Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555
เตรียมแผนย้ายสัตว์ป่าของกลางสัตว์ผู้ล่าทั่ว ปท.ไปที่ราชบุรี
ราชบุรี - กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมแผนย้ายสัตว์ป่าของกลางสัตว์ผู้ล่าทั่วประเทศไปที่ราชบุรี เผยปี 55 มีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าประมาณ 550 คดี มีสัตว์ป่าที่ตรวจยึดได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ตัว
เวลา 10.00 น.วันนี้ (30 ส.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เดินทางมาดูพื้นที่สถานีวิจัยและเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ในการนำสัตว์ป่าของกลางประเภทสัตว์ผู้ล่าที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดไว้จากทั่วประเทศมาไว้ที่สถานีวิจัยและเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง
นายธีรภัทร กล่าวว่า จากสถิติคดีที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งปี 2555 นี้ เฉลี่ยแล้วจะมีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าประมาณ 550 คดี โดยปีนี้ มีประมาณ 550 คดี ซึ่งคดีต่างๆ จะมีสัตว์ป่าที่ตรวจยึดได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ตัว โดยเฉพาะปีนี้ตรวจยึดได้ประมาณ 13,000 ตัว สัตว์ป่าที่ได้ดำเนินการจับได้มีการเคลื่อนย้ายกระจายไปอยู่ตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่างๆ จำนวน 24 แห่งทั่วประเทศ โดยทั้ง 24 สถานีจะมีการดูแลสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์ป่าของกลางแตกต่างกันไป ซึ่งแล้วแต่ความชำนาญของแต่ละพื้นที่
เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ จ.ฉะเชิงเทรา จะดูแลเรื่องลิง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 ตัว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี จะมีหมีหมา หมีควาย ที่ต้องดูแลอยู่ประมาณกว่า 100 ตัว ส่วนสถานีนกน้ำ จ.ชลบุรี จะมีพวกนกกระจิบ นกกระจาบ นกกระติ๊ด และสัตว์ป่าต่างประเทศ เช่น เต่าดาว และสัตว์อื่นๆ ไปรวมกันอยู่ที่นั่น
สำหรับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดพื้นที่ให้เป็นสถานสำหรับดูแลสัตว์ผู้ล่าโดยเฉพาะเสือโคร่ง และเสือชนิดต่างๆ ส่วนสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ถูกจัดให้เป็นที่พักสำหรับเสือโคร่ง และเสือชนิดต่างๆ ในลักษณะกรงขังเดี่ยว ซึ่งที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างนี้จะแตกต่างจากที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ซึ่งจะเป็นพื้นที่กึ่งเปิด สามารถปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติได้ โดยจะเลี้ยงให้อยู่ในกรงขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการนำสัตว์ป่าของกลางบางชนิดที่ถูกจับได้บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลิง หรือสัตว์บางอย่างนำมาดูแลในพื้นที่เหล่านี้ด้วย
สำหรับการดูแลจะมีการจัดทำกรงอย่างดีให้แก่สัตว์เหล่านี้ได้อยู่พอเหมาะ โดยต้องคำนึงถึงสุขภาพของสัตว์ ซึ่งจะมีสัตวแพทย์คอยดูแลในพื้นที่ตลอด นอกจากระบบกรงที่ดียังจะมีระบบการให้อาหารที่เป็นเวลา มีการจัดการน้ำเสีย และขยะ ซึ่งจะต้องพยายามทำให้ได้มาตรฐานเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าทางกรมอุทยานฯ มีการดูแลสัตว์ป่าของกลางเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ดี
ในอนาคต สัตว์ที่ตรวจยึดมาประมาณ 13,000 ตัว ที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เลี้ยงดูอยู่นี้มีอยู่ส่วนหนึ่งที่นำมาเก็บเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับสัตว์ป่าที่หายาก บางส่วนเพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย อีกส่วนจะปล่อยขยายพันธุ์เพื่อจะใช้ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการประกาศให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 59 ชนิด ที่มีการเพาะพันธุ์ได้
สำหรับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติสัตว์ป่าที่เรามีการเพาะพันธุ์ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยูง เก้ง กวาง กระจง เลียงผา กวางผา และสัตว์อื่นอีกบางชนิด เราก็มีโครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อปีที่แล้วได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติกว่า 2,500 ตัว ปีนี้เป็นปีมหามงคล 80 พรรษา มหาราชินี ก็จะปล่อยสัตว์ป่ากว่า 20 ชนิด ประมาณ 3,080 ตัว ดำเนินการปล่อยในพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างพื้นที่สำคัญทางตอนเหนือ และเขตภาคกลาง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ทางภาคใต้ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง โดยจะเลือกพื้นที่ที่เคยมีสัตว์ป่าอาศัยอยูแต่ลดน้อยลง ซึ่งจะปล่อยสัตว์ป่าเพื่อไปฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อให้ความสมดุลธรรมชาติกลับคืนมา
อีกส่วนหนึ่งคือ สัตว์ป่าซึ่งมีจำนวนมาก และคนให้ความสนใจ เช่น เสือโคร่ง หมี ในอนาคตได้มีโครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติบางพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ แต่เรื่องเสือโคร่งจะอยู่อันดับท้ายๆ ซึ่งจะดูเรื่องของหมี และลิงก่อน ซึ่งจะมีโครงการฝึกการตรวจโรคให้สามารถอยู่กับธรรมชาติได้ หลังจากนั้นจึงปล่อย คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีที่จะต้องมี ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เราต้องเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม แผนต่างๆ เหล่านี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ สวัสดิภาพของสัตว์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเข้ามาช่วยกรมอุทยานฯ โดยที่ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ป่าเองในพื้นที่ ก็นำสัตว์ป่านั้นมาส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งทางกรมได้มีโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ ซึ่งสามารถเข้ามาสนับสนุนเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ให้แก่สัตว์เหล่านี้ และมาเยี่ยมเยียนได้ตลอดเวลา สนใจสอบถามได้ที่ 1362 สายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น