว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในแคว้นวัชชีจะเป็นอันตรายไป

แม้ข้อความตอนนี้ แม้จะไม่ได้บ่งชัดในพุทธประวัติมหาปรินิพพานสูตรก็จริง แต่ดูตามเหตุการณ์ก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ก็ควรจะเป็นไปในฐานะเช่นนั้น เพราะเมื่อเสด็จออกจากแคว้นมคธแล้ว ก็เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา มุ่งเข้าสู่แคว้นวัชชี ประทับอยู่ที่แคว้นวัชชีถึงหนึ่งพรรษาเต็ม ๆ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น ออกพรรษาแล้วก็ยังเสด็จวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตำบลต่าง ๆ ในแคว้นวัชชี ซึ่งประทับอยู่ที่ ภัณฑุคาม อัมพุคาม โภคนครเป็นต้น อันเป็นตำบลต่าง ๆ อยู่รอบ ๆ เมืองเวสาลี ไม่ได้ตั้งพระหฤทัยจะเสด็จจากไปง่าย ๆ เมื่อพระองค์ยังเสด็จประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีตราบใด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่กล้ายกกองทัพมาเบียดเบียนแคว้นวัชชีตราบนั้น ด้วยเกรงพระบารมี เพราะมีความเคารพในพระพุทธเจ้า เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในที่ใด ก็นำความผาสุกมาสู่ที่นั้น ไม่เบียดเบียนผู้ใด

จนกระทั่งในพรรษาสุดท้ายนั่นเอง เมื่อพระองค์เสด็จประทับจำพรรษาอยู่ตำบลบ้านเวฬุวคาม อันเรียกกันง่าย ๆ ว่าตำบลบ้านไผ่ ในพรรษานั้นพระองค์ได้ประชวรหนัก เกือบที่จะเอาพระชนม์ชีพไม่รอด แต่ก็มีมติในพระหฤทัยว่า ถ้าเราจะมาปรินิพพานเสียระหว่างนี้เป็นการไม่สมควรแก่เรา เรายังไม่ได้บอกลาบรรดาภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐาก ยังไม่ได้แจ้งให้กับคณะสงฆ์ทราบเป็นทางการแล้วอยู่ ๆ จะมาดับขันธ์เช่นนี้ จะไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการสมควร เมื่อมีความปริวิตกเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงใช้อิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธทั้งหมดให้พ้นไป

เรื่องการเจริญอิทธิบาทขับไล่อาพาธให้หายนั้น นับว่าเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไป เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นการต่ออายุได้ ขับไล่อาพาธได้นั้น อิทธิบาท ๔ นั้นเจริญอย่างไร เจริญธรรมอะไร เพราะอิทธิบาทนั้นเป็นกริยาเข้าไปเจริญ จะต้องมีธรรมอะไรที่ถูกเข้าไปเจริญ ที่เป็นผล หรือต้นตอพื้นฐานรองรับธรรมะคืออิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญนั้น

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่น่าวินิจฉัยมาก เพราะส่วนมากเราทราบกันทั่ว ๆ ไปเพียงว่า เพราะอิทธิบาท ๔ ต่อพระชนมายุได้ ทราบกันเพียงแค่นี้ และอิทธิบาท ๔ ที่เรารู้กันก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่องกันได้

ถ้า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ธรรมดาพื้น ๆ นี้เป็นอิทธิบาทแล้ว คนที่เขารำพัดคือเล่นไพ่ เขาก็มีอิทธิบาทเหมือนกันหนา เพราะฉันทะเขาก็มีความพอใจที่จะเล่น วิริยะ ขยัน พากเพียร ขวนขวายที่จะเล่น จิตตะ ความใส่ใจหมกมุ่น วิมังสา ไตร่ตรองหาอุบาย ใช้เล่ห์อุบายที่จะเอาชนะให้ได้ ต้องมีพร้อม มิเช่นนั้นแล้วจะเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ ๓ วัน ๓ คือ ไม่ต้องลุกขึ้นจากที่ ไม่ต้องขี้เยี่ยวกัน ไม่ต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วมกัน ขี้เยี่ยวหายไปไหนหมดเวลารำพัดกัน

ถ้าเช่นนั้นแล้วอิทธิบาท ๔ ก็เป็นธรรมะที่ต่ำไป ถ้าเข้าใจอิทธิบาท ๔ เช่นนี้แล้ว ก็เป็นการเข้าใจอิทธิบาทเป็นธรรมะที่พื้น ๆ ดาด ๆ เกินไป

