++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ศัตรูที่แท้จริง

คนในโลกทั้งหมดล้วนเกิดมาจากความรัก และเติบโตมาด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็น การทะนุถนอมเลี้ยงดูกันมาเช่นไรก็ตาม แต่ทุกคนจะสัมผัสได้ในสิ่งเหล่านั้น และยังคงดำเนินเส้นทางที่จะแสวงหาความรักจากคนใกล้ตัวและคนไกลตัว
มีหลายๆคนที่บ่นให้ฟังว่าไม่เคยพบรักแท้เลยในชีวิตมาก่อนเลย เจอใครเข้าก็รักไม่จริง หลอกลวง จะเพื่ออะไรก็แล้วแต่
บ้างก็บอกว่ารักเขาข้างเดียวแล้วเหี่ยวเฉา บ้างก็บอกว่าเจอคนรักแบบฉาบฉวย บ้างก็บอกว่าหาคนดีให้รักไม่ยักจะเจอหรือว่าเจอแล้วมักถูกแบ่งปัน
บ้างก็บอกว่าอยู่คนเดียวสบายกายสบายใจเฉิบ( แต่บ่นว่าเหงาให้ฟังอยู่บ่อยๆ ) และอย่างที่เราเห็กันนตามข่าวว่าหนังสือพิมพ์ที่ว่ารักแท้แพ้ใกล้ชิด หรือรักแท้แพ้กิ๊กอะไรทำนองนั้น จนถึงขนาดตามฆ่าแกงกันก็มีมาก เพราะรักเป็นพิษถึงตายได้เชียว
แต่อย่างที่ผู้เขียนโปรยนำเรื่องบทความนี้ว่าทุกผู้คนเกิดจากความรัก ความรักที่มีต่อตัวเอง ความรักที่มีต่อคนที่เรารัก และอยากจะถ่ายทอดพันธุกรรมโดยธรรมชาติไปสู่รุ่นต่อรุ่นเปรียบ เสมือนสืบทอดความเป็นตัวตนของตนต่อไป เพื่อดำรงไว้ในอัตตาที่เรียกว่าเราหรือกู ซึ่งเป็นธรรม ชาติวิสัยหรือสัญชาตญาณในการเกิดมา
ความรักเป็นสิ่งเริ่มต้นในหลายๆอย่าง เพราะมันเป็นอารมณ์แห่งความสุขที่คนบนโลกชอบและอยากได้มันมาครอบครองเรือนใจ
การแสวงหาความรักจึงตามมาด้วยการแสวงหาอารมณ์อื่นๆมากมาย เพราะสิ่งที่แสวงหามันไม่ได้ราบรื่นดิลิฟเวอรี่หรือจัดส่งให้ถึงบ้านง่ายๆเสียอย่างนั้น
บางคนกว่าจะได้หรือสมหวังในความรัก อาจจะต้องเหนื่อยอย่างแสนสาหัส หรือแลกกับอะไรๆในชีวิตมากมาย ตั้งแต่ทรัพย์ เกียรติ หน้าที่การงาน ถ้าดูจากนิยายหรือเรื่องราวของคนบางคน ที่ถึงกับแลกมาความรักมาด้วยชีวิตที่เสี่ยงภัยก็มี
ความรักเป็นฐานให้เกิดความอิ่มใจ ว้าวุ่นใจ เหงา เบิกบานใจ เซื่องซึม ทุรนทุราย โกรธ เกลียด เสน่หา หึงหวง อื่นๆอีกมากมาย เพราะมันแผ่ความเป็นเจ้าของตามไปด้วย ที่เรียกว่าของกู
หากพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่งของความรัก จะเห็นว่าตวามรักเป็นจุดเกิดแห่งภพชาติหรือกิเลสสำคัญที่เป็นตัวร้ายสำหรับผู้แสวงหาความหลุดพ้นต้องการที่จะมุ่งออกจากวงกลมของวัฎสงสาร
ออกจะเป็นการยากที่เราจะสลัดละทิ้งความรัก เพราะมันอยู่กับเรามานานแสนนาน แม้กระทั่งหลายภพหลายชาติ หรือแม้กระทั่งกับชาติปัจจุบันที่ห่อหุ้มด้วยความรักมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก
ความรักเป็นธรรมะระดับศีลธรรมที่ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ในสังคมระดับครอบครัวจนถึงระดับกว้างขวาง แต่จะต้องมีความปรารถนาดีและความเื้กื้อกูล ดีใจกับผู้อื่นและรู้จักวางที่เรียกันกว่าพรหมวิหารธรรมประกอบเข้าไปด้วย
ความรักเป็นของแนบเนียน ติดแน่น ทนนาน ดึงดูด ผิดกับความเกลียดชังแตกแยก ผลักไส วูบวาบ ดังนั้นการจะลืมความรักนั้นรู้สึกเหมือนจะยากกว่าจะลืมความเกลียดชัง เพราะมันโหยหารัญจวนใจ เหมือนสิ่งเสพติดทั้งหลาย ยากที่จะเลิกจะรัก เหมือนคำโฆษณาหนังอยู่เรื่องหนึ่งที่ว่า"หากจะรักต้องลืมคำว่าเสียใจ"
ความรักจึงเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในใจคน ที่ผู้คนทั้งโลกแทบจะถวิลหามาบูชา ใฝ่ฝัน ละเมอเพ้อพก และหลง
ตัวหลงนี้ ครูบาอาจารย์ท่านสอนนักสอนหนาว่าเป็นกิเลสตัวร้ายที่สุดในบรรดา โลภ โกรธ หลงที่เรียกว่าเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวงหรืออกุศลมูล เพราะมันแก้ไขได้ยากที่สุด จึงต้องมาเวียนเกิดเวียนตายกันไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาตินี่แหละ
คำว่าโอฆะแปลว่าห้วงน้ำลึกและกว้าง ผู้ใดตกลงไปแล้ว ยากจะเป็นตัวของตัวเอง ยากจะขึ้นฝั่ง ยากที่จะทำอะไรได้ อันตรายจากห้วงน้ำนั้นเหลือจะกล่าว ใจคนที่ตกลงไปในวังวนของโอฆะหรือกิเลสพลัดพาไปก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกันนั้น
โอฆะนั้นมีสี่ประเภทคือ
กาม ( รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โผฎฐัพพะ ธรรมมารมณ์ )อันผูกใจน่าใคร่ น่ารัก น่าปารถนา
ภพหรือความใคร่ในความอยากมีอยากเป็นในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
มิจฉาทิฎฐิหรือความหลงผิดดังที่ทราบกันอยู่แล้ว หากหลงผิดจะเป็นเช่นไร
อวิชชาหรือความไม่รู้จริงความมืดบอดที่ทำให้หลง มัวเมา งมงาย ไร้เหตุผล ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของชีวิต ของโลก ของวัฎสงสาร คนที่ถูกอวิชชาพัดพาไปเหมือนกับเต่าตาบอดที่ตกในกระแสน้ำเชี่ยว ไม่ทราบดีร้ายแต่อย่างไร
เมื่อใจตกหลุมรักนั้น ย่อมเข้าสู่ห้วงน้ำลึกหรือโอฆะดังกล่าวข้างต้น ชีวิตก็เลยต้องเป็นเช่นนั้น
แล้วอะไรล่ะเป็นคนทำให้เราตกหลุมรัก ก็ตัวเราเองนั้นแหละ ที่ก่อสิ่งทั้งหมดที่เป็นผลของกรรม เพราะเราเป็นผู้เริ่มแห่งกรรมเพราะเจตนา จนทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น
อย่าไปมัวโทษใครเลยอยู่เลยที่ทำให้เราเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ ศัตรูตัวร้ายหรือศัตรูที่แท้จริงอยู่ใกล้ๆกับตัวเรา จนเราแยกไม่ออก เพราะมันอยู่กับลมหายใจของตัวเรานั่นเอง เอวัง

