โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 18 ธันวาคม 2551 19:03 น.
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย
ดูเหมือนว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสสูงกว่าพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่าลืมว่าการเมืองเก่ายังคงอยู่ พอถึงเวลาจริงๆ ก็ยังไม่แน่เหมือนกันว่า “พลังดูดเพื่อใคร” จะก่อให้เกิดการพลิกผัน พลิกขั้วการเมือง จนถึงนาทีสุดท้ายหรือไม่
ประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองไปข้างหน้า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี น่าคิดว่า ภารกิจสำคัญของประเทศชาติ และอุปสรรคของรัฐบาลชุดใหม่ คืออะไร ? โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลัง “รัฐบาลของระบอบทักษิณ” เหมือนกัน อย่างเช่น “รัฐบาลสุรยุทธ์” จะเป็นอย่างไร ?
1) เปรียบตัว “พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก้าวจากตำแหน่งองคมนตรี มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่ค่อยมีกระแสต่อต้าน ตรงกันข้าม มีบารมีแผ่มาถึง ได้รับความชื่นชม สนับสนุน และให้กำลังใจอย่างล้นพ้นในช่วงแรก นอกจากนี้ ยังเคยเป็น ผบ.ทบ. ได้รับการยอมรับจากราชการ และกองทัพ แม้เริ่มแรกเป็นนายกฯ จะได้ฉายาว่า “ขิงแก่” แต่ระยะหลังก็ได้ฉายาว่า “ฤาษีเลี้ยงเต่า”
แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีศัตรูหรือคู่ต่อสู้ทางการเมืองไม่น้อย นอกจากนี้ แม้จะมีพื้นฐานการศึกษาดี เป็นหนุ่มนักเรียนนอก จบมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. เคยเป็น ส.ส.และรัฐมนตรีหลายสมัย แต่ก็ยังถูกมองว่าอ่อนอาวุโส อายุยังน้อย บารมียังไม่มาก จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกปรามาส และถูกตีกันอยู่เสมอ
2) “สุรยุทธ์” สามารถเลือก ครม.ได้อิสระในระดับหนึ่ง แต่ “อภิสิทธิ์” ต้องต่อรองกับกลุ่มการเมือง หลายกลุ่ม หลายพรรค
รัฐบาลสุรยุทธ์สามารถดึงคนนอกวงการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ น่าเชื่อถือ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล เช่น นายฉลองภพ สุสังกร์กาญน์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นต้น แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ น่าจะมีปัญหาเรื่องโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล หรือโควตารัฐมนตรีของกลุ่ม ส.ส.ที่ต่อรองเก้าอี้ อาจทำให้ไม่สามารถเลือกคนเข้ามาร่วมรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ บางกระทรวงอาจจะยังเป็นนักการเมืองหน้าเก่า หรือตัวแทนของนักการเมืองเก่า มากกว่าจะเลือกเอาคนที่มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับกว่าเข้ามาทำงานส่วนรวม เช่น กระทรวงทรัพยากร กระทรวงพลังงาน หรือแม้แต่กระทรวงคมนาคม
ปัญหาท้าทายรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ ในสภาวการณ์ที่มีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทำอย่างไร นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล (ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายๆ กระทรวง เช่น กระทรวงคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม ฯลฯ) จึงจะได้รับการผลักดันอย่างเป็นเอกภาพ สอดรับไปในทิศทางเดียวกัน โดยปราศจากการรั่วไหล หรือปกป้องผู้กระทำผิดบางคนบางกลุ่มที่มีคดีทุจริตในโครงการของรัฐ เช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
3) “สุรยุทธ์” ไม่มีฝ่ายค้านที่คอยจับผิด ตีรวนในสภา แต่ “อภิสิทธิ์” ต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่จ้องจับผิด หาเรื่องตีรวน
ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ แม้จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางกลุ่มอภิปราย ท้วงติง และตรวจสอบอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการมุ่งตรวจสอบในทิศทางและเนื้อหาการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่จ้องตีรวน หาเรื่อง ล้มรัฐบาล แต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ อาจจะต้องเจอกับฝ่ายค้านที่มีจำนวนเสียงเกือบครึ่งสภาผู้แทนราษฎร ที่จ้องหาเรื่อง ตีรวน และโจมตีการทำงานเพื่อล้มรัฐบาล
4) “อภิสิทธิ์” ต้องเจอปัญหาความขัดแย้งในสังคมรุนแรงกว่า “สุรยุทธ์”
สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ มีสภาพปัญหาซับซ้อนกว่า ความขัดแย้งรุนแรงกว่า อุณหภูมิการเมืองใกล้ถึงจุดเดือดกว่า และขีดความอดทนของผู้คนก็เหลือน้อยกว่าสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์
ที่ผ่านมา เหตุการณ์ทางการเมืองและการใช้อำนาจรัฐของนักการเมือง ได้ทำให้ประชาชนถูกฆ่าตายไปแล้วกว่า 10 คน บาดเจ็บสาหัสกว่า 50 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
สภาพอารมณ์ของผู้คนในสังคม จึงใกล้ถึงขั้น “พร้อมที่จะแตกหัก” โ ดยเฉพาะประชาชนแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่แม้ว่าจะยึดมั่นในสันติวิธีและอหิงสธรรมมาโดยตลอด แต่ความสูญเสียและการถูกทำร้ายโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐ ก็ทำให้มีการสั่งสมอารมณ์ความรู้สึก ความเจ็บปวด และความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสูง
ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์ของฝ่ายตรงข้าม วันนี้ เดิมพันของ “ระบอบทักษิณ” ผู้ต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ ก็สูงกว่าเดิมมาก เพราะขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว เพราะฉะนั้น “แรงดิ้น” และ “แรงดูด” จ ึงรุนแรงอย่างยิ่งยวด เนื่องจากต้องการสถาปนาระบอบทักษิณให้กลับเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ เพื่อเอื้ออำนวยและช่วยเหลือตนเองให้รอดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม
5) “สุรยุทธ์” เจอเศรษฐกิจชะงักงัน แต่ “อภิสิทธิ์” เจอเศรษฐกิจถดถอย
ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะงักงัน ภาวะน้ำมันแพง ข้าวของราคาแพง และต้องแก้ปัญหาที่ตกทอดมาจากระบอบทักษิณ เช่น ภาระหนี้กองทุนน้ำมันกว่า 100,000 ล้านบาท หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ และภาระหนี้สินที่ซุกไว้ตามสถาบันการเงินต่างๆ แต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย รุนแรงเสมือนหนึ่ง “สึนามิเศรษฐกิจ” ป ระเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีกำลังซื้อลดลง เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ รายได้ของประเทศเหล่านั้นตกต่ำ ทำให้การส่งออกของไทยย่ำแย่ ธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวในประเทศไทยอาการสาหัส อาจต้องปิดกิจการหรือลดพนักงาน ปี 2552 จะมีคนว่างงานกว่า 1 ล้านคน ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มจะตกต่ำ เกษตรกรลำบาก ในขณะที่เครื่องมือทางนโยบายการเงินของภาครัฐไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย ่างมีประสิทธิภาพ เพราะดอกเบี้ยลดต่ำลงมากแล้ว การลงทุนก็ไม่กระเตื้อง รัฐบาลจึงเหลือเพียงนโยบายการคลัง ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องรายได้ของประชาชนในประเทศ
มรสุมเศรษฐกิจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงยากกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์มาก
6) “สุรยุทธ์” เจอ “ข้าราชการเกียร์ว่าง” แต่ “อภิสิทธิ์” จะเจออะไร
รัฐบาลสุรยุทธ์อาจจะพลาด ตรงที่ประกาศจะอยู่ทำหน้าที่แค่ไม่กี่เดือน ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐต่างๆ ที่ไม่ซื่อตรง แข็งเมือง โดยทำทีเฉื่อยเนือย ไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน โดยเฉพาะการตรวจสอบปัญหาความรั่วไหลและการทุจริตในหน่วยงานต่างๆ อย่างที่เรียกว่า “เกียร์ว่าง” แ ต่รัฐบาลสุรยุทธ์ก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ทำให้ตำรวจที่ตกอยู่ใต้ระบอบทักษิณมาโดยตลอดค่อนข้างเกรงใจ ไม่กล้าแสดงออกเป็นปฏิปักษ์
