++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

รู้จักโรคปวดเรื้อรัง "ไฟโบรมัยอัลเจีย"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 พฤศจิกายน 2552 09:30 น.
ถ้าคุณเป็นอีกคน หนึ่ง
ที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยอาการปวดเรื้อรังที่กัดกร่อนคุณภาพชีวิตของคุณมา
นานกว่า 3 เดือน
และอาการปวดเนื้อปวดตัวของคุณนั้นไม่ได้กระจุกอยู่ที่เดียว
หากแต่กระจายออกไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย โปรดอย่านิ่งนอนใจ
พึงตระหนักเอาไว้ว่า
อาการเช่นนี้ส่อแสดงถึงอาการของโรคที่ชื่อไม่ค่อยจะคุ้นหูคนไทย นั่นก็คือ
"โรคไฟโบรมัยอัลเจีย" หรือเรียกง่ายๆ ว่า "โรคปวดเรื้อรัง" นั่นเอง

รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช
นายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า
โรคไฟโบรไมอัลเจียนี้ เป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก
ทั้งในกลุ่มของผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งในกลุ่มแพทย์เอง
แพทย์แทบทุกประเทศในโลกยอมรับว่าโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักและเข้าใจ

"เราพบว่าอัตราผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย
ผู้หญิงจะป่วยมากกว่าถึง 9:1 เลยทีเดียว
อาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจียก็คืออาการปวดที่อาจจะเริ่มปวดแค่จุดเดียวก่อน
แต่พอนานวันเข้าจุดปวดก็จะกระจายออกไปเรื่อยๆ ทั่วร่างกาย
จะต่างจากคนปกติที่จะปวดกระจุกตัวอยู่จุดเดียว เช่น
หากกระแทกบริเวณเข่าก็จะปวดเข่า หกล้มเอาข้อศอกลงก็จะเจ็บข้อศอก
แต่ผู้ป่วยไฟโบรฯ จะปวดหลายจุด ปวดลักษณะกระจาย
และระยะเวลาที่ปวดต้องเรื้อรัง คือ 3เดือนขึ้นไป"

นายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปอีกว่า
อาการเริ่มแรกอาจจะปวดไม่มาก และเริ่มจากเฉพาะจุด เช่น ปวดศีรษะ
หลายคนก็คิดว่าเป็นไมเกรน ก็จะพบแพทย์เพื่อรักษาอาการไมเกรน และไม่หาย
หรืออาจจะปวดกล้ามเนื้อ ก็เข้าใจว่า
เป็นเพราะกล้ามเนื้ออักเสบหรือกล้ามเนื้อล้าจากการทำงาน ก็ไปหาสปาบ้าง
นวดแผนโบราณบ้าง ทำให้โรคไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

"ผู้ป่วยด้วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียจะทนต่อความเครียดได้น้อยมาก
รวมถึงความอดทนต่อความเจ็บปวดก็ต่ำมากเช่นกัน ดังนั้น การวินิจฉัยจะยาก
ทางการแพทย์จะมีจุดปวดทั่วร่างกายอยู่ 18 จุด
ถ้าป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการปวดที่จุดปวดพร้อมๆ กันประมาณ 11 จุด
วิธีการเช็คต่อมาก็คือ แพทย์ต้องกด แรงกดอยู่ที่ประมาณ 4 กิโลกรัม
ถ้ากดแล้วเจ็บมากกว่าหรือเท่ากับ 11จุด แสดงว่าเป็นไฟโบรฯ
ส่วนดีกรีความเจ็บจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยจะเจ็บมากผิดปกติ กดแค่เบาๆ
ผู้ป่วยจะเจ็บมาก ถึงขั้นสะดุ้งและร้องโหยหวน"

อัญชลี เจียระพฤฒ ผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจีย
รศ.นพ.ประดิษฐ์ ให้ภาพของผู้ป่วยโรคไฟโบรมัยอัลเจีย
ที่อาการของโรคกระทบต่อคุณภาพชีวิต และทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยตกต่ำลงว่า
1 ใน 5 ของผู้ป่วยระบุว่า
คุณภาพชีวิตทั่วไปของพวกเขาได้รับผลกระทบจากโรคนี้ในระดับสูงมาก
และในประเทศอินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ มี 21-74%
ที่ป่วยจนกระทบกับความสามารถด้านการเคลื่อนไหว อารมณ์
และความสามารถในการเลี้ยงดูครอบครัว ในขณะที่ 60%
ของผู้ป่วยชาวไทยให้ข้อมูลว่าพวกเขาสามารถประกอบอาชีพได้ไม่สม่ำเสมอ
และไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้เหมือนกับตอนที่ยังไม่ป่วยด้วยโรคนี้

