โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 29 กรกฎาคม 2553 20:31 น.
“เมื่อเช้าเพิ่งจะอาบน้ำให้ลูก แล้วพามาส่งที่โรงเรียน แต่ตอนเย็นต้องมาอาบน้ำศพให้ลูก”
ถ้อยความนี้ไม่เพียงถ่ายทอดความรวดร้าวในจิตใจผู้เป็นพ่อแม่เท่านั้น ทว่ายังสะท้อนความไม่ปลอดภัยของ ‘ทัศนศึกษา’ ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นด้วย อันเนื่องมาจากว่าการท่องเที่ยวแสวงหาความรู้นอกรั้วโรงเรียนด้วยการออกไป เรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนไทยในหลายครากลับกลายเป็นการบอกลาหรือพลัดพราก พ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อนฝูงและโรงเรียนอันเป็นที่รัก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยขาดการควบคุมคุณภาพผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ และรถทัศนศึกษา ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย
นั่นทำให้ภายใต้การกุมพวงมาลัยของพนักงานขับรถทัศนศึกษาที่ไม่ชำนาญ เส้นทาง ขับรถเร็ว หลับใน รถชำรุด เบรกไม่ทำงาน ดอกยางโล้น เบาะที่นั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัย และมักหลุดกระเด็นด้วยยึดติดไม่แน่นเวลาเกิดอุบัติเหตุ ผสานกันเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้นักเรียนและครูบาดเจ็บล้มตายมากมาย
ทั้งนี้ แม้นการสอบสวนอุบัติเหตุ (Accident investigation) เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมยามเดินทางท่องเที่ยว ‘ทัศนศึกษา’ เพื่อชื่นชมภูมิประเทศ โบราณสถาน หรือนิทรรศการ จากหลากหลายโรงเรียนจะสรุปตรงกันมานานแล้วว่าเกิดจากพนักงานขับรถไม่ชำนาญ เส้นทาง ขับหลายชั่วโมงติดต่อกัน คุณภาพตัวรถต่ำกว่ามาตรฐาน และการขาดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เป็นสำคัญ
หากกระนั้นกลับไม่มีการนำข้อค้นพบจากการสอบสวนอุบัติเหตุไปพัฒนาปรับ ปรุงกฎระเบียบด้านความปลอดภัยบนพื้นฐานของข้อค้นพบที่เป็นทั้ง Evidence based และ Scientific based ควบคู่กับจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายความปลอดภัยที่จะก่อคุณูปการมหาศาลต่อ ระบบขนส่งสาธารณะ
อุบัติเหตุที่เกิดกับรถทัศนศึกษาในแต่ละปีจึงไม่ลดลง โศกนาฏกรรมขนาดใหญ่จึงเกิดอยู่เสมอๆ อย่างกรณีรถบัสทัศนศึกษาโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลพลิกคว่ำตกเหวช่วงโค้ง 100 ศพ บนถนนวังสะพุง-ภูเรือ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 26-27 จ.เลย จนมีผู้บาดเจ็บยกคัน 25 คน เป็นคณะครู-นักเรียน 23 คน พนักงานรถพร้อมคนขับ 2 คน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2522 หลังนำคณะครูและนักเรียนเดินทางไปทัศนศึกษา แม้คนขับรถจะยืนยันว่าชำนาญเส้นทางเพราะเคยขับเส้นทางนี้มาแล้ว
หรือในปีนี้กรณีที่รถทัศนศึกษาโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี บรรทุกนักเรียน 200 คน กลับจากดูงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เสียหลักพุ่งชนอัดก๊อบปี้รถสิบล้อ ขณะลงเขาที่มีทางยาวลาดชันช่วงนาดี-กบินทร์บุรี จนคนขับและนักเรียนชายอีก 2 คนเสียชีวิต บาดเจ็บกว่า 50 คน โดยรถทัวร์โดยสารคันนี้ถูกเช่าเหมาคันสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายไปแนะแนว การศึกษาต่อ
ท้ายที่สุดนักเรียนชาย 2 คนนั้นก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อเพราะอุบัติเหตุทัศนศึกษาครานั้น ‘คร่า’ ชีวิตของพวกเขาไปในวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ก่อนจะได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา
ทุกๆ ปีนักเรียนและครูอาจารย์บาดเจ็บล้มตาย หรือไม่ก็พิการตลอดชีวิตจำนวนมากจากการเดินทางท่องเที่ยวทัศนศึกษาที่ทุก โรงเรียนต่างก็มีโปรแกรมพานักเรียนออกนอกสถานที่เพื่อเรียนรู้ด้วยกันทั้ง นั้น โดยจุดหมายส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัดสำหรับเด็กกรุง และกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่สำหรับเด็กต่างจังหวัด และนับแต่ปีนี้เป็นต้นมารถทัศนศึกษาก็ประสบอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่อง จนอาจเรียกได้ว่าทุกโรงเรียนมีโอกาสเสี่ยงสูงพอๆ กัน เพียงแต่จะถึงคิวของโรงเรียนใดก่อนกันเท่านั้น
ปรากฏการณ์ อันตรายนี้จะยังคงอยู่ตราบเท่าที่ภาครัฐยังไม่พัฒนาคุณภาพรถทัศนศึกษาบนฐาน ข้อมูลการสอบสวนอุบัติเหตุและยุทธศาสตร์การลดจำนวนนักเรียนเสียชีวิตจาก ทัศนศึกษาเป็น ‘0’
ทั้งนี้ การสูญเสียเหล่านี้ป้องกันได้ถ้าโรงเรียนในฐานะลูกค้า (Customer) แสดงความต้องการที่จะ ‘เลือก’ ผู้ประกอบการที่มีพนักงานขับรถและตัวรถที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ตามข้อเสนอแนะของ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ที่ระบุไว้ว่า
1) รถที่เช่าต้องได้รับการตรวจสอบสภาพก่อนเดินทาง โดยเฉพาะระบบเบรก ยาง และระบบบังคับเลี้ยว เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการเดินทางในที่สูงชันและระยะไกล 2) เลือกเช่ารถที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน และเข็มขัดนิรภัยที่จะรักษาชีวิตผู้โดยสารได้กว่าร้อยละ 30 รวมถึง GPS สำหรับควบคุมคนขับไม่ให้ขับเร็วเกินกำหนด
3) มีการต่อ พ.ร.บ.ประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัย ยิ่งเป็นชั้นหนึ่งยิ่งดี เพราะหลายกรณีที่เกิดอุบัติเหตุผู้เสียหายไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ 4) ในระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตร ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน เพื่อสับเปลี่ยนตามกฎหมายห้ามขับรถติดต่อกันนาน 4 ชั่วโมง
5) พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตและมีประสบการณ์ในการขับรถสาธารณะ และ 6) ก่อนเดินทางต้องศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทางให้ดี เพราะอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดจากผู้โดยสายเร่งให้คนขับเร็วขึ้นเพื่อทำเวลา ต้องมั่นใจว่าพนักงานขับรถพักผ่อนเพียงพอ ไม่ดื่มสุราก่อนหรือขณะขับรถและเลือกใช้เส้นทางที่ชำนาญและปลอดภัยที่สุด ส่วนนักเรียนก็ต้องไม่ห้อยโหนหรือยืนตรงประตู
อุปสงค์ของโรงเรียนที่เข้มงวดกวดขันในการจ้างรถทัศนศึกษาที่มี มาตรฐานความปลอดภัยจะเป็นตัวกำกับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการใน ท้ายที่สุดตามหลัก ‘Demand-Supply’ ยิ่งถ้าภาครัฐโดยกระทรวงคมนาคมใช้เจตนารมณ์ปีคมนาคมปลอดภัย 2553 มุ่งสร้างเสริมความปลอดภัยแก่เด็กไทย โดยจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนข้อตกลงลงนามความร่วมมือ (MOU) ให้ทุกการเดินทางไปทัศนศึกษาของทุกโรงเรียนปลอดภัย กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบททบทวนเส้นทางที่อาจมีความเสี่ยงต่อรถโดยสาร โดยเฉพาะรถโดยสาร 2 ชั้น พาหนะยอดนิยมในการทัศนาจร
ตลอดจนกรมการขนส่งทางบกต้องทบทวนมาตรฐานรถ โดยเฉพาะการตรวจสภาพระบบเบรก ล้อ โรงเรียนก็ต้องปฏิบัติตามคู่มือคัดเลือกว่าจ้างรถทัศนาจรที่จะจัดทำขึ้นใน อนาคต คู่กับตรวจสอบข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกก่อนเดินทางเพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบ การ พนักงานขับรถ และตัวรถได้มาตรฐานความปลอดภัย นอกเหนือจากการตรวจสอบประกันภัยเพื่อคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุ
ปฏิบัติ การแบบบูรณาการทุกภาคส่วนเช่นนี้จะเปลี่ยนรถทัศนาจรที่เคยเป็นพาหนะแห่งการ พลัดพรากให้เป็นพาหนะแห่งการเรียนรู้สำหรับสร้างอนาคตของชาติอย่างแท้จริง
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น