รัฐบาลอภิสิทธิ์อา จจะเจอปัญหามากกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ โดยเฉพาะกับข้าราชการตำรวจ ที่ระบอบทักษิณได้จัดวางตัวบุคคลของตนเอาไว้อย่างแยบยล อาจจะแข็งขืน เหมือนเป็นกองกำลังนอกอำนาจรัฐ ยิ่งถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกคาดการณ์ว่าจะอยู่ในอำนาจไม่นาน ข้าราชการบางส่วนที่คอยแต่จะรับใช้ฝ่ายการเมือง อาจจะรู้สึกว่า ประเดี๋ยวรัฐบาลก็ไปแล้ว อาจจะพาลไม่ให้ความร่วมมือทำงาน กระทั่งกลายเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาชาติก็เป็นได้ ปัญหามีอยู่ว่า กองทัพจะกล้าแสดงท่าทีหนุนเสริมการทำงานของรัฐบาล และกดดันตำรวจ มหาดไทย มากน้อยแค่ไหน
7) “สุรยุทธ์” มีสื่อของรัฐเป็นเครื่องมือ แต่ “อภิสิทธิ์” เจอสื่อของรัฐเป็นตัวปัญหา
รัฐบาลสุรยุทธ์มีโอกาสตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับคลื่นความถี่เดิมข องสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยตัดสินใจทำเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (ไทยทีวี) ในขณะที่ช่อง 11 ก็ยังคงเป็นกลไกของรัฐตามปกติ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะต้องเข้ามารับมือกับปัญหาของ NBT ซึ่งฝ่ายธุรกิจการเมืองในรัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณได้ยึดครองช่อง 11 ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเองเสียแล้ว และกำลังคืบคลานไปที่ อสมท.
ก่อนจะใช้ช่อง 11 เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา “อภิสิทธิ์” จะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่อง 11 เดิม (NBT) โดยเร็วเสียก่อน
8) “ยุคสุรยุทธ์” มีปัญหาต่างประเทศไม่เชื่อถือ แต่ “ยุคอภิสิทธิ์” เจอปัญหาต่างประเทศไม่มั่นใจ
รัฐบาลสุรยุทธ์เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยทหาร ทำให้ต่างชาติไม่ให้ความเชื่อถือเท่าที่ควร ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์มาจากการเลือกตั้ง มาจากสภาผู้แทนราษฎร จึงน่าจะทำให้ต่างชาติยอมรับได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า งานการต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ
เ พราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณได้สร้างปัญหาเกี่ยวกับการต่างประเทศเอาไว้หลา ยเรื่อง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของต่างชาติ เช่น การไปทำข้อตกลงกรณีปราสาทพระวิหาร โดยไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง หรือการประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพต้องติดขัด ชะงักงัน หรือแม้แต่การที่ประเทศไทยเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศถึง 4 คน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี คือ คุณนิตย์ พิบูลสงคราม นายนพดล ปัทมะ คุณเตช บุนนาค และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และกำลังจะมีคนที่ 5 เร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน การบริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศที่ผ่านมา ก็หยุดชะงัก ในเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่อง เช่น การโยกย้ายเอกอัครราชทูตและข้าราชการระดับสูงของกระทรวง แม้เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ก็ได้ว่างเว้นเป็นเวลานานเกือบปี ทั้งๆ ที่ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาสำคัญที่อารยประเทศในโลกประชาธิปไตยให้ความสำคั ญ เช่น กรณีการฆาตกรรมในนโยบายปราบปรามยาเสพติด ยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีผลการศึกษาของ คตน. (ชุดที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานฯ) ระบุว่า เข้าลักษณะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือการทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากในยุคทักษิณ ในการสลายการชุมนุมที่ตากใบ และเหตุการณ์กรือเซะ เป็นต้น