"ปีที่แล้ว เท่าที่ผมรักษา มีคนไทยร้อยกว่าคนที่ป่วยเป็นโรคนี้
แต่ในปีนี้จำนวนขึ้นหลักสองร้อยแล้วครับ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
ในสองร้อยคนนี้มีผู้ชายประมาณ 7 คน" รศ.นพ.ประดิษฐ์ เล่า

ด้าน Dr. Henry Lu แพทย์จาก Makati Pain Clinic กรุงมะนิลา
ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า โรคนี้พบมากในผู้หญิงที่อายุราว 30-40
ปีขึ้นไป อาการคือเจ็บปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
ทำให้ผู้ป่วยทรมานและเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะมีอาการเหนื่อยง่าย
เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง อารมณ์แปรปรวน
นอนไม่หลับ

"ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวได้น้อยลง
เช่นเดินได้ไม่มากก็จะรู้สึกปวด หกล้มนิดหน่อยก็ปวดรุนแรง
ความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงมากกว่าคนปกติ
ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคขณะนี้ยังชี้ชัดไม่ได้
แต่แพทย์ส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปยังประเด็นของเซลล์สมองที่รับรู้ด้านความ
เจ็บปวดของผู้ป่วยว่า น่าจะมีการทำงานที่มากกว่าปกติ
ในขณะที่เซลล์สมองส่วนผ่อนคลายความเจ็บปวดกลับไม่ทำงานหรือทำงานน้อยกว่า
ปกติ"

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเมืองตากาล็อก รายนี้ ยังกล่าวด้วยว่า
นอกจากประเด็นของเซลล์สมองแล้ว แพทย์ยังคะเนด้วยว่า
เพศก็น่าจะมีผลต่ออาการป่วย เพราะเท่าที่พบส่วนใหญ่คนไข้มักจะเป็นเพศหญิง
และเชื่อว่า น่าจะมีแนวโน้มการส่งต่อโรคผ่านพันธุกรรมด้วยเช่นกัน
และอีกสาเหตุหนึ่งที่พบในคนไข้หลายราย คือ
เป็นโรคนี้หลังการประสบอุบัติเหตุหรือหลังจากได้รับบาดเจ็บที่เกิดการกระแทก
กระทบกระเทือนหนักๆ แก่ร่างกาย

"การตรวจวินิจฉัยทำได้ยาก
แต่สำคัญที่สุดก็คือการวินิจฉันต้องถูกต้องเพื่อจะนำไปสู่การรักษาที่ถูก
ต้อง โดยปกติการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้แน่หรือไม่ ต้องใช้เวลาประมาณ
3-6 เดือน จากนั้นก็จะนำไปสู่การรักษา ซึ่งหากรักษาถูกวิธี
อาการก็จะดีขั้นภายใน 3 ปี
แม้ปัจจุบันแพทย์ทั่วโลกยอมรับว่ายังรู้จักโรคนี้น้อย
และยังต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่ก็นับว่าดีกว่าแต่ก่อน
เพราะแนวทางการรักษาเริ่มชัดขึ้น
ขณะนี้เราจะให้ยาที่ออกฤทธิ์ในส่วนของเซลล์สมอง
เพื่อแก้ปัญหาเซลล์สมองรับความเจ็บปวดทำงานมากเกินปกติ
ควบคู่ไปกับนยากลุ่มลดอาการซึมเศร้าและลดอารมณ์แปรปรวน" Dr.Henry กล่าว

รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช

ด้าน "แองจี้" - อัญชลี เจียระพฤฒ หนึ่ง
ในคนไข้ที่ต้องทุกข์ทรมานจากการป่วยด้วยโรคไฟโบรมัยอัลเจียยาวนานถึง 8 ปี
บอกเล่าถึงความเจ็บปวดดังกล่าว ว่า
เธอทำงานในบริษัทบัญชีและกฏหมายแห่งหนึ่ง ลักษณะการทำงานค่อนข้างเครียด
และมีชั่วโมงการทำงานยาวกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน วันหนึ่งเธอเริ่มปวดศีรษะ
ก็คิดว่าเครียดเกินไปจนเป็นไมเกรน ไปพบแพทย์ก็ไม่หาย
จากนั้นความปวดก็กระจายลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคอ
บ่า ไหล่ หลัง ลงไปจนถึงสะโพก น่อง ขา