แท้จริง อิทธิบาทที่กล่าวดังนี้ หาใช่อิทธิบาทดังที่ชาวบ้านสามัญชนเข้าใจกันอย่างนั้นไม่ คือไม่ใช่เป็นแต่เพียงความพอใจ ฉันทะ วิริยะ มีความพากเพียร จิตตะ มีความใฝ่ใจ วิมังสา คือ การใช้ปัญญา นี้ไม่ใช่ เพราะธรรมดาคาถาว่า จะต้องเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งและสูงกว่านั้น เราจะมาวินิจฉัยกันในประเด็นนี้

ก่อนอื่นเราต้องวินิจฉัยว่า อะไรเป็นตัวอิทธิบาท ๔ ได้แก่ธรรมะอะไร ? ธรรมะอะไรที่พระองค์เข้าไปเจริญให้มาก ทำให้มาก ธรรมะอันนั้นคืออะไร ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก

ควรพิจารณาข้อความในพุทธภาษิตในตอนนี้ ในระหว่างพรรษานั้นพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า เห็นเหตุการณ์หมดว่าพระองค์ได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงต่ออาพาธนั้น และได้ทรงขับไล่อาพาธนั้นด้วยอิทธิบาทภาวนา

พอออกพรรษาแล้ว เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ พระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมะก็ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ ทิศทั้งหลายก็เป็นที่มืดมัวแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ การคิดปัญหาธรรมะต่าง ๆ ที่เคยแจ่มแจ้งไม่แจ่มแจ้งเสียแล้วในเวลานี้ ทั้งนี้เพราะข้าพระองค์ได้มองเห็นความอดกลั้นยิ่งนัก ต่ออาพาธอันแรงกล้าของพระผู้มีพระภาคในระหว่างพรรษา แต่ก็ยังมีความหวังใจอยู่ว่า พระองค์ยังไม่คงรีบด่วนมาละพระสงฆ์สาวกไปเสีย

เมื่อพระอานนท์กราบทูลไปในทำนองนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์ เธอยังจะมาหวังอะไรในตัวตถาคตอีกเล่า สรีระของตถาคตก็มีกาลผ่านวัยมาตั้ง ๘๐ แล้ว ก็เหมือนเกวียนที่คร่ำคร่า ผุพัง ที่อยู่ได้ปะทะปะทังใช้การได้ก็ด้วยลำไม้ไผ่ที่มาผูกเอาไว้ จึงจะพอใช้การได้ แต่ก็เป็นเกวียนที่คร่ำคร่าเต็มทีแล้ว เธอยังจะมาหวังอะไร

แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสใจความได้ว่า ตถาคตสฺส โข อานนฺท จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ภาวิตา พาหุลีกตา เป็นต้น ความว่า ดูก่อนอานนท์อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้ดุจยาน กระทำให้ดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารถนาดีแล้ว ตถาคตนั้นเมื่อดำรงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ตลอดกัปป์ หรือเกินกว่ากัปป์ก็ได้ ตรัสอย่างนี้

ข้อความนี้ ก็เข้าประเด็นที่ว่าทรงใช้อิทธิบาท ๔ เจริญธรรมะ อะไรข้อนี้เราไม่ต้องไปหาหลักฐานที่ไหน เพราะข้อความบ่งชัดในมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง คือในมหาปรินิพพานสูตรตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า.. ยสฺมึ อานนฺท สมเย ตถาคโต สพฺพญฺญุตญาณํ อมนสิการา เอกจฺจานํ เวทนานํ นิโรธาอนิมิตฺตํ เจโตสมาธึ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ผาสุกโร อานนฺท ตสฺมึ สมเย ตถาคตสฺส กาโย โหติ แปลความว่า อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก ตรัสอย่างนี้

เมื่อพระอานนได้กราบทูลว่า หลังจากได้เห็นอาการอดทนของพระผู้มีพระภาคต่ออาพาธ พระอานนท์ก็มีจิตใจทุกข์ร้อนไม่สบาย ธรรมะที่เคยขบคิด แจ่มแจ้งก็ไม่แจ่มแจ้ง รู้สึกว่ามันมืดมัวใจไปเสียทุกหนทุกแห่ง หมดหวังไปเสียทุกหนทุกแห่ง แต่ว่ายังเคราะห์ดีที่ว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ตรัสล่ำลาภิกษุสงฆ์อย่างเป็นทางการ ก็ยังเป็นอันหวังได้ว่าชนมชีพของพระองค์จะอยู่ยั่งยืนอยู่กับพวกพระสงฆ์ต่อไป เป็นมิ่งขวัญของชาวพุทธต่อไปทำนองนั้น

