++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ปฏิสัมภิทา 4

อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

ปฏิสัมภิทา 4 นั้น โดยความหมายสูงสุดแล้ว เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ประเภทสัมภิทัปปัตโตคือบรรลุปฏิสัมภิทา 4 แต่ถ้าโดยเนื้อหาแล้ว มีอยู่แก่คนในระดับที่ลดหลั่นลงมา

คำว่า อัตถปฏิสัมภิทา หมายถึง ความรอบรู้ ความแตกฉานในเนื้อหาของธรรมะย่อ ๆ โดยวิจิตรพิสดาร เข้าใจว่า ผู้มีราตรีเดียว เจริญของพระมหากัจจายนะเถระ ท่านอธิบายจากข้อความนี้เป็นสูตร หรือพระสารีบุตรได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิว่า " ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะมีปกติอย่างนี้"
ท่านเข้าใจแตกฉานทะลุเป็นร้อยนัยพันนัย การที่บุคคลเข้าใจอรรถะคือเนื้อหาแห่งธรรมะข้อใดข้อหนึ่ง และสามารถชี้แจงอธิบายขยายข้อนั้นออกไปโดยนัยพิสดาร เช่น ท่านแสดงว่า มารดาเป็นมิตรในเรือน ด้วยประโยคเพียงเท่านี้ บุคคลผู้เข้าใจเนื้อหาแห่งภาษิต สามารถอธิบายชี้แจงให้เห็นโดยนัยหลากหลายว่า มารดาเป็นมิตรในเรือนอย่างไร
อีกนัยหนึ่งคำว่าอรรถะนั้นหมายถึงผล คือ เมื่อบุคคลประกอบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คาดหมายผลว่า ในอนาคตจะเกิดผลอย่างนั้น ๆ ขึ้นมา ในชั้นสูงสุด เช่น พระสังคีติกาจารย์ในทุติยสังคายนา คาดหมายว่าอีก 200 ปี ข้างหน้านั้น จะมีเดียรถีย์ปลอมมาบวชในพระพุทธศาสนา จำเป็นจะต้องสร้างคนขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในพระศาสนา แต่มนุษย์โลกในสมัยนั้น ถ้าปล่อยตามปกติก็ไม่มีคนที่มีขีดความสามารถเช่นนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไปอัญเชิญติสสเทพบุตรให้จุติลงมาเกิดในครรภ์ของพระนางโมคคัลีพราหมณี เพื่อเตรีอมตัวแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาร่วมกับพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน การทำงานอะไรต่าง ๆ ของคนทั่วไป ที่เราใช้คำว่าประเมิน สรุปผล คือเมื่อบุคคลศึกษาหาข้อมูลได้ ประเมินได้ และสรุปผลได้ การสรุปผลนั้นเป็นการสรุปผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อาศัยการศึกษาจากข้อมูลอันเป็นเหตุในปัจจุบัน บุคคลเหล่านั้นก็สรุปผลลงไปได้ แต่จะเป็นไดมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นเรื่องของอนาคตอาจจะถูกต้องเต็มที่ก็ได้ ไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ก็ได้ เพราเหตุการณ์ข้างหน้านั้นไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเป็นการรู้ด้วยหลักของอนาคตังสญาณจริง ๆ ก็เป็นความรู้ที่ลงตัวเช่นของพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังกล่าวมาตอนต้น
ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม..... บุคคลเข้าใจถือเอาใจความแห่งอรรถาอธิบายนั้น ๆ ตั้งขึ้นเป็นกระทู้ได้ แล้วก็ชี้แจงอธิบายขยายความในเนื้อหาของธรรมะเหล่านั้นได้ หรือเราจะศึกษาธรรมะเป็นสูตร ๆ แล้วสรุปไปด้วยถ้อยคำที่ง่าย ๆ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงศึกษาเมตตานิสังสสูตรทั้งพระสูตร แล้วสรุปเป็นข้อความสั้น ๆ ว่า โลโกปัตถัมภิกา เมตตา เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก อีกความหมายหนึ่งธัมมปฏิสัมภิทา หมายถึงเหตุ เช่น เมื่อบุคคลประสบผลอย่างใดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน เนื่องจากผลเหล่านั้นโยงเข้าไปหาเหตุ แต่ความรู้ที่สมบูรณ์นั้นต้องอาศัย อตีตังสญาณ คือญาณอันเป็นส่วนอดีต เช่นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้าก็ดี เกิดขึ้นในสมัยนั้น ๆ ก็ดี บางเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับอดีตหรือผลที่เกิดจากเหตุในอดีตที่ไกล ๆ ข้ามภพข้ามชาติไป พระพุทธเจ้าก็ทรงอาศัยอตีตังสญาณนำเรื่องเหล่านั้นมาแสดงว่า เรื่องเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทรงจัดคำสอนแนวนี้ไว้ในหมวดหนึ่งที่เรียกว่า ชาดก คือ เรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
