ผลพวงจากการเมืองยืดเยื้อมานาน "สปอตไลต์" จึงฉายไปที่ "เอสเอ็มอี" ที่กำลังทยอยปิดกิจการราวใบไม้ร่วง ข้อมูลจากสภาอุตฯ เผยว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทยอยปิดกิจการไม่น้อยกว่าแสนราย
ขณะที่ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า โอกาสจะปิดกิจการมากถึง 30-40% หรือประมาณ 7-8 แสนราย จากทั้งหมด 2.5 ล้านราย
พรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นเอสเอ็มอีหลายคนก็เริ่มจ่ายเงินเดือนช้า ลดคนงานจนถึงปิดกิจการ ที่สำคัญเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจของคนไทยล้วนๆ จ้างงาน ไม่น้อยกว่าสิบล้านคน
อย่างไรก็ตาม การเมืองก็ไม่น่าจะใช่ปัญหาหลักทั้งหมด ถ้าดูกันถึงต้นตอจริงๆ เป็นเพราะเอสเอ็มอีบ้านเราไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันแข็งแกร่งเพียงพอ
รัฐบาล(ทุกรัฐบาล) รวมทั้งบีโอไอจะให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดใหญ่ นักลงทุนต่างชาติ เพียงแค่ได้ตัวเลขลงทุนเยอะๆ แต่ถ้าดูจากต่างประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป จะให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีมาก
เพราะถือว่าเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ เขาส่งเสริม คุ้มครองให้ค่อยๆ เติบโตจนแข็งแกร่งกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าไมโครซอฟท์ แอปเปิ้ล เริ่มจากเอสเอ็มอี เอาโรงรถ ใช้หอพักทำโรงงานมาก่อน
นโยบายของเขาถึงกับระบุไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับงานประมูลของรัฐชัดเจนว่า 20% ของราคาประมูลต้องเป็นเฉพาะเอสเอ็มอี เขาไม่ปล่อยให้เอสเอ็มอีไปแข่งกับยักษ์ใหญ่ แบ่ง "ลู่วิ่ง" ชัดเจน ไม่เหมือนบ้านเราที่รายใหญ่กับรายเล็กแข่งกันเอง ในที่สุดรายเล็กๆ ก็โดนกินเรียบ
จึงไม่แปลกใจเวลาที่สหรัฐผ่านวิกฤตเศรษฐกิจหนักๆ มาได้หลายครั้ง เพราะมีเอสเอ็มอีเป็นฐานรากที่แข็งแกร่ง ทำให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หรือใกล้ๆ บ้านเราไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลย์ เอสเอ็มอีของเขาก็ได้รับการปกป้องจนแข็งแกร่ง
ปัญหาจึงไม่ใช่เพราะการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเราไม่เคยส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้มแข็งจริงๆ จังๆ งบประมาณแต่ละปีไม่ใช่น้อยๆ เกือบทุกกระทรวงแย่งกันส่งเสริม ไม่เห็นจะดีขึ้นสักแค่ไหน
เมืองไทย 25 น./ทวี มีเงิน
ข่าวสดออนไลน์, 18 พ.ค.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น