เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง
ภาพ : มาโนช ภาชีรัตน์
สายลมแห่งผู้กล้า…
พระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ)
ผู้สืบเชื้อสายพระอานนท์
จากสามเณรน้อยชาวเนปาล ที่ได้รับการอุปถัมภ์จาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ณ วันนี้ พระดอกเตอร์ ผู้สืบชายสาย “ศากยวงศ์” ได้ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะแก่คนทั้งโลกตามรอยธรรมแห่งพระพุทธองค์
ก้าวย่างในรอยธรรมของ พระ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ) เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เนื่องด้วยพระอาจารย์ได้บวชเป็นสามเณรที่บ้านเกิดในประเทศเนปาล กระทั่งได้รับการอุปถัมภ์จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกให้มาศึกษาพระธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จวบจนเมื่ออายุครบบวชพระ จึงอุปสมบทโดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ จนต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ สมเด็จพระสังฆราช และยังสนองงานเจ้าประคุณสมเด็จ จนกระทั่งบัดนี้
//จากสามเณรเนปาลเดินทางสู่แผ่นดินไทย
พระอนิล ธมฺมสากิโย หรือ พระ ดร.อนิล ศากยะ นามของท่านมีความหมายว่า “สายลมแห่งผู้กล้าหาญ” ด้วยแรงศรัทธาแห่งธรรมมาแต่วัยเยาว์ จากการได้เห็นโยมพ่อและญาติ เข้าวัดเป็นประจำ จึงซึมซับไปโดยปริยาย
“ครอบครัวอาตมามีพี่น้องอยู่ 5 คน จริงๆ แล้วโยมพ่ออยากให้พี่ชายบวช แต่พี่ชายคนโต เอนทรานซ์ได้ที่ 1 ของประเทศ ได้ทุนไปเรียนอินเดีย พ่อเลยมองมาที่อาตมาเป็นคนที่ 2 ตอนนั้นยังเด็ก อยู่ก็ไม่คิดอะไรมาก เบื่ออยู่บ้านเพราะต้องเลี้ยงน้องๆ เลยตัดสินใจบวชเณรเลย” พระอาจารย์อนิล ถ่ายทอดชีวิตบนเส้นทางธรรมในถิ่นกำเนิดที่เนปาล
กระทั่งในปี 2513 เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปเนปาล ทรงเห็นว่าพระสงฆ์เถรวาท ที่นั่นไม่แข็งแรง พระองค์จึงตรัสถามว่า มีอะไรให้คณะสงฆ์ไทยช่วยบ้างหรือไม่ ทางคณะสงฆ์เนปาล จึงขอพรสมเด็จพระสังฆราชเพียง 2 ข้อ ข้อ 1 ขอให้พระสงฆ์ไทยส่งสมณทูตไปเผยแผ่ ข้อ 2 ขอให้ฝึกภิกษุ สามเณร เพื่อจะได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเนปาล
“พระองค์ท่านตรัสถามกลับว่า มีพระภิกษุ สามเณรพร้อมที่จะเดินทางมาฝึกในเมืองไทยไหม ท่านจะเป็นผู้อุปการะเอง ถ้ามีก็ให้ส่งไปได้เลย” สามเณรน้อยอนิล จึงถือเป็นคณะสงฆ์รุ่น 2 ที่เดินทางมาเมืองไทยเมื่อปี 2518 หลังบวชได้เพียง 9 เดือน
“จริงๆ อาตมามาด้วยกัน 3 รูป แต่อีก 2 รูปไม่รู้เป็นยังไง ถูกใจสาวไทยเยอะเหลือเกิน (หัวเราะ) เขาก็บอกว่าท่านทั้งสองหล่อ อาตมาเพิ่งอายุ 14-15 ก็ไม่รู้ว่าหล่อเป็นยังไง เณรรุ่นพี่ที่อายุ 17 ปี มีนารีอุปถัมภ์เยอะเหลือเกิน มีสาวไทยมาช่วยทำการบ้านทุกวัน แต่อาตมารู้สึกเบื่อ ไม่ชอบ บอกกับตัวเองว่า ถ้าจะเรียนจะต้องทำเอง ไปๆ มาๆ เณรองค์โตก็เลยสึกไปแต่งงานกับสาวไทย มีลูกด้วยกัน 1 คน อยู่ จ.สุรินทร์ ตอนหลังรู้ว่าหย่ากันแล้วก็เดินทางกลับเนปาลไปแล้ว ส่วนเณรองค์เล็กถูกส่งไปเรียนที่ จิตตภาวันวิทยาลัย ชลบุรี แต่พ่อแม่มาเห็นแล้วรับสภาพไม่ได้ เพราะเณรเป็นร้อย การดูแลไม่ทั่วถึง ยิ่งอยู่ชายทะเลทำให้เณรเป็นหิดขึ้นเต็มตัวไปหมด พ่อแม่เห็นเช่นนั้นก็เลยพาตัวลูกกลับเนปาล”