พระพุทธเจ้าก็ได้ให้สติแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้หวังอะไรกับพระองค์มากเลย พระองค์ก็มีพระชนมายุสูงมากแล้ว๘๐ ปีบริบูรณ์แล้ว เหมือนกับเกวียนที่คร่ำคร่าจะต้องปะทะปะทังด้วยลำไม้ไผ่จึงเป็นไปได้อยู่ และได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ในสมัยที่ใจไม่ไปใฝ่หรือกำหนดในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ สมัยนั้นร่างกายของตถาคตรู้สึกผาสุกเหลือเกิน พระพุทธพจน์ตอนนี้เอง ที่เป็นการตอบปัญหาไปในตัวว่า ที่พระองค์หายจากอาพาธได้ จะเป็นเหตุให้อายุยั่งยืนต่อไปอีกตั้งเกือบปีหนึ่งได้ ก็เพราะอานุภาพของอนิมิตตเจโตสมาธิ

อนิมิตตเจโตสมาธิที่พระองค์เจริญ ทำให้มากแล้วก็หมายความวา ถ้าพระองค์ใช้อิทธิบาท ๔ ให้เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิอยู่เนือง ๆ กระทำให้มาก กระทำให้เคยชินเป็นเวลานาน ๆ แล้ว ถ้าพระองค์จะปรารถนาให้มีพระชนม์ชีพยืนยาวถึงหนึ่งกัปป์ หรือมากกว่ากัปป์ก็ย่อมเป็นไปได้

คำว่ากัปป์ หรือยิ่งกว่ากัปป์ (บาลีเป็นกัปป์ สันสกฤตเป็นกัลป์) คำนี้ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก แต่เป็นกัปป์ของอายุชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก ถ้าเป็นอายุกัปป์ของโลก กัปป์หนึ่งมีกี่ปี ถ้าคติตามศาสนาพราหมณ์ หนึ่งกัปป์มี ๔,๐๐๐ กว่าล้านปี โลกเรานี้เพิ่งจะมีมนุษย์ก็เพิ่งจะราว ๆ กว่าล้านปีมานี่เอง ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์นี้ และมีหน้าตาครึ่งลิงครึ่งคนคือเป็นมนุษย์วานรนี่เมื่อห้าแสนปีมานี่ และที่จะมีหน้าตาเหมือนกับมนุษย์เรานี้ ก็คงจะสองสามพันปีมานี่กระมัง แต่อายุของกัปป์นั้นสี่พันกว่าล้านปี คิดดูเอาเองว่าอายุมากแค่ไหน ตามคติของศาสนาพราหมณ์

แต่ตามคติของพุทธกาลที่เราจะคำนวณอายุของกัปป์หนึ่งนั้นยาก แต่มีข้ออุปมาว่า เหมือนกับพระพรหมเอาผ้าสไบที่ทอด้วยใยผ้า มาปัดยอดเขาพระสุเมรุหนึ่งครั้งต่อหนึ่งร้อยปี จนกว่ายอดเขาพระสุเมรุจะราบเรียบเสมอกับพื้นมหาสมุทรเป็น ๑ กัปป์ ไม่ทราบเวลาเท่าใดกันเป็นอัประไมย

โลกในยุคหนึ่ง พอพ้นจากยุคหนึ่ง ก็มีไฟทำลายสิ้นยุคสิ้นกัลป์ จักฉิบหายเพราะไฟบ้าง เพราะลมบ้าง เพราะน้ำบ้างจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โลกแตกก็เป็นกัลป์หนึ่ง

เพราะฉะนั้น พระพุทธพจน์ที่ว่า เจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มาก เจริญให้มาก อบรมให้มากเป็นต้น จะมีอายุกัปป์หนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปป์หนึ่ง คำว่ากัปป์ในที่นี้ เป็นอายุกัปป์ของมนุษย์ อายุกัปป์ของมนุษย์ในสมัยนั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี ถ้าใครมีอายุถึงร้อยปีก็ประเสริฐนักหนาแล้ว หรือยิ่งกว่าร้อยก็ยิ่งประเสริฐนักหนา

อายุของคนในปัจจุบันไม่ต้องเสียใจว่า เกิดมาอายุสั้นเพราะว่าเป็นอายุกัปป์ประเมิน อายุไขแห่งกัปป์ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นอย่างนั้น

ในสมัยพุทธกาลนั้นใครมีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นกำหนดหรือเกินกว่าร้อยมีจำนวนน้อยก็เป็นของประเสริฐ เป็นลาภแล้ว

ในที่นี้ถ้าหากพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านเจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิแล้ว ก็อย่างมากก็จะยืดอายุของพระองค์ต่อไปอีก ๒๐-๒๕ ปี เช่นว่าเป็น ๑๐๐ หรือ ๑๐๕ ปี อาจจะมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย แต่ไม่ใช่จะมีอายุมาถึงปัจจุบันนี่ไม่ใช่ นี่เป็นอายุการกำหนดในยุคนั้น

