++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง : ใช้ให้คุ้ม เขียนโดย : หนูดี-วนิษา เรซ

เรื่อง : ใช้ให้คุ้ม
เขียนโดย : หนูดี-วนิษา เรซ
จาก : www.posttoday.com (29/07/2008)

หนูดีเป็นลูกครึ่งค่ะ...ไม่ใช่แค่ลูกครึ่งไทยอเมริกันตามใบเกิดเท่านั้นนะคะ แต่อีกบทบาทหนึ่งหนูดีรู้สึกเหมือนเป็นลูกครึ่งชาวเมืองกับเด็กบ้านนอก อาจจะด้วยความที่คุณแม่ของหนูดีเป็นชาวสุขุมวิท ส่วนคุณพ่อเป็นคนบอสตัน...แต่ท่านทั้งสองกลับตัดสินใจไปปลูกบ้านหลังแรกของหนูดีตอนที่ท่านแต่งงานกันที่รังสิต คลองสี่ สมัยที่มีแต่ทุ่งนาและลำคลอง ยังมีถนนรถวิ่งสวนเพียงสองเลน
หนูดีก็เลยโตมาแบบแปลกๆ เหมือนถูกบังคับให้อยู่ในสองโลกอันแตกต่างสุดขั้วนี้โดยปริยาย วันหนึ่งไปเล่นหิมะเก็บราสพ์เบอร์รีในสวนหลังบ้านของคุณย่า แต่อีกวันก็มาวิ่งไล่จับไก่งวงปีนกองฟางที่บ้านรังสิต และไม่เคยรู้สึกว่ามันแปลกเลย จนวันหนึ่งไปเล่นที่บ้านคุณยายและถูกถามว่า “ดูทีวีไหม” หนูดีตอนนั้นมีอายุเกือบ 6 ขวบแล้ว แต่ถามท่านกลับว่า “ทีวีคืออะไรคะ” คุณแม่เลยโดนคุณยายดุว่า “ทำไมเลี้ยงลูกได้บ้านนอกขนาดนี้ ทีวียังไม่รู้จัก” ทั้งๆ ที่ตอนนั้นคุณแม่จบปริญญาโท คุณพ่อจบปริญญาเอกแล้ว แต่กลับเห็นตรงกันว่า ควรให้ลูกคนแรกคนนี้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด ไม่ให้วุ่นวายกับสิ่งล่อใจ เช่น โทรทัศน์ การซื้อของไร้สาระ การไปเรียนพิเศษมากมาย ชีวิตก็ง่ายๆ เล่นอยู่ในสวน วิ่งไปโรงเรียน
แต่เมื่อเติบโตขึ้นหนูดีเองในฐานะเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องจากบ้านไปเรียนในวิชาที่มิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธรรมชาติ แม้เริ่มปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นปลูกแล้วตายคามือก็มี แต่ความรักในสวนในธรรมชาติก็ยังดำรงอยู่ และเห็นว่าการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ทุกๆ วันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมองเรามาก ดังนั้นในโรงเรียนวนิษาของหนูดีจึงเลือกบรรจุเรื่องธรรมชาติศึกษาเข้าไปด้วย...เพื่อพัฒนาอัจฉริยภาพด้านการเข้าใจธรรมชาติตามทฤษฎีของ ดร.การ์ดเนอร์ อาจารย์ที่ปรึกษาของหนูดี
บังเอิญหลังโรงเรียนของหนูดีมีที่ดินว่างอยู่ประมาณ 2 ไร่ ตอนแรกเราซื้อเก็บไว้เผื่อขยายเป็นสนามกีฬาในร่ม แต่เมื่อมองดูแล้วเรามีสระว่ายน้ำน้ำเกลือ รวมถึงสนามเทนนิสก็เพียงพอแล้วสำหรับโรงเรียนเล็กๆ เปลี่ยนพื้นที่มาใช้สอนให้เด็กรู้จักการดูแลตัวเองดีกว่า...เริ่มตั้งแต่อาหารที่เรากินกันเข้าไปเลย เราเลือกใช้พื้นที่นี้เป็นแปลงเกษตรผสมผสานปลูกพืชและผักไร้สารปันกันกิน
หนูดีคิดว่าคนปัจจุบันนี้ลดความมั่นใจในตัวเองลงไปมาก เพราะเราพึ่งพาสิ่งอื่นๆ นอกจากความสามารถของตัวเราเองมากเกินไป เช่น อาหารเราก็ไม่สามารถเพาะเองได้ จะไปไหนก็ต้องพึ่งพารถ รถก็ต้องพึ่งพาน้ำมันซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเราก็ไม่มีอำนาจในการควบคุมราคา และอีกหลายสิ่งที่เป็น “วงจรอุบาทว์” ที่ดูดกินความรู้สึกพึ่งพาตัวเองได้ออกไปจากเราทุกวันๆ
