++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเหลื่อมล้ำ : ปัญหาที่คนทั่วไปมองไม่เห็น!

       คำ ถามที่หลายท่านสงสัยก็คือ ทำไมประเทศที่ร่ำรวยแล้วจึงมีปัญหาสังคมมาก ทั้งๆ ที่ควรจะน้อยกว่าประเทศยากจน เช่น จู่ๆ นักเรียนก็ยิงเพื่อนในโรงเรียนของตนเองตายนับสิบซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในสหรัฐ อเมริกา ล่าสุดที่เป็นข่าวสะเทือนใจคนทั่วโลกก็คือ หนุ่มวัย 32 ปีสังหารโหด 76 คนในประเทศนอร์เวย์ เป็นต้น
      
       ตารางข้างล่างนี้คือ การเปรียบเทียบข้อมูลบางส่วนระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศร่ำรวย โดยเริ่มต้นจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด (3.4 เท่า) ไปจนถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งสูงที่สุดทั้งรายได้ต่อหัวและความเหลื่อมล้ำ (8.5 เท่า ซึ่งวัดจากจำนวนเท่าของรายได้กลุ่มคนรวยสุด 20% กับกลุ่มคนจนสุด 20% ของประเทศของตน ประเทศไทยเรามีความเหลื่อมล้ำอยู่ระหว่าง 13-15 เท่า ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ 9.5 เท่า)
      
       ข้อมูลทั้งหมดผมได้มาจากหนังสือ The Spirit Level : Why Greater Equality Makes Societies Stronger เขียน โดย Richard Wilkinson and Kate Pickett (2552) แต่ตัวเลขเกี่ยวกับรายได้ไปจนถึงความไว้วางใจผมประมาณการอย่างคร่าวๆ จากกราฟในหนังสือดังกล่าว
      
       หมายเหตุ : ข้อมูลจาก http://www.indexmundi.com เมื่อ ก.ค.54 รายได้ต่อหัวของคนไทยประมาณ $8,700 (หรือเดือนละ 21,750 บาทต่อคน ใครได้ถึงระดับนี้มั่งยกมือขึ้น อยู่ในอันดับที่ 116 ของโลก) โดยที่สหรัฐฯ $47,200, อันดับ 11 และญี่ปุ่น $34,000, อันดับ 38 ข้อมูลนี้ทันสมัยกว่าข้อมูลในตาราง
       ถ้าเราพิจารณาถึงปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคม เราพบว่า ญี่ปุ่นและสวีเดนซึ่งมีความเหลื่อมล้ำเท่ากับ 3.4 และ 4.0 ตามลำดับ แต่มีปัญหาดังกล่าวน้อยกว่าทุกประเทศที่เหลืออย่างชัดเจน และจะยิ่งชัดเจนกว่านี้อีกหากได้ดูจากกราฟของประเทศกลุ่มร่ำรวย 22 ประเทศ
      
       ทำไม? นี่คือโจทย์หลักของบทความนี้ครับ
      
       ผมเคยถามนักศึกษาในชั้นเรียนว่า "ถ้ามีประเทศ อยู่ 2 ประเทศให้เราเลือกอยู่อาศัย ในประเทศ ก. ทุกคนมีรายได้เท่ากันหมดคือ $20,000 กับในประเทศ ข. ซึ่งรายได้ต่ำสุดเท่ากับ $40,000 คุณจะเลือกอยู่ประเทศไหน?”
      
       ปรากฏว่านักศึกษาเกือบทุกคนขอเลือกอยู่ในประเทศ ก. ทั้งๆ ที่มีรายได้น้อยกว่าอีกที่หนึ่งถึงสองเท่า นั่นแสดงว่า ตัวรายได้เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ใช้วัดความต้องการหรือสรุปรวม ไปเลยว่าไม่ใช่ตัววัดความสุขของคนเรา แล้วอะไรล่ะคือปัจจัยหลัก?
      