เพราะฉะนั้น การที่พระองค์ตรัสให้เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว ใครเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว คนนั้นจะอาศัยอำนาจสมาธินี้ ดับอาพาธ ดับทุกขเวทนาทางกายได้หมด แล้วเป็นการเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายใหม่หมด เช่นว่ามีเซลล์มันจะตายไปบ้างหรือสึกหรอไปบ้าง ก็เปลี่ยนใหม่หมด เซลล์ต่าง ๆ เป็นของใหม่หมด ร่างกายก็กระปรี้กระเปร่า มีพละ กำลัง อาจจะมีอายุยืนต่อไปอีกตั้งหลายปี เป็นการต่ออายุ

คราวนี้อรรถกถาจารย์ท่านแก้ความไว้ในสุมังคลวิลาสินีว่า ได้แก่การเข้าผลสมาบัติชื่อว่าเป็นเครื่องทำชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ผลสมาปตฺติ ธมฺมาติ ชีวโต สงฺขาโร แล้วพระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า ก็พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงเข้าผลสมาบัติในกาลก่อนบ้างเลยหรือ เพิ่งจะมาเข้าตอนที่มาเกิดอาพาธ ในพรรษาสุดท้ายตอนที่ประทับอยู่ที่เวฬุคามกระนั้นหรือ

แก้ว่า พระองค์ก็ได้ทรงเข้าผลสมาบัติมาก่อนเหมือนกัน ผลสมาบัติแต่ก่อนนั้น ๆ เป็นขณิกสมาบัติชั่วขณะ ไม่นานนักมีอานุภาพข่มเวทนาได้ เฉพาะในเวลาที่อยู่ในสมาบัติเท่านั้น เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว เวทนาก็สามารถครอบงำ สรีระของบุคคลได้ เปรียบเหมือนท่อนไม้หรือสาหร่ายแหวกออกชั่วครูแล้วก็กลับมารวมตัวปิดน้ำไว้อีก ส่วนสมาบัติที่เข้าด้วยอำนาจแห่งมหาวิปัสสนา สมาบัตินั้นมีอานุภาพมาก สามารถข่มเวทนาได้อย่างแน่นอนสนิท อุปมาดังบุรุษที่เดินลงไปในสระน้ำ ใช้มือและเท้าแหวกสาหร่ายออก และเหวี่ยงไปโดยกำลังแรง สาหร่ายที่กระจายออกไป กว่าจะกลับมารวมตัวอย่างเดิมอีกก็มีระยะเวลานานกว่า

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธินั้น ที่พระองค์เข้าเจริญในพรรษาสุดท้ายที่บ้านเวฬุคาม เป็นเหตุให้มีพละกำลังกายยืนยาวต่อไปถึงกระทั่งนิพพานในปีหน้า ก็แตกต่างจากอานุภาพของผลสมาบัติ เจโตสมาธิที่มีนิมิตนั้นเอง เรียกผลสมาบัติ

ปัญหามีว่า ทำไมก่อนหน้านี้พระองไม่เคยเข้าผลสมาบัติบ้างเลยหรือ ตอบว่าก่อนนี้ก็เคยเข้า แต่เข้าแต่ละครั้งนั้นไม่นาน เพราะพระองค์มีกรณียกิจที่จะต้องบำเพ็ญเกี่ยวกับการบริหารงานพระศาสนา ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นพระบรมศาสดาจะต้องออกเที่ยวสั่งสอนสรรพสัตว์ ไม่มีเวลามาเข้าสมาธิได้เป็นเวลาหลายวัน หรือติด ๆ กันเป็นเวลาสัปดาห์ ไม่มี เข้าสมาธิก็เข้าได้นิดหน่อย เรียกว่า ขณิกสมาบัติ ชั่วขณะก็ต้องออกแล้วเพราะว่าพุทธกิจในฐานะเป็นพระบรมศาสดานั้นมีมาก

