++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เห็นมดเท่าช้าง วินทร์ เลียววาริณ


นิตยสารการ์ตูน MAD ของอเมริกาถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ไม่ใช่การ์ตูนประเภทอ่านเอาขำแล้วจบแค่นั้น หลายเรื่องขำลึกและต้องนำไปคิดต่ออีกหลายวัน เสียดสีสังคมแสบ ๆ คัน ๆ ด้วยการ์ตูนแนวล้อเลียน เสียดสีแบบขันขื่น

การ์ตูนเรื่องหนึ่งที่ผมอ่านนานปีมาแล้ว เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่เดินไปตามทางเท้าริมอพาร์ตเมนท์หลังหนึ่งยามหัวค่ำ แสงสว่างจากภายในห้องพักห้องหนึ่งส่องให้เห็นเงาร่างของชายในห้อง มือหนึ่งถือปืนจ่อหัวตัวเอง อีกมือหนึ่งถือซองจดหมายลาตาย

ด้วยความตกใจเขารีบตามตำรวจมาทันที ตำรวจมาถึงก็รีบพังประตูเข้าไปเพื่อห้ามชายคนนั้นฆ่าตัวตาย ปรากฏว่าเบื้องหน้าเป็นภาพชายเจ้าของห้องกำลังถือไดร์เป่าผม อีกมือหนึ่งถือแผ่นกระจกสี่เหลี่ยม หากเรื่องนี้เป็นเพียงขำขันก็คงไม่เป็นไร แต่ทว่า ในชีวิตจริงมนุษย์จำนวนมากชอบมองอะไรเป็นเรื่องร้ายไว้ก่อนอย่างนี้เสมอ

เห็นกิ่งไม้เป็นงูเขียว เห็นงูเขียวเป็นงูเหลือม, เวลาปวดท้อง ก็คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่, ปวดหัวก็สงสัยว่าตัวเองอาจเป็นมะเร็งสมองขั้นสุดท้าย, เห็นฟ้าแลบก็กลัวว่าจะถูกฟ้าผ่าตาย, ทำข้อสอบเสร็จ ก็บอกว่าตัวเองต้องสอบตกแน่ๆ ฯลฯ

อันที่จริงการมองโลกในด้านร้ายไว้บ้างทำให้ระมัดระวังตัว เช่นเดินในที่เปลี่ยวก็ระวังคนร้าย หรือเดินที่พงรกก็ระวังงูกัด เป็นสัญชาตญาณการรักษาชีวิตของตน ทำแต่พอดีก็ไม่เป็นไร แต่หากใช้ชีวิตแบบ 'เห็นมดเท่าช้าง' ตลอดเวลา ย่อมทำให้ไม่มีความสุข หากเป็นการทำธุรกิจก็อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด การเห็นปัญหาใหญ่เกินจริง หรืออาการ 'เห็นมดเท่าช้าง' เกิดขึ้นบ่อย ๆ และทำให้แก้ปัญหาผิดทาง

ในตำนานเรื่อง สามก๊ก มักมีฉากการรบที่กองทัพฝ่ายหนึ่งส่งเสียงโห่ลั่นสนั่นทุ่งเพื่อลวงให้ฝ่ายศัตรูตกใจ และหลงเชื่อว่าฝ่ายตนมีกำลังมากกว่าหลายเท่า เมื่อตกใจก็มักสูญเสียความฮึกเหิมในการรบ อาจตามมาด้วยความปราชัย

ทั้งนี้เพราะมนุษย์มักมีนิสัยแย่อย่างหนึ่งที่ชอบมองเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ การบอกต่อข่าวสารใด ๆ จึงมักเป็นการขยายเรื่องเกินจริง พุทธปรัชญาสอนให้มองทุกข์ที่ต้นเหตุ มองทุกอย่างที่ความเป็นจริง มองด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อมีข้อมูลที่ถูกต้อง ก็สามารถตัดสินแก้ปัญหาได้ตรงจุด

หากยืมหลักอริยสัจสี่ (ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค) มาประยุกต์ใช้ เราก็สามารถถอดชิ้นส่วนของปัญหาออกเป็นสี่ขั้น คือ ปัญหา ต้นเหตุของปัญหา การสิ้นสุดของปัญหา และทางไปสู่การสิ้นสุดของปัญหา

หลักการแก้ปัญหานี้ง่ายนิดเดียว : มองปัญหาที่สาเหตุ มองสาเหตุให้ชัดเจน แล้วแก้ตรงจุดนั้น แต่การตามล้างตามเช็ดปัญหามิสู้การป้องกันไว้ก่อน นั่นคือ มองว่าปัญหาอาจไม่ใช่ปัญหา เพราะชีวิตของคนเรานั้นอาจหนีไม่พ้นปัญหาก็จริง

แต่ปัญหาที่แย่ที่สุดคือ ปัญหาที่เราคิดว่ามันเป็นปัญหา เป็น ‘สัตว์ร้าย’ ที่เราสร้างขึ้นมาเอง มันทำให้เราเสียเวลา พลังงาน และทรัพยากรโดยไม่จำเป็น เพื่อจะจัดการมัน

เงาในน้ำมักมีขนาดใหญ่กว่าของจริงเสมอ

วินทร์ เลียววาริณ, 31 มกราคม 2552
ข่าวหน้าหนึ่ง, www.winbookclub.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น