//ต้นตระกูล “ศากยวงศ์”
สำหรับประวัติของ พระ ดร.อนิล นั้น ท่านเป็น “ศากยวงศ์” ที่สืบเชื้อสายของพระอานนท์ซึ่งย้ายมาอยู่ที่กาฐมาณฑุตั้งแต่สมัยพุทธกาล การดำรงอยู่ของศากยะ ตามหลักฐานระบุว่า การแต่งงานต้องแต่งในตระกูล แต่หมายความว่า จะต้องไม่ใกล้ญาติ โดยต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วคน และนามสกุลต้องเป็นศากยะด้วยกัน เพื่อต้องการรักษาเลือด ให้บริสุทธิ์ไว้
ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ที่แสดงว่าเป็นศากยวงศ์คือ พิธีกรรม ซึ่งเชื้อสายนี้ต้องบวชเณร ต้องแสดงตัวเองเหมือนเจ้าชายในตระกูล เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ ดังนั้น เด็กชายในตระกูลนี้ อายุ 4 หรือ 5 ขวบ ต้องบวชเณร 4 หรือ 5 วัน การบวชเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของตระกูลศากยะ ผู้ชายทุกคนต้องบวช ต้องออกบิณฑบาต ถ้าไม่ได้บวชถือว่าไม่สมบูรณ์ ศากยะทุกตระกูลต้องมีวัดประจำตระกูล และมีห้องพระในบ้านเป็นห้องสำคัญที่สุดนี้ ถ้าใครไม่ได้ผ่านพิธีกรรมจะเข้าไม่ได้ ถือเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ทางสายเลือด
ตระกูลศากยะ
ในพุทธประวัติระบุว่า พระเจ้าวิฑูฑภะ ฆ่าศากยะหมด ตรงนี้พระอาจารย์อนิล อธิบายว่า “แม่พระเจ้าวิฑูฑภะถูกหลอกว่าเป็นเจ้าหญิงแห่งศากยะ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เรื่องนี้มีมูลเหตุมาจาก พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า ก็เลยขอลูกสาวจากกรุงกบิลพัสดุ์มาแต่งงานกัน แต่ศากยะไม่ต้องการยกลูกสาวของตนให้พระเจ้าปเสนทิโกศลที่มีอำนาจมากกว่า จึงหลอกเอาลูกช่างทาสีมาย้อมแมวส่งให้ เมื่อมีลูกออกมา ลูกรู้ว่าปู่ตัวเองถูกหลอกก็แค้น เลยไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ศากยะ เอาเลือดมาล้างบัลลังก์ของตัวเอง แม้จะถูกฆ่าล้างตระกูล แต่ไม่ได้หมายความว่าศากยะจะถูกฆ่าทั้งหมด เพราะศากยวงศ์ไม่ได้อยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์เท่านั้น ทว่ายังมีอยู่ในเมืองอื่นๆ อีก
“พุทธศาสนาในเนปาล ลัทธิเถรวาท เคยหายไปพักหนึ่ง ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 เพราะพระมหากษัตริย์ฝักใฝ่ฮินดู แล้วบังคับพระเถรวาทให้สึก และจับแต่งงาน ส่วนมหายาน วัชรญาณยังรักษาไว้ได้ เพราะสามารถปรับเข้าได้กับการเมือง ต้นตระกูลอาตมาเกี่ยวโยง กับตระกูลที่ย้ายมาค้าขายที่กาฐมาณฑุสมัยพุทธกาล หลักฐานที่มีอยู่เป็นภาษาสันสกฤต เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นในราวศตวรรษที่ 2 หรือ 3 ชื่อ มูลสราวาสติวาทิน ในคัมภีร์กล่าวว่า มีญาติของพระอานนท์มาค้าขายอยู่ที่กาฐมาณฑุ เมื่อมีพ่อค้าจากกรุงกบิลพัสดุ์ มาค้าขายที่กาฐมาณฑุ ญาติพระอานนท์จึงเข้าถามพ่อค้าว่า เจอพระอานนท์บ้างหรือไม่ พ่อค้าบอกว่าเจอประจำ เมื่อใดที่เห็นพระพุทธเจ้าก็จะเห็นพระอานนท์นั่งอยู่ข้างๆ