เพิ่งจะมาเข้าสมาบัติจริง ๆ ที่ใช้เวลามากติดต่อกันก็ตอนอาพาธในระหว่างพรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่บ้านเวฬุคาม ต้องเข้าใช้เวลานาน เพราะต้องการใช้อำนาจสมาธิไประงับทุกขเวทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ แล้วท่านก็เปรียบว่า เหมือนกับมีบึงใหญ่อยู่บึงหนึ่ง ในบึงนั้นมีบัวและสรรพสิ่งขึ้นปกคลุมไปหมด ถ้าเราเอาก้อนอิฐเพียงก้อนเดียวขว้างปาลงไปในบึงป๋อมหนึ่งก็จะมีคลื่นเพียงนิดเดียว เพราะกำลังแรงมันน้อยป๋อมหนึ่งมันก็แหวกพวกบัวเป็นช่องนิดหนึ่งแล้ว ประเดี๋ยวมันก็รวมตัวกันอย่างเดิมฉันใด ผลสมาบัติที่เข้าประเดี๋ยวประด๋าวชั่วขณะนั้น ระงับทุกขเวทนาได้ในขณะที่เข้า พอออกมาแล้วเวทนาที่ระงับไปในขณะที่เข้าสมาบัติมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก แม้โรคภัยไข้เจ็บที่ระงับไปในขณะที่เข้า เมื่อออกแล้วมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก

คราวนี้ถ้าหากเข้าผลสมาบัตินาน ๆ ก็ทำให้มีอานุภาพเหมือนหนึ่งบุคคลที่มีกำลังร่างกายแข็งแรง เดินลงไปในบึง เอามือตีน้ำแหวกใบบัวและสรรพสิ่งให้ออกไปเป็นช่อง เหวี่ยงไปด้วยกำลังแรงด้วยมือทั้งสองข้าง กว่ามันจะกลับมารวมตัวเป็นเวลานานมากหน่อย

เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่ามหาวิปัสสนานั่นแหละ คือ ผลสมาบัติที่พระพุทธองค์เข้าขับไล่อาพาธ

มหาวิปัสสนานั้นคืออะไร ? ก็ปรากฏว่ามหาวิปัสสนานั้นมีถึง ๑๘ อย่างคือ

๑. อนิจจาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่เที่ยง

๒. ทุกขาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความทุกข์

๓. อนัตตา วิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ว่าไม่ใช่ตน

๔. นิพพิทาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความเบื่อหน่าย

๕. วิราคาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความคลาย ราคะ

๖. นิโรธวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความดับสนิท

๗. ปฏินิคฺสคฺควิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความสละคืน

๘. วิตกฺกวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความตรึก

๙. วยาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเสื่อม

๑๐. วิปริณามาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแปรเปลี่ยน

๑๑. อนิมิตตวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีเครื่องหมาย

๑๒. อปณิหิตานุวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีที่ ตั้ง

๑๓. สุญญตาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นความว่างเปล่า

๑๔. อธิปัญญาคมวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแจ้งในธรรมคือปัญญาอันยิ่ง

๑๕. ยถาภูตถาณทัสสนวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นตามความเป็นจริงโดยญาณ

๑๖. อาทีนววิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ตามความเป็นจริงโดยญาณ

๑๗. ปฏิสังขารวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเข้าใจกระจ่าง

๑๘. วิวัฏฏวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความปราศจากวัฏฏะ

นี่แหละญาณทัสสนะที่เป็นไปทั้ง ๑๘ อย่างนี้เรียกว่ามหาวิปัสสนา ปรากฏว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ ที่พระองค์เข้าขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุนั้นอยู่ในอันดับที่สิบเอ็ด คืออนิมิตตวิปัสสนาใน ๑๘ ประการนี้ พระองค์ทรงใช้ประการที่สิบเอ็ด ความจริงใช้ได้ทุกประการ แต่ทรงเลือกเอาข้อหนึ่งเพื่อขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุ

คราวนี้อิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญในอนิมิตตเจโตสมาธิ นั้นเป็นอิทธิบาทสามัญหรือ ? ข้อนี้ไม่ใช่อิทธิบาทธรรมดาสามัญ ถ้าหากเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ กระนั้นในวงรำพัดเขาก็มีกันได้

อิทธิบาทนี้ ต้องเป็นอิทธิบาทพิเศษ เรียกว่า ฉันทสมาธิปธานสังขาร วิริยสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร คือจะต้องเป็นอิทธิบาทที่ประกอบด้วยสมาธิปธานสังขารด้วย ไม่ใช่เป็นอิทธิ-บาทเฉย ๆ ไม่ใช่ฉันทะเฉย ๆ วิริยะเฉย ๆ จิตตะเฉย ๆ วิมังสาเฉย ๆ ต้องประกอบด้วยสมาธิปธานสังขาร จึงเป็นอิทธิบาทที่ประสงค์ในที่นี้ ถึงจะเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ และจะต้องประกอบด้วยความแข็งแกร่งมั่นคงไพบูลย์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธินั้น ๆ ท่านเรียกว่าปธานสังขาร หลักฐานที่กล่าวนี้มีมาในบาลีสังยุตตนิกาย