หนูดีชอบที่พี่โจน จันได เจ้าพ่อบ้านดินแห่งเมืองไทยของเรา (บังเอิญโชคดีรู้จักกับท่านและพี่โจนยินยอมบินลงจากเชียงใหม่เพื่อมาบรรยายเรื่องวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติให้เด็กๆ และผู้ปกครองที่โรงเรียนวนิษาฟังถึง 2 วัน) พูดกับคุณครูของหนูดีว่า สังคมทุกวันนี้บิดเบี้ยวเข้าไปทุกวันแล้ว โทรทัศน์บอกเด็กๆ (และพวกเรา) ว่า ถ้าอยากมีความมั่นใจให้เราเลือกทาโรลออนยี่ห้อนี้ ถ้าอยากมีอิสรภาพให้เลือกใช้มือถือยี่ห้อนั้น และเมื่อเราเดินเข้าร้านอาหารเราก็ต้องบริโภคพืชตัดต่อพันธุกรรมเนื้อสัตว์ที่มีฮอร์โมนสูง แม้กระทั่งสารให้ความหวานในน้ำอัดลมก็เป็นน้ำเชื่อมจากข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งเป็นสารหวานราคาถูกที่สุดในโลกตอนนี้...เราไม่มีตัวเลือกเลย เราถูกครอบงำความคิดรวมถึงวิถีชีวิตทุกวิถีทาง
ทำไมเราไม่ลองประกาศอิสรภาพอย่างแท้จริงจากสิ่งเหล่านี้และเลือกเส้นทางในแบบที่ถูกต้องตรงกับตัวเรามากที่สุด...เราจำเป็นต้องซื้อขนาดนี้ไหม แม้แต่เป็นของลดราคาก็เถิด เราจำเป็นต้องซื้อไหม สิ่งหนึ่งที่พี่โจนแนะนำให้ลองทำคือการให้คนเมืองเริ่มลองปลูกพืชกินเองในสวน แทนที่จะเป็นพืชประดับอย่างเดียวให้ลองปลูกผัก ถ้าไม่มีสนามก็ปลูกในกระถาง...พี่โจนบอกว่าตอนที่อยู่อเมริกาเธอปลูกไว้ 6 กระถาง มีผักสลัด มีมะเขือเทศ และอื่นๆ หมุนเวียนกินได้ตลอดทั้งปี พอมาเห็นสวนของหนูดีพี่โจนบอกว่า “หนูดีรู้ไหมพื้นที่แค่เท่านี้ถ้าหนูปลูกดีๆ ละก็จะเลี้ยงคนได้เป็นพันตลอดทั้งปีเลย” หนูดีตกใจมาก ด้วยความเป็นคนเมืองมานานเรานึกไม่ออกจริงๆ ว่า “ที่แค่นี้นะหรือเลี้ยงคนได้เป็นพัน แล้วที่บอกกันว่าอาหารขาดแคลนจะเป็นไปได้อย่างไร หนูดีเห็นที่ว่างมากมายในเมือง” พี่โจนก็เลยชี้ให้เห็นว่า “นี่ไงการบริหารทรัพยากรผิดพลาดระดับโลกเลย” เราใช้พื้นที่กันผิด นำไปสร้างตึกสร้างห้างซึ่งว่าไปแล้วถ้าเอาที่เหล่านั้นมาเพาะปลูกแล้ว ที่ดินและทรัพยากรที่เรามีในโลกตอนนี้เพียงพอเลี้ยงดูมนุษย์ทุกคน ฟังแล้วหนูดีละอายใจเหลือเกิน
ตอนนี้นอกจากที่โรงเรียนซึ่งหนูดีเอาพื้นที่เพื่อทำสวนเกษตรผสมผสานแล้ว พื้นที่สวนในบ้านก็ลดไม้ประดับ แต่เพิ่มปลูกดอกขจร เถาตำลึง...ตอนนี้เราทำสวนใหม่ก็วางแผนทำแปลงผักตรงใกล้ห้องทำงานของหนูดี เวลาเขียนต้นฉบับเหนื่อยๆ จะได้เดินออกไปพรวนดินรดน้ำผักให้สบายใจ...ถ้าเราควบคุมคุณภาพของสิ่งที่เรากินเข้าไปทุกวันๆ ไม่ได้ก็แย่แล้วค่ะ...หากแฟนๆ คอลัมน์ท่านไหนพอมีเวลาว่างบ้าง ลองหาหนังสือปลูกผักอย่างง่าย หากระถาง หาเมล็ดผักสักซองลองปลูกเล่นๆ ดูแล้วจะรู้สึกถึงความภูมิใจที่ยิ่งกว่าการได้ซื้อของแพงๆ อีกค่ะ ขอให้สนุกกับการเป็นชาวสวนสมัครเล่นและการใช้พื้นที่ในบ้านให้คุ้มนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น