“ดังนั้น ญาติพี่น้องเลยขอร้องให้พ่อค้าช่วยกราบทูลพระอานนท์ว่า มีญาติพี่น้องของท่านมาตกยากอยู่ที่กาฐมาณฑุ อากาศหนาว เดินทางลำบาก อยากจะไปกราบพระอานนท์ แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้ เลยอยากให้มาโปรดญาติพี่น้องบ้าง เมื่อพ่อค้าส่งข่าวถึงพระอานนท์ ท่านจึงเดินทางไปเยี่ยมญาติ เมื่อกลับถึงที่ประทับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏว่าเท้าแตก พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามได้ความว่า เพราะพระอานนท์ไปเยี่ยมญาติที่กาฐมาณฑุมา อากาศหนาวมาก จะสวมรองเท้าก็ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ถ้าเป็นการเดินทางลักษณะนี้ควรใส่รองเท้าได้ คัมภีรมูลสราวาสติวาทินนี้ โยงได้ว่า ต้นตระกูลของอาตมาที่กาฐมาณฑุเป็นตระกูลเดียวกันกับพระอานนท์” พระอาจารย์อนิล เล่าความเป็นมาของผู้สืบเชื้อสายของพระอานนท์ในประเทศไทย
//บวชลืมสึก…เพราะสมเด็จพระสังฆราช
การเป็นองค์อุปถัมภ์หน่อเนื้อเชื้อธรรมแห่งศากยะ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมองเห็นอัจฉริยภาพและทรงใส่พระทัยด้านการศึกษาของพระ ดร.อนิล อย่างมาก จึงทรงอบรมเคี่ยวเข็ญให้สามเณรน้อยอ่านหนังสือ แล้วให้นั่งอยู่กับพระองค์
“ช่วงนั้นภาษาอังกฤษอาตมาไม่ดี ท่านทรงสอนให้อ่านให้ถูกต้อง และให้แปลได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ทำให้อาตมารอดจากการสึกมาได้นั้น น่าจะมาจากสมเด็จพระสังฆราช เพราะทุกๆ เช้าไม่ว่าท่านจะไปไหน ท่านก็ตรัสว่า อ้าว!! เณรสะพายย่าม ท่านก็จะพาไปตามที่ต่างๆ ถ้าวันไหนไม่เห็นอาตมา ท่านก็จะส่งเด็กไปตาม เรียกว่าอาตมาไปไหนไม่ได้เลย ทำให้ต้องนั่งคุกเข่าอยู่กับท่านแบบนี้ จนเข่าด้านไปหมดตอนนั้น (หัวเราะ)”
ด้วยบวชเรียนและมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระสังฆราช เหตุนี้พระอาจารย์อนิลจึงซึมซับคำสอนหลายอย่างจากพระองค์ “ท่านจะแนะนำให้ทุกอย่าง เวลาทำงานพลาด อย่างร่างหนังสือ พออาตมาทำผิดท่านก็จะสอนว่าต้องร่างแบบนี้ คำแนะนำของท่านทำให้ทุกวันนี้วัดบวรฯ เวลาจะมีการร่างหนังสือ หรือร่างหนังสือถึงในวัง อาตมาคิดว่าคนไทยด้วยกันคงสู้อาตมาไม่ได้ เพราะถูกสอนมาจากท่านโดยตรง ทำให้เวลาได้คุยกับเชื้อพระวงศ์ก็ใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างคล่องแคล่ว”
//ในหลวงพระราชทานทุนเรียนปริญญาเอก
พระอาจารย์ ดร.อนิล สำเร็จการศึกษา ศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ) จาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปี 2525 และปี 2530 ศึกษาต่อระดับปริญญาโท (MA) ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยตรีภูวัน ประเทศเนปาล นอกจากนี้ยังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท (MPhil) ด้านมานุษยวิทยาสังคม จาก วิทยาลัยคราอิสต์ คอลเลจ (Christ College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2537 แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาเอก (PhD) ด้านมานุษยวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยบรูเนล (Brunel University) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเช่นกัน สำเร็จในปี 2543