คราวนี้เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้ปลงพระชนมายุในวันเพ็ญเดือน ๓ คือในวันมาฆบูชา วันมาฆบูชานั้นนอกจากจะเป็นวันสำคัญที่มีเกิดจาตุรงค์สันนิบาตแล้ว ยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตั้งพระหฤทัยว่าตั้งแต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน

เพ็ญเดือน ๓ ที่ว่านี้มิใช่เพียงเดือน ๓ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ปี เป็นปีย่างเข้า ๘๑ เพราะว่าในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ผมได้ลำดับเหตุการณ์แล้ว ว่าต้นปีพระองค์ทรงอยู่แคว้นโกศล เหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ศากยวงศ์ เนื่องจากวิฑูฑภะได้ยาตราเข้ามาทำลายศากวงศ์ พอจวนจะเข้าพรรษาเสด็จมาที่ราชคฤห์ แล้วข้ามแม่น้ำคงคาไปจำพรรษาที่เมืองเวสาลีเลย อยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชีถึง ๘ เดือน ออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่เสด็จออกจากเมืองเวสาลีง่าย ๆ ยังคงประทับอยู่ที่อัมพุคาม ชมพุคาม โภคนคร อยู่ในละแวกตำบลต่าง ๆ ในเมืองเวสาลี ตลอดฤดูหนาวในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น พระองค์ประทับอยู่ที่แขวงเมืองเวสาลีโดยตลอด พอพ้นฤดูหนาวเข้าฤดูใหม่ย่างเข้าปีที่ ๘๑ แล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นวัชชีเสด็จต่อไป เมื่อตอนเสด็จออกจากแคว้นวัชชีนั้นพระองค์ทรงทำอาการกิริยาที่เรียกวา “นาคาวโลก”* คือการดูอย่างช้างตัวประเสริฐดู ทอดพระเนตรเหลียวกลับมาดูเมืองเวสาลีและตรัสกับพระอานนท์ว่า :-

ดูก่อนอานนท์ การทัสสนาดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นปัจฉิมทัสสนา ต่อไปนี้ไม่มีโอกาสแลดูเมืองเวสาลีต่อไปแล้ว

ปัญหามีว่า ที่พระองค์จะทำกริยา นาคาวโลกนั้นดูทำไม มีพุทธประสงค์อย่างไร ? จึงตรัสกับพระอานนท์เช่นนั้น

เรื่องนี้ถ้าเราพิจารณาดูเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานแล้ว เราจะเข้าใจความหมาย เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานในปีนั้นแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์มคธ ได้ยาตราทัพเข้าตีแคว้นวัชชีทันที** ได้แคว้นวัชชีเป็นเมืองขึ้นหลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว พระองค์ตรัสอย่างนั้นกับพระอานนท์ก็ด้วยความมหากรุณากับแคว้นวัชชี ทั้งนี้เพราะพระองค์ผู้อยู่กับพระหฤทัยว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว แคว้นวัชชีจะต้องได้รับอันตรายจากกองทัพมคธเป็นแน่แท้ หนีไม่พ้นแล้ว เป็นกรรมของสัตว์ วาระของกรรมมันมาถึงแล้ว พระองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า การแลดูแคว้นวัชชีที่มีความรุ่งเรืองเป็นเอกราชอย่างนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสให้ใครนึกไปทางเรื่องการเมือง ทรงหลีกเลี่ยงทุกประการในการพูดในทำนองที่จะไม่ให้นึกไปทางเรื่องการเมือง เพราะพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่พูดเรื่องการเมืองแล้ว การพูดเรื่องการเมืองเป็นติรัจฉานกถา แต่ท่านตรัสเป็นแต่เพียงให้นัยไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ การแลดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายก็เพียงเท่านี้เอง ส่วนความหมายนั้นแล้วแต่ใครจะไปคิดเอา

ที่เรามาตีความกันในปัจจุบันนี้ว่า การแลดูเมืองเวสาลีของพระตถาคต ที่เป็นอิสรรัฐ มีความรุ่งโรจน์ ความเจริญ มีเศรษฐกิจที่มั่นคง จนกระทั่งเป็นที่อิจฉาริษยาของแคว้นมคธนั้น เป็นทางให้แคว้นวัชชีต้องถูกทำลายจากแคว้นมคธนั้น เพราะความมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองของแคว้นวัชชี แม้แต่การแต่งตัวของพวกเจ้าลิจฉวี ซึ่งได้ประดับประดาด้วยภูษิตาภรณ์ที่ประดับองค์ต่าง ๆ มีความสวยงามวิจิตรการมาก ถึงขนาดที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่เคยเห็นเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวกันอย่างไร ก็จงดูพระเจ้าวัชชีนี่แหละเขาแต่งตัวกันอย่างไร พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาแต่งร่างกายสวยงามอย่างนั้น

