++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บัวสี่เหล่า คืออุปมาเปรียบบุคคลเหมือนดอกบัว 4 จำพวก


บัวสี่เหล่า คืออุปมาเปรียบบุคคลเหมือนดอกบัว 4 จำพวก ที่อยู่ในฐานะของบุคคลที่สามารถฝึกสอนให้รู้ธรรมได้และไม่ได้ในทางพระพุทธศาสนา เรื่องราวที่พระพุทธเจ้าเปรียบบุคคลเสมือนบัวจำพวกต่าง ๆ นั้น เป็นข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา (คัมภีร์ชั้นหลัง) และพระไตรปิฏก ว่าเมื่อแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ พระองค์ได้พิจารณาว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจและปฏิบัติได้ แต่ต่อมาได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ เปรียบเสมือนบัว 4 เหล่า (ตามนัยอรรถกถามี 4 เหล่า[1]) หรือ 3 เหล่า (ตามนัยพระไตรปิฎกมีเพียง 3 [2])

อนึ่ง มีความสับสนถึงเรื่องการเปรียบบุคคลด้วยบัว 3 เหล่าตามนัยพระไตรปิฎก คือสับสนนำข้อความในปุคคลวรรค ที่เปรียบบุคคลเป็น 4 เหล่า [3] มาปะปนกับข้อความในอรรถกถา (คัมภีร์ชั้นหลัง) ที่เปรียบดอกบัวเป็น 4 เหล่า[4] ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในพระไตรปิฏกพระพุทธองค์ตรัสเปรียบบุคคลเหมือนดอกบัวเพียง 3 เหล่าเท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากบัวสี่หรือสามเหล่าดังกล่าว ความในมติอรรถกถากล่าวว่ายังมีมนุษย์บางจำพวกที่ไม่สามารถสอนได้ (อเวไนยสัตว์) ในขณะที่หากพิจารณาจากพระพุทธพจน์จากมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ตามพระไตรปิฎก มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกับที่พระองค์ตรัสรู้ได้ (เวไนยสัตว์) กล่าวคือพระพุทธองค์ทรงพิจารณาแล้วว่ามนุษย์ที่ยังสามารถสอนให้รู้ตามได้ยังมีอยู่ จึงทรงตกลงพระทัยในการนำพระธรรมที่ทรงตรัสรู้มาสั่งสอนเวไนยสัตว์
เนื้อหา

1 บัวสามเหล่า (ตามนัยพระไตรปิฏก)
2 บัวสี่เหล่า (ตามนัยอรรถกถา)
2.1 ความหมายของบัวสี่เหล่าตามนัยอรรถกถา
3 ดูเพิ่ม
4 อ้างอิง

บัวสามเหล่า (ตามนัยพระไตรปิฏก)

ในพระไตรปิฏก พระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมที่เชิญให้พระองค์แสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่ เปรียบด้วยดอกบัว 3 จำพวก ดังความต่อไปนี้[5]
Cquote1.svg

... ครั้นอาตมภาพทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...

Cquote2.svg
— 'มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า'
บัวสี่เหล่า (ตามนัยอรรถกถา)

ตามนัยอรรถกถา ได้อธิบายบุคคล 4 ในปุคคลวรรค พระไตรปิฏก ปนกับอุปมาเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว 3 เหล่าใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [6] โดยลงความเห็นว่าบุคคล 4 ที่พระพุทธองค์ตรัสในปุคคลวรรค เปรียบกับดอกบัว 3 เหล่า (โดยเพิ่มบัวเหล่าที่ 4 เข้าไปในบุคคล 4 ในปุคคลวรรค) ดังนี้
Cquote1.svg

บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ ก็เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่านั้นแล. ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกขึ้นแสดง ชื่ออุคฆฏิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกความแห่งคำย่อโดยพิสดาร ชื่อว่าวิปจิตัญญู. บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับด้วยความพากเพียรท่องจำ ด้วยการไต่ถาม ด้วยทำไว้ในใจโดยแบบคาย ด้วยคบหาสมาคมกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าเนยย. บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่าปทปรมะ.

Cquote2.svg
— 'อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ธมฺมเทสนาธิฏฺฐานวณฺณนา'
ความหมายของบัวสี่เหล่าตามนัยอรรถกถา

(อุคคฏิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
(วิปจิตัญญู) พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
(เนยยะ) พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
(ปทปรมะ) พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

วิถึพีเดีย
อ้างอิง

^ อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ตติยปัณณาสก์ อรรถกถาอุคฆฏิตัญญุสูตรที่ ๓. อรรถกถาพระไตรปิฏก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
^ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) บุคคล ๔. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
^ พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปุคคลวรรคที่ ๔. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
^ อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร ธมฺมเทสนาธิฏฺฐานวณฺณนาอรรถกถา. พระไตรปิฏก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
^ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
^ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น