โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
สถานี อนามัยหินดาษคิดค้นนวัตกรรม “ไม้สามเกรด” ตรวจหัวนมหญิงตั้งครรภ์ เผยเกือบ 50% มีปัญหา นวัตกรรมใหม่ช่วยได้ แก้หัวนมสั้น แม่ให้นมลูกไม่ได้
ไม้สามเกรดที่ใช้วัดหัวนมหญิงมีครรภ์
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่อิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี ในงานมหกรรมสุขภาพชุมชน 2552 นางวรกาญจน์ ชากรแก้ว พยาบาลวิชาชีพ สถานีอนามัยหินดาษ ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ได้นำนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ“ไม้สามเกรด” ซึ่ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจหัวนมในหญิงตั้งครรภ์ โดย นางวรกาญจน์ กล่าวว่า เนื่องจากการตรวจหัวนมในหญิงตั้งครรภ์ที่ผ่านมา จะใช้วิธีการสังเกตด้วยตาว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งไม่มีมาตรฐานทำให้เกิดความผิดพลาดในการแปรผล ส่งผลให้เกิดปัญหามารดาไม่สามารถให้นมบุตรได้ ดังนั้น การตรวจเต้านมอย่างถูกต้อง ถือว่ามีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาหัวนมสั้นได้ โดยไม้สามเกรดช่วยลดความผิดพลาดในการตรวจหัวนมหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ เป็นครั้งแรกได้
“การที่มีหัวนมสั้นหรือบอด บุ๋ม จะทำให้ทารกดูดนมแม่ไม่ได้หรือ ดูดนมไม่ติด เด็กเกิดความหงุดหงิด รำคาญ ร้องกวน โยเย ในที่สุดก็ไม่อยากกินนมแม่ ส่วนตัวแม่ก็จะเจ็บหัวนม มีการอาการคัด ตึง เกิดการอักเสบ และให้เด็กกินนมผงแทนนมแม่” นางวรกาญจน์ กล่าว
นางวรกาญจน์ กล่าวต่อว่า ไม้สามเกรดเป็นการนำสิ่งเหลือใช้ในสถานีอนามัยมาดัดแปลง ทำให้ต้นทุนต่ำสามารถตรวจหัวนมหญิงตั้งครรภ์ได้ถูกต้องมีมาตรฐาน ซึ่งวิธีการใช้ก็ง่าย โดยนำไม้ซึ่งที่บริเวณปลายมีการกำหนดเป็น 3 สี คือ สี แดง มีหัวนมยาวจากโค่นถึงปลายยอด 0.1-0.3 เซนติเมตร ซึ่งหัวนมโผล่มานิดเดียว ถือว่าผิดปกติต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ส่วนสีเหลืองมีหัวนมยาวจากโค่นถึงปลายยอด 0.4-0.6 เซนติเมตร ต้องรีบแก้ไข และสีเขียว หัวนมยาวจากโคนถึงปลายยอด 0.7-1 เซนติเมตร ถือว่าปกติ แต่หากจับหัวนมไม่ติดเลย คือ หัวนมบอดหรือบุ๋ม ซึ่งวิธีการตรวจจะวัดว่าหัวนมอยู่ตรงสีใดของไม้ แล้วจึงแนะนำวิธีการแก้ปัญหา
นางวรกาญจน์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีการฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์ทุกรายจะได้รับการตรวจประเมินหัวนม, เต้านม และลงบันทึกในสมุดบันทึกการฝากครรภ์ และหากพบปัญหาหัวนมบอด หรือหัวนมสั้นก็จะแนะนำวิธีการแก้ไขหัวนมบอด โดยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้วางด้านข้างหัวนมและพยายามดึงแยกออกจากกัน ทำรอบๆ หัวนมซ้ำๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หลังอาบน้ำติดต่อกัน ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนในรายที่มีปัญหามากอาจเข้ารับการแก้ไขที่สถานีอนามัย โดยใช้วิธีการใช้กระบอกฉีดยาที่นำมาดัดแปลงเป็นที่แก้ไขหัวนมบอด ดึงหัวนมให้ยื่นออกมา
“จากการเก็บข้อมูลในปี 2550-2551 พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาหัวนมสั้น หรือบอด บุ๋ม 46% ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของแต่ละคนที่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะที่ส่วนใหญ่เมื่อตั้งครรภ์หัวนมก็จะใหญ่ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ ลูก ดังนั้น เมื่อรู้ปัญหาเร็วก็ทำให้แก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งการใช้ไม้สามเกรดเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมาก” นางวรกาญจน์ กล่าว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000018767
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น