ข้อนี้แปลความหมายได้ว่าแคว้นวัชชีเจริญถึงขั้นไหน การแต่งตัวเป็นแฟชั่นที่สวยงามมากถึงขั้นที่พระองค์ได้นำไปเปรียบเทียบว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวสวยอย่างไร พวกเจ้าวัชชีเขาแต่งตัวสวยอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ข้อเปรียบเทียบเพราะฉะนั้นการเสด็จไปจากวัชชีนี้ จึงทรงเหลียวกลับแลดูเป็นครั้งสุดท้าย นี่ในความหมายนี้

เมื่อออกจากวัชชีแล้วก็มุ่งจะไปเสด็จดับขันธ์ ณ เมืองกุสินารา ในระหว่างทางก่อนจะถึงแคว้นมัลละ เมืองกุสินารา ก็ทรงแวะที่เมืองปาวา

ปาวาและกุสินาราทั้งสองเมืองนี้ ในทางโบราณคดีถือกันว่า เป็นเมืองเดียวกัน ก่อนพุทธกาลนั้นเมืองสองเมืองเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองกุสาวดี ซึ่งปรากฏในบาลีมหาสุทัศนะสูตร ทีฆะนิกาย ที่พรรณนาไว้ว่าเมืองกุสาวดีนั้นมั่งคั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อมาเมืองกุสาวดีก็ร่วงโรยตามไปตามความอนิจจังของสังขาร หนักเข้าก็กลายเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไป ในที่สุดแยกเป็นสองเมือง เมืองหนึ่งเรียกว่ากุสินารา อีกเมืองหนึ่งเรียกว่าปาวา เส้นทางเสด็จพุทธดำเนินของพระองค์ ก็เสด็จมาแวะที่เมืองปาวา ก่อนที่จะไปสู่กุสินารา ระยะทางจากเมืองปาวาไปกุสินารานั้น ต้องใช้เวลาเดินเกือบวัน มาประทับที่เมืองปาวา และที่เมืองปาวานี้เองเรื่องสูกรมัททวะก็เกิดขึ้น

ที่เมืองปาวานี้ นายจุนทะ กัมมารบุตร แปลว่า นายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง นายจุนทะนี้เขาเป็นช่างทอง ทำทองขาย มีจิตศรัทธา กราบทูลนมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งภิกษุสาวก ให้ไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แล้วในคืนวันนี้เองนายจุนทะก็ตระเตรียมขาทนียะและโภชนียะ เพิ่มคน คุมคนการเตรียมกันอย่างขมีขมัน ทำกันเป็นการใหญ่ เพราะพระสงฆ์สาวกที่ติดตามพระพุทธองค์มานั้นมีจำนวนหลายร้อยรูป

อินเดียครั้งนั้นไม่เหมือนประเทศไทยสมัยนี้ ประเทศไทยนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื้อหนังมังสาบริบูรณ์ จะซื้อหาจับจ่ายก็ง่าย คนโบราณนั้นจะเลี้ยงพระก็ยากกว่าสมัยนี้ ตลาดไม่ใช่จะหาง่ายอย่างเดี๋ยวนี้นะ พอออกจากประตูบ้านก็เจอตลาดขายของ ของขายไม่ได้หาง่าย ๆ อย่างเดี๋ยวนี้ ตลาดก็ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ๆ เล็ก ๆ เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายก จะเลี้ยงพระทีละหลายร้อยรูป ต้องเตรียมอาหารกันเป็นวัน ๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่เช่นนั้นอาหารไม่พอเลี้ยงพระเพื่อให้เหมาะกับพระสงฆ์ที่จะมารับในวันรุ่งขึ้น

ปรากฏว่านอกจากอาหารที่เป็นขาทนียะและโภชนียะแล้ว นายจุนทะได้ทำอาหารขึ้นชนิดหนึ่งจากขาทนียะและโภชนียะเรียกว่า สูกรมัททะ ทำไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พอกับภิกษุสงฆ์

ปัญหาว่า สูกรมัททวะนี้คืออะไร ? ซึ่งเป็นประเด็นอันสำคัญของปาฐกถาในวันนี้

สูกรมัททวะ ตามศัพท์แปลว่า เนื้อหมูอ่อน เพราะสูกรก็คือสุกร มัททวะก็คือ ความอ่อนโยน ความนิ่มนุ่ม หรือความอ่อนนุ่ม สูกระ กับ มัททวะ ก็แปลว่า เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม หรือเนื้อหมูที่อ่อนนิ่ม สูกรมัททวะถ้าแปลอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา

