การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี ธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง
การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลัง ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน
การทำสมาธิ
บัดนี้เราจะทำสมาธิ ก็ตั้งใจ ให้เอาความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ถ้าหากว่าเราหายใจสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป ก็ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบเหมือนกันกับเราเย็บจักร ผู้เย็บจักรมีมือมีเท้าเราต้องถีบจักรเปล่าดูก่อน ให้รู้จักให้คล่องกับเท้าของเราเสียก่อนจึงเอาผ้ามาเย็บ
การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน หายใจเฉยๆ กำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน ยาวขนาดไหน สั้นขนาดไหน จะให้ค่อยขนาดไหน แรงขนาดไหน จะยาวก็ไม่เอากับมัน จะสั้นก็ไม่เอากับมัน จะค่อยก็ไม่เอากับมัน เอาตามความพอดี เอายาวพอดี เอาสั้นพอดี เอาค่อยพอดีเอาแรงพอดี นั่นชื่อว่าความพอดี เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้องแล้วก็ปล่อย หายใจดูก่อนไม่ต้องทำอะไร
โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้ ถ้า หากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หายใจเข้าต้นลมอยู่ปลายจมูกกลางลมอยู่หทัยคือหัวใจ ปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลม เมื่อหายใจออกต้นลมจะอยู่สะดือกลางลมจะอยู่หทัย ปลายลมจะอยู่จมูก นี่มันสลับกันอย่างนี้ กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัย ผ่านสะดือ พอสุดแล้วก็จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกทั้งสามจุดนี้ พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้น
เมื่อหากว่าเรากำหนดจิตของเรา ให้รู้จักต้นลมกลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควร เราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉยๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้า เอาแต่ความรู้สึกเท่านั้นไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา เอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออก ผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงแต่ให้มีความรู้สึกเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกัน ลมออกก็ให้รู้ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิด เอาเพียงเท่านั้นเสียก่อนในเวลานี้ หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมาก กำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ
ต่อไปจิตก็สงบลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไปกายก็จะเบาเข้าไป จิตก็จะสงบไป ความเบากายเบาใจนั้น ก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงาน และจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไป นี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำกำหนดไป.....
จิตเราละเอียดเข้าไป การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ ให้เรารู้จักมัน มันก็มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกคลีกันไป มันมีวิตก วิตกคือการจะยกจิตของตนนึกถึงอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ถ้าสติของเราน้อยก็จะวิตกน้อย แล้วก็มีวิจารณ์คือ การตรวจดูตามเรื่องที่เราวิตกนั้น แต่ข้อสำคัญนั้นต้องพยายามรู้ให้ทันอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาให้ลึกลงไปอีก ให้เห็นว่า มีทั้งสมาธิและมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น
องค์ประกอบของความสงบ
คำว่า "จิตสงบ" นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรมันต้องมี มีความสงบครอบอยู่ ท่านกล่าวถึงองค์ของความสงบขั้นแรกว่า หนึ่งมีวิตก ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีวิจารณ์ คือพิจารณาตามอารมณที่เกิดขึ้นมา ต่อไปก็จะมีปีติคือ ความยินดีในสิ่งที่เราวิตกไปนั้น ในสิ่งที่เราวิจารณ์ไปนั้น จะเกิดปีติ คือความยินดีซาบซึ้งอยู่โดยเฉพาะของมันแล้วกมีสุข สุขอยู่ไหน สุขอยู่ในการวิตก สุขอยู่ในการวิจารณ์ สุขอยู่กับความอิ่มใจ สุขอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นแหละ แต่ว่ามันสุขอยู่ในความสงบ วิตกก็วิตกอยู่ในความสงบ วิจารณ์ก็วิจารณ์อยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ สุขก็อยู่ในความสงบ ทั้งสี่อย่างนี้เป็นอารมณ์อันเดียว อย่างที่ห้า คือ เอกัคคตา ห้าอย่างแต่เป็นอันเดียวกัน คือทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ แตมีลักษณะอยู่ในขอบเขตอันเดียวกัน คือเมื่อจิตสงบ วิตกก็มี วิจารณ์ก็มี ปิติก็มี สุขก็มี เอกัคคตาก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์เดียวกัน
คำที่ว่าอารมณ์เดียวกันนั้น ทำไมจึงมีหลายอย่างหมายความว่า มันจะมีหลายอาการก็ช่างมัน เพราะอาการทั้งหลายเหล่านั้น จะมารวมอยู่ในความสงบอันเดียวกันไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เหมือนกับว่ามีคน ๕ คน แต่ลักษณะของคนทั้ง ๕ คนนั้นมีอาการเดียวกัน คือจะมีอารมณ์ทั้ง ๕ อารมณ์ เมื่ออารมณ์อันนั้นอยู่ในลักษณะ นี้ ท่านเรียกว่า "องค์" องค์ของความสงบ ท่านไม่ได้เรียกว่าอารมณ์ ท่านเรียกว่า วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เป็นอารมณ์ตามธรรมดาท่านจึงจัดว่าเป็นองค์ของความสงบมีอาการอยู่ ๕ อย่าง คือวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีความรำคาญ วิตกอยู่ก็ไม่รำคาญ วิจารณ์อยู่ก็ไม่รำคาญมีปีติก็ไม่รำคาญ มีความสุขก็ไม่รำคาญ จิตจึงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสิ่งทั้ง ๕ นี้จับรวมกันอยู่ เรื่องจิตสงบขั้นแรกจึงเป็นอย่างนั้น
ปัญหาของการทำสมาธิ
ทีนี้บางอย่างอาจถอยออกมา ถ้ากำลังใจไม่กล้าสติหย่อนไปแล้ว มันจะมีอารมณ์มาแทรกเข้าไปเป็นบางครั้ง คล้ายๆ กับว่าเคลิ้มไป แล้วมีอาการอะไรบางอย่างเข้ามาแทรกตอนที่มันเคลิ้มไป แต่ไม่ใช่ความง่วงตามธรรมดา ท่านว่ามีความเคลิ้มในความสงบ บางทีก็มีอะไรบางอย่างแทรกเข้ามา เช่นว่า บางทีมีเสียงปรากฏบ้าง บางทีเหมือนเห็นสุนัขวิ่งผ่านไปข้างหน้าบ้าง แต่ว่าไม่ชัดเจนและก็ไม่ใช่ฝัน อันนี้จัดเป็นฝันไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้วไม่สม่ำเสมอกัน มันอ่อนลง อ่อนเคลิ้มลง จึงเกิดอารมณ์เข้าแทรก อันนี้เป็นอาการของจิต
ถ้าหากว่าเรามีความสงบมันก็มีสิ่ง ๕ สิ่งนี้เป็นบริวารอยู่ แต่เป็นบริวารในความสงบ อันนี้เป็นเบื้องแรกของมัน ขณะที่จิตเราสงบอยู่ในขั้นนี้ ชอบมโนนิมิตทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจิต มันชอบเป็นแต่ผู้ทำสมาธิจับไม่ค่อยถูกว่า "มันหลับไหม? ก็ไม่ใช่""มันฝันไปหรือ? ก็ไม่ใช่" ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มันเป็นอาการเกิดมาจากความสงบครึ่งๆ กลางก็ได้ บางทีก็แจ่มใสเป็นธรรมดา บางทีก็คลุกคลีไปกับความสงบบ้าง กับอารมณ์ทั้งหลายบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตของมัน
อย่างไรก็ตามบางคนทำสมาธิยาก เพราะอะไรเพราะจริตแปลกเขา แต่ก็เป็นสมาธิ แต่ก็ไม่หนักแน่น ไม่ได้รับความสบายเพราะสมาธิ แต่จะได้รับความสบายเพราะปัญญา เพราะปัญญาความคิด เห็นความจริงของมันแล้วก็แก้ปัญหาถูกต้อง เป็นประเภทปัญญาวิมุต ไม่ใช่เจโตวิมุต* มันจะมีความสบายทุกอย่างที่จะได้เกิดขึ้นเป็นหนทางของเรา เพราะปัญญาสมาธิมันน้อย คล้ายๆ กับว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ พิจารณา "อันนั้นเป็นอะไรหนอ" แล้วแก้ปัญหาอันนั้นได้ทันที เลยสบายไป เลยสงบลักษณะผู้มีปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น
ทำสมาธินี้ไม่ค่อยได้ง่ายและไม่ค่อยดีด้วย มีสมาธิแต่เพียงเฉพาะเลี้ยงปัญญาให้เกิดขึ้นมาได้ โดยมากอาศัยปัญญา เช่นสมมติว่า ทำนากับทำสวน เราอาศัยนามากกว่าสวน หรือทำนากับทำไร่ เราจะได้อาศัยนามากกว่าไร่ ในเรื่องของเรา อาชีพของเรา และการภาวนาของเราก็เหมือนกัน มันจะได้อาศัยปัญญาแก้ปัญหา แล้วจะเห็นความจริง ความสงบจึงเกิดขึ้นมา มันเป็นไปอย่างนั้น ธรรมดาก็เป็นไปอย่างนั้น มันต่างกัน
หลุดพ้นด้วยปัญญาสมาธิ
บางคนแรงในทางปัญญา สมาธิพอเป็นฐานไม่มาก คล้ายๆ กับว่านั่งสมาธิ ไม่ค่อยสงบ ชอบมีความปรุงแต่ง มีความคิดและมีปัญญาชักเรื่องนั้นมาพิจารณาชักเรื่องนี้มาพิจารณา แล้วพิจารณาลงสู่ความสงบก็เห็นความถูกต้อง อันนั้นจะได้มีกำลังกว่าสมาธิ อันนี้จริงของบางคนเป็นอย่างนั้น แม้จะ ยืน เดิน นั่ง นอนก็ตามความตรัสรู้ธรรมะนั้นไม่แน่นอน จะเป็นอิริยาบถใดก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ อันนี้แหละผู้แรงด้วยปัญญา เป็นผู้มีปัญญา สามารถที่จะไม่เกี่ยวข้องกับสมาธิมากก็ได้
ถ้าพูดกันง่ายๆ ปัญญาเห็นเลย เห็นไปเลยก็ละไปเลย สงบไปเลย ได้ความสบายเพราะอันนั้นมันเห็นชัดมันเห็นจริง เชื่อมั่นยืนยันเป็นพยานตนเองได้ นี่จริตของบางคนเป็นไปอย่างนี้ แต่จะอย่างไรก็ช่างมันก็ต้องทำลายความเห็นผิดออก เหลือแต่ความเห็นถูก ทำลายความฟุ้งซ่านออก เหลือแต่ความสงบ มันก็จะลงไปสู่จุดอันเดียวกัน
บางคนปัญญาน้อย นั่งสมาธิได้ง่าย สงบ สงบเร็วที่สุด ไวแต่ไม่ค่อยมีปัญญา ไม่ทันกิเลสทั้งหลาย ไม่รู้เรื่องกิเลสทั้งหลาย แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติมีสองหน้าอย่างนี้ ก็คู่กันเรื่อยไป แต่ปัญญาหรือวิปัสสนากับสมถะมันก็ทิ้งกันไม่ได้ คาบเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้
ทีนี้ถ้ามันชัดแจ้งในความสงบ เมื่อมีอารมณ์มาผ่าน มีนิมิตขึ้นมาผ่าน ก็ไม่ได้สงสัยว่า "เคลิ้มไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลงไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "ลืมไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลับไปหรือเปล่าเมื่อกี้นี้?"จิตขณะนี้สงสัย "หลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่ใช่" นี่มันคลุมเครือเรียกว่า มันมั่วสุมอยู่กับอารมณ์ ไม่แจ่มใสเหมือนกันกับพระจันทร์เข้าก้อนเมฆ มองเห็นอยู่แล้ว แต่ไม่แจ่มแจ้งมัวๆ ไม่เหมือนกับพระจันทร์ออกจากก้อนเมฆนั้นแจ่มใสสะอาด จิตเราสงบมีสติสัมปชัญญะรอบคอบสมบูรณ์แล้วจึงไม่สงสัยในอาการทั้งหลายที่ เกิดขึ้นจะหมดจากนิวรณ์จริงๆ รู้ว่าอันใดเกิดขึ้นมาเป็นอันใดหมดทุกอย่าง รู้แจ้งรู้เรื่องตามเป็นจริงไม่ได้สงสัย อันนั้นเป็นดวงจิตที่ใสสะอาด สมาธิถึงขีดแล้วเป็นเช่นนั้น
ระยะหลังๆ มาก็เป็นไปในรูปอย่างนี้ทำนองนี้ ป็นเรื่องธรรมดาของมัน ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้ว ไม่ต้องไปถามว่าง่วงหรือไม่ง่วง ใช่หรือไม่ใช่ ทั้งหลายเหล่านี้มันก็ไมมีอะไรถ้ามันชัดเจน ก็เหมือนเรานั่งธรรมดาอย่างนี้เอง นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตามาเห็นทุกอย่างสารพัด ไม่มีความสงสัย เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า"เอ๊ะ! สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้" อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อยๆ ทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุขใจ มีความอิ่มใจ มีความสงบเป็นเช่นนั้น ต่อนั้นไปจิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้นมันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปด้วย วิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และเรื่องวิจารณ์มันก็จะหมด จะเหลือแต่ความอิ่มใจ อิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม เกิดความสุขกับอารมณ์เดียว นี่มันทิ้งไป วิตกวิจารณ์มันทิ้งไป ทิ้งไปไหน? ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามาคือมันสงบ เรื่องวิตกวิจารณ์มันเป็นของหยาบไปแล้ว มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ก็เรียกว่า ทิ้งวิตก ทิ้งวิจารณ์ ทีนี้จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้นวิจารณ์ ความพิจารณาไมมี มีแต่ความอิ่ม มีความสุขและมีอารมณ์เดียวเสวยอยู่อย่างนั้น