"ปวดจนนอนไม่ได้ คือ ง่วง อยากนอน เหนื่อยและเพลียมาก
แต่มันนอนไม่ได้เพราะปวดทั้งตัว ทำอย่างไรก็ไม่หาย
ตกกลางคืนนี่แทบไม่ได้นอนเลย กินยาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด
ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ คือกินให้ได้หลับบ้างก็ยังดี
พอกินไปเราก็จะหลับได้ประมาณสัก 1 ชั่วโมง คือถ้าวันไหนหลับได้ 4-5
ชม.นี่สวรรค์นะ แค่นั้นพอแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะได้แค่วันละ 1-2 ชั่วโมง
แต่ละอาทิตย์นี่นับชั่วโมงที่ได้หลับรวมกันได้ไม่ถึง 10 ชั่วโมง
ทรมานมาก"

สาวสวยรายนี้เล่าต่อไปอีกว่า
อาการปวดทรมานที่ฉุดรั้งคุณภาพชีวิตของเธอให้ตกต่ำลงนี้
ทำให้อารมณ์ของเธอแปรปรวน ซึมเศร้า เพราะพักผ่อนไม่พอ
ทำให้รู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ไม่มีแรงที่จะออกไปกิ นข้าว ดูหนัง
หรือปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ได้ เนื่องจากความปวดจะรังควานเธอไปทุกที่


Dr. Henry Lu
"ทำให้เซ็งมาก บางทีเรานอนไม่หลับถึงขั้นต้องลุกมาร้องไห้ คือ
มันอยากนอนมากแต่นอนไม่ได้ ครอบครัวและสามีก็มองว่าเราเครียดเกินไป
ทำงานมากไป ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง หรือล้าก็แนะนำให้เราไปนวดแผนไทย
ซึ่งทำแล้วก็ไม่ดีขึ้น คือกว่าเราจะรู้ว่าเราป่วยเป็นโรคอะไร
ต้องไปพบแพทย์มากถึง 9 ราย แรกๆ ครอบครัวก็ไม่เข้าใจ
เพราะไม่มีใครรู้จักโรคนี้ หมอบางคนก็มองว่าเราเป็นโรคทางจิต คิดไปเอง
หรือเรียกร้องความสนใจ เพราะหมอเองก็ไม่มีข้อมูลเรื่องโรคนี้
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทรมานที่สุด ยิ่งกว่าอาการปวด
ก็คือไม่มีใครเข้าใจว่าเราปวดจริงๆ เราทรมานจริงๆ หมดค่ารักษาไปเยอะมาก
กินยาสารพัดชนิดเพื่อให้หายปวด ก่อนที่จะเจอคุณหมอประดิษฐ์"

แองจี้ กล่าวด้วยว่า หลังจากการรักษามาได้ปีเศษอาการดีขึ้นมาก
และเริ่มนอนหลับได้ยาวขึ้น หายซึมเศร้า
ที่บ้านก็เข้าใจว่าสิ่งที่เธอเป็นคือโรคชนิดหนึ่ง และให้กำลังใจ
เอาให้ช่วย เพื่อให้เธอหากจากโรคนี้
เธอยังได้ฝากไปถึงผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไฟโบรฯ ด้วยว่า
โรคนี้มีโอกาสดีขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย
เพราะนิสัยเดิมของเธอเป็นคนที่ติดการออกกำลังกายมาก และทำสม่ำเสมอ
แม้ช่วง 8 ปีที่ป่วย เธอก็ยังออกกำลังกาย
ซึ่งนั่นกลายเป็นตัวช่วยที่ดีของเธอโดยไม่รู้ตัว

"มา รู้ตอนหลังเหมือนกันจากคุณหมอว่า
เรารอด8ปีที่ป่วยมาได้แบบหวุดหวิดเพราะการออกกำลังกาย คือ
ถ้าไม่ออกคงจะแย่ไปแล้ว คุณหมอบอกว่า การออกกำลังกายสำคัญมากพอๆ
กับการรักษาด้วยยา และเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคนี้ต้องทำ
เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้
เนื่องจากพอออกกำลังกายเสร็จกล้ามเนื้อจะคลายตัว
ร่างกายจะหลั่งสารความสุขทำให้คลายอาการซึมเศร้า ตอนแองจี้ป่วยก็ออกนะคะ
แล้วก็ไม่รู้สึกปวดเวลาออกกำลังกาย แถมพอออกเสร็จมันจะทำให้เราหลับดีขึ้น
ก็ออกมาเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่ามันจำเป็นต้องออก ก็ถือว่าโชคดี
ตอนนี้คุณหมอให้ออกมากกว่าเดิม คือออกกำลังกายอาทิตย์ละ 5-6 วัน
ช่วยได้มากค่ะ" หญิงสาวทิ้งท้าย

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000132599

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น