ธรรมะสวัสดี

แสงหิ่งห้อย

คำว่าโอฆะเป็นกิเลสที่ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกบ้าง ทะเลใหญ่ที่ตกไปแล้วรอดยากมีแต่ตายกับตายหรือจมตายในวัฎสงสาร ไม่ว่าจะเป็นกาม ภพที่แปลว่าการทำงานของจิตที่เกิดจากตัณหาหรือความอยาก มิจฉาทิฎฐิที่หลงผิดซับซ้อน และอวิชชา ความโง่บ้าใบ้
ท่านอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต ท่านเทศน์สอนว่าทุกข์ มันเป็นวิบากกรรมหรือผลของกรรมที่เกิดจากการกระทำของเราเอง ไม่ต้องมัวหาทุกข์หรือเงาของเราเองหรอก หาเหตุที่มาแห่งทุกข์ถูกต้องกว่าที่เรียกว่าสมุทัยนั้นแหละโดยทำให้จิตสงบและมีกำลังหลังจากนั้นมันจะทำงานของมันเอง
ยาพิษที่ร้ายแรงที่สุดในโลก ยังร้ายมิสู้ใจคน แล้วเราเป็นคนๆนั้นหรือเปล่าที่กรอกยาพิษใส่ปากตนเอง น่าพิจารณาว่าอะไรคือมิตรอะไรคือศัตรู
จิตที่ฝึกดีแล้ว ท่านอาจารย์สยามดออู โชติกะ พระชาวพม่าผู้ฝึกฝนตนท่านเรียกว่า เพื่อนสนิทจิตของฉัน ( หาอ่านได้จากหนังสือชื่อนี้ครับ )