“ปี 2535 สมเด็จพระสังฆราช ได้ถามอาตมาว่า ไม่คิดที่จะไปเรียนต่อ อาตมาก็เฉย เห็นไหมว่ามีผู้ใหญ่วางแผนชีวิตให้หมด ท่านก็ถามแล้วถามอีก อาตมาก็เลยบอกท่านไปว่า ถ้าไปเรียนแล้วใครจะดูแลที่นี่ ท่านก็ตอบกลับมาว่า แล้วคุณไปเกี่ยวอะไร ไปกังวลทำไม ท่านยังไม่สนใจเลย แล้วคุณไปคิดมากทำไม (หัวเราะ) เราก็คิดได้ว่า เออเราทำไมไปยึดมั่นถือมั่นตรงนั้นได้นะ อาตมาก็แอบไปสมัครมหาวิทยาลัยดังในอเมริกากับยุโรป เกือบ 20 แห่ง ตอนนั้นกิเลสยังเยอะ (หัวเราะ) ผลปรากฏว่ามีเกือบ 10 แห่งที่ตอบรับมา ที่จำได้ก็จะมี มหาวิทยาลัยแอริโซนา มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อย่างที่อังกฤษก็เป็น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
“ตอนนั้นอยากไปเรียนที่แอริโซนา เพราะพระถูกฆ่าตายทั้งวัด ยิ่งเป็นคนแปลเอกสารให้กับทางวัด ยิ่งอยากจะไปดูว่า เป็นไปได้ยังไงพระถูกฆ่าตายทั้งวัด อยากจะไปสืบดูว่าเกิดอะไรขึ้น อาตมาก็ติดต่อกับมหาวิทยาลัยแอริโซนา รับปากเรียบร้อยแล้วว่า จะดูแลความปลอดภัยทุกอย่าง มาได้เลย พอใกล้จะเดินทาง ทุกคนก็ไม่อยากให้ไป ในที่สุดก็ไม่ได้ไป เลยมีตัวเลือกอื่น คือ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปัญหาก็เกิดขึ้นอยู่ที่ทุน ก็ไม่ได้บอกสมเด็จพระสังฆราช ท่านก็ถามติดต่อหรือยัง ก็เลยกราบทูลท่านว่า ติดต่อแล้ว มหาวิทยาลัยตอบรับเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้กำลังรอเรื่องทุนอยู่ พอท่านรู้ก็กริ้วว่า ทำไมไม่บอก เรื่องแค่นี้ทางวัดบวรฯ ส่งไม่ได้หรือ ท่านทำงานให้กับวัดมาตั้งมากมาย ที่สุดก็ได้ไปดูสถานที่เรียนที่เคมบริดจ์ โดยมีอาจารย์ภาควิชาจัดการเรื่องสมัครเรียนให้หมดเลย”
ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนอีก 7 วัน พระอาจารย์ได้คุยกับท่านราชเลขาในขณะนั้น (ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์) ซึ่งท่านตกใจ เกิดความไม่พอใจว่าไปได้ยังไง “ท่านก็บอกว่าไปไม่ได้ แล้ว อาตมาเป็นที่คุ้นเคยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ หากท่านรับสั่งถาม ขึ้นมาจะทูลตอบพระองค์ท่านยังไง ท่านราชเลขาก็แนะนำให้เขียนหนังสือกราบบังคมทูลลา จากนั้นก็โทร.มาถามว่า ในหลวงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าเอาทุนมาจากไหน อาตมาก็ตอบไปว่าก็ทุนของสมเด็จพระสังฆราชท่านประทาน วันต่อมาท่านราชเลขาก็บอกว่า ในหลวงไม่โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชออกทุน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานทุนเอง พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้ตั้งใจเรียน ไม่ต้องกังวลเรื่องทุน ไม่พอก็บอกมา” พระอาจารย์กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยใบหน้าปลื้มปีติยากจะลืมเลือน
//สร้างบารมี...ก้าวสู่พระอินเตอร์
จากความรู้ทางธรรมที่ได้จากการปฏิบัติและการศึกษาเล่าเรียน ในปี 2548 พระอาจารย์อนิล ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ และเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แล้วยังรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษประจำ อยู่ที่ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยซานตา คลารา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (Santa Clara University, CA, USA) นอกจากนี้ยังดำรง ตำแหน่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกมากมาย
“ถ้าถามว่าอนาคตวางแผนชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ยังไง หรือจะมีการสึกเพื่อไปใช้ชีวิต แบบฆราวาสหรือเปล่า จริงๆ ชีวิตของอาตมาไม่มีเป้าหมาย เพราะไม่เคยวางแผนชีวิตด้วยตัวเอง ตั้งแต่เล็กๆ ก็มีผู้ใหญ่วางแผนชีวิตให้หมด เพียงแต่เราแค่เดินตาม ตั้งแต่คณะสงฆ์เนปาล ส่งให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช ก็ให้มาเคี่ยวเข็ญสั่งสอนจนจบปริญญาตรี เรียนจบขอกลับบ้าน 3-4 ครั้งท่านก็ไม่ยอม จริงๆ อาตมาอยากจะกลับไปสร้างวัดที่นั่น เพราะเห็นวัดในเมืองไทยสวยงามใหญ่โต ท่านบอกว่า คุณกลับไปจะทำอะไรได้ แม้จะอ้างว่าที่ดิน วัสดุมันจะแพง ท่านพูดมาคำเดียวว่า คุณมีเงินหรือ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะท่านสร้างวัดได้ก็ตอนอายุ 60 ปีแล้ว แต่คุณต้องอยู่ที่นี่ ท่านก็เลยแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขา
ไม่น่าเชื่อหลังจากนั้นโครงการสร้างวัดก็เกิดขึ้น ท่านก็ให้อาตมาไปสร้างวัด แล้วก็สร้างเสร็จ ซึ่งวัดที่ไปสร้างก็อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยเนปาล ระหว่างนั้นก็มีอาจารย์มาให้ เซ็นเพื่อเข้าเรียนปริญญาโท พอสร้างวัดเสร็จอาตมาก็เรียนจบปริญญาโทกลับมาอีกหนึ่งใบ แล้ววัดที่สร้างได้ชื่อว่า วัดไทยสิริกิติ์วิหาร เป็นวัดในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แห่งวัดบวรนิเวศวิหารจากประเทศไทยนั่นเอง” วัดไทยในเนปาลกลายเป็นศูนย์ กลางพระพุทธศาสนาที่ทุกคนเลื่อมใสศรัทธา
// “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
ตลอดชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อพระอาจารย์อนิลไปบรรยายที่ไหน จะมีญาติโยมทุกระดับ จนถึงท่านเจ้าคุณมาฟังมากมาย ยิ่งปัจจุบันเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบเช่นนี้ ธรรมะย่อมเป็นหนึ่งทางออกของปัญหานี้ได้
“อาตมาไม่รู้จะเอาลาภ ยศ สรรเสริญไปทำไม พยายามคิดเสมอว่า เราอย่าไปยึดติดตรงนั้น เพื่อที่จะมาพัฒนาตัวเอง ถ้าไม่พัฒนาตัวเองเราก็จะโง่ทันที จริงๆ เราก็เหมือนกำลังยืนอยู่ที่ ปากเหวนั่นเอง ใครเห็นก็ว่าเรากล้า เก่ง แต่ถ้าเผลอไปเมื่อไหร่เราก็ตกเหวเมื่อนั้น นั่นก็เป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่ให้พัฒนาตนด้วยการภาวนา นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เป็นความไม่เที่ยงของชีวิต ถ้าทุกคนเข้าใจตรงนี้ได้มันก็จะเป็นปัญญาให้เราได้ปรับตัวอยู่กับความไม่แน่นอนของชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยที่ไม่ต้องไปยึดติดว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา ที่สุดเราก็จะโล่ง และความสงบสุขก็จะเกิดขึ้น”
เพราะเมื่อใดที่ต่างฝ่ายยังยึดมั่น ถือมั่น ความโลภในลาภ ยศ สรรเสริญ คงไม่อาจทำให้บ้านเมืองเกิดสันติสุขได้โดยง่าย
ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ WhO? Magazine ฮู แมกกาซีน
http://www.whoweeklymagazine.com/
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์
โทร.086-389-5835
โทรสาร 02-654-7577
http://sut1919.blogspot.com/2010/06/blog-post.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น