ที่ เขาเรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราพูดถึงแต่ความสงบวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ต่อไปนี้ก็ทิ้งวิตกวิจารณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป เหลือแต่ปีติกับสุข เอกัคคตา ต่อไปก็ทิ้งปีติเหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ต่อไปก็มีเอกัคคตากับอุเบกขา มันไม่มีอะไรแล้วมันทิ้งไป เรียกว่า จิตมันสงบๆ ๆ ๆ จนไปถึงอารมณ์มันน้อยที่สุดยังเหลืออยู่แต่โน้น...ถึงปลายมัน เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา เฉยอย่างนี้ อันนี้มันสงบแล้วมันจึงเป็น นี่ เรียกว่ากำลังของจิต อาการของจิตที่ได้รับความสงบแล้วถ้าเป็นอย่างนี้มันไม่ง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้าไม่ได้นิวรณ์ทั้งห้า มันหนีหมด วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลอิจฉาพยาบาท ฟุ้งซ่าน รำคาญหนี เหล่านี้ไม่มีแล้ว นี่มันค่อยเลื่อนไปเป็นระยะอย่างนั้น นี่อาศัยการกระทำให้มากเจริญให้มาก โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้
สติ : สิ่งที่ช่วยรักษาสมาธิ
สิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้ คือสติ สตินี้เป็นธรรมเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สตินี้ก็คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาท ในระหว่างขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย ธรรมคือสตินี้คือความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตาม สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด
ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์ อันนี้คือการควบคุม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ไมใช่แต่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติก็ยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอมีความรู้อยู่เสมอ เป็นของที่มีอยู่เสมอ ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายมันก็เกิดขึ้นมา การพูด การกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น เมื่อความอายกำลังกล้าขึ้นมา ความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น ความประมาทก็ไม่มี นี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ตรงนี้ เราจะไปไหนก็ตาม อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันไม่ได้หนีไปไหน นี่ท่านว่าเจริญสติ ทำให้มาก เจริญให้มาก อันนี้เป็นธรรมะคุ้มครองรักษากิจการที่เราทำอยู่ หรือทำมาแล้ว หรือกำลังจะกระทำอยู่ ในปัจจุบันนี้เป็นธรรมะที่มีคุณประโยชน์มาก ให้เรารู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ ความเห็นผิดชอบมันก็มีทุกเมื่อ เมื่อความเห็นผิดชอบมีอยู่ เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ ความละอายก็เกิดขึ้น จะไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อรวบยอดเข้ามา มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือ การสังวรสำรวมที่มีอยู่ในกิจการของตนนั้น ก็เรียกว่าศีล ศีลสสังวร ความตั้งใจมั่น อยู่ในความสังวรสำรวมในข้อวัตรของเรานั้น ก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิ ความรอบรู้ทั้งหลายในกิจการที่เรามีอยู่นั้น ก็เรียกว่าปัญญา พูดง่ายๆก็คือ จะมีศีล จะมีสมาธิ จะมีปัญญา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อมันกล้าขึ้นมามันก็คือมรรค นี่แหละหนทาง ทางอื่นไม่มี
*
ปัญญาวิมุต คือ บุคคลผู้หลุดพันเพราะปัญญา คือ ปัญญาเป็นกำลังสำคัญ หรือปัญญานำหน้า
เจโตวิมุต คือ บุคคลผู้หลุดพ้นเพราะสมาธิ คือ สมาธิเป็นกำลังสำคัญ หรือสมาธินำหน้า
วิมุต หมายถึง บุคคลผู้หลุดพ้น
วิมุติ หมายถึง ความหลุดพ้น
จะให้ความพอดีของกิเลสตัณหานั้นไม่มีหรอก ผมว่าตัดสินใจลงไปตรงนี้แหละ อายุคงไม่ถึงร้อยปีหรอกนะ ถ้าพวกเราทำให้ถูกต้อง ก็จะมีความสงบระงับเท่านั้นเอง
ที่เราทำไปทุกวันนี้ผมคิดว่าไม่สมควร เพราะมันจะต้องเสียหลักในการปฏิบัติ เดินออกจากหนทาง ถ้าได้มามากก็ทุกข์มาก ไม่เห็นใครเหลือสักคนเลย เช่นอาจารย์ทองดีเป็นเพื่อนกับผม บวชได้แปดพรรษา เรียนนักธรรมเอกยังไม่ได้ กลับมาสอบอีกเรียนอยู่สี่ปีจึงสอบนักธรรมเอกได้ ติดอยู่นั่นแหละ เหมือนเขาทอดแหใส่กิ่งไม้ ลูกโซ่แหไม่ถึงดิน ก็ติดค้างอยู่บนอากาศ อยู่ไม่ได้สึกออกไปมีครอบครัวแล้ว ไปมีภรรยาได้ไม่นานภรรยาก็ตายก็หาภรรยาใหม่อีก แล้วก็ตายอีก สุดท้ายก็หมดหนทาง เหมือนตากกบแห้งมันจะเกิดประโยชน์อะไรล่ะ
หนทางของการปฏิบัติ
ทำอย่างนั้นถ้าออกไปพบกับความทุกข์ก็ไม่ต้องบ่น เพราะความทุกข์มันอยู่ที่นั่น ถ้าความอยากเกิดขึ้นมันก็ทุกข์ ถ้ามีความทุกข์ก็ทนเอา ไม่ต้องบ่นว่ามันเป็นเพราะอะไรมันจึงทุกข์อย่าพูดเลย มันต้องรู้จักวาง อย่างนั้นมันจะเปลี่ยนสภาพไปอีก
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า อัตตาหรืออนัตตา ถ้าเป็นอัตตาก็เป็นตัวตน ถ้าเป็นอนัตตาไม่ได้อาศัยตัวตน อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน ให้แก้ไขสิ่งที่พอจะแก้ไขได้ ถ้าสิ่งที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อยไปไม่เคยสอนให้อยู่นอกข้อประพฤติปฏิบัติ ถึงจะมีปัญญามากก็ตาม ถ้าเอาตัวเองพ้นทุกข์ไม่ได้ก็ไม่เรียกว่าคนมีปัญญา
ถ้าคนมีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า คนอันธพาลถึงจะมีปัญญามากก็ตาม แต่ก็เป็นปัญญาทราม ปัญญาดีไม่มีเลยพวกโจรมันมีปัญญาในการปล้น พวกนักรบมีปัญญามาก มีไหวพริบดีในการสร้างศาตราอาวุธ สร้างระเบิดสารพัดอย่าง มีความเก่งกล้าสามารถ มีปัญญามากก็จริง แต่เป็นปัญญาทรามปัญญาดีไม่มีเหมือนมะม่วงเน่าให้ประโยชน์ไม่ได้
ปัญญาทราม
มีปัญญามากอยู่ แต่ตัวเองได้รับความทุกข์ ถึงมีมากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีปัญญาทางสร้างอาวุธมารบยิงฆ่าฟันกันอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์ เหมือนคนผู้มีปัญญาปรุงยาพิษมากิน คนกินก็ตาย ไก่หรือสุนัขกินก็ตาย มันดีหรือปัญญาอย่างนั้นปัญญาปรุงยาพิษให้คนกินแล้วตาย ในใบสลากยาก็ว่ายาดี ดีอย่างนั้น ดีที่เป็นโทษเป็นภัยต่อชีวิตของคนและสัตว์ในโลก ท่านเรียกปัญญาทราม
เมื่อมองเห็นโทษก็เห็นประโยชน์
พวกเราก็เหมือนกัน จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามถ้าไม่มีปัญญาเอาตัวไม่รอด อยู่ที่นี้ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งใดที่เรามองไม่เห็นโทษของมันอย่างชัดเจน ก็จะเลิกได้ยาก อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ ถ้าเรามองเห็นโทษก็จะมองเห็นประโยชน์ขึ้นมาพร้อมกัน มันก็เลิกได้ถึงจะจมอยู่ในน้ำหรืออยู่บนพื้นดิน มันก็จะผุดขึ้นมาจนได้ จิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างนั้นหาได้ยาก จะมีแต่คำพูดออกมาหลายๆ อย่างแต่ความคิดเห็นจริงๆ นั้นจะไม่มี สิ่งใดที่มาผ่านจะเอาให้หมด ตั้งไว้ไม่อยู่ ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ไปที่ไหนท่านก็ไปให้ความรู้ความเห็นสารพัดอย่าง จะรวมลงคือ "ทุกข์"
ความทุกข์คืออะไร
ทุกข์เหมือนกับเราแบกของหนักอันหนึ่ง ทุกข์อีกอันหนึ่งคือเป็นหนี้สิน ของคนอื่นก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะแบกก้อนหินใหญ่ก็เป็นทุกข์ เรื่องทุกข์ เอาใจไปแบกก็เป็นทุกข์ เอากายไปแบกก็เป็นทุกข์ มันมีแต่เรื่องทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้เรารู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านสอนอย่างนี้ จะเป็นทุกข์มาจากอะไรๆ ก็ตามก็ทุกข์อันเดียวกัน ความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็คือทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย
เช่นพ่อค้าที่เคยค้าขาย เป็นคนร่ำรวย มาบวชเป็นพระแทนที่จะมาประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า "ก็ไม่เห็น" ก็เลยตายจากสมบัติเงินล้านเงินโกฏิเฉยๆ ถ้าบวชอย่างนี้จะก้าวมาเดินไปให้มันเสียเวลาทำไม อยู่กับเรือนจะไม่ดีกว่าหรือ
ก้อนทุกข์
นักบวชพวกเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติปล่อยให้ตัวเองได้รับความทุกข์แล้ว ผมคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์ผมจะเดาเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าลงไปเรียนเอาปริญญาแล้วมันก็แค่นั้นแหละเช่นคนหนึ่งชื่อทองดี มาบวชเป็นเณร อยู่ที่นี่มีสารพัดอย่างต่อมาก็อยากสึก ผมก็บอกให้มารวมหมู่คณะแล้วพูดว่า เออ...ให้มันปรุงดีๆ เณรนี้แหละจะตกนรก ถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ตกนรกแน่นอนเลย อยากจะไปเรียนหนังสือ เรียนก็เรียนไปตกนรกนั่นแหละ ขนาดพูดให้ฟังอยู่อย่างนี้มันยังไม่รู้จักทุกข์ จะเรียนเอาหนังสือมาอ่านให้มันรู้จักทุกข์ เป็นไปไม่ได้หรอก รู้แล้วว่าไฟมันเป็นของร้อน แต่ก็ยังกระโดดเข้าไปหากองไฟ จะเอาหนังสือมาอ่านให้ไฟมันหยุดร้อนไม่ได้เลย บอกให้รู้อยู่อย่างนี้ก็ยังไม่รู้จัก "ก้อนทุกข์" จะไปเรียนสอบเอาอะไรล่ะ สอบก็จะได้แต่คำพูดนั่นแหละ พอเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีอันเปลี่ยนแปลงไปมาก
ปฏิบัติธรรมแบบพระจันทร์ข้างแรม
บางครั้งมาที่เมืองอุบลฯ บาตรก็ไม่เอามา ครองผ้าจีวรสีเหลืองสดใส หิ้วประเป๋าเดินทางอย่างสวยเป็นมันวับๆ เลย ใส่รองเท้าขัดมันได้อย่างสวยเลย เราผู้เป็นอาจารย์ไม่มีรองเท้าใส่เดินด้วยเท้าเปล่าๆ หนังเท้าหนามากจนขนาดเดินไปเหยียบหญ้าคาถูกเท้าไม่เข้าเลย เพราะหนังมันหนา แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมาเยี่ยมเลย คงจะตกไปที่ทุกข์มาก เงียบไป ค่อยๆ ห่างออกไปเรื่อยๆ "มันจะต้องดับลงเหมือนพระจันทร์ข้างแรม" น้อยไปๆ เล็กลงๆ แสงก็นับวันแต่จะเล็กลงๆ วงพระจันทร์จะแคบลงไปทุกทีๆ อีกหน่อยก็ตกปั๊บเท่านั้นเอง หมดแสงเลย มันชอบเป็นอย่างนั้น เพราะมันไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นโทษ
คนไม่ได้ภาวนา คือคนที่เขาชอบมีความเพลิดเพลินร่าเริงเป็นกลุ่มหลายๆคน เขาพูดคุยกันด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ผมก็มีความอัศจรรย์เขาอยู่เหมือนกันว่า เอ...ดูเหมือนเขามีความร่าเริงสนุกสนานอยู่ เหมือนเขาทำงานเสร็จหมดทุกอย่าง ความจริงแล้วทำงานยังไม่เสร็จ
ผมเองถ้าพูดคุยกับเพื่อนหลายคำ ก็คิดว่าตัวเองยังทำงานไม่เสร็จ งานยังค้างอยู่มาก เหมือนกับไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนยังไม่ได้ปล่อยควายออกจากคอก ก็มีความเป็นห่วงควายอยู่อย่างนั้นเพราะงานยังไม่เสร็จ จะไปไหนก็มีความเป็นห่วงอยู่นั่นแหละ ดูคนอื่นเขาปล่อยไปตามอารมณ์อย่างสบาย มีความสนุกสนานพูดล้อกันเล่นสนุกเฮฮา ผมก็คิดทุกระบบว่าตัวเองยังไม่พ้นทุกข์ จะนั่งอยู่ที่ไหนก็เหมือนกับว่าเราทำงานยังไม่เสร็จ จะมีความปรารถนาความเพียรอยู่เสมอไม่หยุดสักที เพราะยังมีกิเลสอยู่มาก มันจะมีความทุกข์อยู่อย่างนี้เรื่อยไป จึงเอามาพิจารณาถ้ามีเรื่องที่คุยกับเพื่อน ก็คุยไม่มาก ทั้งคุยทั้งอยากกลับ
ดีอยู่ที่การปฏิบัติ
การภาวนาของผมตั้งแต่สมัยก่อนเป็นอย่างนี้ พระเณรบางองค์ชอบคุยด้วย บางครั้งเราจะนั่งภาวนาอยู่กุฏิ ก็เดินไปนั่งคุยอยู่นั่นแหละจนผมรำคาญ ผมเลยบอกว่าท่านเฝ้ากุฏิให้ผมด้วยนะ ผมกลัวสุนัขจะมาขี้ใส่กุฏิผม ผมจะไปเดินจงกรมก่อนนะผมเอาอย่างนั้น "เพราะทำงานยังไม่เสร็จ" จะไปนั่งคุยให้มันเสียเวลาทำไม
มันจะมีจิตใจฝักใฝ่ต่อความเพียรอยู่อย่างนั้น แต่ "พวกเราไม่ชอบดูงานของตัวเองสักที" กลับมาถึงเรือน ขี้แมวเต็มกระด้งเหมือนคนธรรมดาๆ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ "ปฏิวัติ" มันสักที ไม่ได้ "ปฏิรูป" มันสักที อยู่เฉยๆ ไม่มีการ "ละ" ไม่มีการ"บำเพ็ญ" ไม่รู้จะทำอะไรเพราะสถานที่นี้ทำกันอย่างนี้ มันจึงไปขัดที่จิตใจของพระเณร"ผมไม่อยากจะพูดมากหรอก เพราะไม่ได้ดีอยู่ที่คำพูด แต่ได้ดีอยู่ที่การปฏิบัติไปเรื่อยๆอยู่กับครูบาอาจารย์ให้ดูท่าน เพราะหูเราก็มี ตาเราก็มี ก็ดูได้ฟังได้เหมือนคนหิวข้าวมากๆก็ไม่อยากหรอก เห็นเพื่อนนั่งกินข้าว คนที่หิวข้าวก็จะเข้ามากินกับเพื่อนเลยไม่ได้ไปจับไปคุมเขาเข้ามาหรอกนะ เหมือนไก่มันหิวข้าว เอาข้าวเปลือกมาโปรยให้มันกิน ไก่มันจะวิ่งออกมากินเอง เช่นวัวที่มันเคยกินหญ้า เอาไปปล่อยที่สนามหญ้ามันก็คงต้องกินหญ้า ถ้ามันไม่กินหญ้าก็เป็นหมูเท่านั้นเอง
ไม่ละชั่วไม่กลัวบาป