นิรุตตปฏิสัมภิทา การเข้าใจภาษาความหมายของภาษา แตกฉานในภาษานั้น ๆ และรู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจตลอดถึงรอบรู้ในภาษาของประเทศต่าง ๆ ก็อาจให้คนยอมรับนับถือโดยการใช้โวหารในการพูดเพื่อให้เขาเกิดความเห็นคล้อยตามและสอดคล้องกับพื้นเพจริตอัธยาศัยของเขา แต่นิรุตตปฏิสัมภิทาในระดับนี้เป็นผลแห่งญาณของท่านผู้บรรลุธรรมอย่างสูงในพระพุทธศาสนา เป็นที่น่าสังเกตว่า น่าจะหมายถึงความแตกฉานในภาษาต่าง ๆ ทุกแง่ทุกมุมจะเป็นของใครก็ตาม เพราะภาษาในประเทศอินเดียในสมัยปัจจุบันก็ดีในสมัยก่อนก็ดี มีมากเหลือเกิน แต่จากหลักฐานในพระไตรปิฎก ปรากฏว่าใครมาเฝ้าพระพุทธเจ้าจากเหนือสุดใต้ จากตะวันออก หรือตะวันตกของอินเดียก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ทรงมีล่าม แต่ก็ทรงโต้ตอบชี้แจง อธิบายธรรมะให้เหล่านั้นเข้าใจได้ทันที ดังนั้น นิรุตตปฏิสัมภิทา ระดับญาณจึงจะน่าเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากพระญาณด้วย ในขณะเดียวกันก็อาจจะเกิดขึ้นจากที่พระองค์เคยศึกษาในสมัยเป็นพระราชกุมารด้วย
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คำว่า ปฏิภาณ ได้แก่ไหวพริบ ฉลาดเฉลียว เข้าใจทำอะไรได้เหมาะสมทันทีทันควัน เมื่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้นและสามารถที่จะแก้ไขเหตุการณ์เหล่านั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรียกว่าแก้ปัญหาเฉพาะได้ข้อนี้ในชั้นเบื้องสูงก็จะเห็นว่า คนอย่างภารชพราหมณ์โกรธพระพุทธเจ้า มาด่าพระพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง พระพุทธเจ้าตรัสรับสั่งว่า เมื่อแขกมาที่บ้านของท่าน ท่านมีของต้อนรับแขก ถ้าแขกไม่ยอมรับประทานอาหารเหล่านั้น ของรับแขกเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์บอกว่าก็เป็นของแกต่อไป พระพุทธเจ้าก็รับสั่งเป็นทำนองว่า คำด่าทั้งหมดก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ พระองค์ไม่รับ ก็เป็นการแก้ปัญหาที่มีอยู่ภายในใจของท่านให้หายไป หรือ ทีฆนขอัคคิเวสสนะ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลว่า
"ข้าแต่พระสมณโคดม ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจทั้งหมด" พระพุทธเจ้าทรงความคิดของท่านผู้นี้ว่าแกไม่พอใจพระองค์ที่ให้ลุงของแกคือพระสารีบุตรออกบวช พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า
" ทีฆนขะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นของเธอก็ไม่ควรกับเธอด้วย และเธอก็ไม่ชอบใจความเห็นของเธอด้วย"
ทั้งนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะทีฑขนะ แกใช้คำคำว่าทั้งปวงทั้งหมด ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็รวมอยู่ในคำว่าทั้งปวงทั้งหมดด้วย แม้ความเห็นของแกและแม้ของตัวเอง ทีฆขนะก็ยอมจำนนไปซึ่งไหวพริบปฏิภาณเหล่านี้ก็มีอยู่ได้ทุกระดับ ดังนั้นปฏิสัมภิทาทั้ง 4 ประการนี้ในชั้นหนึ่งคนสามัญโดยทั่วไป ที่มีพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้ก็สามารถที่จะได้รับประโยชน์จากปฏิสัมภิทาของตน ตามคุณลักษณะของปฏิสัมภิทาของตนระดับใดระดับหนึ่ง
คุณสมบัติเหล่านี้ ความเป็นรู้จักเหตุ รู้จักผล แตกฉานในภาษาและใช้ภาษาเป็นประกอบกับมีไหวพริบปฏิภาณดี ใครจะมีในระดับใดก็ตาม ย่อมช่วยให้การทำงานของคนนั้น ๆ ในทุกด้าน ประสบความเจริญก้าวหน้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งอาจสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญหน้าตนอยู่ ให้ลดความรุนแรงลง ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้หายไปได้ พึงดูตัวอย่างการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในท่ามกลางข้าศึก ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสงครามยุทธหัตถี สมบูรณ์ด้วยเหตุ ผล ภาษา และปฏิภาณ จนทำเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น