       ผมพยายามจะเอาความเห็นและประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู่กันฟัง ช่วยคิดตามนะครับ
      
       ศาสตราจารย์ Richard Wilkinson ได้ให้สัมภาษณ์ (เมื่อ 28 สิงหาคม 54, http://tvnz.co.nz/q-and-a-news/richard-wilkinson-interview-transcript-4368806) สรุปได้ว่า
      
       "ความเหลื่อมล้ำนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกที่เหนือกว่าและด้อยกว่า ซึ่งยิ่งความแตกต่างทางวัตถุมากเท่าใด ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ผู้คนจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความนับถือหรือถูกดูถูก เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญและมีผลต่อความสัมพันธ์ในวิถีชีวิตชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชน และความไว้วางใจในชุมชน ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ความสัมพันธ์ทางสังคมจะเสื่อมสลายลง ชีวิตชุมชนจะอ่อนแอ และผู้คนจะไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันที่จริงแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต คุณจะรู้สึกปลอดภัยกว่าเมื่ออยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า”
      
       ผมขอยกตัวอย่างซึ่งเราทุกคนคงเคยเจอมาแล้วในเรื่องความไว้วางใจซึ่ง กันและกัน เมื่อเราซื้อสินค้าในตลาดสดกับในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เรามักจะรู้สึกว่าแม่ค้าในตลาดสด “ชั่งของให้ครบหรือเปล่าวะ” เพราะความรู้สึกของเราที่ว่า แม่ค้าในตลาดเป็นผู้ด้อยฐานะกว่า แต่เรามักจะไม่ให้ความสนใจกับเครื่องชั่งดิจิตอลในห้างเลย ยิ่งคิดถึงเรื่องเงินทอนก็ทำนองเดียวกัน เมื่อเราเจอรถยนต์เสียอยู่บนถนน เราต้องคิดแล้วคิดอีกว่าถ้าจะไปช่วยเหลือจะถูกหลอก ถูกทำร้ายหรือไม่ คงเห็นนะครับว่า ความไม่ไว้วางใจกันจะนำความเสียหายมาสู่สังคมและตัวเราเองขนาดไหน
      
       อีกตอนหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ Richard Wilkinson ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความรุนแรงและการก่อคดี
      
       "ในกรณีการยิงกราดในโรงเรียน ผู้ลงมือทำมักจะเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งและโดดเดี่ยว ความรุนแรงมักจะเห็นได้บ่อยๆ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งก็อาจเป็นเพราะคนรู้สึกถูกดูถูกและไม่ได้รับความนับถือ จิตแพทย์ของนักโทษในเรือนจำชาวอเมริกันท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ตลอด 25 ปีที่ได้พูดคุยกับผู้ก่อความรุนแรง เขาไม่เคยพบความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกละอาย ถูกเหยียดหยามและไม่ได้รับความนับถือเลย”
      
       เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า "ท่านเชื่อจริงๆ หรือว่า ความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับความไม่มีสุขภาวะของสังคม มิใช่แค่เพียงสหสัมพันธ์ (correlation) แต่มันเป็นความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุ (cause) และเป็นผล (effect) กัน”
      
       ศาสตราจารย์ Wilkinson ตอบว่า "ใช่ มีงานวิจัยหลายร้อยชิ้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับความ แตกต่างอื่นๆ มี 50 ชิ้นเกี่ยวกับความรุนแรง คุณเองก็ทราบว่า สหรัฐอเมริกามีความรุนแรงมากกว่าแคนาดา มีคนเป็นโรคอ้วนมากกว่า มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมากกว่า มีนักโทษมากกว่า ประเทศในยุโรปมีน้อยกว่านี้ในทุกประเด็น สิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจก็คือมันไปผูกติดกับความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร จนถึงปัจจุบันนี้ ประชาชนยังไม่หยั่งรู้ว่า ความเหลื่อมล้ำคือความแตกแยกและความผุกร่อนของสังคม
      
       นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Wilkinson ยังกล่าวว่า "ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่ลัทธิบริโภคนิยม การแข่งขันเอง ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน ถ้าเราปรารถนาให้สังคมยั่งยืน เราต้องลดความแตกต่างระหว่างรายได้ลงมา”
      
       ใครเห็นด้วยกับงานวิจัยในหนังสือเล่มนี้กรุณานำไปเผยแพร่และขยายผลกันต่อด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น