++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เตรียมเปิด“หอพระราชพระบิดา"เผยเกียรติภูมิ-กระตุ้นแรงใจชาวมหิดล

ม.มหิดล เตรียมเปิดตัว “หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บท” เพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย อันมีคุณค่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในหมู่ชาวมหิดล คนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 1 ก.ย.นี้

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) กล่าวว่า “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล” มีการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนงานด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นศูนย์กลางการประสานข้อมูลระหว่างเครือข่ายและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย อันมีคุณค่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในหมู่ชาวมหิดล คนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป โดยสถานที่หลักในการดำเนินกิจกรรม คือ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บท ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ เปิดอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2554 นี้

“วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” อันเนื่องมาจากประวัติอันยาวนานกว่า 120 ปี ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเต็มเปี่ยมไปด้วยเกียรติประวัติและความทรงจำอันทรงคุณค่า ซึ่งปรากฏในรูปของเอกสาร ภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ และสิ่งของจากการปฏิบัติงาน ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดตั้ง “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมด็จพระบรมราชชนก และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติพัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาค้นคว้าด้านแผนที่ แผนผังอาคาร และพัฒนาการด้านกายภาพของมหาวิทยาลัย”

สำหรับแนวคิดหลักในการออกแบบ ประกอบด้วย 3 ห้อง คือ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก หอเกียรติยศและประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บท มีแนวคิดหลักในการออกแบบร่วมกัน คือ “ฟ้า - รุ้ง - ดิน - ธาตุ” เพื่อสื่อความหมายของห้องต่างๆ และสร้างความต่อเนื่องของเรื่องราว

หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 7 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ที่ 1ปัญญาของแผ่นดิน นำเสนอการเป็นต้นแบบปัญญาของแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชชนก โดยสะท้อนจากพระราชดำรัสของพระองค์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจที่มุ่งสร้างประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ

พื้นที่ 2 เจ้าฟ้าของแผ่นดิน แสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยสังเขป ตั้งแต่ประสูติจนถึงสิ้นพระชนม์ รวมทั้งแสดงบริบททางสังคมไทยและสังคมโลกในช่วงพ.ศ. 2435-2472ทั้งการรับความเจริญจากตะวันตก ยุคล่าอาณานิคม และแนวคิดมนุษยนิยม ซึ่งส่งผลต่อ “ตัวตน” ของพระองค์

พื้นที่ 3 เจ้าฟ้านักเดินทางแสดงการเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศของสมเด็จพระบรมราชชนก ทำให้ทอดพระเนตรเห็นสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คน และทรงถ่ายทอดพระประสบการณ์ของพระองค์ผ่านงานศิลปะ รวมทั้งพระราโชวาทที่พระราชทานแก่นักเรียนไทย

พื้นที่ 4 ประทีปแห่งปัญญาแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนกด้านการศึกษาที่ทรงมุ่งมั่นในการสร้างคน ทรงสนับสนุนด้านการเรียนการสอนและพระราชทานทุนการศึกษา

พื้นที่ 5 รักษ์คนไข้ด้วยความรักแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนกด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการรักษาคนไข้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทรงมุ่งเน้นการรักษาด้านจิตใจควบคู่ไปกับร่างกาย อีกทั้งการที่มิได้ถือพระองค์ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ทำให้ทรงเป็นที่รักของประชาชน

พื้นที่ 6 กันภัยมหิดลแสดงผลจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมไทยในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา และวิทยาการต่างๆ

พื้นที่ 7 หยั่งรากในแผ่นดินแสดงการสืบสานงานที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงริเริ่มไว้

ส่วน หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 3พื้นที่
พื้นที่ 1“มหิดลวันนี้” แสดงภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรทุกส่วนงาน

พื้นที่ 2 เมื่อแรกสถาปนาในชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” แสดงประวัติความเป็นมาและพัฒนาการในยุคแรกของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ การขยายขอบเขตการเรียนการสอน ชีวิตนักศึกษาและการเรียนการสอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งจุดตั้งต้นของมหาวิทยาลัย ที่สืบเนื่องมาจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช

พื้นที่ 3 “มหิดล” มุ่งสู่ความเป็นเลิศแสดงพัฒนาการของมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ตั้งแต่การขอพระราชทานนาม “มหิดล” เป็นชื่อมหาวิทยาลัย การจัดหาที่ดินและสร้างวิทยาเขตศาลายา และบทบาททางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ6 ต.ค. 2519 รวมถึงการพัฒนาด้านวิชาการซึ่งมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” พร้อมทั้งแสดงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ในอนาคตของมหาวิทยาลัย

ปิดท้ายที่ ห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บทแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 5พื้นที่
พื้นที่ 1 พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งแสดงภาพรวมของการขยายตัวทางกายภาพที่ไม่หยุดนิ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตต่างๆ พื้นที่ 2 สองวิทยาเขตรุ่นบุกเบิกมหิดล แสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางกอกน้อย และวิทยาเขตพญาไท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ 3 “วิทยาเขตศาลายา” ศูนย์รวมประชาคมมหิดล แสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของวิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสถาบันและเป็นศูนย์รวมของชาวมหิดลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

พื้นที่ 4 มุ่งขยายการศึกษาสู่ภูมิภาคแสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของวิทยาเขตในส่วนภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาเขตนครสวรรค์ และวิทยาเขตอำนาจเจริญ

พื้นที่ 5 ความสัมพันธ์ของวิทยาเขตต่างๆ กับสภาพแวดล้อมและชุมชนโดยรอบแสดงความสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับชุมชนโดยรอบ ทั้งการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านกายภาพที่มีต่อพื้นที่โดยรอบของวิทยาเขตต่างๆ

สำหรับแนวคิด เรื่อง “ฟ้า” สื่อถึง “เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช” หอเกียรติยศและประวัติมหาวิทยาลัยมหิดลว่า ใช้แนวคิดเรื่อง “รุ้ง” ซึ่งมี 7 สีสื่อถึงวัฒนธรรมองค์กรในมหาวิทยาลัย “รุ้ง 7 สีประกอบด้วยที่ประกอบด้วย 7 ตัวอักษร ( M-A-H-I-D-O-L) และ “ดิน” สื่อถึงเกียรติประวัติของสถาบันที่สั่งสมมาและเป็นแหล่งกำเนิดพืชพันธุ์ซึ่งก็คือคนรุ่นใหม่ และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บทใช้แนวคิดเรื่อง “ธาตุ” สื่อถึงองค์ประกอบหลักที่จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็คือหลักฐานของความเป็นมาในการเกิดขึ้นทางกายเตรียมพบกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1ก.ย.นี้ ได้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น