อันนี้.... เป็นสถานปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ควรจะเอาไปพิจารณาให้เห็นตามความจริง มันก็จะปฏิบัติได้ ถ้าไม่ได้มันเป็นเรื่องของโลกเขา บวชเข้ามาแล้วก็อยู่กับครูบาอาจารย์ จะทำอะไรก็กลัวแต่ครูบาอาจารย์จะเห็น แต่ไม่กลัวบาป ถ้าลับตาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยู่ใกล้ท่านก็กลัว ไม่กล้าทำผิดกลัวท่านจะดุเอา ถ้าอยู่ห่างไกลท่านยิ่งมีความสบาย อยากจะทำอะไรก็ทำได้ โดยมากชอบเป็นอย่างนั้น คนประเภทนี้แหละไม่ละชั่วไม่กลัวบาป ถ้าจะกลัวก็กลัวพระพุทธเจ้า กลัวครูบาอาจารย์ กลัวท่านจะเห็นเราทำไม่ดี ถ้าลับตาท่านไม่กลัวเลยเหมือนเด็กนักเรียน ตั้งแต่สมัยก่อน พอมองเห็นครูใหญ่ พวกนักเรียนกลัวจนขาอ่อนลงเลย ถ้าครูบอกให้ทำการบ้าน โอ้ย...เรียบร้อยดีมาก สมัยก่อนมีความเคารพคารวะมาก "คาระโวจะนิวาโตจะ" มีความเคารพคารวะ กลัวท่าน ถ้าครูสั่งให้ทำอะไรก็ทำได้ทันที กลัวทั้งครูอาจารย์ กลัวทั้งความผิดมันจะเกิดขึ้นมาเด็กนักเรียนมันไม่ทันสมัยหรอก แม้แต่จะเดินก็ค่อยๆเดิน ไปหาเจ้านายไปหาครูอย่างนี้ นั่งเก้าอี้ก็ไม่เป็น อยากจะนั่งกับพื้นเพราะโง่มาก ต่อมาก็ฝึกให้นักเรียนมีความฉลาด ฝึกให้เข้าถึงเจ้านายหรือครูอาจารย์ ฝึกให้นักเรียนไม่ต้องถือกันกับครู อยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน โอ๊ยมันก็เหมือนเอาลิงไปหัด เดี๋ยวนักเรียนก็จับศรีษะครูเท่านั้นแหละ ครูมันก็ไม่กลัว ความผิดมันก็ไม่กลัวเลยทุกวันนี้
ขาดหลักธรรมก็เป็นทุกข์
นักเรียน ป.๔ เข้ามาบวช ให้อ่านหนังสือให้ฟัง อ่านผิดๆ ได้ยินอ่านไปว่าจะไป 'เมียง' (เมือง) ไปซื้อเสื้อ 'เหลี่ยง' (เหลือง) ไปซื้อ 'เกีย' (เกลือ) มาฝึกหัดเอาใหม่ยากเกือบตายนักเรียนทุกวันนี้ สมัยก่อนนักเรียนจบ ป.๔ สอนนักเรียนแทนครูได้ ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าเรียนมาจากไหน โอ้ย...อ่านหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ไม่รู้ไปเรียนมาจากไหน เห็นเด็กอ่านหนังสือได้ยินว่า ฝนตกแล้วแดดออก เห็นแต่มันอ่านไปอย่างนั้น แต่ก่อนอ่านให้ถูกตัวอักษรก็มาก ถ้าเรียนให้รู้เรื่องของมันแล้วก็ไม่ติดขัดหรอกนะ อ่านหนังสือเฉยๆอ่านฟ้องไปถึงยอดมันก็ได้ ทุกวันนี้อ่านไปผิดๆ ให้มันติดปากแล้วแก้ยาก นี้แหละคือสอนให้เด็กไม่ให้มีความเคารพ.เพราะมันขาดความคารวะ ขาดหลักธรรมะ "คาระโวจะนิวาโตจะ สันตุฏฐี จะกะตัญญุตา" ขาดการเคารพ ขาดการคารวะ ขาดกตัญญูกตเวที ขาดไปหมดทุกวันนี้ความเดือดร้อนก็ไปถึงพ่อแม่ สอนก็ไม่ได้ บอกมันก็ไม่ได้ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์วุ่นวาย เพราะมันขาดหลักธรรมะนี่แหละ
สมัยก่อนครูสอนนักเรียนได้หนึ่งอาทิตย์ ก็ต้องสอบอารมณ์ครั้งหนึ่ง มีพระมาสอนเรื่องศีลธรรม สอนเรื่องจรรยามารยาท ก่อนจะเลิกโรงเรียนก็ต้องสวดสรรเสริญคุณพระบารมี แต่ทุกวันนี้นักเรียนเก่งไปในทางเล่นกีฬา เตะฟุตบอล มีความสนุกเพลิดเพลินไปทางเล่นมากกว่า เรื่องจรรยามารยาทที่ดีงามนั้นไม่ค่อยได้พูดถึงกัน มันจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะมันขาดหลักธรรมะ แสวงหาแต่สิ่งที่สนุกเฮฮา ไปดื่มของมึนเมา ทำให้ตัวเองเป็นคนเสียสติ เหมือนคนเป็นบ้า เป็นบ้าไปหมดทุกคน เป็นบ้าไปหมดทั้งพ่อแม่พี่น้องจนหมดโลก มันดื้อด้าน ว่ายากสอนยาก สอนมันไม่ได้เลย
ไม่ดีตรงไหนก็ควรแก้ตรงนั้น
การปฏิบัติก็เหมือนกัน สมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอกทุกวันนี้ถ้ามีความทุกข์ก็ทุกข์มากจริงๆ เรื่องอาหารไม่ได้ตามชอบใจ อาหารไม่ถูกปากไม่อร่อย ที่อยู่อาศัยไม่ได้ตามชอบใจก็เป็นทุกข์หมด เพราะคนสมัยนี้มีผิวบางมาก ความอดทนมีน้อยทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่เสียหายมากเสียเวลาที่มาประพฤติปฏิบัติ มันต้องพูดกันได้ เป็นคนที่สอนง่าย มีความเคารพเชื่อฟังจึงจะถูกต้อง ส่วนมากจะเป็น "ปะทะปะระมะ" คือพูดกันไม่ได้สอนกัน ไม่ได้ ไม่เชื่อฟัง พูดให้ฟังก็ไม่สนใจเหมือนไม่ได้ยิน ใช้ให้ตักน้ำก็ขี้เกียจ หนีไปอยู่กรุงเทพฯ บอกว่าบ้านเราน้ำก็ไม่ค่อยมี ให้พากันไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หมดก็ได้ ไม่ต้องอยู่ทางภาคอีสานหรอก เป็นเพราะอะไรนะมันถึงเป็นอย่างนี้ที่ไหนไม่ดีไม่งามก็ควรแก้ไขที่ตรงนั้น การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าที่ไหนมันสะดวกก็ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ตรงไหนที่มันขัดข้องก็ต้องแก้ไขที่จิตใจของเรานั้น
ถ้าพูดอย่างโน้นอย่างนี้ในสิ่งที่ไม่ดี ชักชวนกันไปที่นั่นที่นี่เณรน้อยก็จะหูผึ่งไปนั่นแหละ จับกันคุยเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในช่วงกลางพรรษา ออกพรรษาแล้วองค์นี้ก็จะไปที่โน้น องค์นั้นก็จะไปที่นี่ วุ่นวายกันอย่างนี้มันจะหมดนะ ฉะนั้นผมจึงถอนตัวออกไป
การปฏิบัติยังอยู่อีกมาก
ทีนี้ให้พวกเรามาตั้งเอาใหม่ ประพฤติปฏิบัติเอาใหม่อย่าได้ประมาท การปฏิบัติของเรามีวัดอยู่ ดีแล้วที่ได้เข้ามาบวช ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นนะ ได้บวชมามันก็เสร็จแต่การบวชเท่านั้น แต่การปฏิบัติของเรายังอยู่อีกมากเป็นกว่าการบวช พวกท่านทั้งหลายไม่เห็นหรือ สัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก เช่น ปลวก มด อยู่บนพื้นดินก็มีมากหลาย แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็มีอีกมากมาย เช่นว่าโบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นมาไม่ยากหรอก แต่การที่จะดูแลรักษาโบสถ์หลังนี้ไปอีกนานหลายชั่วอายุคน สักสามชั่วอายุของคนก็ได้ ตอนสร้างโบสถ์นี้ไม่ยากหรอกสร้างสองปีก็เสร็จ ยังเหลือแต่การปฏิบัติรักษา ทำความสะอาดที่นั่นที่นี่ไม่รู้วันเสร็จสักที ไม่ใช่ของง่ายๆนะ สร้างเสร็จแล้วยังเหลือการดูแลรักษา สร้างสองสามปีก็เสร็จ พวกเราจะต้องรักษาโบสถ์หลังนี้ไปอีกนานจนกำหนดไม่ได้ ให้ได้ครึ่งเท่าครึ่งก็ยังดี บวชมาแล้วจะเอาสบายเพราะคิดว่าบวชเสร็จ แต่การปฏิบัติของนักบวชนี้สิมันยาก ยังมีอีกมาก
สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านตรัสเป็นพระวาจาเป็นครั้งสุดท้ายว่า "อย่ามีความประมาท" ให้สิ้นลงจนลงได้ ท่านสอนภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ท่านพูดตรงจุดจบเลย แต่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ควรประมาท ผมไม่กลัวว่ามันจะเสื่อมหรอกนะ ผลที่สุดมันก็ต้องเสื่อมจนได้ เหมือนกับว่าความจริงมันก็จะตาย ถ้าเจ็บป่วยไข้มาก็จะไม่ฉันยาหรือ ไม่ฉันข้าวเลยอดให้มันตายเลย ดีไหมอย่างนี้ความเสื่อมมันมีเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วความเจ็บไข้ก็มีเป็นธรรมดา ของมันอยู่อย่างนั้น แต่ว่าถ้าเจ็บไข้ไม่สบายก็ต้องรักษาอันนี้เรียกว่ายาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้พระพุทธเจ้าของเราท่านก็จัดไว้เป็นปัจจัยสี่ คิลานะเภสัช ท่านไม่ให้ประมาท เช่นแก้วใบนี้มันก็แตกเป็น แต่ถ้าเราใช้มีความระมัดระวังให้ดีแล้ว แก้วมันก็ไม่แตกง่ายๆ จะได้ใช้ไปอีกนาน แต่ถ้าเราไม่คำนึงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันก็จะแตกเร็วขึ้น เพราะมีความประมาทไม่มีความระวังตัวเอง
สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
สังขารนี้มันค่อยมันเสื่อมไปทุกวันๆ พระท่านสอนว่า"สังขารร่างกายก็ไม่ใช่ของเราหรอก" เราก็โกรธไม่พอใจ ถ้าว่าไม่ใช่ของเราก็เอาไฟมาเผาดูซิ เอามีดมาลองแทงดู พูดไปสารพัดอย่าง ฟังท่านพูดไม่เข้าใจ คิดว่าตัวเองพูดถูก ไปเถียงแต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่หยุดสักที ไม่ยอมรับธรรมะของท่าน ไม่ใช่ว่าจะเป็นแต่เดี๋ยวนี้หรอกนะ เรื่องอย่างนี้เป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้นแล้ว มีนางหนึ่งสวยงามกว่าเพื่อนในครั้งพุทธกาล ไปฟังเทศน์ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ให้ฟัง เรื่องเกศา โลมา นะขาทันตา ตะโจ "ร่างกายนี้มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาด เป็นของบูดของเน่า ของไม่เห็นสาระแก่นสาร เป็นของน่าเกลียดโสโครก" ก็ไม่พอใจ โกรธพระพุทธเจ้า ว่าดูถูกเหยียดหยาม มีความสำคัญว่าตัวเองสวยงามมาก แต่พระพุทธเจ้าเทศน์ว่าไม่ใช่ของสวยงามผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ไม่มีอะไรที่สวยงามเลย จึงโกรธพระพุทธเจ้า เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นแหละ
ต่อไปนานไปก็ไปเห็นซากศพคนตาย ก็จึงคิดได้ เอามาเทียบกับตัวเองจึงเห็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าเราเป็นผู้หลง ผิดจริงๆ จึงได้ไปกราบขอขมาโทษพระพุทธเจ้า เพราะความสำคัญลุ่มหลงของที่มีอยู่กับตัวเองก็จึงไม่รู้จัก ถ้ามันหนาวก็เอาผ้าห่มคลุมไว้ทั้งเนื้อหนังนั่นแหละ แต่ไม่เห็นตัวเองสักที กระดูกผม ก็ไม่เห็น ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ว่า เกศา โลขา นะขาทันตา ตะโจ ก็คิดว่าพูดอะไรนะ ใครจะไม่เห็นผม หนัง เพราะมันไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นสกลร่างกายตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จะถอยหรอก โยมจับดูแล้วมันก็วาง ไม่ได้ยึดหมายมันหรอก มันก็วางได้ ถ้าวางก้อนนี้ได้ ก็คือวางกองทุกข์นั่นแหละ ไม่ยึดหมาย
ใช้งานตามหน้าที่ของสังขาร
มีมือก็ใช้มันไป มือก็ใช้ให้มันจับมา มีหูมันมีหน้าที่ฟัง เสียง ก็ใช้ให้มันฟัง มีปากที่มันเคี้ยวอาหารเป็นก็ใช้ให้มันเคี้ยวจมูกก็ใช้ให้มันสูดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ใช้มันไปคนละอย่าง เท้ามีไว้สำหรับเดิน มันปั้นข้าวไม่เป็นก็ต้องให้มันเดิน หูก็ใช้ฟังเสียง จมูกก็ใช้ดมกลิ่น ใช้ไปตามหน้าที่ของมัน จะใช้ให้มันขัดกันก็ไม่ได้อีก เพราะมันไม่ใช่ของเรา ให้เอาหูไปดูหนังดูซิถ้าไม่เชื่อลองดูก็ได้ ใช้ของไม่ถูกที่ของมัน ถ้าเป็นของเราจริงๆจะต้องบังคับมันได้ เอาหูไปดูได้ถ้าเป็นของเราจริงๆ ใช้ให้มันไปทำนาก็ได้ ใช้ตาไปฟังเทศน์ลองดู ถ้าเป็นตาเราจริงๆ ก็ต้องใช้มันไปฟังเทศน์ได้ แต่อันนี้ไปใช้ของคนอื่น ไม่ใช้ของเราเลย มันจึงขัดขวางเราอยู่เรื่อยไป เพราะยึดว่าเป็นของเรา ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ก็ไม่รับ ฟังก็ไม่รับทราบ ไม่เข้าใจ เป็นตัวอัตตาขวางอยู่นั่นแหละ ถ้ารับทราบธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็ง่าย ยอมรับฟังไม่ฝ่าฝืน ก็เข้าใจธรรมะได้
ถ้าไม่รับทราบ ไม่รับฟัง ไม่รับรู้เอาแต่ใจตัวเอง สิ่งใดที่ชอบใจจึงเอา สิ่งใดไม่ชอบก็จะไม่เอาเลือกเอาแต่สิ่งที่ชอบ ถ้าเป็นเสียงก็เสียงที่ถูกหู เสียงไพเราะจึงจะเอา ให้คนอื่นทำให้ถูกใจเราจึงจะชอบจึงจะสบายใจ ส่วนมากชอบเป็นอย่างนั้น จะให้ทุกคนทำให้ถูกใจเราคนเดียวจึงจะตรัสรู้ธรรมะได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกคิดดูให้มันดีๆ ธรรมเป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง บางคนคิดว่าชอบใจอะไรนั่นแหละเป็นธรรม ถ้าเราชอบก็คิดว่าเป็นของดี บางทีเราไม่ชอบ แต่มันเป็นธรรมจะทำอย่างไรล่ะ
ขาดปัญญาพาให้ทุกข์
มีแต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเราขาดปัญญา ถ้าเรารู้จักใช้ให้มันถูกเรื่องมันก็ง่ายขึ้น ตาก็ใช้ดู หูก็ใช้ฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัส มือจับสิ่งของได้ เท้ามีหน้าที่เดิน ใช้ไปคนละอย่าง ถ้าใช้ถูกเรื่องก็สะดวกขึ้น ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องมันก็ขัดอยู่อย่างนั้นเพราะว่าไม่ใช่ของเราก็ว่าของเรา อยู่อย่างนั้น ไม่ยอมรับ ไม่หยุดสักทีต้องมาภาวนาหาเหตุผลของมัน ความคิดเห็นของเรากับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสไว้นั้นต่างกันเสมอ เช่นสภาวะร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทนถาวร แต่เราก็ยังคิดว่าเป็นเราอยู่ ผลสุดท้ายก็เป็นความจริงของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมหมดทุกอย่าง เรื่องความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรานั้นไม่จริงสักอย่างเลย ถ้าถึงคราวมีอะไรเสียไปก็ร้องไห้ว่าเสียดาย โง่มากจนร้องไห้ เพราะคนไม่เห็นธรรมะไปยึดแต่ของเรา ถ้าไม่ใช่แล้วก็ร้องไห้เท่านั้นเอง ถึงกระนั้นก็ยังไม่รู้จักว่าตัวเองทุกข์ ยังไม่ยอมรับเพราะคนมีความมืดหนาด้วยกิเลสตัณหา จึงชอบเป็นอย่างนั้น
ธรรมะอยู่กับเรานี่เอง
ธรรมะไม่อยู่ไกลหรอก อยู่กับเรานี้แหละ จะไปค้นหาที่ไหนก็ไม่เห็น เพราะมันเป็นของที่พอดี สูงไปกว่านี้ก็ไม่เห็น ต่ำไปกว่านี้ก็ไม่เห็น คิดให้พอเหมาะพอดีมันจึงจะได้ ผมว่าพระเณรเราเข้ามาปฏิบัติแล้วอยากจะกลับไปเรียนไปศึกษา เพื่อต้องการอยากจะเป็นอันนั้นเป็นอันนี้ ผมว่ามันใกล้จะหมดแล้ว มันถอนออกมา คงจะเข้าใจว่าทุกวันนี้ไม่ได้ศึกษา ต้องไปเรียนไปสอบได้จึงเป็นเรื่องศึกษา ผมคิดว่าเป็นเรื่องเด็กเล็ก ไม่ใช่เรื่องที่จะหาความพ้นทุกข์หรอก ผมฟังดูแล้วก็พอจะรู้ได้เลยว่า มันถอนออกจากหลักเดิมของการปฏิบัติไปแล้ว ถอนออกไปร้อยคน มันก็ตายร้อยคนนั่นแหละ ไปไม่รอดหรอก