สะมะชัยโย

ใบโพธิ์แก่นธรรม ท่านอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เราบอกทุกข์ๆ แล้วทุกข์มันคืออะไรล่ะ.. นี่ทุกข์มันคืออะไร ไอ้ที่ว่าหนีทุกข์ ทุกข์นี้มันทุกข์เพราะเราเสียใจ เราเป็นอะไรต่างๆ นี่ มันเป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์ แต่ไอ้สังโยชน์ที่ร้อยรัดอยู่ในจิตนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ที่มันร้อยรัดอยู่ในจิตนี้เราจะเข้าไปดูมันอย่างไร เราจะแก้ไขมันอย่างไร จิตใต้สำนึกนี่.. ถ้าจิตมันไม่สงบมันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาไม่ได้
ฉะนั้นเขาบอกว่า ถ้าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอริยสัจ ๔ เขาบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เห็นไหม ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้สุขก็ได้แต่ทำไมไม่สอน แต่สอนให้รู้จักทุกข์

มันเป็นความจริง ทุกข์มันเป็นจริง สุขนี่นะมันเป็นแค่ความพอใจเท่านั้นแหละ มันก็เป็นสมุทัยอันหนึ่งนั่นแหละ.. สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันก็เป็นสมุทัยทั้งนั้นแหละ มันเป็นตัณหาทั้งนั้นแหละ มันเป็นแต่ความพอใจหรือไม่พอใจ สุขทุกข์ของคนมันไม่เหมือนกันหรอก สุขทุกข์ของคนนี่รู้แต่ว่าบ้า ๕๐๐ จำพวกไง ใครบ้าชนิดไหน ได้สมบัติชนิดนั้นมันก็มีความสุขของมัน

แล้วความสุขของคนนี่ คนหนึ่งได้ชนิดนี้เป็นความสุข อีกคนหนึ่งได้เหมือนกัน ไม่เห็นเป็นความสุขเหมือนกันเลย เพราะความพอใจ เห็นไหม ความพอใจ ความรัก ความสุขใจของเขา เขาก็มีความสุขของเขา แล้วความสุขมันมีไหมล่ะ ความสุขมันมี มันมีเพราะมันพอใจไง มันพอใจมันก็มีความสุขใจ มันมีความสุขใจมันก็สุขเวทนา มันก็เวทนาอีก มันก็ไม่เข้าถึงทุกข์หรอก ไม่เข้าถึงสัจจะความจริง ไม่เข้าถึงอริยสัจ

แต่ถ้ามันทำความสงบเข้ามา.. เขาว่า “ขณะนี้ผมกำลังหนีทุกข์หรือเปล่า” นี่ถ้าเขานั่งสมาธิได้ ฉะนั้น “ถ้าต้องให้ผมพบกับเวทนา ให้ผมสู้กับเวทนา ให้ยอมรับว่าทุกข์”

ไม่ใช่ว่ายอมรับนะ ถ้ายอมรับว่าทุกข์นี่เราไม่มีปัญญาอะไรเลยเหรอ พอเราจิตสงบแล้วเราออกรู้ออกหา.. สักกายทิฏฐิ เห็นไหม มันต้องเป็นระดับไง สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิด จิตใจมันเห็นผิด เห็นผิดมันยึดว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา ถ้าเราพิจารณาตรงนั้นไป ถ้าทิฐิมันถูกนี่สัมมาทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ ! สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส.. สักกายทิฏฐิ เห็นไหม เราใช้ปัญญาแก้ไขจนมันเห็นเป็นความจริงขึ้นมา เห็นเป็นอริยสัจขึ้นมา

“สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา”

ถ้าดับเป็นธรรมดา ก็นี่เวทนาเกิดดับๆ มันธรรมดาๆ.. มันธรรมดาอย่างไรล่ะ อะไรมันเป็นธรรมดา แล้วมันเกิดที่ไหนล่ะ ถ้ามันเห็นจริงขึ้นมานะ นี่สังโยชน์มันขาดตรงนั้น ถ้าสังโยชน์ขาดตรงนั้น นี่ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

เราไปหาทุกข์ๆ นี่หาไม่เจอทุกข์หรอก เราหาทุกข์ไม่เจอนะ หาทุกข์คือตะครุบเงา ร้องไห้.. เจ็บปวดแสบร้อนเราก็ร้องไห้ ทุกข์ๆๆ อยากจะแก้ แก้ตรงไหน เรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว ดีใจเสียใจเรื่องมันก็ผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้วก็ค่อยมาร้องไห้ พอร้องไห้ก็ไม่อยากจะทุกข์ไม่อยากจะร้องไห้แต่มันสัมผัสมาแล้ว มันสัมผัสมาแล้ว แต่ถ้ามันแก้ไขที่ใจแล้ว ถ้าใจมันจบ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมันต้องดับเป็นธรรมดา”

หมายเหตุแก่นธรรม

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูลทางเมล์หรือเว็บต่างๆที่ไม่สามารถระบุชื่อได้ในแก่นธรรมตอนนี้ครับ
ผู้เขียนและคณะเป็นผู้เขลาทางปัญญา หากมีข้อผิดพลาดบกพร่อง ขอน้อมรับทุกประการ บุญกุศลที่เกิดจากบทความนี้ขอน้อมถวายแด่หลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ และอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ อันมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นปฐม เจ้ากรรมนายเวร สรรพสัตว์ทั้งหลายในสากลโลกนี้ รวมทั้งท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น