9)“สุรยุทธ์” เจอคลื่นใต้น้ำ แต่ “อภิสิทธิ์” เจอไต้ฝุ่นการเมือง
รัฐบาลสุรยุทธ์เข้ามาสู่อำนาจรัฐในช่วงที่กระแสสังคมสนับสนุนคณะปฏิร ูปการปกครองฯ มีประชาชนเอาดอกไม้มามอบให้ทหาร ทำให้ไม่มีกระแสต่อต้าน แม้ว่าก่อนหน้านั้น จะมีความพยายามจัดตั้งมวลชนเสื้อแดงของกลุ่มอำนาจเก่า แต่ขบวนการดังกล่าวก็ชะงัก “ช็อค” ไ ปชั่วครู่กับการรัฐประหารอย่างเฉียบพลัน โดยไม่เสียเลือดเนื้อในวันที่ 19 ก.ย. 2549 และหลังจากนั้น แม้จะมีความพยายามเคลื่อนไหว แต่ก็มีกองทัพและฝ่ายความมั่นคงช่วยระงับยับยั้งปัญหาทางการเมืองให้บางส่วน ทำให้กลุ่มก๊วนทางการเมืองไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์อะไรได้มากนัก ทำได้แค่เป็น “คลื่นใต้น้ำ”
รัฐบาลอภิสิทธิ์ แม้จะมีความชอบธรรมในฐานะที่มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็ยังเอนเอียงไปทางระบอบทักษิณ เข้าข้างขบวนการจัดตั้งมวลชนของระบอบทักษิณ เพื่อจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้าน และล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์
ขณะนี้ ขบวนการภาคประชาชนมีการแยกขั้ว แยกข้างขัดเจน
มีฝ่ายเสื้อเหลือง ซึ่งไม่ได้เป็นฐานมวลชนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่เป็นแนวร่วม ที่อาจจะสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในบางเรื่องที่ดำเนินการกับระบอบทักษิณ และสร้างการเมืองใหม่ ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดง เป็นมวลชนจัดตั้งของฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างชัดเจน คือ ไม่เอารัฐบาลอภิสิทธิ์แน่นอน
เพราะฉะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเจอกับ “ไต้ฝุ่นการเมือง” อย่างแน่นอน
รัฐบาลจึงไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องอาศัยกลไกของรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ และสื่อของรัฐ เพื่อดำเนินการทำความเข้าใจกับสังคม ชี้ให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของประเทศชาติ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สลายความเท็จที่ “ระบอบทักษิณ” เ คยมอมเมาประชาชนไว้โดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีผลต่อการรับรู้และความเข้าใจทางการเมืองของประชาชนโดยตรง และคงจะต้องรักษาแนวร่วมภาคประชาชน เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้
ทั้งหมดนี้ เป็นการเปรียบเทียบที่มีเจตนาจะชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปัญหาวิกฤติบ้านเมืองทั้งสองช่วง มีความแตกต่างกัน ที่มาและภารกิจของรัฐบาลทั้งสองชุดก็มีความแตกต่างกัน เงื่อนไขและข้อจำกัดในการทำงานก็มีความแตกต่างกัน
วิธีคิด ตัวตน และวิธีการทำงานของผู้นำรัฐบาลทั้งสองคน ก็มีความแตกต่างกัน
เ วลานี้ ประเทศไทยก็เหมือนคนป่วย อาการในขณะนี้ ทรุดหนักกว่าสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จะมัวให้กินยา หรือรักษาแบบเดิม คงไม่ทันกาล ประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่าจะต้องช่วยกันผ่าตัดใหญ่ เพื่อรักษาประเทศชาติให้อยู่รอด และกลับมาแข็งแรงอีกครั้งในระยะยาว
ขอให้โอกาสของ “อภิสิทธิ์” เป็นโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ !
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2551
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000148944
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น