แต่ว่าปัญหานั้นไม่ยุติเพียงเท่านั้น ประเด็นว่า เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุรูปอื่นฉันสูกรมัททวะนี้ และเพราะเหตุใดพระองค์จึงรับสั่งให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะนี้ไปฝังเสีย ไปทำลายไม่ให้เป็นอาหารแก่คนและสัตว์ต่อไป และเพราะเหตุใดจึงตรัสแก่นายจุนทะว่า สูกรมัททวะนี้ ตถาคตมองไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ทั้งเทวดา ทั้งมารและพรหมที่จะกินเข้าไปแล้วจะย่อยได้ เว้นแต่เราตถาคตผู้เดียว ที่จะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสเช่นนี้ เป็นอาหารอะไรหรือ ถ้าเป็นเนื้อย่อยทำไมจึงตรัสเช่นนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องวินิจฉัย

มีพระอรรถกถาจารย์ ๒ ท่าน และปรากฏในสองคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องสูกรมัททวะนี้ และก็แปลกอีกอย่างหนึ่งที่สูกรมัททวะนี้ปรากฏที่มาที่นี่แห่งเดียว ในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ปรากฏที่อื่นอีกเลย มาโผล่ปรากฏที่มหาปรินิพพานสูตรตอนเดียวเท่านั้น ในที่อื่น ๆ แล้ว ไม่พบคำนี้เลย น่าอัศจรรย์มาก เป็นอาหารพิเศษ ประหลาดเหลือเกิน

พระอรรถกถาจารย์ในสุมังคลวิลาลินี คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์นั่นเอง ก็ให้นัยอธิบายสูกรมัททวะนี้ไว้ ๓ นัย เพราะท่านไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรแน่ สมัยแต่งอรรถกถานั้นเป็นสมัยหลังพุทธปรินิพพานแล้วพันปี และท่านผู้แต่งก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านก็เป็นชาวอินเดียอยู่แคว้นมคธ ท่านก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สูกรมัททวะคืออะไร คิดดูซิ แล้วพวกเราซึ่งห่างจากสมัยนั้น (สมัยแต่งอรรถกถา) อีกตั้งหนึ่งพันห้าร้อยปี จะไปแน่ใจได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยการวินิจฉัย ข้อความใดที่ใกล้เคียงและมีเหตุผลเราก็ยึดถือข้อความนั้น

บัดนี้ได้นำมติของสุมังคลวิลาลินีมาให้ท่านทั้งหลายฟัง ในสุมังคลวิลาสินี พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้นัยมาอธิบายไว้ ๓ นัย :-

๑. สูกรมทฺทวนฺติ นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ แปลความว่า สูกรมัททะนั้นได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มจนเกินไป และไม่แก่จนเกินไป ตํ กิร มุทญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ ฯ ตํ ปฏิยาทาเปตฺวา สาธุกํ ปจฺจาเปตฺวาติ อตฺโถ = ได้ยินว่า เนื้อนั้นเป็นของอ่อนนุ่มสนิทดี อธิบายว่า นายจุนทะให้ตกแต่งเนื้อนั้นปรุงให้เป็นอาหารชนิดดี

สรุปมติที่ ๑ ท่านแปล สูกรมัททวะว่า เนื้อ เพราะนายจุนทะนั้นให้หาเนื้อหมูอย่างดี ได้แก่เนื้อสุกรที่ไม่แก่ไป ถ้าแก่เกินไปเนื้อเหนียวเคี้ยวยาก เป็นเนื้อชนิดดีมาปรุงแล้วอร่อยดีนี้เรียกว่า สูกรมัททวะ

นัยที่ ๒ ท่านให้นัยว่า:- เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ แปลว่า แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่าสูกรมัททวะนี้ เป็นชื่อแห่งวิธีปรุงข้าวอ่อนเจือด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงให้เสร็จสำเร็จแล้ว ชื่อว่าควปาน ะ

ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สูกรมัททวะ ก็ได้แก่ข้าวสาลีหุงด้วยน้ำนมโค ข้าวชนิดมธุระเอร็ดอร่อยมาก เวลานี้ในอินเดียยังกินกันอยู่ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคนี้อร่อยจริง ๆ กระผมเองก็เคยรับประทาน คือเพื่อนชาวอินเดียในประเทศไทยนี่เองหุงให้กิน และเอร็ดอร่อยมากและเขาบอกว่า นี่แหละสูกรมัททวะ

เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สุกรมัททวะได้แก่ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคที่เรียกว่าควปาน หุงด้วยเบญจโครส เอร็ดอร่อย ใส่น้ำตาลหน่อย ใส่นมหน่อย อร่อยดี ทั้งมัน ทั้งหอม ทั้งหวาน นี่เรียกว่าสูกรมัททวะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น