ลูกศิษย์ลูกหาเคยมีหลายคนที่ไปศึกษาเล่าเรียน ถอยออกไป สุดท้ายก็ไม่มีการปฏิบัติเลย ผู้อยู่ที่นี้ดูหนังสือไปปฏิบัติศึกษาตัวเองไปด้วยเพราะยังต้องการความพ้น ทุกข์ ยังดีกว่า มีความอดทนพิจารณาไปให้มันเกิดความฉลาด มีความตั้งมั่นไว้ในหลักธรรมะ อย่าให้มันขาด ใครจะไปเหนือไปใต้ก็ตาม ให้เรามีหลักเอาไว้ ผู้ที่ชอบไปเที่ยวหรือไม่ชอบไปเที่ยว ดีได้ทั้งนั้นถ้ามีความคิดดีคิดถูก
ทางพ้นทุกข์
ไม่ละกิเลสตัณหาแล้ว ไม่มีทางจะพ้นทุกข์ได้ จะเรียนได้มหาเก้าประโยคก็ตาม ก็ยิ่งจะถอยลงมาข้างล่าง ไปเรียนเพื่อเพิ่มกิเลสตัณหา ไม่ใช่เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์ เพราะคนไม่รู้จักทุกข์ ถ้าคนจะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ ชีวิตของเราคล้ายๆกับว่าจะอยู่ได้สักวันหนึ่งคืนหนึ่งเท่านั้น มาปฏิบัติเพื่อพ้นไปจากทุกข์ เกิดมาชาตินี้จะตายก็ให้มันตายเพราะการปฏิบัติดีกว่า ให้มันมีความมั่นใจลงตรงนี้ มันก็เห็นหนทางเท่านั้น
เริ่มต้นแต่ปฏิบัติมาไม่เคยมีความเกียจคร้าน ไม่เคยคิดถอย ถึงจะมีความทุกข์มากอยู่ แต่มันก็ไม่ถอนไม่เลิกการทำความเพียร ใครจะไปที่ไหน จะสิกขาลาเพศไปก็ตาม ผมไม่เคยถอน ไม่เคยเลิกความตั้งใจเลย จะต้องมีจิตใจเด็ดเดี่ยวลงอย่างนั้น ค้นคว้าจากคนอื่น แล้วก็มาค้นคว้าในตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ มีการละบาปบำเพ็ญบุญ ปฏิบัติธรรมะ ถ้าใจมันเหมือนกับเขา หาเงินหาทองเอาสิ่งของมาเพื่อความร่ำรวย หาเงินมาได้มากๆ ก็ต้องเอาฝากธนาคารไว้ ตอนอายุเฒ่าแก่มาจะได้อาศัย ปัจจัยเหล่านี้ พอได้ใช้สอย ไม่ต้องวิ่งเต้นขวนขวายอีก ถ้าต้องการเขาก็ไปเบิกเอาจากธนาคารมาใช้สอยให้สบาย ทางโลกเขามีความหมายอย่างนั้น เขาพยายามทำหน้าที่การงานเพื่อเงิน ก็มีความขวนขวายแต่อายุยังหนุ่มยังสาว
ปฏิบัติให้เห็นธรรมอย่างแจ่มชัด
พวกเรามาปฏิบัติก็เหมือนกัน ปฏิบัติให้รู้จักทุกแง่ทุกมุมให้มีความเฉลียวฉลาดเก็บไว้ใส่ธนาคารไว้เหมือน กัน การปฏิบัติของเราเมื่อมีอายุเฒ่าแก่มาก็จะไม่มีกำลัง จะเดินก็ไม่เหมือนยังหนุ่ม จะอดกลั้นเพื่อทรมานร่างกายก็ไม่ได้ เพราะสภาพสังขารร่างกายก็ทรุดโทรมเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เดินจงกรมไม่ได้นั่งสมาธิก็ไม่เป็นไร เปรียบเหมือนเรามีเงินฝากไว้ที่ธนาคารแล้ว ไม่ต้องหาเงินอีกก็ได้ เพราะมีทุนสำรองในการใช้จ่ายอยู่แล้วนั่งอยู่เฉยก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะอด อันนี้ก็เหมือนกัน ได้ทำไว้ดีแล้ว มีความตั้งมั่นแล้ว เห็นธรรมอย่างแจ่มชัด
การตรัสรู้ธรรมไม่ใช่ว่าจะอยู่ในอริยาบถนอน เดิน นั่ง ยืน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามีความเห็นชอบลงเมื่อใด มรรค สามัคคีรวมลงปุ๊บ นั่นแหละในเวลาเดิน เวลานั่ง เวลานอน ไม่ต้องกระเสือกกระสน เพราะมันรู้อยู่ อันนี้ปฏิบัติแบบผู้เฒ่า ไม่ต้องขวนขวายทุกแง่ทุกมุม ไม่ต้องกระเสือกกระสนเกินไป ไม่ต้องไปเดินธุดงค์ขึ้นภูเขาลูกนั้นลูกนี้ ไม่ต้องเดินจงกรมอยู่ตลอดวันตลอดคืนหรอก สะพายบาตรวิ่งไปที่โน้นที่นี้ เหมือนคนไม่มีที่พึ่งอันนี้เราได้ทำมาแล้วแต่ยังน้อยยังหนุ่ม จึงพอรู้เรื่องมันหมดแล้วนั่งอยู่นอนอยู่ก็คิดถูกได้ ใครอยากจะไปก็ไป ใครอยากจะมาก็มา ไม่เป็นไรเรื่องมันเป็นอย่างนั้น เพราะเรามีกำลังภายใน
อันนี้พูดถึงที่เราเคยศึกษา โดยมากไม่ได้ศึกษาแต่ไปเที่ยวเฉยๆ ไปเที่ยวที่นั้นที่นี้ ไปเที่ยวที่อำเภอนั้นมันสนุกดี ไปเที่ยวทางโน้นอากาศทะเลมันเย็นดี อาหารทะเลมันอร่อยดีก็เที่ยวไปเรื่อยๆ เที่ยวไปจนตาย วิ่งไปทางทิศเหนือทิศใต้ไม่รู้จะเอาอะไร
ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างเดียวก็พอ
สมณะเรานี้ไม่มีอะไรมากมายหรอกนะ มีบาตรใบหนึ่งก็พอมีผ้าไตรจีวรชุดหนึ่งก็พอ จะสะพายสิ่งของไปมากมายให้มันหนักทำไม อยู่ที่ไหนก็สบายถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างเดียวก็พอ ที่เอาจริงๆ ก็เอาแต่ความสบายใจ ไม่ต้องไปแยกอะไรให้มันมาก บิณฑบาตได้มาก็เอาแต่พอฉันเท่านั้น เหลือนั้นก็ให้เพื่อนๆ หรือ ให้เป็ดให้ไก่กิน ไม่ต้องไปกระเสือกกระสนให้มันมากหรอก ขอให้เราปฏิบัติดีเท่านั้นก็พอ ให้เป็นสุปะฏิปันโน ไม่ต้องไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ทุกวันนี้เป็นนักท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เลยไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก จะไปหาเอาอะไร ให้ศึกษาหาความรู้ข้อเท็จจริงมันก็วางได้ มันก็อยู่หลักเดิมนี้แหละ ไม่ได้ติดลาภติดยศ ติดสรรเสริญ ติดนินทา ถ้ามันพอดีแล้วนั่งอยู่ก็สบาย
ถ้าเราดีที่ไหนมันก็ดี
อย่างเช่นท่านเจ้าคุณวัดเทพศิรินทร์ ประวัติของท่าน ท่านเห็นเพื่อนไปธุดงค์หลายองค์ ไปธุดงค์อย่างนี้จะไปเอาอะไรหนอธุดงค์ก็คือข้อปฏิบัติ จะปฏิบัติมันอยู่กุฏิใหญ่ๆ นี้แหละไม่ต้องไปไหน อยู่ในวัดนี้ ยกข้อวัตรขึ้นมาปฏิบัติได้หลายอย่าง ไม่ต้องเดินไปให้ลำบากตรากตรำ จะปฏิบัติธุดงค์อยู่ที่นี่แหละ ถ้ามีความเห็นอย่างนั้นมันก็สงบลงได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนไปธุดงค์ ธุดงค์คือที่เที่ยวสัญจรไปมาเป็น "ธุตังคะ" เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้าที่ทำปุถุชนให้เป็นอริยชนเรียกว่า "ธุดงค์" ที่ทำได้โดยมากเป็นข้อวัตรเพื่อฝึกหัดเกลากิเลส ไม่ใช่เรื่องอื่นไกลอะไร ถ้าจะเทียบทางธรรมะแล้ว ความดีอยู่กับตัวเราเอง ถ้าเราดีอยู่ที่ไหนก็ดี ถ้าเราไม่ดีอยู่ที่ไหนก็ไม่ดี ต้องถามตัวเราว่าดีพร้อมแล้วหรือยัง? ถ้าตัวเองไม่ดี จะหาคนอื่นดีคงไม่เจอ ให้กำหนดพิจารณาจิตก็จะมีความสงบขึ้นมา ถ้าตัวเราดีจะไปที่ไหนก็พบแต่คนดี ก็จะพบธรรมะของพระพุทธเจ้าของเราเท่านั้น ถ้าคนไม่รู้จักตัวเองอยู่ที่ไหนก็ว่าโอ้ยเพื่อนกวน พระองค์นั้นไม่ดี โยมผู้ชาย โยมผู้หญิงไม่ดี ส่วนตัวเองนั้นดีขนาดไหน ไปเที่ยวว่าแต่คนอื่น ถ้าเราดีแล้วคนอื่นไม่ดีก็ตาม มันก็เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเราคิดได้อย่างนี้มันก็สบาย และมีความสงบเท่านั้น
ปฏิบัติดีและปฏิบัติตรง
เรื่องอย่างนี้เราพยายามทำให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่ แต่ก็ยัง ไม่รู้จัก คนอื่นทำให้ดูอยู่อย่างนั้นมันยังไปตำหนิเขาอยู่นะ เขาแสดงความจริงก็ยังไม่รู้จัก มีความขัดข้องเพราะมีความหลงอยู่มาก ก็น่าจะคิดว่าเอออันนั้นดีแล้ว สิ่งที่ไม่ดีเราก็รู้แล้วจะได้ไม่ทำอีก ยังไปตำหนิเขาว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ไปตำหนิเขาทำไม มันเป็นเรื่องของเขาอันนี้มันเป็นเรื่องของเราไม่ดีเอง มันเป็นทุปะฏิปันโน สุปะฏิปันโนคือผู้ปฏิบัติดี อุชุปะฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง บางทีดีอยู่แต่ไม่ตรง ตรงอยู่แต่ไม่ดี จะหาทั้งดีด้วยทั้งตรงด้วย เป็นสุปะฏิปันโนก็หายาก หลงความคิดของตัวเอง
สมาธิกับความเข้มแข็ง
ผมจึงว่ามันถอนออกจากสมาธิ ผมไม่เคยถอนสักที ถึงจะมีความทุกข์ขนาดไหน ทุกข์จนน้ำตาไหลออกมาก็ตาม ผมไม่เคยถอนออกจากสมาธิ ยังมีความเข้มแข็ง กัดฟันต่อสู้อยู่ตลอดเวลาอดทนสู้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดท้อถอย เลิกความตั้งใจ คิดระลึกออกไป อย่างนี้ไม่เคยคิดเลิกเลย เหมือนบุรุษต้องการไฟ เอาไม้สีกันเพราะต้องการไฟ เมื่อความร้อนมันยังไม่สมดุลกัน มันก็ไม่เกิดไฟขึ้นมา ปฏิบัติไปนิดหน่อยรู้ไม่ชัด เห็นไม่ชัด มันจึงละทุกข์ไม่ได้ เพราะอะไรนะ ทำไมมันจึงละทุกข์ไม่ได้ เพราะมรรคยังไม่สามัคคีกัน เหมือนบุรุษต้องการไฟ สีอยู่อย่างนั้นก็ไม่เกิดไฟเพราะความร้อนมันยังไม่พอ ไม่สมดุลกัน ไฟจึงเกิดขึ้นไม่ได้เพราะความร้อนมันไม่พอ
ความเห็นชอบ
อันนี้ก็เหมือนกันฉันใด ใจของเราให้มันมีหลักปักลงอย่างนี้ อันนี้เราไปหาความรู้ ดีกว่าไปศึกษาในตำรา จิตของเรามันไม่ถอนออกไปเป็นทาสของกิเลสตัณหา มันถูกต้องแล้วล่ะ จะมีความรู้เรียนจบปริญญาอะไรมาก็ตาม ก็ยังเป็นทาสของตัณหาอยู่เพราะมีแต่ไปแสวงหาเอาทุกข์มาใส่ตัวทั้งนั้นแหละ ส่วนมากชอบเป็นอย่างนี้ แต่จิตใจของผมก็ยังมีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างผมกับมหาสา สมัยก่อนไปปฏิบัติด้วยกัน แต่มหาสาอยากจะไปเรียนนักธรรม ผมก็ไม่ได้ขัดข้อง ผมก็ส่งให้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ส่งเพื่อนไปเรียนแล้ว ผมก็ไม่มีความน้อยใจเลย จนกระทั้งเรียนจบมหาเปรียญเก้าประโยคเท่าทุกวันนี้ จึงได้มาพบกัน
ส่วนผมก็อยู่ในป่าอย่างนี้มาตลอดไม่ขาดเลย ท่านสอบมหาได้ก็ส่งข่าวว่าสอบได้ ประโยคเจ็ด ประโยคแปด ประโยคเก้ารายงานมาบอกให้ผมทราบ ผมก็มีความสบายใจอยู่เหมือนเดิมเพราะผมไม่มีความทะเยอทะยาน ไม่มีความกระตือรือร้นอยากจะไปกับใคร ไม่ได้คิดอิจฉาใคร ไม่ได้คิดเป็นทุกข์อาภัพอับจนด้วย อยู่ป่าก็สบายมีบาตรกับผ้าไตรจีวร ฉันข้าววันละครั้งเท่านั้นก็พอ จะไปคิดมากให้เราเป็นทุกข์ทำไม ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ "ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เราได้รับความทุกข์ได้หรอก ถ้าเรามีความเห็นชอบ" "บางวันได้ฉันข้าวกับมะกอกที่มันหล่นลงมาจากภูเขา ผมก็ยังมีความพอใจ ไม่ได้เก็บสะสมสิ่งของอะไรไว้เลย" พระพุทธองค์ท่านไม่สอนพวกเราทั้งหลายอย่างนี้หรอก ท่านไม่ได้ถามว่าวันนี้ฉันเสร็จแล้วเหลือไหม? วันพรุ่งนี้จะฉันกับอะไร? ท่านไม่ได้มาถามอีก มันก็มีของมันมาเอง จะได้มากหรือได้น้อยก็พอ ทุกวันนี้ถ้าได้ข้าว ฉันข้าวสักจานหนึ่ง หิวมากนอนก็ไม่หลับ เป็นทุกข์เป็นร้อน นอนก็เป็นทุกข์ นั่งก็เป็นทุกข์ ไม่รู้เรื่องอะไรวุ่นวายคนโง่ชอบเป็นอย่างนั้นแหละ ไม่น่าจะไปสุขไปทุกข์กับมัน เพราะเรื่องของโลกเป็นอยู่อย่างนั้น
"จะไปทำอะไรให้โลกนี้มันเต็มได้"
"ทำตามความอยากไม่พอสักทีหรอกคนเรานี้"
เมื่อมีเรา ก็มีของเรามาหมายมั่น เหมือนกันกับฝาผนัง ถ้าไม่มีหัวตะปูแล้วห้อยเสื้อไม่ได้ ห้อยกางเกงไม่ได้ ไม่มีที่เกาะฉันใด ถ้าภาวนาถึงที่แล้วมันก็ "ไม่ใช่เรา" "ไม่ใช่ของเรา" เป็นต้น พระอรหันต์ท่านจึงหลุดพ้น หลุดพ้นจาก "เรา" หลุดพ้นจาก "เขาอาสวะทั้งหลายไม่มีที่เกาะ อาสวะทั้งหลายไม่มีที่แอบอิง ไม่มีที่พึ่ง ถ้ามันหมดตัวเรา
ความยึดมั่นถือมั่น
การกระทำทุกวัน การประพฤติทุกวัน การพิจารณาทุกเวลา จึงเป็นปัญหาที่จะแก้ปัญหาให้รู้จักตัวว่าเราหรือไม่ใช่ของเราออก ถ้ายังมีตัวเราอยู่อย่างอุปาทาน ก็มีของเราตลอดไป เมื่อมีของเรา ก็มีของหาย มีของได้ เมื่อมีได้เมื่อมีเสีย ก็มีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสุขเมื่อมีทุกข์ก็มีเหตุมีปัจจัยหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีที่สิ้นสุดที่จบลงได้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงเน้น เน้นข้อประพฤติ เน้นข้อปฏิบัติให้เห็นตามเป็นจริง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้วก็สบาย แต่เราไม่ค่อยเห็นตามเป็นจริงได้ง่าย
สมัยก่อนศีล สมาธิ ปัญญาไม่ค่อยมี มีแต่ว่าบรรลุธรรมะไปฟังธรรมก็ภาวนาไปด้วย เมื่อรู้จักธรรมความละอายก็เกิดขึ้นมาไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดทางกาย วาจา ใจ เพราะได้ฟังธรรมะ รู้เรื่องตามความเป็นจริงแล้วจึงมีความละอาย ความละอายท่านเรียกว่า"ศีล" จิตที่มั่นอยู่กับความละอายว่าจะเป็นบาปอยู่นั้น ความมั่นในอารมณ์ที่ว่ามันเป็นบาปอันเดียวนั้นเรียกว่า "สมาธิ" ก็ได้ เมื่อสมาธิความมั่นอยู่ในอารมณ์ ไม่กระทำบาป ทำใจให้สุขุม "ปัญญา" ความรู้เท่าทั้งหลายก็เกิดขึ้นมา บรรลุถึง "สนติธรรม"เห็นตัวเราของเราตามความเป็นจริงว่ามิใช่เราขึ้นมา เป็นตัวปัญญาเกิดขึ้นมาพ้นจากวัฏฏะสงสารอันนี้ได้ ฉะนั้นในครั้งพุทธกาลท่านว่า เมื่อมีการฟังธรรมก็บรรลุธรรมเท่านั้นเอง เมื่อมีศีล สมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นมา
ความพอใจทำให้หมดปัญหา
