Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
“มวนเพชฌฆาต” คุมหนอนกินดอกไม้-เกษตรชีววิธี แบบฉ.นักวิจัย มข.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2552 12:01 น.
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านศิลา ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้ยึดอาชีพร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด และ ปลูกดอกไม้ขาย เป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ซึ่งปัจจุบันที่นี้ถือเป็นแหล่งขายส่ง และ ขายปลีก พวงมาลัยดอกไม้สด แหล่งใหญ่ของจังหวัดขอนแก่น และอำเภอใกล้เคียง ตลอดทั้งปีชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บดอกไม้ขายและร้อยพวงมาลัยส่งให้พ่อ ค้าคนกลาง
แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกดอกไม้ ก็คือปัญหาหนอน และ แมลง ระบาดในแปลงไม้ดอก ทำให้ผลผลิตเสียหายและไม่มีคุณภาพจากปัญหาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.ทัศนีย์ แจ่มจรรยา นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ ศูนย์ไบโอ (BIO) และ นางสาวยุวรัตน์ บุญเกษม ผู้ช่วยนักวิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การใช้มวนเพชฌฆาตเพื่อควบคุมหนอนกิน ดอกดาวเรือง เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร ลดต้นทุนในการกำจัดและควบคุมศัตรูพืช นอกเหนือจากการใช้สารเคมี
กลุ่มเกษตรกร จ.ขอนแก่นที่ยึดอาชีพปลูกดอกไม้ พบปัญหาหนอนและแมลง ระบาดในแปลงไม้ดอก
ผศ.ดร. ทัศนีย์ แจ่มจรรยา เผยว่า “มวนเพชฌฆาต” เป็นแมลงตัวห้ำ ที่มีประโยชน์ในการช่วยกำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม และหนอนบุ้งต่างๆ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมวนจะเข้าทำลายเหยื่อ โดยการใช้ปากที่เป็นแท่งยาวแหลมคม เจาะเข้าไป ทำให้หนอนเป็นอัมพาต ขยับตัวไม่ได้จากนั้นจะดูดกินของเหลวภายในตัวหนอนจนตัวแห้งเหี่ยวตาย
“มวน ตัวห้ำชนิดนี้จะดูดกินหนอนเป็นอาหารเท่านั้น ซึ่งจะไม่ทำลายพืช จึงเป็นแมลงธรรมชาติ ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช โดยชีววิธีในแปลงไม้ดอก เช่น ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ กล้วยไม้ แปลงผักตระกูลกะหล่ำ ข้าวโพด และ แปลงปลูกต้นสัก”
สำหรับ วงจรชีวิตของ มวนเพชฌฆาต จะมีอยู่ 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย ซึ่งสามารถนำมวนเพชฌฆาต ตั้งแต่วัยที่ 2 ถึงตัวเต็มวัย ไปปล่อยในแปลงเกษตรดังกล่าวได้ในอัตรา 500 ตัว ต่อ ไร่ การเพาะเลี้ยงมวนเพชฌฆาต สามารถทำได้โดยเพาะเลี้ยงในกล่องพลาสติก ใส่จิ้งหรีดลาย และสำลีชุบน้ำเป็นอาหาร พร้อมทั้งใส่กิ่งไม้สด หรือกระดาษที่ขยำเป็นก้อน เพื่อให้มวนเพชฌฆาตเกาะและหลบซ่อนตัว เปลี่ยนอาหารสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ต้นทุนในการเลี้ยงมวนเพชฌฆาตจำนวน 200 ตัว ด้วยจิ้งหรีดลาย เป็นเวลา 2 เดือน เท่ากับ 130 บาท
ประจำศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชฯ มข.ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การใช้มวนเพชฌฆาตเพื่อควบคุมหนอนกินดอกไม้
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบต้นทุน ระหว่างการใช้สารเคมี และการใช้มวนเพชฌฆาต กำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายในแปลงดอกดาวเรือง ของ เกษตรกรจำนวน 5 รายพบว่า
“ความ เสียหายของดอกดาวเรืองลดลง ร้อยละ 23.04 เมื่อเปรียบเทียบกับแปลง ที่ใช้สารเคมี สามารถลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี 2,000 - 7,375 บาท ต่อ ไร่ และสามารถเก็บผลผลิตขายได้กำไร 8,000 - 51,375 บาท ต่อไร่”
** สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 043-343055, 043 -202823 หรือ ที่เว็บบอร์ดสายตรงนักวิจัย www.kku.ac.th/rs
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น