เมื่อหากว่าเราพอแล้ว สิ่งอื่นก็หมดราคา พูดง่ายๆว่าเรารับประทานอาหาร แม้ว่าอาหารจะเอร็ดอร่อยอย่างไรก็ช่างมัน เมื่อมันมีเกินที่เราต้องการแล้ว ถ้าหากว่าเราอิ่มอยู่ทุกอย่างแล้ว อาหารที่เหลือนั้นมันหมดราคาน้อยลง ไม่เหมือนเรารับประทานครั้งแรก ทีแรกอันนั้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอามีราคาหมดทุกอย่าง พออิ่มเข้าอิ่มเข้า อาหารที่อร่อยย่อมหมดราคาน้อยลง เพราะเราอิ่ม มันเลยเป็นของหมดราคา เมื่อความหิวมีอยู่ก็เอาหมด ผักน้ำพริกก็เอา แก่เท่าไรก็ว่าอ่อน เพราะความหิวมีอยู่ ความอยากมีอยู่เป็นต้น ความต้องการมีอยู่ เมื่อความเป็นเราเป็นเขามีอยู่เป็นต้น มันก็มีปัญหาอยู่ตลอดกาลตลอดเวลาเสมอ
หลงโลก หลงอารมณ์
ดัง นั้นการฟังธรรมะเพื่อจะอบรมใจเราให้เกิดปัญญา เพื่อให้ไปแก้ปัญหาของโลก ปัญหาของโลกอยู่ไหน "โลก" คือ"อารมณ์" ที่มีอยู่รอบๆตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นต้น จัดได้ว่าเป็นอารมณ์ ดีชั่วทั้งหลายทั้งปวงเป็นอารมณ์ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเราหลงอารมณ์ก็คือเรา "หลงโลก" "หลงโลก" ก็คือ"หลงอารมณ์" คำว่าดูโลกไม่ใช่ว่านั่งเครื่องบินไปรอบโลก โลกนั้นคืออารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจไม่ชอบใจ มีสุขมีทุกข์ ทั้งหมดท่านเรียกว่า "อารมณ์" ซึ่งมันเกิดขึ้นกับใจเราก็มี นั่งอยู่เฉยๆก็เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีอยู่รอบสิ่งทั้งหลายเท่านี้แหละเมื่อเราได้สัมผัสกับอารมณ์ทั้งหลาย แล้ว ใจเรามันจะหลงอารมณ์ถ้ามันหลงอารมณ์มันก็แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ เมื่อแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ใจเราก็เศร้าหมอง ก็ไม่ผ่องใสติดอยู่ในโลก เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ามันติดปัญหาข้องปัญหาขึ้นมาจริงๆแล้ว บางทีก็ร้องไห้น้ำตาไหล เคยร้องไห้ไหม? แก้ปัญหาลูกไม่ตก แก้ปัญหาเมียไม่ตก แก้ปัญหาวัตถุข้าวของเงินทองไม่ตก แก้ปัญหาความเจ็บไข้ไม่ตก มีแต่น้ำตาไหลออกมาเท่านั้นแหละ คนโง่คนไม่มีปัญญา
สภาพของโลกและอารมณ์
คนแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ก็ร้องไห้ ถ้าไม่ร้องไห้ก็หนี หนีไปยิงตัวตาย หนีไปกินยาตาย หนีไปโดดน้ำตาย มันก็หนีไปอย่างนั้นแหละ เพราะคนโง่คนชั่วหนีไปทั่วนั่นแหละ เหมือนกับไฟมันไหม้ป่า สัตว์ต่างๆก็หนีไปตามสัญชาติญาณของมันเพราะกลัวตายมันดับไฟไม่ได้ มนุษย์เรานี้เหมือนกันฉันนั้น มันติดในอารมณ์ แก้อารมณ์ของโลกไม่ได้ เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เดี๋ยวก็วุ่นวายกันเดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้วุ่นวาย เป็นอยู่อย่างนี้เอง สภาพของโลกเป็นอยู่อย่างนี้
หลงโลกจึงทุกข์
ฉะนั้น เราฟังธรรมก็เพื่อจะได้มีความรู้ ไปแก้ปัญหาของโลก เพราะโลกอันนี้ไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรให้มันมากมาย มาแก้ความเห็นของเรา มาแก้ความคิดของเรา มาแก้ทิฏฐิของเราให้มีความเห็นอันถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น โลกที่มันตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน เพราะเราไปหลงโลกมันจึงทุกข์ โลกนั้นมันไม่ทุกข์ โลกนั้นมันไม่ยาก เราเป็นคนยาก
เหมือนกับเราเดินทางหนทางไกลเท่าไร มันก็ไม่เหนื่อยกับเรา หนทางไม่เหนื่อยเราผู้เดินนี้เหนื่อย เราผู้วิ่งนี้มันหนักหนทางมันจะไปไหนก็ช่าง มันไม่เมื่อย มันก็ไม่เหนื่อย มันเหนื่อยเพราะเราเดินทาง มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นทางมันพอดีของมันอยู่ พอดีอย่างไร ถ้าเราเดินเหนื่อยเราก็พัก ก็ไม่เป็นไรถ้าเราฉลาด ถ้าเหนื่อยแล้วยังขืนเดินไปก็ตายกับหนทางเท่านั้นแหละทางไม่เป็นอะไร ถึงแม้ว่าเราจะหยุด มันก็ไม่บังคับให้เราเดินไปอีก ถึงแม้เราจะไปอีกมันก็ไม่บังคับให้เราหยุด โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทางก็รู้จักกำลังของเรา พอสมควรเราก็พักได้เราจึงค่อยเดินไป เป็นเรื่องของเรา คนรู้จักทางเป็นอย่างนี้
คนรู้จักโลกก็เหมือนกัน โลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเองทางนั้นก็เป็นโลก โลกนั้นก็คือหนทาง ถึงแม้ว่าเราเดินต่อมันก็ไม่สิ้นสุดสักที โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เอง ฉะนั้นจึงมาแก้ที่เรา ใจเรานี้มันหลงโลก ไม่ใช่โลกหลงเรา เรามันหลงโลกเข้าใจไหม? ถ้าว่าอาหารทั้งหลาย ถ้ามันอร่อย ไม่ใช่อาหารมันหลงเรา เรามันหลงอร่อยอันนั้น หลงหวาน หลงเปรี้ยว หวานก็พอดีของมัน เปรี้ยวก็พอดีของมัน มันเป็นของพอดี
โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้
โลกเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน
โลก นี้เป็นของพอดี แต่เรามีความโลภ ทะเยอทะยาน ไปเอง ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักภาษาของโลก ไม่รู้จักความหมายของโลกว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติของมัน อยู่ทุก วินาที ว่าเมื่อมันเกิดแล้วมันก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เมื่อเจ็บแล้วมัน ก็ตาย
คนทั้งหลายเกิดแล้วก็ไม่อยากแก่ แก่แล้วไม่อยากไปทางไหน อยากอยู่อย่างนี้ ให้มั่นคงให้ยั่งยืนอยู่นี่ อยู่กับลูกกับหลานนี่ "ลูกไปไร่ไปนา ลูกไปสวนมาบ้าน คนขี้คร้านให้นอนอยู่บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปที่ไหนอีก" อยากอยู่นี่ไม่อยากไปทางไหน ไม่อยากให้เฒ่า ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้วุ่นวาย ไปกั้นแม่น้ำทะเลเอาไว้ ถ้ากั้นไม่อยู่ก็ท่วมบ้านท่วมเรือนเหมือนเก่านั้นแหละ ตายหมดเหมือนเก่านั่นแหละ
รู้แจ้งโลก
ท่านจึงให้พิจารณาโลก ปัญญารู้เท่าตามความเป็นจริงของโลก โลกเป็นอย่างใดก็ให้รู้เท่าตามเป็นจริงมันซะ ถ้าเรารู้จักปัญหาของโลกแล้ว ก็เหมือนกันกับเรารู้จักธรรมะ รู้บรรลุธรรมะเมื่อรู้จักธรรมะแล้วมันก็รู้แจ้งโลก เมื่อรู้แจ้งโลกก็ไม่ติดในโลกเป็น "โลกวิทู รู้แจ้งโลก"
ฉะนั้นธรรมะนี้จึงมีอานิสงส์มาก ท่านว่าฟังธรรมะมีอานิสงส์มาก การให้ธรรมเป็นทานได้บุญมากกว่าสิ่งทั้งหลายปวงมันก็ถูกอยู่การฟังธรรมก็ได้ บุญ คนฟังธรรมเอาบุญเกิดจากการฟังไม่ค่อยมี ทุกวันนี้ฟังแล้วหมดไป หมดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักอะไรการฟังธรรม การรักษาศีล ปีนี้ชาวพิบูลฯเขามารดน้ำ เขามาขอศีล ขอก็ให้ นั่งดีๆ อาราธนาแล้ว ข้อ ๑. อย่าฆ่าสัตว์ ๒. อย่าลักขโมยของเขา ๓. อย่าไปนอกใจลูก ใจผัว ใจเมีย ข้อ ๔. อย่าโกหกกัน ข้อ ๕. อย่ากินสุรา เอาแหละใครจะเอาก็เอา ถ้าจะเอา เอาไหมล่ะ? พูดอย่างนี้ ทำไมให้ศีลง่ายจัง นั่นแหละให้ง่ายๆอย่างนี้แหละ มันจะยากอะไรถ้าจะเอา เอาไหมล่ะเรื่องเท่านี้ เรื่องไม่มากหรอก เขาไม่ค่อยได้ยิน เขาอาราธนาขอศีลก็ว่าไป มันไม่ค่อยได้เรื่องแบบนั้น มันตรงเกินไป
เมื่อพระปัญจวัคคีย์หนีจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านเห็นว่าเป็นลาภเป็นโชคของท่าน จะได้มีโอกาสทำความเพียร ครั้งเมื่อพระปัญจวัคคีย์อยู่ก็วุ่นวายก่อกวนหลายอารมณ์ บัดนี้พระปัญจวัคคีย์ออกจากท่าน พระปัญจวัคคีย์เห็นว่าพระพุทธองค์นั้นคลายออกจากความเพียรเวียนมาหาความมัก มาก เพราะว่าสมัยก่อนนั้นเอาจริงเอาจังเรื่องอัตตกิลมถานุโยโค เรื่องการทรมาน เรื่องการขบ เรื่องการฉัน เรื่องการหลับการนอน เอาแท้ๆ เมื่อถึงคราวอันนี้แล้ว พอมาพิจารณาแล้วมันก็ไม่เป็นไป ประพฤติด้วยทิฏฐิ ประพฤติด้วยมานะ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น คิดปรารภโลกว่าเป็นธรรม คิดปรารภตนว่าเป็นธรรมมันไม่ได้ปรารภธรรมะ
อย่างว่าเราจะทรมาน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก่อนจะทำอย่างนั้นก็ปรารภว่าให้โลกสรรเสริญ ให้เขาว่านี่แหละเป็นคนเอาจริงเอาจังก็เลยทำอันนั้น เป็นโลกหมด ทำเพื่อความยกย่องสรรเสริญ ให้เขาว่าดี ให้เขาว่าเลิศ ให้เขาว่าประเสริฐ ให้เขาว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คิดอย่างนี้แล้วจึงทำ เรียกว่ามันปรารภโลก อีกอย่างหนึ่งคือปรารภตนเอง เชื่อมั่นในความเห็นของตนเอง เชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติของตน ใครจะว่าผิดก็ช่างถูกก็ตาม ไม่เอาเป็นประมาณ ชอบอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้คลำหน้าคลำหลัง นี่ปรารภตนเองอีกประเภทหนึ่ง
อย่าปล่อยอย่าวางด้วยความยึดมั่น
เรื่องปรารภโลกกับปรารภตนนี้ มันมีแต่เรื่องอุปาทานแน่นหนาอยู่เท่านั้น พระพุทธองค์พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่จะปรารภธรรมะ คือให้มันถูกธรรมะแล้วจึงทำไม่มี ฉะนั้นการปฏิบัติจึงเป็นหมัน ละกิเลสไม่ได้ ท่านก็หวนมาพิจารณาใหม่คือ ที่ทำงานตั้งแต่ต้นท่านก็มาดูผลงานมัน สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ผลที่เกิดจากเหตุที่ท่านกระทำนั้นเป็นอย่างไร ภาวนาแล้วคิดไปลึกซึ้งแล้วเห็นว่ามันไม่ถูก มีแต่เรื่องตนเท่านั้น เรื่องโลกเท่านั้น เรื่องธรรมะเรื่องอนัตตานี้ไม่มี เรื่องสูญ เรื่องว่าง เรื่องปล่อย เรื่องวาง ไม่มี คือเรื่องปล่อยวางมันมีอยู่ แต่ว่าปล่อยโดยความยึดมั่นถือมั่น
ท่านก็คิดไปคิดมาพิจารณาดูแล้ว ถึงจะสอนลูกศิษย์เขาก็เห็นไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกให้ลูกศิษย์เข้าใจกันได้ง่าย เพราะว่าลูกศิษย์นั้นเขาแน่นเหลือเกินในการกระทำอย่างนั้น ในการสอนอย่างนั้น ในความเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านก็เห็นว่าทำอย่างนั้นก็ทำตายเปล่า อดตายเปล่า ทำตามโลก ทำตามตน ท่านก็พิจารณาใหม่ หาสิ่งที่มันพอดี เป็นสัมมาปฏิปทา ส่วนจิตก็เป็นจิต ส่วนกายก็เป็นกายเรื่องกายนี้มันไม่ใช่กิเลสตัณหากับใครหรอก ถ้าจะไปฆ่าอันนั้นเฉยๆมันก็ไม่หมดกิเลส มันไม่ใช่ที่ของมัน แม้จะอดขบอดฉัน อดหลับอดนอนให้มันเหี่ยวมันแห้ง ว่าจะให้มันหมดกิเลสนั้น มันก็หมดไม่ได้แต่ความเข้าใจที่ว่ามันได้สั่งสอนในการทรมานนี้ พระปัญจวัคคีย์ติดมาก
ทำอะไรให้เป็นเรื่องธรรมดาๆ
ต่อนั้นพระพุทธเจ้าก็กลับมาฉันจังหันให้มากขึ้น ให้มันธรรมดาอะไรก็ให้มันธรรมดาๆมากขึ้น พอพระปัญจวัคคีย์เห็นการประพฤติปฏิบัติของพระพุทธองค์เคลื่อนจากของเก่า มันเปลี่ยนจากการปฏิบัตินั้นมา ก็เลยพากันเข้าใจว่าพระพุทธองค์นั้นคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ความเห็นผู้หนึ่งมันจะเลื่อนขึ้นไปข้างบน คือพ้นสมมติ อีกผู้หนึ่งเห็นว่ามันจะเลื่อนลงไปข้างล่าง คือคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก การทนมานตนเองมันแน่นอยู่ในหัวใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย เพราะพระพุทธองค์ก็เคยสอนอย่างนั้นปฏิบัติมาอย่างนั้น สอนมาอย่างนั้น จนกว่าท่านได้เห็นโทษมัน เห็นโทษมันชัดเจน ท่านจึงละมันได้ เมื่อละมันได้แล้ว ท่านก็เห็นประโยชน์ในการละนั้น ท่านจึงกระทำอย่างนั้นโดยมิได้ลงขอผู้อื่นเลยพอพระปัญจวัคคีย์เห็นพระ พุทธเจ้าทำอย่างนั้น ก็พากันหนีจากท่าน เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่ทำตาม ก็เหมือนนกที่หนีจากต้นไม้ เห็นว่าต้นไม้ไม่มีกิ่งหรือก้านกว้างขวาง ไม่มีร่มมีเย็น หรือปลาจะหนีจากน้ำ ก็เห็นว่าน้ำมันน้อย ไม่เย็น มันเบื่อ ว่าอย่างนั้น ความเห็นเป็นอย่างนั้น ก็เลยเลิกกันจากพระพุทธเจ้า
กายก็ให้เป็นกาย จิตก็ให้เป็นจิต
ทีนี้พระองค์ก็ได้พิจารณาธรรม ท่านก็เลยฉันให้สบาย อยู่ให้สบาย จิตก็ให้มันเป็นจิต กายก็ให้มันเป็นกาย จิตมันก็เป็นเรื่องของจิต กายมันก็เป็นเรื่องของกาย ท่านก็ไม่ได้บีบมันเท่าไร ไม่ได้บังคับมันเท่าไร พอแต่จะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้บรรเทาลง แต่ก่อนท่านก็เดินอยู่สองทาง กามสุขัลลิกานุโยโค มีความสุขมีความรักเกิดขึ้นมาแล้วก็สนใจเกาะด้วยอุปาทาน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ไม่ได้ปล่อยไม่ได้วาง กระทบความสุขก็ติดในความสุข กระทบความทุกข์ก็ติดในความทุกข์ เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค พระองค์ติดอยู่ในสงสาร ท่านมองพิจารณาเห็นชัดเจนเข้าไปว่า อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสมณะที่จะเดินไปในทางนั้น สุขแล้วก็ยึดสุข ทุกข์แล้วก็ยึดทุกข์คุณสมบัติของผู้เป็นสมณะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องยึดเรื่องมั่นเรื่องหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ครั้นติดอยู่ในนั้นมันก็เป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นโลก ถ้าปฏิบัติบากบั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็ยังไม่เป็นโลกวิทูไม่รู้แจ้งโลก วิ่งทางซ้ายวิ่งทางขวาอยู่ตลอดเวลา บัดนี้ท่านเพ่งถึงส่วนจิตจริงๆ ตามรักษาจิตของตนล้วนๆ สอนจิตของตนล้วนๆ
เราหวงแหนกายของเราเพราะอะไร?
เรื่องธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้เป็นอะไร เหมือนกันกับโรคในร่างกายเรานี้ เป็นเจ็บ เป็นไข้ เป็นหวัดเป็นไอ เป็นโรคนั้นโรคนี้ ก็เป็นในร่างกายของเรา ความเป็นจริงคนเราก็หวงแหนกายของเราจนเกินขอบเขตเหมือนกัน ก่อนที่มันจะหวงแหนก็เนื่องจากความเห็นผิด มันจึงปล่อยไม่ได้ อย่างศาลาเราอยู่เดี๋ยวนี้เราสร้างมันขึ้นเป็นศาลาของเรา จิ้งเหลนมันก็มาอยู่ จิ้กจกมันก็มาอยู่หนูมันก็มาอยู่ เราก็เบียดเบียนแต่มัน เพราะเราเห็นว่าศาลาของเราไม่ใช่ของจิ้งเหลนจิ้งจก เลยเบียดเบียนมัน เหมือนกันกับโรคในร่างกายเราที่เป็นอยู่ ร่างกายเราถือว่าเป็นบ้านเป็นของของเรา ถ้าจะมาเจ็บหัวปวดท้องนิดหนึ่งก็ทุรนทุราย ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นทุกข์ ขาก็ขาของเราไม่อยากให้มันเจ็บ แขนก็แขนของเราไม่อยากให้มันเจ็บ หัวนี่ก็หัวของเรา ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันเป็นอะไรเลย ที่นี่ รักษามันให้ได้ หลงไป หลงจากความจริงมา เราก็จรเข้ามาอยู่กับสังขาร นี้ก็เหมือนกัน ศาลานี้ไม่ใช่ศาลาของเราตามความจริงนะ เราก็เป็นเจ้าของชั่วคราว หนูมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวจิ้งเหลนมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราว จิ้งจกมันก็เป็นเจ้าของชั่วคราวเท่านั้นแต่มันไม่รู้จักกัน
โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้
เมื่อยึดมั่นในสังขารก็เป็นทุกข์
ร่าง กายนี้ก็เหมือนกัน ความเป็นจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่มีตัวไม่มีตนอยู่นี้ เราก็มายึดสังขารก้อนนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาแน่นอนเข้าไป ทีนี้สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่อยากให้เปลี่ยนบอกเท่าไรก็ไม่เข้าใจ พูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ บอกจริงๆก็ยิ่งหลงจริงๆอันนี้ไม่ใช่ตัว ว่าอย่างนั้น ก็ยิ่งหลงใหญ่ ยิ่งไม่รู้เรื่อง เรามาภาวนาให้มันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นคนโดยมากไม่เห็นตัวตน ผู้ที่เห็นตัวตนจริงๆก็คือผู้ที่เห็นว่ามิใช่ตัวมิใช่ตน คือเห็นตนตามธรรมชาติ ผู้ที่เห็นตัวด้วยอุปาทานนี้ว่า นี่เป็นตัวเป็นตน ผู้นั้นไม่เห็น มันก้าวก่ายอยู่อย่างนี้นะ จะทำอย่างไร มันไม่เห็นง่ายๆก้อนนี้ อุปาทานมันยึดไว้
ใช้ปัญญาในการดับทุกข์
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญา ให้เห็นด้วยปัญญา คือพิจารณาสังขารว่า มันจริงอย่างไรก็ให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น อาศัยปัญญารู้ตามเป็นจริงของสังขารเรียกว่าตัวปัญญา ถ้ารู้ไม่ตามเป็นจริงของสังขารนั้นก็ไปแย้งกัน ไปขัดกัน สังขารนี้มันสมควรที่จะปล่อยไปแล้ว ก็ยังจะไปกางไปกั้นมันไว้ ไปร้องขอให้เป็นอยู่อย่างนั้น หาสิ่งของสารพัดอย่างมาแก้มัน มาไถ่ถอนเอาสารพัด ถ้ามันเจ็บมันไข้แล้วไม่อยากไป จึงค้นหาสูตรอะไรต่างๆพากันมาสวด สูตร โพชฌังโค ธัมมจักร อนัตตลักขณสูตร ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้นพากันกั้นพากันห้าม ก็เลยเป็นพิธีรีตองไป ยึดมั่นถือมั่นยิ่งไปกันใหญ่โดยบทสวดต่างๆ คือสวดให้มันหายโรค เอามาสวดต่ออายุกัน เอามาสวดให้มันยืนยาว สารพัดอย่าง
จุดหมายของการสวดมนต์-ท่องมนต์
ความเป็นจริงท่านให้สวดเพื่อเห็นชัด แต่เรามาสวดให้หลงรูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง...บทที่สวดนั้นไม่ใช่สวดให้เราหลงนะ สวดให้เรารู้เรื่องตามความเป็นจริงของมันอย่างนั้น จะได้ปล่อยจะได้วาง จะได้ไม่เสียใจ จะได้ทอดอาลัย อันนั้นมันจะสั้น แต่เรามาสวดให้มันยาวออก ถ้ามันยาวอยากจะให้มันสั้น บังคับธรรมชาติให้มันเป็นไป หลงกันหมด ที่มาทำกันในศาลานั้นก็มาหลงกันหมดทุกคน คนที่สวดก็หลง คนที่นอนฟังอยู่ก็หลง ใครที่ไหนก็หลงทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ คิดอย่างนั้น จะปฏิบัติที่ไหนกัน จึงปฏิบัติให้มันหลงไปแก้ความจริงในเรื่องนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลายเห็นว่ามันไม่มีอะไรเกิดมาแล้วต้องมีโรคอย่างนี้ แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ดี อริยสาวกของท่านก็ดี มีเจ็บมีไข้เป็นธรรมดา ท่านก็รักษาฉันยาเป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ มันเป็นเรื่องแก้ธาตุ แต่ความเป็นจริงท่านไม่ได้ถือมั่นถือลางถือขลัง ยึดมั่นจนเกินไปหรอก ท่านก็รักษามันด้วยความเห็นชอบ ไม่ใช่รักษาด้วยความหลง มันหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย เป็นอย่างนั้น
สวดมนต์เพื่อให้ใจพบแสงสว่าง
อันนี้แหละ เขาว่าศาสนาในประเทศไทยเรามันเจริญ แต่ผมว่ามันเสื่อมจนถึงที่สุดมันแล้ว ในศาลามีแต่หูฟังทั้งนั้น หมดศาลาเลยเอียงหูฟัง มันเอียงซ้ายเลยนะ ตลอดผู้ใหญ่ผู้โตก็ทำอย่างนั้นอยู่ ว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเลยหลงตามกันหมดทุกอย่างเลย ฉะนั้นถ้าเราไปเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็เลยพูดอะไรไม่ออก มันคนละเรื่องกัน แล้วจะให้มันพ้นทุกข์กันที่ไหน ท่านให้สวดเพื่อให้มันแจ้ง เรามาสวดให้มันมืดมันหันหลังใส่กันเลย ผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันตก อีกผู้หนึ่งเดินไปทางตะวันออก จะพบกันได้อย่างไร มันไม่ใกล้เลยเรื่องเหล่านี้ ถ้าหากว่าเราได้ภาวนาแล้ว ตามความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ก็กำลังหลงกัน ไม่รู้จะว่ากันได้อย่างไร อะไรก็เป็นพิธีรีตองไปหมดทุกอย่าง สวดอยู่ แต่ว่าสวดด้วยความโง่ ไม่ใช่สวดด้วยปัญญา เรียนแต่เรียนด้วยความโง่ ไม่ได้เรียนด้วยปัญญา รู้ก็รู้ด้วยความโง่ ไม่ได้รู้ด้วยปัญญา มันเลยไปก็ไปด้วยความโง่ อยู่ก็อยู่ด้วยความโง่ มันก็เป็นอย่างนั้น ที่สอนกันทุกวันนี้ก็เรียกว่าสอนให้คนโง่ทั้งนั้นแหละ แต่เขาว่าสอนให้คนฉลาด สอนให้คนรู้ แต่หลักความเป็นจริง ฟังๆดูแล้วก็สอนให้คนหลงงมงาย
อย่ายึดมั่นว่าเป็นของเรา
ความเป็นจริง หลักธรรมะท่านสอนให้พวกเราทั้งหลายปฏิบัติเพื่อเห็นอนัตตา คือเห็นตัวตนนี้ว่ามันเป็นของว่าง ไม่ใช่เป็นของมีตัวตน เป็นของว่างจากตัวตน แต่เราก็มาเรียนกันให้มันเป็นตัวเป็นตนก็เลยไม่อยากจะให้มันทุกข์ ไม่อยากจะให้มันลำบาก อยากจะให้มันสะดวก อยากจะให้มันพ้นทุกข์ ถ้ามีตัวมีตนมันจะพ้นทุกข์เมื่อไร ดูซิอย่างเรามีของชิ้นหนึ่งที่มีราคามาก เมื่อเราได้รับมาเป็นของเราแล้ว เปลี่ยนเสีย จิตใจเปลี่ยนแล้ว ต้องหาที่วางมัน จะเอาไว้ตรงไหนดีหนอ เอาไว้ตรงนั้นขโมยมันจะย่องเอาไปละมั้ง คิดจนเลิกคิดแล้วหาที่ซ่อนของนะ แล้วจิตมันเปลี่ยนเมื่อไร มันเปลี่ยนเมื่อเราได้วัตถุอันนี้เอง ทุกข์แล้วเอาไว้ตรงนี้ก็ไม่ค่อยสบายใจ เอาไว้ตรงนั้นก็ไม่ค่อยสบายใจ เลยวุ่นกันจนหมดแหละ นั่งก็ทุกข์ เดินก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ นี่ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว มันเกิดเมื่อไร มันเกิดในเมื่อเราเข้าใจว่าของของเรามันมีมาแล้ว ได้มาแล้ว ทุกข์อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ก่อนไม่มี มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทุกข์ยังไม่เกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่จะจับมัน
พลิกสมมุติให้เป็นวิมุตติ
อัตตานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจว่าตัวของเรา ตนของเรา สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นมันก็เป็นของตนไปด้วย ของเราไปด้วย มันก็เลยวุ่นขึ้นไป เพราะอะไร ต้นเหตุคือมันมีตัวมีตน ไม่ได้เพิกสมมุติอันนี้ออกให้เห็นวิมุตติ ตัวตนนี้มันเป็นของสมมุติ ให้เพิกให้รื้อสมมุติอันนี้ออกให้เห็นแก่นของมัน คือวิมุตติ พลิกสมมุติอันนี้กลับให้เป็นวิมุตติ
อันนี้ถ้าเปรียบกับข้าวก็เรียกว่าข้าวยังไม่ได้ซ้อม ข้าวนั้นกินได้ไหม กินได้ แต่เราไปปฏิบัติมันซิ คือให้เอาไปซ้อมมัน ให้ถอดเปลือกออกไปเสีย มันก็จะเจอข้าวสารอยู่ตรงนั้นแหละ ทีนี้ถ้าเราไม่ได้สีมันออกจากเปลือกของมันก็ไม่เป็นข้าวสาร ความเห็นเช่นนี้ก็เหมือนกันกับสุนัข สุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ ท้องร้องจ๊อก...จ๊อก..จ๊อก...มันก็มัวแต่นอนอยู่นั่นแหละ จิตมันหวั่นวิตก "จะไปหากินที่ไหนหนอ" แน่ะ ท้องมันหิวมันก็โจนออกจากกองข้าวเปลือก วิ่งไปหากินอาหารเศษๆทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งๆที่มันนอนทับอยู่อาหารมันอยู่ตรงนั้น แต่มันไม่รู้จัก เพราะอะไร มันไม่เห็นข้าว สุนัขมันกินข้าวเปลือกไม่ได้ อาหารมันมีอยู่แต่มันกินไม่ได้ ความรู้เรามีอยู่ถ้าเราไม่เอาไปปฏิบัติ เราก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน โง่ขนาดสุนัขมันนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก นอนทับอาหารอยู่ได้ แต่ว่าไม่รู้จักกินอาหารที่มันนอนทับอยู่ เมื่อหิวอาหารก็ต้องโจนจากข้าววิ่งไปหากินที่อื่น อันนี้มันก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน
อย่าทำตัวเหมือนสุนัขนอนอยู่บนกองข้าวเปลือก
เหมือนกันฉันนั้นข้าวสารมีอยู่ อะไรมันปิด เปลือกข้าวมันปิดสุนัขกินไม่ได้ วิมุตติก็มีอยู่ อะไรมันปิดไว้ สมมุติมันปิดไม่ให้เห็นวิมุตติ ให้พุทธบริษัททั้งหลายนั่งทับ ไม่รู้จัก..'ข้าว' ไม่รู้จักการประพฤติปฏิบัติ นั่นจึงไม่เห็นวิมุตติ มันก็จึงติดสมมุติอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา เมื่อมันติดอยู่ในสมมุติมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดภพขึ้นมา เกิดชาติขึ้นมา ชรา พยาธิ มรณะ ถึงวันตายตามเข้ามา ฉะนั้นมันไม่มีอะไรบังอยู่หรอก มันบังอยู่ตรงนี้ เราเรียนธรรมะ ไม่รู้จักธรรมะ ก็เหมือนกับสุนัขนอนอยู่บนข้าวเปลือก ไม่รู้จักข้าว หิวจวนจะตายมันก็ตายทิ้งเฉยๆนั่นแหละ ไม่มีอะไรกิน ข้าวเปลือกมันกินไม่ได้ มันไม่รู้จักหาอาหารของมันเลย นานๆไปไม่มีอะไรกิน มันก็ตายไปบนกองข้าวเปลือกนั่นแหละ บนอาหารนั่นแหละ
อย่าคิดว่ารู้มากแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้า
มนุษย์เรานี้ก็เหมือนกัน ธรรมที่เราเรียนมา ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถึงจะศึกษาธรรมะเท่าไรก็ตามทีเถิด ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็น ไม่เห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้จักข้อปฏิบัติ อย่าพึงว่าเราเรียนมาก เรารู้มากแล้วเราจะเห็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนเรามีตา อย่างนี้ก็นึกว่าเราเห็นทุกอย่าง เพราะว่าเรามองไปแล้ว หรือจะนึกว่าเราได้ยินแล้วทุกอย่าง เพราะเรามีหูอยู่แล้ว มันเห็นไม่ถึงที่สุดของมัน มันก็เป็นตานอกไป ท่านไม่จัดว่าเป็นตาใน หูก็เรียกว่าหูนอกไม่ได้เรียกว่าหูใน มิฉะนั้นถ้าท่านพลิกสมมุติเข้าไปเห็นวิมุตติ แล้วก็เป็นของจริง เห็นชัด ถอนทันที มันจึงถอนสมมุติออก ถอนความยึดมั่นถือมั่นออก ถอนทุกสิ่งทุกอย่าง
ผลไม้ (ธรรมะ) มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
เหมือนกับผลไม้หวานๆใบหนึ่ง ผลไม้นั้นมันหวานอยู่ก็จริงแต่ว่ามันต้องอาศัยการกระทบประสบจึงรู้ว่ามัน หวานหรือมันเปรี้ยวจริงผลไม้นั้นถ้าไม่มีอะไรกระทบ มันก็หวานอยู่ตามธรรมชาติ หวานแต่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา เป็นสัจจธรรมจริงอยู่ก็ตาม แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จริงนั้นก็เป็นของไม่จริง ถึงมันจะดีเลิศประเสริฐสักเท่าไรก็ตามทีเถอะมันไม่มีราคาเฉพาะกับคนที่ไม่ รู้เรื่อง
ฉะนั้นจะไปเอาทุกข์ทำไม ใครในโลกนี้อยากเอาทุกข์ใส่ตัวมีไหม ไม่มีใครทั้งนั้นแหละ ไม่อยากได้ทุกข์ แต่ว่าสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เท่ากับเราไปแสวงหาความทุกข์นั่นเอง แต่ใจจริงของเราแสวงหาความสุข ไม่อยากได้ทุกข์ นี่มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ทำไมจิตใจของเรามันสร้างเหตุให้ทุกข์เกิด ขึ้นมาได้ เรารู้เท่านี้ก็พอแล้วใจเราไม่ชอบทุกข์ แต่เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเป็นตัวของเราทำไม มันก็เห็นง่ายๆก็คือคนที่ไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงประพฤติอย่างนั้น จึงเห็นอย่างนั้น จะไม่มีความทุกข์ได้อย่างไรก็เพราะคนไปทำอย่างนั้น
เมื่อคิดผิดก็เกิดทุกข์
ถ้ามันเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งดุ้นนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรที่เราได้พูด เราได้เห็น เราได้ทำแล้วเป็นทุกข์ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันไม่ทุกข์อย่างนั้นหรอก มันไม่ยึดในความทุกข์อันนั้น มันไม่ยึดในความสุขนั้นๆ ไม่ได้ยึดตามอาการทั้งหลายเหล่านั้น มันจะปล่อยวางตามเรื่องของมัน เช่น กระแสน้ำที่มันไหลมา ไม่ต้องกางกั้นมัน ให้มันไหลไปตามสะดวกของมันนั้นแหละ เพราะมันไหลอย่างนั้น กระแสธรรมก็เป็นอย่างนั้น กระแสจิตของเราที่ไม่รู้จักมันก็ไปกางกั้นธรรมะด้วยที่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไปตะโกน โน้น มิจฉาทิฏฐิอยู่ที่โน้น คนโน้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ตัวเราเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนั้นเราไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็น่าสังเกตน่าพิจารณาเหมือนกันนะ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ไม่ทุกข์ในเวลาปัจจุบันนั้น ต่อไปมันก็ให้ผลมาเป็นทุกข์
อันนี้พูดเฉพาะคนเรามันหลงเท่านั้น อะไรมันปิดไว้ อะไรมันบังไว้ สมมุติมันบังวิมุตติให้คนมองเห็นไม่ชัดในธรรมทั้งหลาย ต่างคนก็ต่างศึกษา ต่างคนก็ต่างเล่าเรียน ต่างคนก็ต่างทำ แต่ทำด้วยความไม่รู้จัก ก็เหมือนกันกับคนหลงตะวันนั้นแหละ เดินไปทางตะวันตกเข้าใจว่าเดินไปทางตะวันออก หรือเดินไปทิศเหนือเข้าใจว่าเดินไปทิศใต้ มันหลงขนาดนี้ เราปฏิบัตินี้มันก็เลยเป็นขี้ของการปฏิบัติโดยตรงแล้วมันก็เป็นวิบัติ วิบัตินี้คือมันพลิกไปคนละทาง หมดจากความมุ่งหมายของธรรมะที่ถูกต้อง สภาพอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็เข้าใจว่าอันนี้ถ้าทำขึ้น ถ้าบ่นขึ้น ถ้าท่องขึ้น ถ้ารู้เรื่องอันนี้ มันจะเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ ก็เหมือนกันกับคนที่อยากได้มากๆนั่นแหละ อะไรๆก็หามามากๆ ถ้าเราได้มากแล้วมันก็ดับทุกข์ จะไม่มีทุกข์ ความเข้าใจของคนมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันคิดไปคนละทาง เหมือนกันกับคนนี้ไปทิศเหนือ คนนั้นไปทิศใต้ นึกว่าไปทางเดียวกัน
สังขารทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
ฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลาย มนุษย์เราทั้งหลายจึงจมอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในวัฏฏสงสาร ก็เพราะคิดอย่างนี้ ถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็นึกแต่จะให้มันหายเท่านั้น อยากจะให้มันหายเดี๋ยวนี้ จะให้มันหายเท่านั้นแหละ ไม่นึกว่าอันนี้มันเป็นสังขาร อันนี้ไม่มีใครรู้จักสังขารมันเปลี่ยน ทนไม่ได้ ฟังไม่ได้ จะต้องให้หายให้หมด แต่ผลสุดท้ายมันก็สู้ไม่ได้ สู้ความจริงไม่ได้ พังหมด อันนี้คือเราไม่ได้คิด คือมันเห็นผิดหนักเข้าไปเรื่อยๆ
การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างเพื่อเห็นธรรมะมันเลิศกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธองค์สร้างบารมีตั้งแต่ทานบารมีไปถึงปรมัตถบารมีเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้จักอันนี้ เพื่อให้เห็นธรรมะ ให้ปฏิบัติธรรมะ แล้วให้รู้ธรรมะ ให้ใจเป็นธรรมะ ให้ปล่อยวางเพื่อจะไม่ให้หนัก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน หรือจะพูดง่ายๆอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ยึดแต่อย่าให้มั่น นี่ก็ถูกเหมือนกัน คือเราเห็นอะไรก็จับมันขึ้นมาดูเสีย "เออ...อันนี้ก็อันนั้น" แล้วก็วางมันไป เห็นอันนั้นอีกก็ยึดมาอีก แต่อย่ายึดให้มันมั่น เอามาพิจารณา รู้เรื่องแล้วก็ปล่อยวางเท่านั้นแหละ ถ้ายึดไม่วาง แบกไม่หยุดมันก็หนักตลอดเวลาสิ ถ้าเรายึดมาแบกรู้สึกว่ามันหนักก็ปลงมันไป ทิ้งมันเสีย อย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นมา ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็รู้จักว่าอันนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อรู้จักเหตุให้ทุกข์เกิดแล้ว ทุกข์มันเกิดไม่ได้ ทุกข์จะเกิด สุขจะเกิด มันอาศัยอัตตาตัวตน อาศัยเรา อาศัยของของเรา อาศัยสมมติอันนี้ ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ววิ่งไปถึงวิมุตติ มันก็เลิกถอน มันถอนสมมุติออก ถอนความสุขออกจากที่นั่น ถอนความทุกข์ออกจากที่นั่น ถอนความยึดมั่นถือมั่นออกจากที่มันยึดนั้น เท่านั้นแหละ
เมื่อของของเราหายไป ทำไมเราต้องเป็นทุกข์
ก็คล้ายกับว่าของของเราชิ้นหนึ่งมันหลุดมือหายไป เราก็เป็นห่วงก็เป็นทุกข์กับมัน อีกเวลาหนึ่งเราก็พบของนั้นขึ้นมา ความทุกข์ก็หายแว้บไปทีเดียว แม้ยังไม่เห็นวัตถุอันนั้นความทุกข์มันก็หาย อย่างเราเอาของมาวางไว้ตรงนี้ แล้วหลงเสียนึกว่าของเรามันหายไปก็เป็นทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วจิตก็พะวงถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อีกวันหนึ่งอีกเวลาหนึ่ง จิตใจก็วิตกไปถึงของของเราว่า "อ้อ..เอาไว้ตรงนั้นแน่นอนเลย" พอนึกอย่างนั้น รู้ตามความจริงแล้ว ตายังไม่เห็นของเลย สบายใจเลยทีนี้ อันนี้เรียกว่าเห็นทางใน เห็นกับตาใจไม่ใช่เห็นกับตานอก เห็นด้วยตาใจ ถึงตานอกยังไม่เห็น มันก็สบายแล้ว มันก็ถอนทุกข์ออกทันที อย่างนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่บำเพ็ญธรรมะ บรรลุธรรมะ เห็นธรรมะ ประสบอารมณ์เมื่อไรปุ๊บ นั่นก็คือปัญญาเกิดขึ้น ก็แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเท่านั้นแหละ หายไปเลย วาง ปล่อย
จงปฏิบัติให้เห็นธรรมะ
ฉะนั้นท่านจึงให้พวกเราพบธรรมะ ทีนี้เราพบธรรมะแต่ตัวหนังสือ พบธรรมะกับตำรา อย่างนั้นมันพบแต่เรื่องของธรรมะ ไม่ได้พบธรรมะตามความจริงที่พระบรมครูของเราสอน จะเข้าใจว่าพวกเราทั้งหลายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้อย่างไร มันไกลกันมาก พระพุทธองค์เป็นโลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก เดี๋ยวนี้เรารู้ไม่แจ้ง รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไปเท่านั้น รู้เท่าไรก็ยิ่งมืดเข้าไป คือมันรู้มืด ไม่ใช่รู้แจ้ง รู้ไม่ถึงนั่นเองไม่แจ้ง ไม่สว่าง ไม่เบิกบาน คนก็มาคาติดแค่นี้เท่านั้นแหละ แต่ว่ามันไม่ใช่น้อย มันเป็นของมาก
จงละทุกข์ทันทีเมื่อมองเห็นโทษของมัน
ทุกคนโดยมากก็ต้องการความดี ต้องการความสุข แต่ว่าไม่รู้จักว่าอะไรมันเป็นเหตุให้สุขให้ทุกข์เกิดขึ้นมา อะไรทุกอย่างถ้าเรายังไม่เห็นโทษมัน เราก็ละมันไม่ได้ มันจะชั่วขนาดไหนก็ละมันไม่ได้ถ้าเรายังไม่ได้เห็นโทษอย่างจริงจัง แต่เมื่อเราเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆนั่นแหละ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเราถึงจะปล่อยได้วางได้ พอเห็นโทษอย่างแน่นอนจริงๆ พร้อมกระทั่งเห็นประโยชน์ในการกระทำอย่างนั้น ในการประพฤติอย่างนั้น เปลี่ยนขึ้นมาทันทีเลย อันนี้คนเราประพฤติปฏิบัติอยู่ทำไมมันยังไปไม่ได้ ทำไมมันถึงวางไม่ได้ คือมันยังไม่เห็นโทษอย่างแน่ชัด คือยังไม่รู้แจ้งนี่แหละ รู้ไม่ถึงหรือรู้มืด มันจึงละไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งอย่างอรหันตสาวกหรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็เลิกกันเท่านั้นแหละ แก้ปัญหาหลุดไปทีเดียวแหละ ไม่เป็นของยาก ไม่เป็นของลำบาก
มันก็เหมือนกันกับเรานั่นแหละ หูเราได้ยินเสียงก็ให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันสิ ตาทำงานทางรูปก็ให้มันทำสิ จมูกทำงานทางกลิ่นก็ให้มันทำสิ ร่างกายทำงานถูกต้องโผฏฐัพพะก็ให้มันทำงานตามเรื่องของมันสิ ถ้าแบ่งให้มันทำงานตามหน้าที่ของมันแล้ว มันจะมีอะไรมาแย้งกัน มันไม่ได้ขัดขวางกันเลย อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นสมมุติเราก็ให้มันสิ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นวิมุตติ เราก็แบ่งมันสิ เราเป็นผู้รู้เฉยๆ เท่านั้นแหละ รู้ไม่ให้มันขัดข้อง รู้แล้วก็ปล่อย วางมันตามธรรมดา เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ของทั้งหลายเหล่านี้เป็นอยู่อย่างนั้น ที่เรายึดมั่นว่าอันนี้ของเรา ใครเป็นคนได้ พ่อเราได้ไหม แม่เราได้ไหมญาติของเราได้ไหม ใครได้ไหม ไม่มีใครได้ พระพุทธองค์จึงบอกให้วางมันเสีย ปล่อยมันเสีย รู้มันเสีย รู้มันโดยที่ว่ายึดแต่อย่าให้มั่น ใช้มันไปในทางที่เป็นประโยชน์ อย่าใช้มันในทางที่เป็นโทษ คือความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เราเป็นทุกข์
รู้ธรรมเพื่อพ้นทุกข์
รู้ธรรมะมันต้องรู้อย่างนี้ คือรู้ในแง่ที่มันพ้นทุกข์ ความรู้นี้เป็นสิ่งสำคัญ รู้เครื่องยนต์กลไก รู้อะไรสารพัดอย่างก็ดีอยู่ แต่ว่ามันไม่เลิศ ธรรมะก็ต้องรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ไม่ต้องรู้อะไรมากหรอก ให้รู้เท่านี้ก็พอ สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติรู้แล้วก็วาง ไม่ใช่ว่าตายแล้วจึงจะไม่มีทุกข์นะ มันไม่มีทุกข์ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพราะมันรู้จักแก้ปัญหามันรู้จักสมมุติวิมุตตินี้เมื่อเรามีชีวิตอยู่ เมื่อเราประพฤติปฏิบัตินี่เองไม่ใช่เอาที่อื่นหรอก ดังนั้นท่านอย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก ยึดอย่าให้มันมั่น บางทีจะคิดว่า "ท่านอาจารย์ทำไมจึงพูดอย่างนี้ สอนอย่างนี้" จะไม่ให้สอนอย่างไร ไม่ให้พูดอย่างไร เพราะว่ามันแน่นอนอย่างนั้น มันจริงอย่างนั้น จริงก็อย่าไปยึดมั่นมันซิ ถ้าไปยึดมั่นมันก็เป็นไม่จริงเท่านั้นแหละ เหมือนสุนัขไปจับขามันดูซิ จับมันไม่วางเดี๋ยวมันก็วุ่นมากัด ลองๆดูซิสัตว์ทั้งปวงก็เหมือนกัน เช่น งูไปยึดหางมันซิ ยึดไม่ปล่อยวาง เดี๋ยวมันก็กัดเราเท่านั้นแหละ
สมมุตินี้ก็เหมือนกัน ให้ทำตามสมมุติ สมมุตินี้เป็นของใช้เพื่อให้มันสะดวก เมื่อเรามีชีวิตอยู่นี้ไม่ใช่เรื่องจะต้องยึดมั่นถือมั่นจนมันเกิดทุกข์ ทรมาน แล้วก็แล้วไปเท่านั้น อะไรที่เราเข้าใจว่าถูก แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไม่แบ่งใคร นั่นแหละคือมันเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาปุ๊บ มันเกิดมาจากอะไร เหตุมันก็คือมิจฉาทิฏฐิ มันจึงให้ผลเป็นทุกข์ ถ้ามันถูก ผลที่จะเกิดขึ้นมาจะไม่เป็นทุกข์ ท่านไม่ให้แบก ไม่ให้ยึด ไม่ให้มั่น ถูกก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไป ผิดก็เป็นของสมมุติ แล้วก็แล้วไปเท่านั้น ถ้าเราเห็นว่าถูกแล้วคนอื่นมาแย้งก็อย่าไปถือมัน ปล่อยไป ไม่ได้เสียหายอะไร มันไปตามเรื่องตามเหตุ ตามปัจจัยของมันอย่างเก่า พอรู้แล้วก็ปล่อยมันไปตรงนั้นเลย
แต่โดยมากมันไม่ใช่อย่างนั้น คนเรามันไม่ค่อยยอมกันอย่างนั้นผู้ปฏิบัติเรายังไม่รู้ตัว ยังไม่รู้จิตใจของตน พอพูดอะไรจนคนอื่นว่ามันโง่เต็มที่แล้ว ก็ยังนึกว่ามันฉลาดอยู่นั่นแหละ พูดสิ่งที่มันโง่จนคนอื่นฟังไม่ได้ แต่ก็นึกว่าเราฉลาดกว่าคนอื่น คนอื่นทนฟังไม่ได้ก็ยังว่าเราดีเราถูกอยู่นั่นแหละ มันขายความโง่ของตัวเองโดยไม่รู้เรื่อง
ปราชญ์ ทั้งหลายท่านบอกว่า คำพูดอันใดวาจาอันใดที่ปราศจากอนิจจังแล้ว คำพูดนั้นไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์ เป็นคำพูดที่โง่ เป็นคำพูดที่หลง เป็นคำพูดที่ไม่รู้จักว่าทุกข์จะเกิดตรงนั้น พูดง่ายๆให้เห็นเช่นพรุ่งนี้เราตั้งใจว่าจะไปกรุงเทพฯ แล้วมีคนมาถามว่า
"พรุ่งนี้ท่านจะไปกรุงเทพฯ หรือเปล่า"
"คิดว่าจะไปกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีอุปสรรคขัดข้องก็คงจะไป"
นี่เรียกว่าพูดอิงธรรมะ อิงอนิจจัง อิงความจริง อิงความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่ว่า "พรุ่งนี้ฉันจะไปแน่"
"ถ้าไม่ไปจริงจะให้ทำอย่างไร จะยอมให้ฆ่าให้แกงไหม" อะไรอย่างนี้ พูดกันบ้าๆ บอๆ
มันยังเหลืออยู่มากเหมือนกัน การปฏิบัติธรรมะมันลึกซึ้งไปจนเรามองไม่เห็น ที่เรานึกว่าเราพูดถูก แต่มันจะผิดไปทุกคำ ผิดจากหลักความจริงทุกคำ แต่ก็นึกว่าเราพูดถูกไปทุกคำ พูดง่ายๆ เราพูดอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง อันที่มันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด นั่นแหละเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่าคนหลง คนโง่
อย่าติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ
โดยมากนักปฏิบัติเราไม่ค่อยจะทบทวนอย่างนี้ เห็นว่าเราดีก็ดีเรื่อยๆไป เช่นเราได้อันหนึ่งขึ้นมา จะเป็นลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี ก็นึกว่ามันดี ดีตลอดกาลตลอดเวลา แล้วก็ถือเนื้อถือตัวขึ้นมาไม่รู้จักว่าเรานี้คือใคร ที่มันดี มันเกิดจากอะไร เดินไปพบ นาย ก.นาย ข. เหมือนกันหรือไม่ อย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านให้วางเป็นปกติอย่างนี้ ถ้าเราไม่สับ เราไม่ขบ ไม่เคี้ยว ไม่ปฏิบัติค้นคว้าอันนี้ ก็เรียกว่ายังจมอยู่ จมอยู่ในใจของเรานั่นแหละ เรียกว่าติดลาภบ้างติดยศบ้าง ติดสรรเสริญบ้าง ก็เปลี่ยนเป็นคนอื่น เพราะสำคัญว่าตัวเรานี้ดีขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเลิศขึ้นแล้ว สำคัญว่าเราเป็นโน่นเป็นนี่แล้วก็เกิดอะไรต่ออะไรขึ้นมาวุ่นวาย
ลักษณะเสมอกันของมนุษย์ทุกคน
ความเป็นจริงมันไม่เป็นอะไรหรอกคนเรา เป็นก็เป็นด้วยสมมุติถ้าถอนสมมุติไปเป็นวิมุตติ มันก็ไม่เป็นอะไร เป็นสามัญลักษณะ มีลักษณะเสมอกัน ความเกิดขึ้นเบื้องต้น มีความแปรไปเป็นท่ามกลางแล้วก็ดับไปที่สุด มันก็แค่นั้น เห็นสภาพมันเป็นอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นมา ถ้าเราเข้าใจเช่นนั้นแล้ว มันก็สบาย มันก็สงบ ที่มันไม่สงบก็เหมือนกับพระปัญจวัคคีย์ประพฤติตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เมื่อท่านพลิกไปอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าท่านคิดอะไร ท่านทำอะไรก็เลยหาว่าท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมาก ถ้าตัวเราเป็นเช่นนั้น ก็คงจะคิดอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่มีทางแก้ไข แต่ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าท่านเดินขั้นสูงขึ้นไปอีกจากพวกเรา เรายังถือตัวอย่างเก่า คิดไปในทางต่ำ ก็นึกว่าเราคิดอยู่ในทางสูง เห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่า ท่านคลายความเพียรเวียนมาหาความมักมากแล้ว เหมือนกับปัญจวัคคีย์ ปฏิบัติกี่พรรษาคิดดูซิ ขนาดนั้นก็ยังหลงอยู่ ยังไม่ถนัด
อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้กระทั่งสิ่งที่ถูก
ท่านจึงให้ทำงานและให้ตรวจผลงานของตน คือที่มันไม่ยอมเรื่องที่มันไม่ยอม เรื่องที่มันยอม มันก็สลายตัวไปเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร ถ้ามันไม่ยอมมันไม่สลาย มันตั้งตัวขึ้นมาเป็นก้อน เป็นตัวอุปาทาน มันไม่มีการแบ่งเบา นักบวชนักพรตเราโดยมากก็ชอบเป็นอย่างนั้น ถ้าติดอยู่ในแง่ไหนก็ดึงอยู่แง่นั้นแหละ ไม่เปลี่ยนแปลงไม่พินิจพิจารณาเห็นว่าเราถูกแล้วก็เห็นว่าเราไม่ผิด แต่ความเป็นจริงความผิดมันฝังอยู่ในความถูก แต่เราไม่รู้จัก เป็นอย่างไรล่ะ "อันนี้แหละถูกแล้ว" แต่คนอื่นว่ามันไม่ถูก ก็ไม่ยอม เถียงกัน นี่อะไรทิฏฐิมานะ ทิฏฐิคือความเห็น มานะคือความยึดไว้ถือไว้ ถ้าเรายึดในสิ่งที่ถูกไม่ปล่อยให้ใครเลยก็เรียกว่ามันผิด ถือถูกนั่นแหละ ยึดมั่นถือมั่นในความถูก มันเป็นขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ ไม่เป็นการปล่อยวาง
แก้ความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร
สิ่งอันนี้เป็นเหตุที่ทำให้คนเราไม่ค่อยสบาย นอกจากผู้ประพฤติปฏิบัติที่เห็นว่า แง่นี้ปุ่มนี้เป็นปุ่มที่สำคัญ ท่านจะจดไว้ พอพูดไปถึงปุ่มนั้นปั๊บมันจะวิ่งขึ้นมาทันทีเลย ความยึดมั่นถือมั่นวิ่งขึ้นมาอาจจะเป็นอยู่นาน บางทีวันหนึ่ง สองวัน สามเดือนสี่เดือน ถึงปีก็ได้ ขนาดช้านะ แต่ขนาดเร็วความปล่อยวางมันจะวิ่งเข้ามาสกัดหน้าเลย คือพอความยึดเกิดขึ้นปุ๊บก็จะมีการปล่อย บังคับให้วางในเวลานั้นเลย จะต้องเห็นสองอย่างนี้พร้อมกันประสานงานกัน ตัวยึดก็มี ผู้ที่ห้ามความยึดนั้นก็มี เราดูสองอย่างนี้เท่านั้นแหละ ไปแก้ปัญหาอันนี้ บางทีมันก็ยึดไปนานก็ปล่อย พิจารณาเรื่อยไป ทำเรื่อยไป มันก็ค่อยบรรเทาไปน้อยไป ความเห็นถูกมันก็เพิ่มเข้ามา ความเห็นผิดมันก็หายไป ความยึดมั่นถือมั่นมันน้อยลง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมา มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเป็นอย่างนั้น
จงพิจารณาใจของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ
ฉะนั้นจึงให้พิจารณา แก้ปัญหาได้ในปัจจุบัน บางทีตัวนั้นมันวิ่งขึ้นมา ตัวนี้มันก็วิ่งตะครุบเลย หายไปเลย อันนี้เราดูภายในใจของเราหรอก ดูภายในใจของเรา แก้ปัญหาเฉพาะภายในใจของเราเองถ้าเราแก้มันไม่ได้ตรงนี้ เป็นต้น ปุ่มนี้จับไว้ เมื่อมันเกิดอีกที่ไหนก็พิจารณาตรงนั้น พระพุทธองค์ก็ให้เพ่งตรงนี้ให้มากที่สุด
โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้ ท่าน ทั้งหลายได้นับถือพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับธรรมในพระพุทธศาสนามาจากครูบาอาจารย์มาก็มาก ซึ่งบางท่านก็สอนอย่างพิสดารกว้างเกินไป จนไม่ทราบว่าจะกำหนดเอาไปปฏิบัติได้อย่างไร บางท่านก็สอนลัดเกินไป จนผู้ฟังยากที่จะเข้าใจ เพราะว่ากันตามตำรา บางท่านก็สอนพอปานกลาง ไม่กว้างและไม่ลัด เหมาะที่จะนำไปปฏิบัติจนตัวเองได้รับประโยชน์จากธรรมนั้นๆ พอสมควร
อาตมาจึงใคร่อยากจะเสนอข้อคิดและการปฏิบัติ ซึ่งเคยดำเนินมา และได้แนะนำศิษย์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำให้ท่านทั้งหลายได้ทราบบางทีอาจจะ เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจอยู่บ้างก็เป็นได้
ผู้ที่จะเข้าถึงพุทธธรรมนั้น เบื้องต้นจะต้องทำตนให้เป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่เป็นประจำ และเข้าใจความหมายของคำว่าพุทธธรรมต่อไปว่า
* พุทธะ หมายถึงท่านผู้รู้ตามเป็นจริง จนมีความสะอาด สงบ สว่างในใจ
* ธรรม หมายถึงตัวความสะอาด สงบ สว่าง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงพุทธธรรม ก็คือ คนเข้าถึงศีลสมาธิ ปัญญา นี่เอง
การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรม
ตามธรรมดาการที่บุคคลจะไปถึงบ้านถึงเรือนได้นั้น มิใช่บุคคลที่มัวนอนคิดเอา เขาเองจะต้องลงมือเดินทางด้วยตนเอง และเดินทางให้ถูกทางด้วย จึงจะมีความสะดวก และถึงที่หมายได้ หากเดินผิดทาง เขาจะได้รับอุปสรรค เช่น พบขวากหนามเป็นต้น และยังไกลที่หมายออกไปทุกที หรือบางทีอาจจะได้รับอันตรายระหว่างทาง ไม่มีวันที่จะเข้าถึงบ้านได้ เมื่อเดินไปถึงบ้านแล้วจะต้องขึ้นอยู่อาศัยพักผ่อนหลับนอนเป็นที่สบายทั้ง กายและใจ จึงจะเรียกว่าคนถึงบ้านได้โดยสมบูรณ์
ถ้าหากเป็นแต่เพียงเดินเฉียดบ้าน หรือผ่านบ้านไปเฉยๆ คนเดินทางผู้นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเดินทางของเขา ข้อนี้ฉันใด การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรมก็เหมือนกัน ทุกๆ คนจะต้องออกเดินทางด้วยตนเอง ไม่มีการเดินแทนกัน และต้องเดินไปตามทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงซึ่งที่หมาย ได้รับความสะอาด สว่าง สงบสว่าง นับว่าเป็นประโยชน์เหลือหลายแก่ผู้เดินทางเอง แต่ถ้าหากผู้ใดมัวแต่อ่านตำรา กางแผนที่ออกดูอยู่ตั้งร้อยปีร้อยชาติ ผู้นั้นไม่สามารถไปถึงที่หมายได้เลย เขาจะเสียเวลาไปเปล่าๆ ปล่อยประโยชน์ที่ตนจะได้รับให้ผ่านเลยไป ครูบาอาจารย์เป็นผู้บอกให้เท่านั้น เราทั้งหลายได้ฟังแล้วจะเดินหรือไม่เดิน และจะได้รับผลมากน้อยเพียงใด นั้นมันเป็นเรื่องเฉพาะตน
อย่ามัวอ่านสรรพคุณยาจนลืมกินยา
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนหมอยายื่นขวดยาให้คนไข้ ข้างนอกขวดเขาเขียนบอกสรรพคุณของยาไว้ว่า แก้โรคชนิดนั้นๆ ส่วนตัวยาแก้โรคนั้นอยู่ข้างในขวด ที่คนไข้มัวอ่านสรรพคุณของยาที่ติดไว้ข้างนอกขวด อ่านไปตั้งร้อยครั้งพันครั้ง คนไข้ผู้นั้นจะต้องตายเปล่า โดยไม่ได้รับประโยชน์จากตัวยานั้นเลย และเขาจะมาร้องตีโพยตีพายว่าหมอไม่ดี ยาไม่มีสรรพคุณ แก้โรคอะไรไม่ได้ เขาจึงเห็นว่ายาที่หมอให้ไว้ไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยเปิดจุกขวดรินยาออกกินเลย
เพราะมัวแต่ไปติดใจอ่านฉลากยา ซึ่งติดอยู่ข้างขวดเสียจนเพลินแต่ถ้าหากเขาเชื่อหมอจะอ่านฉลากครั้งเดียว หรือไม่อ่านก็ได้ แต่ลงมือกินยาตามคำสั่งของหมอ ถ้าคนไข้เป็นน้อย เขาก็หายจากโรค แต่ถ้าหากเป็นมาก อาการของโรคก็จะทุเลาลง และถ้าหากกินบ่อยๆ โรคก็จะหายไปเอง ที่ต้องกินยามากและบ่อยครั้ง ก็เพราะโรคเรามันมาก เรื่องนี้เป็นธรรมดาเหลือเกิน ดังนั้นท่านผู้อ่านจงใช้สติปัญญาพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ จึงจะเข้าใจดี
สรีรโอสถและธรรมโอสถ
พวกแพทย์พวกหมอเขาปรุงยาปราบโรคทางกาย จะเรียกว่าสรีรโอสถ ก็ได้ ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้านั้นใช้ปราบโรคทางใจ เรียกว่า ธรรมโอสถ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงเป็นแพทย์ผู้ปราบโรคทางใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โรคทางใจเป็นได้ไวและเป็นได้ทุกคน ไม่เว้นเลย เมื่อท่านรู้ว่าท่านเป็นไข้ใจ จะไม่ใช้ธรรมโอสถรักษาบ้างดอกหรือ
เข้าถึงพุทธธรรมด้วยใจ
พิจารณาดูเถิด การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรมมิใช่เดินด้วยกายแต่ต้องเดินด้วยใจจึงจะเข้าถึงได้ ได้แบ่งผู้เดินทางออกเป็น 3 ชั้น คือ
1. ชั้นต่ำ ได้แก่ ผู้รู้จักปฏิญาณตนเองเอาพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอาศัย ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนด้วยดี ละทิ้งประเพณีที่งมงายและเชื่อมงคลตื่นข่าว จะเชื่ออะไรต้องพิจารณาเหตุผลเสียก่อน คนพวกนี้เรียกว่า สาธุชน
2. ชั้นกลาง หมายถึง ผู้ปฏิบัติจนเชื่อต่อพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย รู้เท่าทันสังขาร พยายามสละความยึดมั่นถือมั่นให้น้อยลง มีจิตเข้าถึงธรรมสูงขึ้นเป็นขั้นๆ ท่านเหล่านี้เรียกว่าพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี
3. ชั้นสูง ได้แก่ผู้ ปฏิบัติจนกาย วาจา ใจ เป็นพุทธะ เป็นผู้พ้นจากโลก อยู่เหนือโลก หมดความยึดถืออย่างสิ้นเชิง เรียกว่า พระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด
การทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
ศีลนั้น คือระเบียบควบคุมรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย ว่าโดยประเภทมีทั้งของชาวบ้านและของนักบวช แต่เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้วมีอย่างเดียว คือ เจตนา ในเมื่อเรามีสติระลึกได้อยู่เสมอเพื่อควบคุมใจให้รู้จักละอายต่อการทำชั่ว เสียหาย และรู้สึกตัวกลัวผลของความชั่วจะตามมา พยายามรักษาใจให้อยู่ในแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควรเป็นศีลอย่างดีอยู่ แล้ว ตามธรรมดา เมื่อเราใช้เสื้อผ้าที่สกปรกและตัวเองก็สกปรก ย่อมทำให้จิตใจอึดอัดไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้จักรักษาความสะอาดทั้งร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน ดังนั้นเมื่อศีลไม่บริสุทธิ์เพราะกายวาจาสกปรก ก็เป็นผลให้จิตใจเศร้าหมอง ขัดต่อการปฏิบัติธรรม และเป็นเครื่องกั้นใจมิให้บรรลุถึงจุดหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้รับการฝึกมาดีหรือไม่เท่านั้น เพราะใจเป็นผู้สั่งให้พูดให้ทำ ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิตใจต่อไป
การฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิ ก็คือการฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่นและมีความสงบเพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำๆ เหมือนน้ำชอบไหลสู่ที่ลุ่มเสมอ พวกเกษตรกรเขารู้จักกั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่างๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น กั้นฝาย ทำทำนบทำชลประทาน เหล่านี้ก็ล้วนแต่กั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่างและใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี่เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงที่ลุ่มเสียหมด ดังนั้นจิตใจที่มีการกั้นการฝึกที่ดีอยู่ ก็ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดีย่อมสำเร็จประโยชน์" ดังนี้เป็นต้น
เราสังเกตดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่เราจะเอามาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้วเราจึงได้อาศัยแรงงานมันทำประโยชน์นานาประการ
จิตที่ฝึกดีแล้วมีคุณค่ามากมาย
ท่านทั้งหลายก็ทราบแล้ว จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีคุณค่ามากมายกว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์และพระอริยสาวก ได้เปลี่ยนภาวะจากปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไปและท่านยังได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางเหลือ ประมาณที่เราๆจะกำหนด ก็เพราะพระองค์และสาวกได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น
จิตที่เราฝึกดีแล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่การประกอบอาชีพทุกอย่าง ยังเป็นทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ ไม่เป็นคนหุนหันพลันแล่น ทำให้ตนเองมีเหตุผล และได้รับความสุขตามสมควรแก่ฐานะ
การฝึกอานาปานสติภาวนา
การฝึกจิตมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เห็นว่ามีประโยชน์และเหมาะสมที่สุด ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป วิธีนั้นเรียกว่า อานาปานสติ-ภาวนา คือ มีสติจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าและหายใจออก ที่สำนักนี้ให้กำหนดลมที่ปลายจมูกโดยภาวนาว่าพุทโธ ในเวลาเดินจงกรม และนั่งสมาธิ ก็ภาวนาบทนี้ จะใช้บทอื่น หรือจะกำหนดเพียงการเข้าออกของลมก็ได้ แล้วแต่สะดวก ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าพยายามกำหนดลมเข้าออกให้ทันเท่านั้น การเจริญภาวนาบทนี้จะต้องทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จึงจะได้ผล ไม่ใช่ว่าทำครั้งหนึ่งแล้วหยุดไปตั้งอาทิตย์สองอาทิตย์ หรือตั้งเดือนจึงทำอีก อย่างนี้ไม่ได้ผล พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ภาวิตา พหุลีกตา อบรมกระทำให้มาก คือทำบ่อยๆ ติดต่อกันไป
ใช้สติกำหนดลมหายใจเพียงอย่างเดียว
การฝึกจิตใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผล ควรเลือกหาที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน เช่น ในสวนหลังบ้าน หรือต้นไม้ที่มีร่มเงาดีๆ แต่ถ้าเป็นนักบวชควรแสวงหาเรือนว่าง (กระท่อม) โคนไม้ ป่า ป่าช้า ถ้ำ ตามภูเขา เป็นที่บำเพ็ญ เหมาะที่สุด เราจะอยู่ที่ใดก็ตาม ใช้สติกำหนดลมหายใจอย่างเดียว แม้จิตใจจะคิดไปเรื่องอื่น ก็พยายามดึงกลับมาทิ้งเรื่องอื่นๆทั้งหมด โดยไม่พยายามคิดถึงมัน รู้ให้ทันกับความคิดนั้นๆ เมื่อทำเข้าบ่อยๆ จิตจะสงบลงเรื่อยๆ เมื่อจิตสงบตั้งมั่นแล้ว ถอยจิตนั้นมาพิจารณาร่างกาย ร่างกายคือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หาตัวตนไม่ได้ มีแต่ธรรมชาติไหลไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ความยึดมั่นต่างๆ จะน้อยลงๆ เพราะเรารู้เท่าทันมัน เรียกว่าเกิดปัญญาขึ้น
ปัญญาเกิดเมื่อจิตดีแล้ว
เมื่อเราใช้จิตที่ฝึกดีแล้วพิจารณารูปนามอยู่อย่างนี้ ให้รู้แจ้งแน่ชัดว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญารู้เท่าทันสภาพความเป็นจริงของสังขารที่เกิด เป็นเหตุให้เราไม่ยึดถือหรือหลงใหล เมื่อเราได้อะไรมาก็มีสติ ไม่ดีใจจนเกินไป เมื่อของสูญหายไป ก็ไม่เสียใจจนเกิดทุกขเวทนา เพราะรู้เท่าทัน เมื่อประสบความเจ็บไข้หรือได้รับทุกข์อื่นๆ ก็มีการยับยั้งใจ เพราะอาศัยจิตที่ฝึกมาดีแล้ว เรียกว่ามีที่พึ่งทางใจเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเกิดปัญญารู้ทันตามความเป็นจริง ที่จะเกิดปัญญาเพราะมีสมาธิ สมาธิจะเกิดเพราะมีศีล มันเกี่ยวโยงกันอยู่อย่างนี้ ไม่อาจแยกออกจากกันไปได้
ลมหายใจกับศีล สมาธิ ปัญญา
สรุปได้ความดังนี้ อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจ ข้อนี้เป็นศีล การกำหนดลมหายใจได้และติดต่อกันไปจนจิตสงบ ข้อนี้เรียกว่าสมาธิ การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยากมิใช่ตัวตน แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่า ปัญญา การทำอานาปานสติภาวนา จึงกล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกัน และเมื่อทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบ ก็ชื่อว่าได้เดินทางตามมรรคมีองค์แปด ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายเอกประเสริฐกว่าทางทั้งหมด เพราะจะเป็นการเดินทางเข้าถึงพระนิพพานเมื่อเราทำตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างถูกต้องที่สุด
ผลจากการปฏิบัติสมาธิภาวนา
เมื่อเราปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ย่อมมีผลปรากฏตามระดับจิตของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 พวก ดังต่อไปนี้
1. สำหรับ สามัญชนผู้ปฏิบัติตาม ย่อมทำให้เกิดความเชื่อในคุณพระรัตนตรัย ถือเอาเป็นที่พึ่งได้ ทั้งเชื่อตามผลกรรมว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว จะทำให้ผู้นั้นมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนได้กินขนมที่มีรสหวาน
2. สำหรับพระอริยบุคคลชั้นต่ำ ย่อมมีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส ดิ่งสู่นิพพานเปรียบเหมือนคนได้กินของหวาน ซึ่งมีทั้งรสหวานและมัน
3. สำหรับท่านผู้ได้บรรลุอรหัตตผล ย่อมมีความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวง เพราะเป็นพุทธะแล้ว พ้นจากโลก อยู่จบพรหมจรรย์เปรียบเหมือนได้กินของหวาน ที่มีทั้งรสหวาน มัน และหอม
จงรีบสร้างบารมีด้วยการทำดี
เราท่านทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เป็นการยากแท้ที่สัตว์ทั้งหลายล้านตัวไม่มีโอกาสอย่างเรา จงอย่าประมาท รีบสร้างบารมีให้แก่ตนด้วยการทำดี ทั้งชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์เลย
ฉะนั้น ควรจะทำตนให้เข้าถึงพุทธธรรมเสียแต่วันนี้ ขอฝาก ภาษิตว่า "เที่ยวทางเวิ้งเหิงนานมันสิค่ำ เมานำต่าบักหว้ามันสิช้าค่ำทาง"
ที่มา http://board.palungjit.com/f10/รวมธรรมะเด็ดหลวงพ่อชา-214915.html
โดยคุณ VANCO
จูนสภาจิตพอดีแล้วกับหลวงพ่อชา แล้วแวะมาดูดาวนิบิรุกันไหม
ตอบลบhttp://www.ainews1.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=171
สมศักดิ์
http://www.ainews1.com